สรุปประเด็นจากงาน SE NIGHT ครั้งที่ 17 หัวข้อ “ รู้ลึก รู้จริง ช่องทางระดมทุน สำหรับ SE”

คุณไพบูลย์ ก.ล.ต.
คุณไพบูลย์ ดำรงวารี – ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ 2, ก.ล.ต.

“เงินทุน” เป็นทรัพยากรที่สำคัญ หายากและมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นในวันนี้พวกเราจะพาไปเรียนรู้ลักษณะที่สำคัญของเงินทุนที่ผู้ประกอบการควรรู้ ทั้งกรณีที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม และกรณีที่ไม่ใช่วิสาหกิจเพื่อสังคมตามพ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมก็ตาม จะมีช่องทางหาทุนอย่างไรเพื่อนำมาใช้ในการประกอบกิจการ ซึ่งวันนี้เราได้รับเกียรติจาก คุณไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ 2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งทางสมาคมฯ ได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจเอาไว้มากมายพร้อมให้คุณได้อ่านและเรียนรู้ไปด้วยกัน


ช่วงแรก : ทำความรู้จักกับตลาดทุน และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ตลาดทุนคืออะไร

หลายๆท่านที่เคยลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นอาจจะคุ้นชินกับคำว่าตลาดทุน แต่หลายท่านที่เป็นเจ้าของกิจการและไม่เคยลงทุนในตลาดทุนอาจจะสงสัยว่าตลาดทุนคืออะไร ตลาดทุนอธิบายโดยง่ายคือ ตลาด หมายถึง ที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ดังนั้น ตลาดทุน หมายถึง ที่แลกเปลี่ยนเงินทุนนั่นเอง ดังนั้นคนลงทุน คือคนที่มีเงินเหลือ มีเงินออมต้องการเอาเงินดังกล่าวไปลงทุนเพื่อให้ผลิดอกออกผล ส่วนคนที่ต้องการเงินทุนคือเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการก็จะเข้ามาในตลาดเพื่อหาว่ามีเงินทุนจากตรงไหนบ้างเพื่อเอาไปขยายกิจการของตน

ความสำคัญของตลาดทุน

สิ่งที่แลกเปลี่ยนกันในตลาดทุนคืออะไร

คนที่มีเงินออมก็จะใส่เงินเข้าไปผ่านตลาดนี้คนที่ต้องการได้เงินก็ได้รับเงินไปใช้ในการดำเนินกิจการ ตลาดทุนคือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน โดยกิจการหรือคนที่ต้องการได้เงินก็ต้องตอบแทนอะไรแก่ผู้ลงทุน เช่น หุ้น ซึ่งการลงทุนในหุ้นเปรียบเสมือนเราเป็นเจ้าของกิจการ ถ้ากิจการได้กำไรเราก็จะได้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลจากหุ้นที่ถือ ในทางกลับกันถ้ากิจการขาดทุน เราก็อาจไม่ได้รับเงินปันผล แถมมูลค่าหุ้นอาจลดลงจนอาจสูญเสียเท่ากับเงินที่เราลงทุนไป จึงต้องรับความเสี่ยงสูงจากการลงทุนในหุ้น ส่วนในการลงทุนหุ้นกู้คือเราจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยตามที่ตกลงกับกิจการ และจะได้รับเงินต้นคืนในระยะเวลาที่กำหนด เสมือนเราเป็นเจ้าหนี้ของกิจการ สิ่งที่ผู้ลงทุนจะได้รับคือดอกเบี้ยและเงินต้นไม่ว่ากิจการจะทำกำไรได้เท่าไหร่ก็จะได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นตามที่ตกลงกัน

 

การเข้าตลาดทุนดีอย่างไร มีประโยชน์อย่างไรกับกิจการ

การเข้าตลาดทุนต้องพิจารณาจากหลายๆปัจจัย อย่างแรกเพราะต้องการทำให้องค์กรมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก เพราะถ้าได้เข้ามาในตลาดทุนซึ่งเป็นที่ระดมทุนในวงกว้าง องค์กรหรือบริษัทก็จะยิ่งเป็นที่รู้จักโดยเฉพาะถ้าเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (SET หรือ mai) ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์และ ก.ล.ต. กำหนดว่าบริษัทมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลให้กับผู้ลงทุน โดยข้อมูลต้องถูกต้องมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นการดึงจุดแข็งที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการออกมา นอกจากนี้กิจการในตลาดทุนจะมีคนรู้จักเยอะ จึงสามารถดึงดูดให้คนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมงานกับกิจการได้มากขึ้น

 

ก.ล.ต. คือใคร

ก.ล.ต. คือ สำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มีหน้าที่กำกับและพัฒนาตลาดทุนให้น่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพและสังคมทุกภาคส่วนเข้าถึงได้ และ ก.ล.ต. ยังมีหน้าที่พัฒนาตลาดทุนทุกรูปแบบ 

