“ธรรมธุรกิจ” ธุรกิจเพื่อสังคมที่ใช้ธรรม มานำการทำธุรกิจ ให้เป็นธรรมทั้งผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภค | SE Stories ตอนที่ 7

“จะทำอะไรก็ทำ แต่ให้เอาธรรมมานำธุรกิจไว้ก่อน” หัวใจของธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งเราได้ยินคุณหนาว พิเชษฐ โตนิติวงศ์ คนที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ผู้จัดการไปทั่ว” (ไม่ได้สะกดผิดนะคะ บริษัทนี้เรียกตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ว่าผู้จัดการไปทั่วค่ะ) สอดแทรกแนวคิดการนำธรรมะมาเป็นหัวใจหลักเพื่อนำและทำธุรกิจ อยู่ในเกือบทุกประเด็นคำถามตลอดการให้สัมภาษณ์ ในฐานะผู้บริโภค คิดว่าเราโชคดีมากที่มีผู้ผลิตอาหารซึ่งคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของเรา มากกว่าที่เราจะคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของตัวเองเสียอีก และคิดว่าผู้อ่านทุกคนก็คงสัมผัสได้ถึงความหวังดีจากผู้ผลิตอาหารท่านนี้เช่นกัน

คุณหนาว พิเชษฐ โตนิติวงศ์ ผู้จัดการทั่วไปของธรรมธุรกิจ
คุณหนาว พิเชษฐ โตนิติวงศ์ ผู้จัดการทั่วไปของธรรมธุรกิจ

Q: อะไรคือจุดเริ่มต้นของธรรมธุรกิจ

A: ธรรมธุรกิจ เริ่มต้นมาจากโครงการที่ตั้งใจจะทำงานเพื่อช่วยเหลือชาวนาให้เกิดความยั่งยืนเเละมั่งคั่งได้จริง ตามคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ในความเป็นจริงแล้ว ต้องออกตัวว่าในอดีตตัวเองไม่ได้ศรัทธา และเคยลบหลู่คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เพราะมีความรู้สึกว่าป้าย “เศรษฐกิจพอเพียง” มีเต็มทั้งแผ่นดิน แทบจะทั่วประเทศไทย จึงเป็นความท้าทายที่ต้องการจะพิสูจน์ว่าคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” หรือ “ศาสตร์พระราชา” มันมีอยู่จริงไหม จับต้องได้ไหม แก้ปัญหาให้ชาวนาที่ยากจนได้จริงไหม เพราะเราเคยช่วยเหลือชาวนาแบบคนรวยมาแล้ว ถ้าจะมาช่วยเหลือชาวนาแบบคนจนที่ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร สอน มันจะเป็นไปได้ไหม 


Q: ชื่อ “ธรรมธุรกิจ” มีที่มาที่ไปอย่างไร 

A: “ธรรมธุรกิจ” จะเรียกว่าผมเป็นคนตั้งชื่อนี้เองก็ได้ เพราะได้มาตั้งแต่สมัยไปบวชเป็นพระที่วัดป่านาคำน้อย จังหวัดอุดรธานี ในปี 2541 เหตุผลที่ได้บวชวัดนี้เพราะขอแม่ไว้ว่า ขอบวชแบบไม่ปกติ บวชวัดที่เน้นปฏิบัติอย่างเคร่งครัดจริง ๆ แม่และพี่ชายจึงพาไปที่วัดป่านาคำน้อย 

จุดประสงค์ของการบวชเป็นพระ ก็เพื่อหาคำตอบของคำถามในชีวิตว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร ตายแล้วจะไปไหน ต้องไปชดใช้กรรม หรือต้องกลับมาเกิดอีก จึงได้คำตอบซึ่งจริง ๆ แล้วเข้าใจง่ายมาก คือ ถ้าเชื่อในกรรมและผลของกรรมว่าถ้าตายแล้วต้องกลับมาเกิดอีก สิ่งที่ต้องทำในชาตินี้ ก่อนที่จะตายจากโลกนี้ไปก็คือ ต้องเอาธรรม ไปนำทุกสิ่งในชีวิต เพื่อสั่งสมบุญบารมีให้กลับชาติมาเกิดน้อยที่สุด จึงเป็นที่มาของคำว่า “ธรรมธุรกิจ” ที่เกิดจากการตอบคำถามในชีวิตตัวเอง


Q: มองเห็นและต้องการแก้ปัญหาสังคมประเด็นใด 

A: แน่นอนที่สุด เราเป็นเถ้าแก่โรงสี ถือว่าเป็นผู้ร้ายของสังคม กลายเป็นพ่อค้าคนกลางที่เอาเปรียบชาวนา และผู้บริโภค ปัญหาที่ย่อมรู้อยู่แก่ใจก็คือ การค้าที่ไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ธรรมธุรกิจจึงก่อเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการค้าให้มีความเป็นธรรมนั่นเอง หาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายในระบบ หรือคน 5 คนในวงจร ตั้งแต่คนปลูกข้าว คนซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา คนกลางที่สีข้าว คนที่ขายข้าวสารให้คนกิน และสุดท้ายคนกินข้าว นี่คือประเด็นเริ่มต้นที่ต้องการทำธุรกิจเพื่อสังคม


Q: มีวิธีการแก้ปัญหาเรื่องการค้าที่ไม่เป็นธรรมอย่างไร ออกมาในรูปแบบใด มีสินค้าและบริการอะไรบ้าง

A: เมื่อเราอยากเห็นความยั่งยืน ก็ต้องรู้ที่มาที่ไปตั้งแต่ต้นจนจบ ศึกษาหาข้อมูลตั้งแต่ที่มาของข้าวว่าผู้ปลูก ก็คือ ชาวนาเอง ให้ความเป็นธรรมแก่ข้าวที่ตนปลูกแล้วหรือยัง มีการทำนาหรือการปลูกข้าวกี่วิธี ค้นจนพบว่าจริง ๆ แล้ว สามารถปลูกข้าวโดยไม่ต้องใช้สารเคมีเลยก็ได้ แถมผลผลิตต่อไร่ไม่ลดลงด้วย ยอมรับว่าไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้เลย ในขณะที่ยังเป็นเถ้าแก่โรงสี หรือรู้แต่ก็ไม่เชื่อ เพราะมีชุดความคิดในสมองเสมอ ๆ ว่า ทันทีที่เลิกใช้สารเคมี ผลผลิตต่อไร่ต้องตกต่ำลงแน่นอน ต้องใช้เวลา 2-5 ปีที่จะทำให้ผลผลิตต่อไร่กลับมาเท่าเดิม เพราะฉะนั้น ความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้ตลอดรอดฝั่งจริงก็ต่อเมื่อกระบวนการแรกสุดเป็นธรรม นั่นก็คือ การปลูกข้าว

