Wanita กลุ่มสตรีธุรกิจเพื่อสังคมปลายด้ามขวาน..เพื่อสันติภาพชายแดนใต้

Wanita Founders
อลิญา หมัดหมาน (ซ้าย) และ วีดะ อิแม (ขวา)

สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ปลายด้ามขวานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่จะสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและกำลังใจในฟากฝั่งของเจ้าหน้าที่ แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มผู้หญิงที่ต้องก้าวข้ามทั้งความเศร้า การเปลี่ยนบทบาทจากแม่บ้านที่ดูแลสมาชิกในครอบครัวให้กินอิ่ม นอนหลับ และเติบโต สู่การเป็นผู้นำที่ต้องเป็นเสาหลักในการหารายได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ก่อกำเนิดศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมเล็กๆ นามว่า ‘วานีตา (Wanita)’ กับความเชื่อที่ว่าศักยภาพของผู้หญิงจะสามารถสร้างประโยชน์ในมิติเชิงเศรษฐกิจและสังคม โดยมีปลายทางคือการสร้าง ‘สันติภาพ’ ให้เกิดขึ้น

การพูดคุยกับตัวแทนกลุ่มอย่าง อลิญา หมัดหมาน และ วีดะ อิแม ทำให้เราเห็นภาพสะท้อนบางอย่างที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เราเคยรับรู้ แน่นอนว่าทั้งคู่ไม่ปฏิเสธถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ในเส้นทางคู่ขนาน พื้นที่ ณ ปลายด้ามขวานแห่งนี้ยังคงเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ ตั้งแต่ทรัพยากรบุคคลที่มีกำลังความสามารถในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความงดงามของธรรมชาติ ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ ที่แน่นอนที่สุดก็คือในหัวใจของคนในพื้นที่ที่ต่างเชื่อมั่นว่าในท้ายที่สุดแล้ว ‘สันติภาพ’ จะเกิดขึ้นกับพวกเขาอีกครั้ง

Q: ขอทราบที่มาที่ไปของ Wanita ก่อน ตั้งแต่ความหมายของชื่อ ความตั้งใจในการก่อตั้งกลุ่ม รวมถึงวิธีการทำงาน?

A: คำว่า วานีตา หรือ Wanita จริงๆ แล้วเป็นภาษามาลายู แปลว่า ผู้หญิง ซึ่ง Wanita เป็นโครงการต่อยอดของ Oxfam ที่ทำงานลงพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อ 8 ปี ก่อน ซึ่งในช่วง 3-4 ปีหลังเราเน้นหนักในเรื่องการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจผ่านกลุ่มอาชีพผู้หญิงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลามากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ด้วยบริบทในพื้นที่ที่บทบาทของผู้หญิงจะเป็นผู้ตามเสียส่วนใหญ่ โดยผู้นำจะเป็นผู้ชายที่คอยหาเลี้ยงครอบครัวแต่เมื่อมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ทำให้มีผู้หญิงบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียสามี สิ่งที่ตามมาคือผู้หญิงกลุ่มนี้จำเป็นต้องพลิกตัวเองขึ้นมาเป็นหัวหน้าครอบครัวแทน จากการเป็นผู้ตามมาโดยตลอด พวกเขาจึงไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ยากสำหรับพวกเขาพอสมควรเลย นั่นจึงป็นเหตุผลว่าทำไม Oxfam เลือกที่จะทำงานกับกลุ่มผู้หญิงในพื้นที่ เพราะเราชื่อว่าจริงๆ แล้วผู้หญิงมีศักยภาพดีๆ ในตัวเอง หากได้มาทำงานร่วมกัน ก็สามารถช่วยเติมเต็มหรือปลดล็อคอะไรบางอย่าง ทำให้เขาสามารถไปต่อได้ ซึ่งเราเห็นศักยภาพ จึงอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดึงศักยภาพผ่านการทำงานร่วมกัน

สำหรับการทำงานที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกันในลักษณะของการเสริมสร้างศักยภาพ ให้องค์ความรู้ทั้งทางธุรกิจและภาวะความเป็นผู้นำ ช่วยเหลือในการเชื่อมตลาดบ้าง เช่น การพามาดูตลาดที่กรุงเทพฯ เพราะว่าส่วนใหญ่แล้ว สินค้าจะขายได้แต่ในพื้นที่ นี่จะเป็นการทำงานในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จนเมื่อปี 2559 ก็ถึงจุดที่ Oxfam มานั่งคิดว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรดีให้มีความยั่งยืนมากกว่านี้ เพราะว่า Oxfam ไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ไปได้ตลอด และต้องมีวันหนึ่งที่เราออกไป แต่ก่อนที่เราจะออกไปนั้น เราอยากให้มั่นใจว่าพื้นที่ตรงนี้จะต้องได้รับการพัฒนาอย่างยืนก่อน บวกกับก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2558 ทาง ดร.นันทรัตน์ ตั้งวิฑูรธรรม อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ลงไปทำวิจัยเรื่องซัพพลายเชน (supply chain) ของกลุ่มอาชีพผู้หญิงทั้งหมดที่เรามีภายใต้โครงการ ก็พบว่า จริงๆ แล้วในพื้นที่มีทรัพยากรมากมายเลยนะ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงศักยภาพของผู้หญิง เพียงแต่อาจจะยังไม่ได้ถูกนำออกมาใช้ ในรายงานวิจัยนั้นได้แนะนำว่าควรจะมีศูนย์อะไรสักอย่างที่นั่นที่สามารถให้ได้ทั้งองค์ความรู้ เป็นศูนย์กลางที่คนภายในและคนภายนอกสามารถพบปะกันได้ ประกอบกับความตั้งใจของ Oxfam เองที่อยากจะเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ Wanita จึงถูกก่อตั้งขึ้นโดย Oxfam กลุ่มอาชีพผู้หญิงและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เป็นศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคม โดยใช้โมเดลธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อสร้างอิมแพคทางสังคม และที่สำคัญคนในพื้นที่เป็นเจ้าของศูนย์นี้

