กรุงเทพฯ–5 ก.พ.–สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ โรงแรมเฮลท์แลนด์ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดชลบุรี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดสัมมนาวิชาการ “มาตรฐานการศึกษาสู่การยกระดับคุณภาพคนไทย 4.0” โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานและบรรยายพิเศษ เรื่อง “มาตรฐานการศึกษาสู่การยกระดับคุณภาพ คนไทย 4.0” ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวรายงานและนำเสวนาเรื่อง “มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2561 สู่การสร้างคนไทย 4.0 ธำรงความเป็นไทย แข่งขันได้ในเวทีโลก
รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวโดยสรุปว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษามากที่สุด เพราะการศึกษาสร้างคน การจะทำให้ประเทศไทยเป็น 4.0 ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ปัจจุบันรัฐบาลมีมติเห็นชอบมาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับ พ.ศ. 2561 ซึ่งจะเน้นผลลัพธ์ คือ คุณภาพของคนไทยในยุค4.0 ซึ่งถ้าเทียบกับมาตรฐานการศึกษาฉบับเก่าจะพบว่า มาตรฐานฉบับนี้ ไม่ได้กำหนดตัวบ่งชี้มากเท่ามาตรฐานฉบับเก่า มีการจัดทำผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของผู้เรียนที่เหมาะสมกับช่วงวัยในแต่ละระดับและประเภทการศึกษาและให้อิสระกับสถานศึกษาในการกำหนดแนวคิด ปรัชญา และวิสัยทัศน์ของการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาและตามความถนัดของผู้เรียน สถานศึกษาจึงมีอิสระในการจัดการศึกษามากขึ้น เป็นประโยชน์มากขึ้น มาตรฐานการศึกษาของชาติ เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะคุณภาพที่พึงประสงค์ของคนไทย เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งยึดเป็นกรอบสำหรับสร้างคนไทย 4.0 ที่แม้แตกต่างตามบริบทของท้องถิ่นและสถานศึกษา แต่มีจุดหมายร่วมคือ “ธำรงความเป็นไทยและแข่งขันได้ในเวทีโลก”โดยมีผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา 3 ประการ คือ
- ผู้เรียนรู้
- ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม
- พลเมืองที่เข้มแข็ง
ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มีภารกิจหน้าที่ในการจัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติ ซึ่งมาตรฐานการศึกษาฉบับแรกจัดทำขึ้นในปี 2547 แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป รวมทั้งเป้าหมายในการสร้างคนให้ทักษะที่จำเป็นเปลี่ยนไป จึงต้องจัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับใหม่ พ.ศ. 2561 ถือเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพที่พึงประสงค์ของคนไทย เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งยึดเป็นกรอบสำหรับการสร้างคนไทย 4.0 ที่แตกต่างตามบริบทของท้องถิ่นและสถานศึกษา หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วได้มอบหมายให้ สกศ. ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเข้าใจอย่างชัดเจน ถูกต้อง สามารถแปลงกรอบผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษาไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องเชื่อมโยงและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน สกศ. จึงได้จัดสัมมนาวิชาการ มาตรฐานการศึกษาสู่การยกระดับคุณภาพคนไทย 4.0 ขึ้น ครั้งนี้เป็นครั้งแรก และจะจัดขึ้นในกรุงเทพมหานคร และอีก 4 พื้นที่ คือ อุบลราชธานี เชียงราย อุดรธานี และสุราษฎร์ธานี เพื่อสร้างความเข้าใจในการนำมาตรฐานการศึกษาของชาติ มาตรฐานการศึกษา และหลักสูตรการศึกษาแต่ละระดับและประเภทการศึกษา สู่การปฏิบัติ
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ความสำคัญกับเด็กปฐมวัยมาก ปัจจุบันการศึกษาในระดับปฐมวัยของไทยยังมีความความเหลื่อมล้ำ และเด็กมีพัฒนาการต่ำกว่าเกณฑ์อยู่มาก รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาให้เด็กปฐมวัยคณะกรรมการพัฒนาเด็กแห่งชาติ (ก.พ.ป.) ซึ่งมี สกศ. เป็นฝ่ายเลขานุการ ได้ทำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติและได้ผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 มาตรฐานฉบับนี้จะเป็นมาตรฐานกลางให้ทุกหน่วยงานใช้ร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการดูแลพัฒนา จัดการศึกษาและการดำเนินงานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกสังกัดที่ดูแลเด็กในเวลากลางวัน ช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ หรือ ก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่สามารถนำไปใช้ประเมินการดำเนินงานของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในทุกสังกัด โดยมีมาตรฐานใน 3 ด้าน คือ
- การบริหารจัดการ
- กระบวนการดูแล จัดประสบการณ์ เรียนรู้และเล่น
- คุณภาพของเด็กปฐมวัย
ทีมา: RYT9