คำถามต่อมา คือ แล้วจะทำอย่างไรให้ชาวนาที่ทำนาเคมีมาทั้งชีวิตเปลี่ยนมาทำนาธรรมชาติ อายุโดยเฉลี่ยของชาวนายุคปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 55 ปี เพราะเป็นรุ่นแรกที่ใช้สารเคมี หรือรุ่นแรกของการปฏิวัติเขียว (The Green Revolution) ที่นำสารเคมีเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 50 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำ เพื่อให้ข้าวที่ปลูกมีความเป็นธรรมทั้งต่อคนปลูก ไปจนถึงคนกิน ก็คือ เราต้องเปลี่ยนชาวนาให้ได้ก่อน ถ้าสุดท้ายคนกินบอกว่า เราก็ยังกินข้าวเคมีเหมือนเดิม ข้าวมีสารพิษ สารเคมีตกค้างเหมือนเดิม แล้วชาวนาจะมาเรียกร้องหาความเป็นธรรมได้อย่างไร ดังนั้น จึงต้องย้อนกลับไปทำให้คนปลูกข้าวเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนวิธีการในการปลูก โดยเอาคนปลูกข้าวมาฝึกอบรมก่อน เปลี่ยนความคิดก่อน ไม่ได้เปลี่ยนในแง่ของเทคนิคการปลูกข้าว แต่เปลี่ยนให้รู้จักคำว่า “พอเพียง” ว่าจริง ๆ คืออะไร ใช้แนวทางพิสูจน์แนวคิดทฤษฎีบันได 9 ขั้นที่อาจารย์ยักษ์คิดขึ้น เพื่อจะนำไปสู่ความพอเพียง โดยประยุกต์จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในคราวที่อาจารย์ยักษ์เคยทำงานถวายพระองค์ท่าน จุดนี้เป็นจุดที่ผมคิดว่า จะเป็นก้าวแรกของการทำให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมขึ้นได้

เพราะฉะนั้น ปี 2556 – 2558 เป็นช่วง 3 ปีแรกที่ผมขนชาวนาจากเชียงใหม่ไปฝึกอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี ระหว่างนั้นก็ไปซื้อที่ดินเพื่อสร้างศูนย์ฝึกที่สันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ด้วย ชื่อ “ฐานธรรมธุรกิจสันป่าตอง” แต่ยังไม่สามารถฝึกที่เชียงใหม่ได้ทันที เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีความพร้อมใด ๆ เราต้องลงไปพัฒนาโคก หนอง นา โมเดล รวมถึงสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ใหม่ทั้งหมดก่อน พอเราสามารถขยายสมาชิกได้ ก็ไม่ต้องขนชาวนาจากเชียงใหม่มาศูนย์ฝึกที่ชลบุรีแล้ว สามารถใช้ “ฐานธรรมธุรกิจสันป่าตอง” ได้ในปี 2559 จากวันนั้นถึงวันนี้เข้าสู่ปีที่ 9 แล้ว

 

ฐานธรรมธุรกิจสันป่าตอง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
ฐานธรรมธุรกิจสันป่าตอง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

โดยปกติชาวนาปลูกข้าวอย่างเดียว ปลูกข้าว ขายข้าว ได้เงิน จับจ่ายใช้สอย วนอยู่อย่างนี้ เราเห็นแล้วว่าแนวคิดเดิมไม่มีทางทำให้เกิดความพอเพียงได้อย่างแน่นอน เพราะชาวนาหวังพึ่งตัวเงินจากการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว ทั้ง ๆ ที่ตัวเองสามารถผลิตอาหารเองได้ และไม่น่าเชื่อว่าชาวนาเกือบทั้งประเทศเลิกปลูกผักกินเอง ปลูกเฉพาะข้าว แล้วไปซื้อผักมากิน ดังนั้น ต้องคิดให้ได้ก่อนว่าทำอย่างไรให้ตัวเองพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็นก่อน นี่คือแนวคิดใหม่

พอกิน ปลูกข้าว ปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง 
พอใช้ สิ่งใดสามารถผลิตไว้ใช้เองได้ ก็ทำเอง เช่น น้ำยาสระผม สบู่ น้ำยาล้างจาน 
พออยู่ มีบ้านอยู่แล้ว หลังเล็ก ๆ พอไหม ถ้าต้องการปลูกบ้านใหม่ สร้างเองเป็นบ้านดินได้ไหม หรือสร้างบ้านจากต้นไม้ที่ปลูก 
พอร่มเย็น เกิดจากการปลูกป่า 3 อย่าง ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกไว้ทั้งบริเวณบ้าน และที่หัวคันนา

แน่นอนว่าข้าวกล้องสันป่าตองเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของเรา แต่หากทำได้ตาม 4 หลักคิดนี้ การันตีได้ว่าเขาต้องมีผลผลิตอื่นที่มากกว่าข้าวแน่นอน เช่น ผัก ผลไม้ สินค้าแปรรูปอย่าง สบู่ น้ำยาสระผม ยาสีฟัน และอีกสารพัดของใช้ จึงนำมาสู่การเปิดตลาดนัดธรรมชาติที่กรุงเทพฯ ให้คนเมืองได้เข้าถึงสินค้าจากชาวนาผู้ผลิต


Q: คำว่า “ยักษ์จับมือโจน” “ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ” และ “โคก หนอง นา โมเดล” คืออะไร ช่วยขยายความ 