โดย Wanita ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2559 แต่ตอนนั้นเราทำในลักษณะออนไลน์แพลตฟอร์ม ทำเว็บไซต์ (www.wanita.in.th) เฟซบุ๊ค (www.facebook.comwanitase) มาปี 2560 นี้เราเปิดศูนย์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็จะเป็นหน้าร้านในพื้นที่ โดยตั้งอยู่หน้าโรงแรม C.S. อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

กลุ่ม-SAYANG

Q: แต่ละกลุ่มเข้ามาร่วมโครงการได้อย่างไร?

A: ก่อนหน้านี้เราทำงานผ่านพาร์ทเนอร์ ซึ่งเป็นเครือข่ายการทำงานกัน โดยตอนนี้ เรามีทีมงาน Wanita ซึ่งจะมีการลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้แก่กลุ่มอาชีพผู้หญิงที่สนใจผ่านเครือข่ายที่เราเคยทำงานกันก่อนหน้านี้ ทั้งกลุ่มอาชีพที่เราทำงานร่วมกันมา รวมถึงเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ องค์กรภาคีเครือข่าย องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่เราก็ประชาสัมพันธ์ โดยเราให้เกณฑ์คือต้องการกลุ่มอาชีพผู้หญิงที่จะเข้ามาอยู่ภายในโครงการนี้แบบนี้ๆ นะ 1, 2, 3, 4 ก็ประกาศรับสมัครไป ซึ่งตอนนี้เราก็มีกลุ่มอยู่ประมาณ 56 กลุ่ม มีสมาชิกเกือบ 700 คน แล้วกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการก็จะมีความหลากหลายตั้งแต่กลุ่มอาหาร หัตถกรรม เครื่องจักสาน การเกษตร

Q: เกณฑ์ที่ทางกลุ่มตั้งไว้ มีอะไรบ้าง?

A: อย่างแรกคือจะต้องเป็นกลุ่มผู้หญิงที่รวมตัวกันอย่างน้อย 5 คน ขึ้นไป โดยที่สมาชิกจะต้องเป็นผู้หญิง ในกลุ่มสามารถมีสมาชิกที่เป็นผู้ชายได้นะคะ แต่สมาชิกส่วนใหญ่จะต้องเป็นผู้หญิงและประธานกลุ่มจะต้องเป็นผู้หญิงค่ะ สองคือวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาชีพจะต้องเป็นวัตถุดิบที่มาจากในพื้นที่สูงกว่าที่นำเข้า ใช้กระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นี่จะเป็นเกณฑ์เบื้องต้น ซึ่งเราจะมีเกณฑ์ในเชิงรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ด้วย

กลุ่มกระเป๋าผ้าทอญีปุ่น-LOVE-ME

Q: หน้าที่ของศูนย์ในเชิงพัฒนามีการพัฒนาด้านใดให้กับสมาชิกบ้าง?

A: ฟังก์ชั่นด้านบริการของ Wanita แบ่งได้ 4 ด้าน ได้แก่

ด้านแรก : ส่งเสริมศักยภาพผ่านองค์ความรู้ในรูปแบบการอบรมไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านการทำธุรกิจ ทักษะการเป็นผู้นำบทบาทชายหญิง

ด้านที่สอง : จะเป็นด้านการเชื่อมตลาด โดยเราจะเป็นตัวกลางที่คอยเชื่อมตลาดให้สินค้าของ Wanita เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคให้ได้กว้างมากยิ่งขึ้น ในช่วงนี้เราทำผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ เรามีเว็บไซต์ เฟซบุ๊คที่ทำหน้าที่สื่อสารและประชาสัมพันธ์ รวมถึงการทำตลาดนอกพื้นที่เพื่อให้สินค้ากลุ่มอาชีพเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ได้มากยิ่งขึ้น

ด้านที่สาม : คือการสร้างกลไกเครือข่ายการทำงาน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ระดับแรก คือการทำงานกับภาคเอกชน ที่ผ่านมาเรามีประสบการณ์การทำงานกับภาคเอกชนอยู่บ้าง เราทำหน้าที่คล้ายๆ กับ business matching ให้กับกลุ่มอาชีพมาเจอกับภาคเอกชนที่มีความสนใจผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ เลยคือโรงแรมรายาวดีที่จังหวัดกระบี่ เขาต้องการจะสั่งซื้อคีย์การ์ดจากผ้าปาเต๊ะ เราจึงจับคู่เขากับกลุ่มสตรีโรงอ่างที่ผลิตกระเป๋าจากผ้าปาเต๊ะ ในเคสนี้เราคิดว่ามันมีโซเชียลอิมแพคที่ค่อนข้างมากแก่ทั้งสองฝ่าย ด้านหนึ่งคือภาคเอกชนเองก็ได้สินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม ตอบโจทย์ CSR ของเขา ด้านที่สอง คือกลุ่มของเรามีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นวิธีการที่ตัวก๊ะๆ กลุ่มอาชีพ (ก๊ะ หมายถึง พี่สาวในภาษามลายู) เองได้เรียนรู้และปรับตัวในการทำงานกับภาคเอกชนให้เป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น ทั้งการพัฒนาสินค้าและคุณภาพ ยิ่งไปกว่านั้นคือความภาคภูมิใจของกลุ่มอาชีพตัวเองด้วย เพราะสินค้าของเขาได้ไปอยู่ในโรงแรมระดับ 5 ดาวนะ ซึ่งตรงนี้สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มอาชีพอื่นๆ ไปด้วย