จากที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับธุรกิจทุกประเภท เมื่อก่อนคนจะคิดว่าตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ SET mai มีขึ้นสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่เท่านั้น ดังนั้นในช่วง2 ปีหลัง เราพยายามผลักดันช่องการระดมทุนในตลาดทุน เพราะตลาดทุนถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งนอกเหนือจากการที่กิจการจะไปกู้ยืมกับสถาบันการเงิน ตลาดทุนนับเป็นแหล่งเงินทุนอีกแหล่งหนึ่งที่กิจการสามารถมาใช้ได้ ดังนั้น ก.ล.ต. เองจึงพยายามดูว่าวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม SME และวิสาหกิจเพื่อสังคม เขามีช่องทางในการระดมทุนหรือยัง ถ้ายังไม่มีเราก็ต้องเปิดช่องทางพวกนี้ทำให้กิจการแต่ละประเภทสามารถระดมทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามโครงสร้างของกิจการ ทั้งนี้การที่ ก.ล.ต. จะออกกฎเกณฑ์อะไรจะคำนึงถึง 2 อย่างเสมอ อย่างแรกคือ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้นทุนเหมาะสมและอย่างที่สองทำให้ผู้ลงทุนในหุ้น, หุ้นกู้ของกิจการได้รับความคุ้มครองในระดับที่เหมาะสมกับตัวที่ลงทุน


ช่วงที่สอง : เจาะลึกวิธีจัดหาเงินทุนของวิสาหกิจเพื่อสังคม

โดยทั้งหมดที่จะมาเล่ากันในวันนี้จะมีกิจการอยู่ 2 ประเภทหลักๆ

  • ประเภทแรก คือ กิจการวิสาหกิจเพื่อสังคมตามพ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2563
  • ประเภทที่สอง คือ กิจการที่เป็น SME วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแต่มีธุรกิจที่อาจจะเป็นการส่งเสริม สนับสนุน มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคม เช่น เป็นกิจการทั่วไปแต่ผลิตภัณฑ์มาจากวัสดุธรรมชาติ ลดโลกร้อน ไม่ได้ทำมาจากพลาสติกหรือทำเป็น packaging ส่งออก ซึ่งเรามองว่ากิจการพวกนี้ก็ควรมีเปิดไว้ด้วยจึงขอจัดกลุ่มเป็นกิจการ SME

 

ช่องทางในการระดมทุนในตลาดทุน สำหรับกิจการทั้งสองประเภท มี 4 ช่องทาง

ช่องทางการระดมทุนสำหรับ SE

  1. Social Enterprise (SE) วิสาหกิจเพื่อสังคม 

ช่องทางนี้สำหรับกิจการที่จดทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถระดมทุนโดยการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป สามารถโฆษณาในวงกว้าง และยังสามารถระดมทุนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วย แต่ต้องบอกชัดเจนว่าขึ้นทะเบียนกับสวส. เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นได้ไม่เกิน 30% ของกำไร หรือได้จดทะเบียนแบบไม่ปันผลกำไร เพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าใจและทราบจุดประสงค์ในการลงทุน และวิสาหกิจเพื่อสังคมจะต้องมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมตามที่ได้บอกผู้ลงทุนไว้และขอให้รายงานผลการขายหรือรายงานผลการระดมทุนให้กับทางสวส. เพื่อให้ทาง ก.ล.ต. ทราบว่าการระดมทุนสำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งหลังจากที่ออกเกณฑ์ไปเมื่อปี 2563 มีวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ระดมทุนไปแล้วประมาณ 3 ราย มูลค่าร้อยกว่าล้านบาท

ประเด็นสำคัญมีดังนี้

  • วิสาหกิจเพื่อสังคมไม่ต้องยื่นเอกสารกับ ก.ล.ต. ซึ่ง ก.ล.ต. จะผ่อนเกณฑ์ให้ค่อนข้างมาก ซึ่งถ้าเป็นธุรกิจที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมตามพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เวลาระดมทุนจะต้องทำเอกสารยื่นแสดงต่อ ก.ล.ต. ก่อน
  • ในมุมของผู้ลงทุนเองสามารถไปตรวจสอบได้ที่ สวส. ว่ากิจการที่โฆษณาระดมทุนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมถูกต้องจริงหรือไม่
  • ส่วนวิสาหกิจเพื่อสังคมถ้าไปหาผู้ลงทุนต้องมีเอกสารที่บอกว่ากิจการชื่ออะไร ทำอะไร จดทะเบียนมีรายชื่อในสวส. แล้ว ต้องการเอาเงินทุนไปทำอะไรเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถใช้ประกอบการตัดสินใจได้

        สำหรับช่องทางหลังจากนี้จะเป็นช่องทางสำหรับกิจการที่ขอใช้คำว่า SME โดยกิจการของท่านอาจจะเป็น SME ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคม เพียงแต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมกับสวส. 

 

  1. Private Placement (PP) 

         เปิดให้กิจการที่เข้าข่ายเป็นวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม หรือธุรกิจ SME ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กำหนดสามารถระดมทุนได้จากบุคคลในวงแคบหรือวงจำกัด ทั้งในรูปแบบหุ้นหรือหุ้นกู้แปลงสภาพหากลงทะเบียนกับ สสว. แล้ว แต่ต้องแจกเอกสารข้อมูลสรุปให้กับผู้ลงทุนทราบก่อนการขายว่ากิจการทำอะไร ผลประกอบการที่ผ่านมาเป็นอย่างไร โดยห้ามโฆษณาเป็นวงกว้าง และต้องรายงานผลการขายมายังสำนักงาน

สามารถระดมทุนได้กับใครบ้าง?