A: “ยักษ์จับมือโจน” หมายถึง อาจารย์ยักษ์ หรือ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร และ พี่โจน จันใด ในเดือนมกราคม ปี 2556 เป็นทริปที่อาจารย์ยักษ์ขึ้นไปบุกรังโจนที่เชียงใหม่ และบังเอิญเป็นช่วงที่ผมกำลังกระเสือกกระสนขวนขวายที่จะพลิกฟื้นธุรกิจตัวเอง เพราะเราเคยไปช่วยเหลือชาวนากับรัฐบาลเมื่อปี 2551 ล้มเกือบละลาย ก็เกิดสนใจเรื่องข้าวอินทรีย์ ให้คนนั้นคนนี้แนะนำ แนะนำกันไปมาจนได้ไปเจอกันที่เชียงใหม่ ซึ่งคนที่นัดก็ไม่ใช่พี่โจน ไม่ใช่อาจารย์ยักษ์ แต่เป็นอีกคนชื่ออาจารย์ติ่ง ท่านนัดให้ผมไปเจออาจารย์ยักษ์กับพี่โจน จึงเป็นที่มาของ “ยักษ์จับมือโจนธรรมธุรกิจหนาวแน่ ๆ” ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

คุณโจน จันใด คุณหนาว และ อาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (จากซ้ายไปขวา) จุดเริ่มต้นของโครงการ “ยักษ์จับมือโจนธรรมธุรกิจหนาวแน่ ๆ”
คุณโจน จันใด คุณหนาว และ อาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (จากซ้ายไปขวา)
จุดเริ่มต้นของโครงการ “ยักษ์จับมือโจนธรรมธุรกิจหนาวแน่ ๆ”

“ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ” หมายถึง คนปลูก คนกลาง และคนกิน ตามลำดับ 

ต้นน้ำ หรือ คนปลูก ไม่ได้ปลูกเฉพาะข้าวเพียงอย่างเดียว แต่ปลูกทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์กินได้ แม้กระทั่งไม้ใช้สอยที่เรียกกันว่า “ป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง” ประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ ของกิน ของใช้ ที่อยู่อาศัย และอากาศที่ร่มเย็น ดังนั้น ต้นน้ำจึงสำคัญมาก หากปลูกเฉพาะพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดอินทรีย์เชิงเดี่ยว ยางพาราอินทรีย์เชิงเดี่ยว ต่อให้เป็นเกษตรอินทรีย์ก็ตาม ภัยธรรมชาติก็ยังคงเกิดขึ้นเช่นเดิมเพราะไม่มีป่าเลย 

ปลายน้ำ ก็คือ คนกิน โดยเฉพาะคนกินในกรุงเทพฯ เพราะเป็นคนกินที่ขาดแคลนมาก ขาดแคลนอาหารดี ๆ  ส่วนใหญ่บริโภคตามของที่มี ที่อุตสาหกรรมอาหารเอามาป้อนให้กิน ทั้งสารเคมีที่เกิดจากพืชพรรณธัญญาหาร ทั้งพวกสารเร่งที่อยู่ในเนื้อสัตว์ทั้งหลาย เราจึงให้ความสำคัญกับคนกินในกรุงเทพฯ เป็นหลัก ถัดลงมาเป็นคนที่อยู่ตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ส่วนคนที่มีที่ดินอยู่แล้ว เราเพียงไปให้ความรู้แก่เขา เขาก็สามารถเปลี่ยนสถานะจากคนซื้อกิน มาเป็นคนปลูกเพื่อให้พอกินก่อนได้ทันที

กลางน้ำ หรือ คนกลาง ธรรมธุรกิจต้องการเป็นคนกลางเพียงคนเดียว เราไม่ได้ต้องการให้เกิดคนกลางอีกเยอะแยะมากมาย จึงพยายามจะเป็นตัวเชื่อมให้ต้นน้ำ คือคนปลูก และปลายน้ำ คือคนกิน มีความเป็นธรรมซึ่งกันและกัน

“โคก หนอง นา โมเดล” เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ โดยหัวใจสำคัญของการทำโคก หนอง นา โมเดล เพราะหากยังยึดติดกับการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเหมือนเดิม สนใจเพียงผลผลิตปริมาณมาก ๆ เพื่อขายเหมือนเดิม โดยไม่สนใจอย่างอื่น ยากมากที่จะเปลี่ยนที่ดินของตัวเองมาทำโคก หนอง นา โมเดล เพราะการทำแบบนี้จะทำให้เสียพื้นที่ที่จะแปลงจากพืชเกษตรให้เป็นเงินไปเลย สมมติมีพื้นที่ 1 ไร่ ถ้าทำโคก หนอง นา ผลประโยชน์ก็หายไปเลย 30 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ทั้งการเปลี่ยนจากดินมาเป็นหนองน้ำ การขุดเอาดินจากหนองน้ำมาถมเป็นโคก เพื่อให้น้ำท่วมไม่ถึง แล้วจึงปลูกป่าบนนั้น สร้างบ้านบนนั้น ให้เกิดสภาวะที่ร่มเย็นในการอยู่อาศัยได้ เพราะฉะนั้น โคก หนอง นา โมเดลโดยสรุป คือ การออกแบบพื้นที่ในการทำเกษตรของคนที่มีแนวคิดใหม่ เพื่อให้เกิดความพอเพียง ไม่ได้ปฏิเสธเงิน แต่ก้าวแรกที่ต้องคิด คือ จะทำอย่างไรให้พอกินก่อน


Q: กว่าจะมาเป็นโคก หนอง นา โมเดล ต้องใช้พละกำลังมากน้อยแค่ไหน เล่าเรื่องราวความท้าทายในการชักชวนให้ชาวบ้านเปลี่ยนจากการทำนาเคมี มาทำนาธรรมชาติ 

A: การที่จะเปลี่ยนความคิดคนเป็นเรื่องยากมาก ไม่ใช่เฉพาะชาวนา แต่คนเมืองก็เช่นกัน ความท้าทายของโครงการธรรมธุรกิจ เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่พาชาวนาไปฝึกอบรมยังศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี วันแรกตอนเย็น ออกเดินทางจากเชียงใหม่ เช้าวันรุ่งขึ้นไปถึงมาบเอื้อง จากนั้นทำกิจกรรมร่วมกันตั้งแต่เช้า พอช่วงบ่าย ชาวนา 40 คนก็ขอกลับบ้าน เราก็ต้องอนุญาตให้ทั้ง 40 คนนั้นกลับบ้านตั้งแต่วันแรกเลย เนื่องจากเราไม่ได้บังคับให้เขามา ก็ไม่ควรบังคับให้เขาอยู่เช่นกัน จากที่ขนกันมา 90 คน ก็เหลือเพียง 50 คน 