อีกอย่างหนึ่งคือเราสามารถช่วยสร้างเงื่อนไขการทำธุรกิจที่เป็นธรรมระหว่างการค้าทั้ง 2 ฝ่ายไปปลดล็อคเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ก่อนหน้านี้ภาคเอกชนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าการสั่งซื้อสินค้าในปริมาณที่มากโดยที่ไม่มีการจ่ายมัดจำล่วงหน้าทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนขาดโอกาสในการรับออเดอร์ อย่างในครั้งแรกเลยที่กลุ่มโรงอ่างได้รับออเดอร์ประมาณ 1,000-2,000 ชิ้น ก๊ะๆ ก็รวมเงินที่มีทั้งหมดในบ้านไปซื้อวัตถุดิบทั้งหมด เพราะต้องการที่จะผลิตในปริมาณมากได้ แต่เราไม่ได้ทราบตรงนั้นเลย จนเขาโทรมาแจ้งว่าจะส่งสินค้าให้กับโรงแรมแล้ว แต่ไม่มีค่าขนส่งเพราะเงินที่มีถูกนำไปใช้ในการซื้อวัตถุดิบเพื่อการผลิตไปแล้ว นั่นเลยเป็นบทเรียนสำหรับเราในการเรียนรู้ร่วมกันว่า การค้าในลักษณะแบบนี้ เราสามารถช่วยปลดล็อคตรงไหนได้บ้าง ซึ่งเมื่อมีการสั่งซื้อครั้งที่ 2 เราได้มีการต่อรองและสร้างเงื่อนไขในครั้งที่ 2 ว่า พอจะเป็นไปได้ไหมที่ทางโรงแรมจะโอนค่ามัดจำ 50 เปอร์เซ็นต์มาก่อนเพื่อให้เกิดเป็นทุนหมุนเวียนแก่กลุ่มอาชีพในการนำไปซื้อวัตถุดิบและเป็นสภาพคล่องการทำงานของกลุ่มอาชีพ พอเราอธิบายเขาทำให้เขาเข้าใจและยอมรับเงื่อนไขตรงนี้ ทำให้ในการสั่งซื้อครั้งต่อๆ มาเงื่อนไขนี้ได้ถูกนำมาใช้ ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ทางโรงแรม ทางกลุ่มสมาชิก และ Wanita เองได้เรียนรู้ไปพร้อมกันด้วย เมื่อเรามีความเข้าใจตรงนั้น ภาคเอกชนเองก็เข้าใจในเงื่อนไข ทางกลุ่มก็รู้แล้วว่าจะต้องเตรียมความพร้อมของตัวเองทำอย่างไรเมื่อได้รับออเดอร์จำนวนมาก จึงเกิดระบบการค้าที่เป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ไปปลดล็อคเงื่อนไขบางอย่างให้กลุ่มได้เติบโตขึ้น

ในการสร้างเครือข่ายระดับที่ 2 ก็คือการสร้างเครือข่ายในระดับพื้นที่เอง เพราะว่าก่อนหน้านี้การทำงานด้านการสนับสนุนอาชีพในพื้นที่นั้นมีหลายหน่วยงานมาก ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการส่งเสริมอาชีพแบบเดียวกันนี้แต่ไม่มีพื้นที่กลางในการพูดคุยกัน ทำงานในลักษณะต่างคนต่างทำ แล้วทรัพยากรก็ถูกนำไปใช้ในวิถีทางของตัวเอง ทั้งๆ ที่บางครั้งทำเรื่องเดียวกัน เราอยากลดความซ้ำซ้อนในการทำงานตรงนี้ รวมถึงเป็นการกระจายทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ให้ใช้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงมีการจัดตั้งเวที Women’s Economic Empowerment Forum (WEE Forum) โดยมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งนำไปสู่การทำงานร่วมกันมากขึ้น

ส่วนระดับที่ 3 เป็นการทำงานกับเครือข่ายที่ปรึกษาผ่านโครงการ Global Impactors Network (www.globalimpactors.org) ริเริ่มจากสถาบัน Change Fusion ร่วมกับ Oxfam โครงการดังกล่าวเป็นแพลทฟอร์มที่ให้คนในเมืองหรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สนใจประเด็นทางด้านสังคมและอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือสังคมให้คลี่คลายปัญหามาพบเจอพูดคุยกัน โดยที่พวกเขาเหล่านี้จะใช้ความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญของตัวเองในการช่วยปัญหาสังคมนั้นๆ อย่าง Wanita เองเรามีที่ปรึกษาที่ดีคอยให้คำแนะนำและช่วยกันพัฒนาสินค้าของกลุ่มอาชีพให้มีรูปแบบที่ทันสมัยเพื่อเข้าถึงตลาดในเมืองได้มากยิ่งขึ้น

ด้านที่ 4 : เรามีกองทุนหมุนเวียนเพื่อที่จะให้สมาชิกกลุ่มสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดยที่เราปล่อยกู้แบบไม่มีดอกเบี้ย เพราะที่ผ่านมาเราเจอกลุ่มผู้หญิงที่กำลังจะโต เช่น กลุ่มโรงอ่างพอไม่มีเงินทุนหมุนเวียนก็ทำให้เขาไปไหนได้ไม่ไกล เพราะฉะนั้นกองทุนหมุนเวียนสามารถช่วยปลดล็อคบางอย่างแล้วช่วยให้เขาสามารถสเกลอัพธุรกิจให้โตขึ้นได้

Wanit 2

Q: การสร้างเครือข่ายในระดับพื้นที่มีการทำงานแบบเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง?