แต่ใน 50 คนที่เหลืออยู่ ถือว่าเป็นชาวนาที่หัวไว ใจสู้ แม้กระนั้นก็ตาม ใน 50 คนนี้ ไม่ได้กลับไปทำนาทุกคน คนที่มุ่งมั่นจะทำนาแบบไม่ใช้สารเคมีจริง ๆ มีเพียง 16 คนเท่านั้น เราก็ชวนมาท้าพิสูจน์กันว่า การไม่ใช้สารพิษสารเคมีทุกอย่าง ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ผลผลิตต่อไร่จะได้เท่าเดิมตั้งแต่ครั้งแรกที่เลิกใช้สารเคมีเลย จะเป็นไปได้ไหม ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นอินทรีย์ทั้งหมด ขอแค่คนละ 1 ไร่ ไข่แดงตรงกลาง ล้อมรอบ 1 ไร่ที่ใช้สารเคมีเหมือนเดิม

การจะปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี แต่ให้ผลผลิตต่อไร่เท่าเดิม เทคนิคที่เราฝึกให้ก็คือว่า ใช้น้ำหมักสมุนไพรไถรสจืดเพื่อล้างสารพิษสารเคมีที่มีอยู่เดิม หมักดองนาก่อนที่จะปลูกข้าวอย่างน้อย 7 วัน และควรใช้น้ำหมักที่หมักไว้อย่างน้อย 3 เดือนถึง 1 ปีขึ้นไป เคล็ดลับนี้ไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใด เราต้องการเผยแพร่ให้ชาวนาทั้งแผ่นดินรู้และนำไปทำตาม 

จึงมองว่าการทำเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องเข้าใจง่ายมีเพียงทางเดียว คือ ต้องทำให้ประสบความสำเร็จ แล้วนำมาเป็นตัวอย่าง หากรุ่นแรกไม่ประสบความสำเร็จ อย่าหวังว่ารุ่นต่อไปจะมีคนมาเดินตามเราอีก สุดท้ายผ่านไป 4 เดือน เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ปรากฏว่าชาวนารุ่นแรกได้ผลผลิตต่อไร่เท่าเดิมจริง ๆ จึงทำให้เกิดรุ่นที่ 2 รุ่นที่ 3 ต่อมาเรื่อย ๆ จนเราต้องหยุดรับชั่วคราว เพราะตลาดขยายตัวตามคนผลิตหรือชาวนาไม่ทัน 


Q: ทำนาแบบธรรมชาติที่จังหวัดใดบ้าง ประมาณกี่ครัวเรือน ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

A: เริ่มต้นที่เชียงใหม่ ปัจจุบันเฉพาะที่เชียงใหม่มีประมาณ 900 ไร่ ผลผลิตเป็นข้าวกล้องสันป่าตอง ขายทั้งในห้าง Big C และแบบออนไลน์ เราสามารถระบายสต็อกได้ใกล้เคียงกับปริมาณการผลิต ที่ได้ใน 1 รอบการผลิต 

ข้าวกล้องสันป่าตอง ผลผลิตข้าวอินทรีย์จากการทำนาแบบธรรมชาติ ที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
ข้าวกล้องสันป่าตอง ผลผลิตข้าวอินทรีย์จากการทำนาแบบธรรมชาติ ที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

เริ่มต้นทำปี 2557 ในช่วงปี 2557-2564 เราแบกสต็อกไว้ถึง 2 ปี หมายความว่าการผลิตใน 1 รอบการผลิต ประมาณ 900 ไร่ กว่าจะขายหมดคืออีก 2 ปี ก็ต้องเก็บรักษาคุณภาพข้าวเอาไว้เพื่อให้ยังขายต่อได้ แต่พอมาถึงปี 2564 ขายได้หมดภายในครึ่งปี ซึ่งเป็นความสำเร็จเพราะมีคนรู้จักเรามากขึ้น อันเกิดจากการที่เราไป SAVE ชุมพรคาบาน่าไว้ได้ (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับ SAVE ชุมพรคาบาน่า ได้ในคำถามสัมภาษณ์ลำดับหลัง) คนที่ซื้อหุ้นธรรมธุรกิจหนึ่งหมื่นกว่าคนในตอนนั้น เราได้แจกข้าวตัวอย่างให้เขาเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมานี่เอง พอคนหมื่นกว่าคนนั้นได้กิน จึงรู้จักข้าวกล้องสันป่าตอง เกิดปรากฏการณ์ซื้อ และพรีออเดอร์ซ้ำ พูดได้ว่าเพิ่งจะประสบความสำเร็จเมื่อไม่นานนี้เอง

ชาวนากลุ่มที่ 2 อยู่ที่จังหวัดยโสธร ปลูกข้าวหอมมะลิประมาณ 200 กว่าไร่ โดยปกติข้าวหอมมะลิเป็นข้าวที่ขายง่ายอยู่แล้ว ขายภายใน 1 ปีก็หมด เพราะเราปลูกปีละครั้งอยู่แล้ว จึงไม่มีผลผลิตค้างสต็อกเลย 

ดังนั้น ตอนนี้เรื่องข้าวเราทำเพียง 2 จังหวัด ถ้าขยายไปที่อื่นด้วยก็จะไปชนกับกลุ่มอื่นที่ทำอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเราไม่ได้ต้องการแข่งขันกับใครที่มีวิธีการแบบเดียวกับเรา เพราะการได้ทำในสเกลใหญ่ ทำให้สามารถขายข้าวในราคาที่ต่ำลงได้มาก อีกประการหนึ่ง เราโฟกัสเฉพาะชาวนาที่ทำนาเคมี เพื่อเข้าไปเปลี่ยนแปลงเขา สำหรับชาวนาที่ทำนาอินทรีย์อยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำซ้ำซ้อนอีก


Q: เชื่อว่าเราได้ยินคำว่า “ศาสตร์พระราชา” มาโดยตลอด เมื่อคุณหนาวได้ลงไปสัมผัสวิถีชีวิตจริง ๆ ของผู้คน คิดว่าคนส่วนใหญ่มีความเข้าใจและได้ลงมือทำตามศาสตร์พระราชาจริง ๆ มากน้อยแค่ไหน และศาสตร์พระราชาในมุมมองของคุณหนาวเป็นอย่างไร

A: แปลง่าย ๆ ศาสตร์พระราชา ก็คือ คำสอนของพระองค์ท่านนั่นเอง สอนเรื่องพอเพียง พอเพียงก็คือ คนที่มีความรู้และคุณธรรมกำกับตนเอง แต่สำหรับผม ผมมองว่าการพัฒนามนุษย์ที่พระองค์ท่านได้รับรางวัลมานั่นแหละ คือ การพัฒนาจิตใจของมนุษย์ ไม่ได้พัฒนาสมองเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้น การทำงานโดยใช้ศาสตร์พระราชา ก็คือการพัฒนามนุษย์ 

เริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยการพัฒนาสามขุมพลัง พลังกาย พลังสมาธิ พลังปัญญา กับการฝึกอบรมหลักสูตร “ธรรมธุรกิจ ร้านอาหาร ตามศาสตร์พระราชา” ณ ฐานธรรมธุรกิจ ชุมพรคาบาน่า
เริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยการพัฒนาสามขุมพลัง พลังกาย พลังสมาธิ พลังปัญญา กับการฝึกอบรมหลักสูตร “ธรรมธุรกิจ ร้านอาหาร ตามศาสตร์พระราชา” ณ ฐานธรรมธุรกิจ ชุมพรคาบาน่า

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้คนทุกคนเข้าใจ แม้กระทั่งตัวผมเองที่เคยมีอคติกับคำสอนนี้มาก่อน เพราะการเปลี่ยนความคิดคนไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องมีกระบวนการในการเปลี่ยน ง่ายที่สุดที่จะทำได้ คือ ลงมือทำให้เห็น การเอาคนมาฝึกอบรม จึงสอดคล้องกับกระบวนการเปลี่ยน ดังนั้น ใครก็ตามที่ต้องการร่วมขบวนการกับธรรมธุรกิจ ก้าวแรกต้องเป็นศิษย์ยักษ์กับโจนก่อน โดยเฉพาะคนปลูก คนกินไม่จำเป็นต้องมาฝึกอบรมก่อนแล้วจึงจะกินข้าวเราได้ คนกินสามารถเดินจากบันไดขั้นที่ 9 ลงมาเป็นเครือข่ายของเราก่อนได้ เพราะฉะนั้น ศาสตร์พระราชาไม่ได้ตายตัว ไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องทำอย่างนั้นก่อนจึงจะทำอย่างนี้ ให้คิดว่าคำสอนของพระองค์ท่าน ก็เปรียบเสมือนคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะประยุกต์คำสอนนั้นมาใช้กับการทำงาน กับตัวเองได้อย่างไร แค่นั้นเอง


Q: บันได 9 ขั้นไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงมีอะไรบ้าง เพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

A: อาจารย์ยักษ์ได้ประยุกต์คำว่า “บันได 9 ขั้น” มาจากหลักคิดเรื่องความพอเพียง แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับขั้นพื้นฐาน เริ่มจากบันไดขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 4 ที่เราเรียกว่า 4 พอ ได้แก่ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ตามลำดับ อย่างที่ได้เล่าไปข้างต้น และระดับก้าวหน้า ตั้งแต่บันไดขั้นที่ 5 ไปจนถึงขั้นที่ 9

  • บันไดขั้นที่ 5 เริ่มจากเรื่องบุญ ถามว่าทำไมต้องเริ่มจากบุญ เราคิดว่าสังคมไทยจะอยู่รอดได้จริง ๆ คนในสังคมต้องคิดถึงเรื่องบุญ ทาน กรรม บาป ด้วย 
  • บันไดขั้นที่ 6 เรื่องทาน คือ การให้กับบุคคลที่สมควรจะได้รับ หรือสมควรที่จะให้
  • บันไดขั้นที่ 7 คือ การเก็บรักษาแปรรูป ไม่ได้หมายถึงการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาดเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึง การเก็บรักษาเพื่อไว้กินไว้ใช้ในยามวิกฤต เช่น เศรษฐกิจตกต่ำ น้ำแล้ง น้ำท่วม โรคระบาด เป็นต้น
  • บันไดขั้นที่ 8 คือ การขาย ขายเพื่อสร้างเครือข่าย
  • บันไดขั้นที่ 9 คือ การสร้างเครือข่าย

บทบาทของธรรมธุรกิจจริง ๆ เป็นการให้ความรู้คน ให้ความรู้เรื่องทฤษฎีบันได 9 ขั้น สังเกตว่าเราไม่ได้ลงไปทำ “4 พอ” เอง คนที่ทำให้เกิดขึ้น คือ คนที่ได้ความรู้จากเราไป แต่ธรรมธุรกิจมีหน้าที่ทำบันไดขั้นที่ 5-9 หรือบันไดขั้นก้าวหน้าให้เกิดขึ้น โดยรวมกลุ่มกันทำบุญ ทำทาน เก็บรักษาแปรรูป เอาข้าวเปลือกสด ๆ จากชาวนามาอบให้แห้งแล้วสี มาเก็บมากอง จากนั้นก็ขายให้เป็นธรรม ส่วนเครือข่าย ก็ต้องหาวิธีที่จะพึ่งพากันเองได้ด้วย บันได 9 ขั้น จึงเปรียบเสมือนแผนที่ในการทำงานของธรรมธุรกิจ

พอเพียงก็คือ คนที่มีความรู้และคุณธรรมกำกับตนเอง แต่สำหรับผม ผมมองว่าการพัฒนามนุษย์ที่พระองค์ท่านได้รับรางวัลมานั่นแหละ คือ การพัฒนาจิตใจของมนุษย์ ไม่ได้พัฒนาสมองเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้น การทำงานโดยใช้ศาสตร์พระราชา ก็คือการพัฒนามนุษย์