A: ด้วยปัจจัยข้างต้น Oxfam เลยคิดว่าควรที่จะมีพื้นที่ตรงกลางในการสร้างกลไกบางอย่างให้คนเหล่านี้มาเจอกัน จึงสร้างฟอรั่มที่ชื่อว่า WEE Forum (Women’s Economic Empowerment) ซึ่งเราดำเนินการมา 5 ครั้งแล้ว โดยล่าสุดคือเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ฟอรั่มดังกล่าวเป็นการสร้างพื้นที่กลางให้คนทำงานมาเจอกัน สามารถมาแชร์ข้อมูลกัน หลังจากมีฟอรั่ม สิ่งที่ตามมานอกจากคนที่ทำงานจะได้ทำความรู้จักกันแล้ว ยังเกิดความร่วมไม้ร่วมมือกัน ทำงานไปด้วยกันได้ รวมถึงกลุ่มอาชีพภายใต้หน่วยงานเองก็มาเจอกัน เป็นเพื่อนกัน จากก่อนหน้าที่ต่างคนต่างทำ มีความซ้ำซ้อน ไม่กระจายทรัพยากร ฟอรั่มยังช่วยดึงข้อมูลข่าวสารและการบริการให้กับกลุ่มชายขอบได้เป็นการสร้างเครือข่ายด้านที่ 2

Q: นอกจากดีไซเนอร์และผู้เชี่ยวชาญที่จะลงไปช่วยเหลือเรื่องเทรนนิ่งและทักษะต่างๆ แล้ว ระหว่างกลุ่มที่อยู่ในศูนย์เองมีการแลกเปลี่ยนความรู้กันบ้างไหม?

A: ตอนนี้เราเห็นถึงการคุยกันหรือแชร์ความรู้และทักษะที่ตนเองมีระหว่ากลุ่มเพิ่มมากขึ้นค่ะ เนื่องจากเรามีช่องทางไลน์ที่เป็นไลน์กลุ่มของ Wanita เอง โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการสื่อสารภายในระหว่างทีม Wanita และกลุ่มอาชีพ Wanita แต่หลังๆ เราเห็นว่าช่องทางนี้นอกเหนือจากเป็นช่องทางการสื่อสารแล้ว กลายเป็นพื้นที่กลางให้กลุ่มได้แลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ หรือประชาสัมพันธ์กิจกรรมกลุ่มข่าวสารอื่นๆ ที่น่าสนใจด้วย เพราะหลังจากการประชุมหรือการฝึกอบรมที่ทำให้กลุ่มอาชีพได้มาเจอกัน ทำให้พวกเขาเหล่านี้กลายเป็นเพื่อนกัน แบ่งปันความรู้ จึงเป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงมาช่วยสนับสนุนส่งเสริมกันและกัน

Q: การทำงานในทีมของ Wanita เป็นอย่างไร มีสมาชิกกี่คน การแบ่งงาน วิธีการทำงานอย่างไร?

A: ใน Wanita มีอยู่ด้วยกัน 5 คน จะมีญาที่คอยดูแลภาพรวมทั้งหมดผ่านการปรึกษากับทีมงาน Oxfam และ วี (วีดะ อิแม) เป็นเจ้าหน้าที่กองทุนหมุนเวียน Wanita แล้วก็จะมีน้องอามิเนาะห์ (อามีเนาะห์ หะยีมะแซ) เป็นเจ้าหน้าที่การเงินที่ดูแลการเงินโครงการ Wanita รวมถึงเรื่องการวางระบบบัญชี การเสริมสร้างการออมให้แก่กลุ่มอาชีพ Wanita น้องฟาอิซะห์ (ฟาอิซะห์ มามะ) เจ้าหน้าที่การขายที่คอยดูแลหน้าร้าน Wanita และคอยดูแลเฟซบุ๊ค เว็บไซต์ ติดต่อประสานงานกับลูกค้า สุดท้ายคือน้องมาดิฮะห์ (มาดีฮะห์ สามะ) จะดูแลอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกคือการอบรม โดยจะคอยคัดสรรหัวข้อการฝึกอบรมให้กับกลุ่มอาชีพว่าในแต่ละช่วงเวลาควรจะให้องค์ความรู้ด้านใดแก่สมาชิก อย่างที่สองคือการดูแลเรื่องกลยุทธ์ด้านการตลาดของ Wanita ว่าสามารถเข้าช่องทางไหนได้บ้าง หรือจะทำอย่างไรให้ตลาดของเรามีปริมาณมากพอ และจริงๆ จะมีน้องต๊ะ (กอนีต๊ะ สะรี) เป็นน้องเล็กสุดในทีมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน Oxfam ในปัตตานีที่ดูแลโครงการเยาวชนในพื้นที่ และจะคอยช่วยงาน Wanita อยู่บ้างตามโอกาสค่ะ

 

Q: การอบรบต่างๆ จะรู้ได้อย่างไรว่าเวลาไหนควรจะเทรนเรื่องอะไร?