Q: มีแนวทางการบริหารให้ภาคเกษตรและภาคธุรกิจเชื่อมโยงกันได้อย่างไร 

A: ฟากเกษตรก็คือคนปลูก ธรรมธุรกิจเป็นคนกลาง การเชื่อมโยงกันต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น หากปราศจากเป้าหมายนี้ ก็ไม่ต่างอะไรจากธุรกิจเกษตรปกติ 

จริง ๆ แล้วอยากให้ทุกคนไปบวชก่อน (หัวเราะ) เพราะจะกระโดดข้าม หรือลืมคำว่าคุณธรรมไม่ได้เลย ทุกจังหวะของการตัดสินใจ ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ล้วนต้องตั้งสติ ในฐานะผู้บริหาร จะตัดสินใจอะไรสักอย่างต้องคิดก่อนว่า ตกลงมันเป็นธรรมหรือเป็นกิเลส ถ้าเป็นกิเลสก็ต้องคิดต่อว่า เราพอจะเลี่ยงได้ไหม และต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า มันไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะเป็นธรรมทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ขอให้เป็นธรรมมากที่สุดก็พอ 


Q: ผลกระทบทางสังคมที่ธรรมธุรกิจสร้างให้เกิดขึ้นมีสิ่งใดบ้าง และคิดว่าอะไรเป็นกำไรที่ไม่ใช่ตัวเงิน

A: เราได้สังคมใหม่ นั่นคือสิ่งที่ได้สัมผัสกับตัวเอง สังคมเก่าก็คือสังคมที่เคยอยู่ ส่วนสังคมใหม่ เป็นสังคมที่เกิดจากกระบวนการที่ได้ไปอบรมคน เราฝึกอบรมคนไปหลายพันคน หากรวมกับคนที่ผ่านการฝึกของอาจารย์ยักษ์ และพี่โจนด้วย รวมแล้วเป็นหลักแสนคนเห็นจะได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เห็นและสัมผัสได้มากที่สุดเลยก็คือเรื่องคน 

เวลาเราจัดกิจกรรมรวมพลที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ อย่างน้อย ๆ ปีละครั้ง เรารู้สึกว่ามันเป็นสังคมที่ใช่ และมีความสุข รู้สึกไม่ต้องระแวดระวังเรื่องใด ๆ ก็ตามแบบในสังคมเดิม มันกลายเป็นโลกอีกโลกหนึ่ง คนนอกอาจจะมองว่าเป็นสังคมคนบ้า แต่เรายินดีให้คนอื่นมองว่าบ้า เพราะเรามีความสุขในสังคมคนบ้าแบบเรา เป็นสังคมที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ให้ความรัก และช่วยเหลือกันด้วยใจจริง เช่น ครั้งที่ระดมทุนเงินลงขัน SAVE ชุมพรคาบาน่า เป็นเรื่องมหัศจรรย์พันลึกมาก ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ ถามว่ามันเกิดจากอะไร ก็เกิดจากคนนั่นแหละที่ช่วยกัน เพราะฉะนั้น พอมีคน มีกลุ่มก้อน มีสังคม มีมวล มีพลังมากพอ ก็สามารถจะช่วยกันเปลี่ยนแปลงปัญหาสังคมประเด็นอื่นต่อไปได้ 

เช่น ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เมื่อคนจำนวนเป็นแสน ๆ คน หันมาบริโภคอาหารที่ไม่ใช้สารพิษสารเคมี ในราคาที่เป็นธรรมด้วย ก็จะเกิดการพลิกฟื้นผืนดินที่แห้งแล้ง ที่เคยมีสารเคมีปนเปื้อน มาเป็นผืนดินที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้นและมากขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นกำไร คือ สังคม สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น 

ส่วนคนที่เข้าใจเรา และกลับไปทำโคก หนอง นา โมเดล ก็มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ปลดหนี้ปลดสินได้ ซึ่งเป็นผลิตผลจากการค่อย ๆ สร้างฐานเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นจริงตลอด 9 ปี นี่คือสิ่งที่เรามั่นใจว่าได้ผลกำไรทางสังคม มากกว่าผลกำไรที่เป็นตัวเงินแน่นอน


Q: การ SAVE ชุมพรคาบาน่ามีความเป็นมาอย่างไร ทำไมต้องไป SAVE เขา 

A: จุดเริ่มต้น คือ วันหนึ่งผมเดินไปบอกอาจารย์ยักษ์ว่า ผมต้องการทำโครงการธรรมธุรกิจ แต่ผมเป็นบุคคลล้มเกือบละลาย ต้องการที่จะให้คนมาซื้อหุ้นบริษัทธรรมธุรกิจ แล้วให้คนมาซื้อโรงสีศิริภิญโญ และผมก็ยังเป็นผู้บริหารให้เหมือนเดิม เป็นการ SAVE โรงสีศิริภิญโญมากกว่าด้วยซ้ำตั้งแต่ก้าวแรก แต่สุดท้ายโรงสีมันไม่ได้มีความเร่งด่วนที่จะไป SAVE ก็เลยไม่สนใจ 

จนถึงปี 2562 ชุมพรคาบาน่ากำลังจะถูกขายทอดตลาด พอเราทำโครงการ “SAVE ชุมพรคาบาน่า” คนก็ถามอย่างที่ผมถูกถามตอนนี้ว่า ทำไมต้องไป SAVE ชุมพรคาบาน่า มีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันอย่างไร คำตอบที่ชัดเจนที่สุด คือ สัมพันธ์ทางอุดมการณ์ ไม่ได้สัมพันธ์ทางธุรกิจเลย เพราะเจ้าของชุมพรคาบาน่า พี่วริสร รักษ์พันธุ์ เป็นลูกศิษย์อาจารย์ยักษ์คนแรกที่เป็นนักธุรกิจ พี่วริสรรู้จักอาจารย์ยักษ์ตั้งแต่ปี 2542 และเป็นคนที่นำหลักคิดของอาจารย์ยักษ์มาใช้กับธุรกิจที่ชุมพรคาบาน่าจนโด่งดัง เป็นรีสอร์ทแรกของประเทศไทยที่ทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จนได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากพระองค์ท่าน นี่คือที่ไปที่มา 

พอทราบว่ารุ่นพี่เดือดร้อน ธุรกิจกำลังจะถูกขายทอดตลาด แล้วรุ่นพี่ยอมรับเงื่อนไขของโครงการธรรมธุรกิจที่ตั้งขึ้นเพื่อยกทรัพย์สมบัติส่วนตัวให้กับส่วนรวม แล้วตัวเองยังต้องเหนื่อยมาช่วยบริหารงานต่อ ถ้ารุ่นพี่รับเงื่อนไขแบบนี้ได้ ก็ยินดีจะทำงานร่วมกัน จึงเกิดโครงการระดมเงินลงขันเพื่อ SAVE ชุมพรคาบาน่า พูดว่าเกือบทั้งปี 2562 ไม่ได้ทำอะไรเลย ทำเรื่อง SAVE ชุมพรคาบาน่าเป็นหลัก


Q: ชุมพรคาบาน่ากลับมาดำเนินธุรกิจได้ปกติแล้ว แล้วผู้ถือหุ้นได้อะไรบ้าง

A: ผู้ถือหุ้นได้บุญก่อนเป็นอันดับแรก อย่าหวังว่าจะได้ส่วนลดห้องพักนะครับ (หัวเราะ) สอง เขาจะได้เงินปันผลในอนาคต เพราะธรรมธุรกิจเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้น (เป็นรูปแบบที่ 2) แต่ตามกฎหมายก็ต้องเข้าใจตรงกันว่า เราสามารถปันผลได้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 70 เปอร์เซ็นต์เราจะนำไปทำเรื่องการพัฒนามนุษย์ หรือ การให้ความรู้คนตั้งแต่ในครรภ์มารดาไปจนถึงเชิงตะกอน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการธรรมธุรกิจ


Q: เรียกว่าธรรมธุรกิจเป็นอนาคตของชาวนา ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ยากได้ไหม แล้วคุณหนาวคิดว่า หากไม่มีใครทำแบบที่ธรรมธุรกิจทำอยู่ ประเทศไทยเราจะเป็นอย่างไร

A: จริง ๆ แล้วไม่ได้มองว่าเป็นความทุกข์ยากของชาวนาอย่างเดียว แต่เป็นความทุกข์ยากของคนกินด้วย เพราะถ้าเราไม่ทำ หรือคนที่ทำแบบเรามีน้อย นับรวมกับคนที่ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จอีก มันจะเกิดอะไรขึ้น ก็จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ เพราะบริโภคแต่อาหารที่มีสารเคมี สารเร่ง สารตกค้าง อายุก็จะสั้นลงเรื่อย ๆ จะเจ็บป่วยมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องหาเงินเพื่อไปรักษาตัวเองในบั้นปลายชีวิต เพราะฉะนั้น สิ่งที่ธรรมธุรกิจกำลังพยายามทำ ไม่เพียงแต่เป็นที่พึ่งของชาวนาเท่านั้น แต่เป็นที่พึ่งของคนทั่วไปด้วย


Q: ทุกวันนี้เราล้วนอยู่ท่ามกลางกระแสทุนนิยม อยากทราบว่าวิถีของธรรมธุรกิจต้องพบเจอกับความท้าทายอะไรบ้าง แล้วคุณหนาวมีวิธีจัดการอย่างไร และภาพสังคมในอุดมคติของคุณหนาวเป็นอย่างไร 

A: ต้องบอกว่าระบบเศรษฐกิจพอเพียง เป็นระบบที่อยู่ร่วมกับทุนนิยม หลายคนเข้าใจผิดว่าพอเพียงต้องไปอยู่หลังเขา แยกสันโดษออกไปเป็นเกษตรกรอย่างเดียว ดังนั้น ความท้าทายแรกเลยคือการสื่อสารให้คนเข้าใจ ว่าสิ่งที่พวกเราทำ มันคืออะไรกันแน่ 

ล่าสุดผมเปิดคอร์สเรื่องการรับสมัครคนบ้าทำงาน แล้วก็ต้องมานั่งอธิบายต่อว่า “คนบ้าทำงาน” คืออะไร คนบ้าในความหมายที่ว่าคือ คนที่รู้จักพอนั่นเอง เพราะฉะนั้น คนเมือง หรือคนที่บอกว่าตัวเองอยู่ในโลกทุนนิยมจะทำอย่างไรล่ะ อย่างแรกที่ต้องทำเลยครับ ก็คือรู้จักพอให้ได้ก่อน ไม่ต้องไปไหน อยู่ในโลกทุนนิยมต่อ แต่อยู่บนพื้นฐานของความพอเพียงได้ด้วย เฉกเช่นเดียวกับวงกลมสามวงที่เราอธิบายอยู่บน cover page Facebook ธรรมธุรกิจว่าเป็นวงกลมระบบเศรษฐกิจ 3 วง ได้แก่ ทุนนิยม สังคมนิยม และพอเพียง เพราะฉะนั้น ที่เรายังอยู่ได้ทั้งในโลกทุนนิยมและพอเพียง ก็คือส่วนที่มันทับซ้อนกันระหว่างทุนนิยมกับพอเพียงนั่นเอง

วงกลมระบบเศรษฐกิจ 3 วง ได้แก่ ทุนนิยม สังคมนิยม และพอเพียง ให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจพอเพียง เป็นระบบที่อยู่ร่วมกับทุนนิยมได้

ความท้าทาย จึงเป็นการสื่อสาร แต่การสื่อสารเฉพาะเสียงที่พูดออกไป เฉพาะภาพที่เห็นจากวิดีโอ มันไม่เท่าการลงมือทำจนประสบความสำเร็จ ดังนั้น มองว่าวิธีการจัดการที่ดีที่สุด เป็นการสร้างตัวอย่างความสำเร็จ ทั้งความสำเร็จของคนปลูก ความสำเร็จของคนกิน และความสำเร็จของคนกลาง


Q: ตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา คิดว่าประสบความสำเร็จถึงขั้นไหน และเป็นไปตามความตั้งใจหรือเปล่า

A: ประสบความสำเร็จมาก ๆ เพราะถ้าเราไม่สามารถอธิบายให้คนเข้าใจเราได้ ก็เชื่อได้ว่าจะไม่มีวันนี้ วันที่คนซื้อหุ้นเข้ามา 1.2 ล้านหุ้น หรือเป็นเงิน 120 ล้านบาท ถ้านับเป็นจำนวนคนก็ประมาณ 12,000 คนแล้ว ที่ซื้อหุ้นธรรมธุรกิจ จึงพูดได้ว่าประสบความสำเร็จมากที่ทำให้คนเข้าใจเราได้ แม้ไม่หมดทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อว่าเกิน 80 เปอร์เซ็นต์อย่างแน่นอน