A: จริงๆ แล้วมันมาจากกลุ่มอาชีพเองก่อนซึ่งใน 56 กลุ่ม แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ระดับแรกอาจจะเป็นกลุ่มที่โตหน่อย พร้อมที่จะเป็น SME หรือว่าเป็นอยู่แล้ว กับอีกกลุ่มที่ผ่านช่วงการก่อตั้งมาแล้วและอยู่ในระดับปานกลาง เราก็จะดูความต้องการของเขา ณ ตอนนั้นด้วยว่าอยากได้ความรู้เรื่องอะไรบ้าง อีกส่วนหนึ่งจะมาจากการประเมินความเหมาะสมของเจ้าหน้าที่เราด้วย โดยกลุ่มอาชีพได้บอกความสนใจหรือความต้องการว่าอยากฝึกอบรมหัวข้อนี้นะ ถ้าเราคิดว่าหัวข้อไหนใกล้เคียงและเหมาะสมที่จะจัด ก็จะเป็นในลักษณะประเมินร่วมกัน

Q: คนภายนอกมองภาพลักษณ์ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องความรุนแรง คนในพื้นที่รู้สึกอย่างไร และความจริงที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร?

วีดะ: สำหรับคนในพื้นที่ วัฒนธรรมความเป็นอยู่เหมือนยังเดิมนะ ผู้คนก็ใช้ชีวิต ไปเที่ยวกันปกติ ตอนกลางคืนก็ยังออกมากันอยู่ แต่ข่าวที่ออกมาบางช่วงดูจะรุนแรงไปหน่อย จริงๆ แล้วมันมีข้อมูลที่เจาะลึกกว่าสิ่งที่สื่อนำเสนอออกมา ซึ่งมันไม่ได้เป็นไปอย่างที่สื่อบอกร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีบางครั้งที่มีอะไรเกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครรู้มาก่อนว่าจะเกิด

อลิญา: ถ้าในมุมของญา ก่อนหน้านี้ด้วยความที่เราไม่ได้โตในพื้นที่แล้ววันหนึ่งได้มาทำงานอยู่ที่นี่ เราจะเห็นความแตกต่างว่าตอนเด็กๆ เรากลับบ้านทุกปีๆ เมื่อก่อน 5 ทุ่ม เที่ยงคืน เราออกไปไหนมาไหนได้ พอเริ่มมีเหตุการณ์ 6 โมงเย็นก็เริ่มปิดร้านกันแล้ว ทุกคนจะใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้น ขณะที่คนภายนอกรับรู้จากภาพที่ออกไป ทำให้เวลาพูดถึง 3 จังหวัด คนจะไม่นึกถึงเรื่องดีๆ แต่จะนึกถึงแต่ระเบิด นึกถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เอาเข้าจริงใน 3 จังหวัด มีมุมสวยๆ เยอะมาก แม้กระทั่งตอนนี้ถึงแม้จะมีความรุนแรงอยู่ แต่ความงดงามในมิติอื่นมันยังคงมีอยู่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต อัตลักษณ์ อาหาร ธรรมชาติ ผู้คนซึ่งไม่ได้ถูกสื่อออกไปมากเท่ากับความรุนแรง เพราะฉะนั้น นี่เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เราและ Oxfam พยายามที่จะสื่อสารเรื่องราวของคนในพื้นที่อีกแง่มุมหนึ่ง เราไม่เลือกสื่อสารถึงความดราม่าของคนในพื้นที่ เพราะเราเชื่อว่าความน่าสงสารมันสามารถดึงคนให้ซื้อสินค้าได้เพียงแค่ครั้ง สองครั้ง แต่สิ่งที่เราพยายามทำก็คือ สื่อสารในแง่อื่นๆ ที่คนยังไม่เคยเห็น รวมถึงความเข้มแข็งและความสามารถของผู้หญิง

ส่วนคนในพื้นที่เองที่อยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ กลายเป็นว่าคนเคยชินกับความรุนแรงทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันไม่สมควรที่จะเคยชินนึกออกไหม เช่น ระเบิดตรงนี้นะ แต่วันต่อมาคนก็เต็มร้านเหมือนเดิมทั้งๆ ที่คนน่าจะต้องรู้สึกว่านี่ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ แล้วก็ควรที่จะทำอะไรบางอย่างให้มันกลับมาปกติ แต่กลายเป็นว่า 13 ปีที่ผ่านมา ด้วยความที่ชาวบ้านเองทำอะไรไม่ได้ คือไม่สามารถที่จะควบคุมความรุนแรงได้ด้วย ก็เลยจำเป็นต้องอยู่ในสภาวะความเคยชิน..กลายเป็นความเคยชินที่ไม่สมควรที่จะเคยชิน

Q: แล้วการทำงานท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนแบบนี้ ทางกลุ่ม Wanita จัดการกันอย่างไร?

A: การทำงานของเราจะมีการลงพื้นที่ค่อนข้างบ่อย เพราะฉะนั้นก่อนที่จะลงพื้นที่ เราจะประเมินสถานการณ์กับแต่ละกลุ่มก่อนว่าตอนนี้ที่กลุ่มเป็นอย่างไร ลงได้ไหม ถ้าช่วงไหนลงไม่ได้กลุ่มก็จะบอกว่าอย่าเพิ่งมาตอนนี้ ก็จะเป็นการประเมินร่วมกัน

Q: เป้าหมายสูงสุดของ Wanita คืออะไร ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ให้คนในพื้นที่มีงานทำ ให้ผู้หญิงแสดงออกถึงศักยภาพ หรืออย่างอื่น?

A: เป้าหมายสูงสุดของเราเลยก็คือ ‘สันติภาพ’ เพียงแต่ว่าความเชี่ยวชาญของเราคือถนัดการทำงานเชิงเศรษฐกิจ การลดมิติความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม เราเชื่อว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้คนในพื้นที่ต้องมีเศรษฐกิจในมือที่ดีก่อน นี่เป็นธรรมชาติมากๆ เลยนะ เพราะเมื่อคนเรามีรายได้ มีเงินอยู่ในมือ มีเศรษฐกิจที่ดี เขาจะมีความมั่นใจในตัวเองถูกไหม เขาจะกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าที่จะแสดงความเชื่อว่าเขาอยากจะเห็นอะไรในพื้นที่ ซึ่ง ณ ตอนนี้ด้วยความที่เศรษฐกิจมันไม่ดี ถ้าดูจากกราฟรายได้จะเห็นเลยว่ารายได้เฉลี่ยของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังอยู่ under poverty ยังมีความยากจนอยู่ เพราะฉะนั้นพอไปถามก๊ะหรือพี่ๆ ในพื้นที่ว่าอยากจะให้สันติภาพในพื้นที่เป็นอย่างไร เขาจะไม่สนใจเลย เพราะแค่วันๆ หนึ่งการเลี้ยงปากท้องมันก็ยากแล้ว นี่เลยเป็นหนึ่งในเป้าหมายว่าเราอยากเสริมความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่

เพราะเราเชื่อว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นจริง มันต้องรวมคนในพื้นที่จริงๆ ให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาผลักดันเรื่องสันติภาพ แต่ขาดความร่วมมือหรือคนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม ถ้าเป็นแบบนั้นสันติภาพน่าจะเกิดยาก ซึ่งการที่คนในพื้นที่จะนำพาตัวเองไปถึงจุดนั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือพวกเขาจะต้องมีปากท้องที่ดี มีเศรษฐกิจในมือที่ดี อันนี้คือสิ่งที่กลุ่มอาชีพได้สะท้อนกับเราเมื่อถามถึงสันติภาพ เพราะฉะนั้น สิ่งนี้จึงเป็นฐานที่ Wanita จะทำงานด้านเศรษฐกิจ ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในพื้นที่ อย่างน้อยเราต้องมั่นใจว่าคนในพื้นที่จะต้องมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เพื่อที่ตัวเขาเองจะนำพาตัวเองไปสู่ประเด็นสังคม หรือการมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือในกระบวนการสันติภาพต่อไป อย่างในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ก๊ะๆ ในกลุ่ม Wanita ซึ่งเริ่มจากการเป็นสมาชิก ก็กลายมาเป็นประธานกลุ่ม มาเป็นผู้นำชุมชน เป็นตัวแทนผู้หญิงในชุมชนนั้นๆ แล้วก็ไปนั่งอยู่ในกระบวนการสันติภาพ ไปให้สิทธิให้เสียงสะท้อนสิ่งที่ตัวเองคิด ซึ่งเป็นรูปธรรมมากขึ้น

Q: ที่ผ่านมากับการทำงานร่วมกับชุมชน โดยมีเป้าหมายใหญ่คือการสร้างสันติภาพผ่านการเสริมสร้างทางเศรษฐกิจแบบนี้ เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างทั้งกับสมาชิกแต่ละกลุ่มเอง และภาพรวมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้?

อลิญา: ส่วนตัวญาเอง 2 ปีที่ผ่านมา ญาได้เรียนรู้เรื่องการทำงานกับคนในพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ด้วยความที่เป็นคนภายนอกอาจจะมองพื้นที่ในความรู้สึกสงสารเห็นใจ แต่เมื่อได้ก้าวเข้าไปทำงานแล้วเรารู้เลยว่าจริงๆ คนในพื้นที่มีศักยภาพ มีความรู้ และมีพลังที่ดีอยู่กับตัว สิ่งที่เรียนรู้คือไม่ใช่ว่าเราไปช่วยเขานะ แต่เป็นการทำงานร่วมกันกับเขาเราก็เรียนรู้จากเขา เขาก็เรียนรู้จากเรา เป็นการทำงานที่อยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน และได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างด้วย

วีดะ: ก่อนหน้านี้ได้ทำงานด้านการดูแลเเรื่องของการกำกับ รวมถึงแนะนำการจัดทำบัญชีให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พอมาอยู่ตรงนี้ก็เหมือนกับว่าเราได้ใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่ไปช่วยส่งเสริมกลุ่มในเรื่องการบริหารจัดการให้มีระบบมากยิ่งขึ้น มีโอกาสได้พูดคุยกับก๊ะๆ จากหลายๆ กลุ่ม กลุ่มและสมาชิกเข้าถึงการพัฒนามากขึ้น เป็นการทำงานที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน

อลิญา: ใช่ จะเห็นเลยว่าถ้าถามตอนนี้นะเขาจะเปิดใจ ถามถึงความเปลี่ยนแปลงเราจะรู้เลยว่า สำหรับกลุ่มผู้หญิงถ้าพวกเขาได้สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เขามาทำอะไรสักอย่าง เขาสามารถทำทุกอย่างได้ตามที่อยากจะทำเลย สิ่งที่เราเห็นก็คือกลุ่มสตรีเหล่านี้ หากได้รับการเติมเต็มหรือปลดล็อคอะไรบางอย่างให้กับเขา เขาจะออกมาทำหรือแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยน และทำงานร่วมกัน ซึ่งถ้าย้อนไปช่วงแรกๆ เราจะเห็นก๊ะๆ บางท่านที่ไม่ค่อยกล้าแสดงออกส่วนหนึ่งอาจจะเพราะพูดภาษาไทยไม่ค่อยชัด เนื่องจากว่าส่วนใหญ่จะพูดภาษามลายูกัน เวลามีอบรม มีเทรนนิ่งพวกเขาก็จะไม่กล้าถาม ไม่ค่อยมีบทบาท แต่มาปีหลังๆ พอได้ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันหลายครั้ง เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน อย่างปีที่ผ่านมาจะเห็นเลยว่าแต่ละคนกล้าแสดงออก แย่งกันพูดเลย (ยิ้ม)