แต่สิ่งหนึ่งที่รู้สึกว่าเรายังไม่ประสบความสำเร็จมากพอ ก็คือจะทำอย่างไรให้คนเมือง หรือคนที่อยู่ในโลกของทุนนิยมเข้าใจเรามากขึ้น มีจำนวนคนมากกว่า 12,000 คน เรายังสามารถขายหุ้นได้อีก 1.8 ล้านหุ้น หุ้นละ 100 บาท ก็ประมาณ 180 ล้าน จริง ๆ แล้วเราต้องการให้คนจำนวน 1.8 ล้านคนมาซื้อหุ้นของเรา มากกว่าที่ให้คน 180 คนมาลงขันกันซื้อคนละ 1 ล้าน ซึ่งทำให้เราได้ยอด 180 ล้านบาทเหมือนกัน แต่เราไม่ได้ต้องการอย่างนั้น เราต้องการคนจำนวนมาก ๆ เพราะหากทำแบบนั้นได้ นั่นหมายความว่ามีคนเข้าใจในสิ่งที่เราทำมากขึ้นด้วย 

แล้วคนแบบไหนที่อยู่ในโลกของทุนนิยมที่เราต้องการ ก็คือ คนที่ทับซ้อนในวงกลมของพอเพียง หรือทุนนิยมที่มีคุณธรรมนั่นเอง ถ้าเราเห็นวงกลม 3 วงนั้น จะเห็นว่ามีจุดตรงกลางที่ทับซ้อนกันทั้ง 3 ระบบเลย ตรงกลางตรงนั้นเราให้ความหมายว่าเครื่องมือที่ต้องมี เช่น พอเพียงก็ต้องทำบัญชี ต้องทำการตลาด ต้องบริหารทรัพยากรบุคคล พอเพียงก็ใช้เทคโนโลยีได้ ไม่ได้หมายความว่าพอเพียงต้องไปอยู่หลังเขา ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ ห้ามใช้ออนไลน์ ไม่เกี่ยวเลย ดังนั้น หากหลักคิดเหล่านี้ถูกสื่อสารออกไปอย่างถูกต้อง คนที่อยู่ในส่วนทับซ้อนนั้น น่าจะเข้าใจเรามากขึ้น


Q: หัวใจของธรรมธุรกิจ คืออะไร

A: หัวใจหลักจริง ๆ ก็คือ การที่เอาธรรมไปนำธุรกิจ เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่เอาธรรมตั้งต้น เอากิเลสตั้งต้นก็จะพัง ไม่มีทางเลยที่มันจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน SDGs ที่ต่างประเทศคิดขึ้นทั้ง 17 ข้อ สำหรับเราแล้วคิดว่า จะทำอะไรก็ทำ แต่เอาธรรมนำธุรกิจไว้ก่อน


Q: ทำงานกับภาครัฐหรือภาคเอกชนใดบ้างไหม และอยากสื่อสารอะไรไปยังภาครัฐ ภาคเอกชนต่าง ๆ

A: ภาครัฐที่เราทำงานด้วยมีเพียงองค์กรเดียว คือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) ภาครัฐหน่วยงานอื่นเรายังไม่มีโอกาสเข้าไปร่วมงานด้วยเลย ส่วนเอกชน ร่วมงานด้วยมากที่สุดก็สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (SE Thailand) ครับ สำหรับเอกชนรายอื่นเราไม่ได้ลุกไปหาใครเป็นพิเศษ เพราะยึดหลักที่ว่า สิ่งที่จะทำให้อยู่รอดได้ มันคือการทำด้วยตัวเอง จากเกือบ ๆ สิบปีที่ผ่านมา เห็นแล้วว่าเป็นเรื่องการบริหารจัดการภายในมากกว่า ธรรมธุรกิจไม่ใช่ธุรกิจที่ต้องไปสร้างคอนเนคชั่นเพื่อไต่เต้าขึ้นไปเหมือนธุรกิจปกติ แต่เป็นธุรกิจที่ต้องนำสติปัญญา และความรู้ความสามารถมาบริหารจัดการสร้างทีมภายใน จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการไปทำงานกับคนอื่นมากนัก ยกเว้นองค์กรที่เราคิดว่าเราควรจะทำกับเขา เช่น SE Thailand และ สวส.


Q: อยากฝากอะไรกับผู้อ่านบ้าง

A: เมื่อพูดคำว่า “พอเพียง” หลายคนอาจจะปิดตาปิดใจไปเลย เพราะผมเองก็เคยเป็นแบบนั้นเช่นกัน แต่อยากจะทำความเข้าใจกันใหม่ง่าย ๆ ว่า แค่เรารู้จักพอก่อน แค่รู้จักพอก็พอแล้ว ส่วนที่ว่าจะทำอย่างไรต่อไปหากต้องการเข้าถึงคำว่าพอเพียง ผมคิดว่าถ้าเห็นความสำคัญของคำว่าพอเพียงจริง ๆ เรายินดีที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแหล่งฝึกอบรมให้ในการที่จะก้าวเดินต่อไป เพื่อที่จะทำให้ความพอเพียงเกิดขึ้นกับชีวิตของแต่ละคน และอยากให้ได้สัมผัสแก่นแท้ของมันจริง ๆ ว่า ที่จริงแล้วพอเพียงไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว

การสื่อสารเฉพาะเสียงที่พูดออกไป เฉพาะภาพที่เห็นจากวิดีโอ มันไม่เท่าการลงมือทำจนประสบความสำเร็จ ดังนั้น มองว่าวิธีการจัดการที่ดีที่สุด เป็นการสร้างตัวอย่างความสำเร็จ ทั้งความสำเร็จของคนปลูก ความสำเร็จของคนกิน และความสำเร็จของคนเมือง


เรียบเรียงโดย เสาวลักษณ์ เอียดปุ่ม สัมภาษณ์โดย ทลปภร ปัญโยรินทร์