ในแง่ของการทำงานเราอาจจะช่วยไม่ได้ทุกกลุ่มในช่วงเริ่มต้น สิ่งที่เราทำได้ก็คือเราพยายามที่จะสร้างกลุ่มต้นแบบ เพื่อที่จะให้กลุ่มต้นแบบไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มอื่นๆ หรือว่าสร้างงานให้กับกลุ่มอื่นๆ ต่อไป เราจึงได้เห็นก๊ะๆ ‘ต้นแบบ’ แล้วก็ดีใจที่เห็นก๊ะๆ บางท่านนำพาตัวเองไปสู่กระบวนการทางการเมืองหรือว่ากระบวนการทางสันติภาพ เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เอง เราได้เห็นคนในพื้นที่ที่ตอนนี้อยากเข้ามามีส่วนร่วมในเชิงสันติภาพมากยิ่งขึ้น เห็นน้องๆ วัยรุ่นที่เพิ่งเรียนจบคิดจะมาทำอะไรในพื้นที่แทนที่จะทำงานในกรุงเทพฯ หรือมาเลเซียอย่างที่เคยเป็นมา

วีดะ: เขากลับมาพัฒนาท้องถิ่น มีการรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มแล้วทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน คนในพื้นที่เองก็เริ่มที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งในบทบาททางสังคมมากขึ้น

Q: ในช่วงที่ผ่านมา ความท้าทายที่ต้องข้ามผ่านไปมีบ้างไหม และแก้ไขมันอย่างไร?

A: มีอุปสรรคทั้งภายในและภายนอก ภายนอกก็เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เราควบคุมไม่ได้ หรือแม้กระทั่งน้ำท่วมที่ทำให้เราลงพื้นที่ไม่ได้ ทำให้กระบวนการล่าช้า

ส่วนปัจจัยภายในน่าจะเป็นการทำงานกับคน ยิ่งกลุ่มของเรามีเกือบ 700 คน เราก็จะเจอปัญหาในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป แต่ไม่ว่าจะปัญหาใดก็ตาม สิ่งที่เราทำต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ทำความเข้าใจบริบทของพื้นที่ กลุ่มอาชีพ และคนอย่างลึกซึ้ง เพราะว่าบางครั้ง กลุ่มผู้หญิงเองก็จะมีแนวทางในการประกอบกิจการไม่เหมือนกัน บางทีเราก็เห็นว่า เออ..ถ้าเปลี่ยนมาอย่างนี้นิดนึง มันจะดีขึ้นนะ แต่ด้วยการรับรู้และบริบทแวดล้อมที่ทำมาก่อนหน้านี้ ทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเขา เราเลยใช้การการอธิบายพร้อมๆ กับการทำงานเพื่อให้เขาเห็นภาพเดียวกันกับเรา ซึ่งแนวทางการทำงานของทีม Wanita เราไม่ได้ทำงานสปอยด์กลุ่มผู้หญิงนะ หมายความว่า อะไรที่เราเห็นว่ามันดี มันใช่กับกลุ่ม เราก็พยายามที่จะใส่ตรงนั้นเข้าไปโดยไม่อยากให้ตัวเขาเองต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมากด้วย หากอันไหนที่ไม่ดี แต่กลุ่มเห็นว่าดี ตรงนั้นเราจะทำความเข้าใจในมุมของเขา แต่ถ้าทำความเข้าใจพร้อมทำการศึกษาแล้วและเห็นว่าสิ่งที่เขาชอบหรือต้องการมันไม่ได้เกิดผลดีกับกลุ่ม ตรงนี้เราก็จะบอกกับกลุ่มว่าเราทำให้ไม่ได้นะ พร้อมอธิบายถึงเหตุผลต่อไป

อีกเรื่องน่าจะเป็นเรื่องช่องทางการตลาด เราเองก็ยังทำการตลาดได้ไม่ดี ก็ต้องยอมรับว่าเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ จากการทำลักษณะโครงการที่เป็น project-based แล้วต้องทำโมเดลธุรกิจ มันเลยท้าทายเราพอสมควร ซึ่งยังเป็นอะไรที่ดำเนินการกันอยู่ แต่โชคดีที่มีน้องทีมงานที่ทำด้านการตลาดโดยตรง รวมถึงทีมงานที่ปรึกษาจากภาคส่วนต่างๆ มาช่วยตรงนี้ ด้านหนึ่งเป็นความท้าทาย แต่อีกด้านก็เป็นการทำงานที่สนุกขึ้น เพราะเราอยากไปให้ถึงจุดที่ยั่งยืนผ่านการใช้โมเดลธุรกิจเพื่อสังคม

Q: ความยั่งยืนในมุมมองของ Wanita เป็นแบบไหน?

A: ความยั่งยืนในมุมมองของเราคือ การที่ตัวศูนย์ Wanita ดำเนินกิจการได้ด้วยตัวเอง จะต้องมีการหา revenue และสามารถดำเนินกิจการอยู่ได้ อยู่รอด และยั่งยืนด้วยขาของตัวเอง รวมถึงให้คนในกลุ่มอาชีพสามารถอยู่ได้ เลี้ยงชีพได้ ส่วนความยั่งยืนในแง่ของการจัดตั้งอยู่ในพื้นที่ ก็คือศูนย์ฯ ต้องมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าเอ่ยถึงองค์กรหรือหน่วยงานไหนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ก็อยากจะให้ Wanita เป็นหนึ่งในนั้น เป็นองค์กรที่มีบทบาทตรงนั้น เพื่อที่จะสร้างอิมแพคต่อไปได้

Q: การทำงานกับสังคมมันต้องมีความเสียสละ มีหัวใจที่อยากทำเพื่อคนอื่น นอกจากสองสิ่งนี้ อะไรคือแรงขับดันหรือพลังที่ทำให้ทั้งคู่ยังอยากทำงานตรงนี้อยู่ รวมถึงคุณสมบัติของคนที่อยากจะทำงานสังคมในมุมมองของทั้งสองคนด้วย?

วีดะ: สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานตรงนี้ คือการทำตัวเป็นกลาง ตัวเราต้องเปิดใจตัวเองก่อนว่าตอนนี้เราทำงานกับสังคมเราต้องเป็นกลาง ไม่ได้ยึดความคิดของตัวเองเป็นหลักว่าตัวเองจะเอาอย่างนี้นะ ไม่ตัดสิน เราต้องเปลี่ยน เปิดใจกว้างๆ แล้วฟังเสียงสะท้อนของความคิดเห็นที่มาจากชุมชน หน้าที่ของเราคือการเสนอแนะเท่าที่จะช่วยเหลือได้ เราอยากพัฒนาเขาแบบเดินไปด้วยกันได้ อยู่ในพื้นที่อย่างมีความสุข ซึ่งเมื่อเขามีความสุข เราก็มีความสุข คงจะเป็นสิ่งนี้แหละที่ทำให้เราอยากอยู่ตรงนี้ต่อไป

อลิญา: แรงบันดาลใจของญาคือการที่เรามีได้มีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้ในชีวิตที่ทำให้คนใดคนหนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งดีขึ้น ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีบางกลุ่มที่เรารู้สึกว่าเขามีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นนะ การเป็นส่วนหนึ่งที่คอยเชื่อมเขาให้กระโดดหรือว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น มีรายได้ที่ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งศักยภาพของเขาเองที่รู้สึกว่าเขาได้จากโครงการที่ทำ หรือว่าเขาได้อะไรจากเรา เรารู้สึกว่ามีความสุขและภาคภูมิใจตรงนั้นที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับเขาได้ สิ่งนี้กลายเป็นกำลังใจที่อยากจะทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ จาก 1 คน 2 คน 3 คน แล้วญาก็ยังมีความเชื่อว่าการทำงานในรูปแบบนี้ การเสริมสร้างทางเศรษฐกิจตรงนี้ หรือว่าช่วยส่งเสริมศักยภาพของคนในพื้นที่นี้จะนำมาซึ่งสันติภาพได้ เป็นความเชื่อที่ญาอยากจะเห็น เราไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ก็คิดว่าการทำแม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ และทำอย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะแบบส่งผลอะไรไปได้บ้าง

Q: อนาคตของ Wanita จะเป็นอย่างไรทั้งระยะสั้นและระยะยาว?

A: ในปีนี้สิ่งที่คาดหวังและแผนระยะสั้นคือการวางรากฐานของกลุ่มอาชีพทั้งหมด 56 กลุ่ม ตั้งแต่เรื่องบัญชีออมทรัพย์ การสร้างสถานะกลุ่มให้เข้มแข็งขึ้น ไม่ใช่การรวมตัวกันหลวมๆ แล้ว รวมถึงการทำตลาดทั้งในและนอกพื้นที่ เพราะถึงแม้ว่าตอนนี้เราจะเป็นแค่โปรเจ็คต์เบส แต่ว่าต่อไปเราต้องการให้มันเป็นธุรกิจบิสิเนสจริงๆ จังๆ จะต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ด้วยโมเดลที่เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ฐานหนึ่งคือการหากำไร อีกฐานหนึ่งก็ต้องสร้างโซเชียลอิมแพคด้วย

อีกอย่างที่เราอยากทำ คือให้สมาชิกกลุ่มให้ความสำคัญกับการบันทึกบัญชีและการทำออมทรัพย์กลุ่ม เพื่อรองรับในกรณีที่กลุ่มจะต้องโตขึ้นเรื่อยๆ รากฐานจริงๆ เราอยากให้เกิดการจัดทำบัญชีที่เข้มแข็ง มีการออมทรัพย์ มีการปันผล ซึ่งนี่จะเป็นหนึ่งในเป้าหมายของปีนี้ สมาชิกจำนวน 56 กลุ่มที่เข้ามา อย่างน้อยครึ่งหนึ่งจะต้องมีการบันทึกบัญชีที่ถูกต้อง

ส่วนในปีหน้าหรืออีก 2 ปีข้างหน้า ความคาดหวังของเราคืออยากจะให้ Wanita สปริงตัวออกไป ไม่ใช่แค่โปรเจ็กต์แล้ว แต่ว่าต้องเป็นศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมที่หากำไรได้ อยู่ได้ด้วยตัวเอง และสามารถสร้างโซเชียลอิมแพคให้กับคนในพื้นที่ในเวลาเดียวกัน

กลุ่มนูรุลฮิญาบ

Q: สำหรับคนที่สนใจ เช่น ดีไซเนอร์ คนในวงการออกแบบ หรือแวดวงอื่นๆ น้องๆ อาสาสมัครที่เขาเห็นแล้วอยากจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกับ Wanita เขาสามารถช่วยอะไรได้บ้าง?

A: ติดต่อเราได้เลย ผ่านทางเฟซบุ๊คก็ได้ หรือถ้าจะไปเยี่ยมกลุ่มก็สามารถติดต่อมาได้เลยเหมือนกัน จะได้มีการวางแผนล่วงหน้า – มานะ มาเที่ยวกัน!

 

 

ขอบคุณที่มา: Creative Citizen