  1. ผู้ลงทุนที่มีความรู้ หรือมีประสบการณ์ในการลทุน ได้แก่ ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional investor: II) นิติบุคคลร่วมลงทุน (Venture Capital : VC) กิจการเงินร่วมลงทุน (Private Equity : PE) Angel investor  ซึ่งสามารถลงทุนได้ไม่จำกัด
  2. กรรมการ พนักงานของบริษัท
  3. ผู้ลงทุนรายย่อยไม่เกิน 10 รายและมูลค่าไม่เกิน 20ล้านบาท (เฉพาะกิจการไซส์กลาง)

เหมาะกับ SME ที่มีผู้ลงทุนอยู่แล้วและต้องการจะระดมทุนจากผู้ลงทุนแค่ไม่กี่คนซึ่งเป็นสิ่งที่ ก.ล.ต. เปิดให้ระดมทุนเมื่อช่วงต้นปี 63 

หลายๆท่านอาจจะบอกว่าแล้วถ้าไม่มีผู้ลงทุนหรือหาผู้ลงทุนไม่ได้แต่ต้องการจะระดมทุนจะทำอย่างไร? ไปดูวิธีที่ 3 ได้เลย

 

  1. Crowdfunding (CF) 

     ในกรณีที่เราเป็น SME หรือเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนรับรองเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมจากทาง สวส. ยังมีอีกหนึ่งวิธีการระดมทุนที่เรียกว่า Crowdfunding ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่เป็นที่นิยม เพราะเป็นการระดมทุนจากคนหมู่มากด้วยจำนวนเงินเพียงคนละเล็กน้อยได้ เหมาะสำหรับกิจการที่ต้องการเงินลงทุนแต่ไม่รู้จะหาผู้ลงทุนจากที่ใดโดยปัจจุบันจะมี Funding Portal หรือตัวกลางผู้ให้บริการด้านการระดมทุนแบบ Crowdfunding ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. แล้ว เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการระดมทุน

โดยหลักการของ Funding Portal นั้นจะตรวจสอบศักยภาพและข้อมูลของแต่ละกิจการ รวมไปถึงฐานะทางการเงินและผลประกอบการ ถ้ามีศักยภาพเพียงพอ ทาง Funding Portal ก็จะพากิจการนั้นๆไปหาผู้มีเงินทุนที่ต้องการลงทุน ผ่านการนำข้อมูลของกิจการไปประกาศลงบนแพลตฟอร์มของ Funding Portal นั้นๆ และอำนวยความสะดวกในการช่วยจับคู่กับนักลงทุนที่สนใจ

การระดมทุนในรูปแบบนี้แบ่งได้เป็นสองประเภทกว้างๆ

  1. หุ้นสามัญ (Equity based)
  2. หุ้นกู้ (Bond based) 

(อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://capital.sec.or.th/webedu/upload/file-09062015160156866.pdf)

หลายๆคนอาจมีคำถามว่าการระดมทุนในรูปแบบ crowdfunding มีต้นทุนสูงกว่าการไปกู้ยืมสถาบันการเงินหรือเปล่า ซึ่งต้นทุนทางการเงินของการระดมทุนในรูปแบบนี้นั้นจะมีมากกว่า แต่ข้อดีของวิธีนี้คือ การที่ Funding Portal จะช่วยในเรื่องของการคัดกรองข้อมูล การจับคู่ผู้ต้องการเงินทุนกับผู้มีเงินทุน รวมถึงการโฆษณาไปถึงผู้คนจำนวนมากได้และไม่ต้องวางหลักประกัน ซึ่งเป็นข้อดีที่ต่างกับการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

ปัจจุบันมีอยู่ราวๆ 10 รายที่ระดมทุนด้วยวิธีนี้สำเร็จ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นหลัก 10 ล้าน อาจจะเป็นหลักล้านหรือหลักแสนก็ได้ ดังนั้น รูปแบบการระดมทุนแบบนี้จึงเหมาะกับกิจการที่อาจจะขนาดไม่ใหญ่มาก และยังไม่รู้ว่าต้องไปหาเงินลงทุนจากที่ไหน ซึ่งในช่วงต้นทาง Funding Portal อาจจะยังไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ก็ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของ Funding Portal แต่ละที่ด้วย

 

  1. Public Offering (PO) / SME Board 

ทุกวันนี้ ก.ล.ต. กำลังอยู่ระหว่างจะเปิดช่องทางการระดมทุนนี้เพิ่มเติมให้ SME (คาดว่าไม่เกินไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 นี้) ปัจจุบันหลายคนเข้าใจว่าต้องเป็นกิจการขนาดใหญ่เท่านั้นถึงจะสามารถจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้ แล้วกิจการขนาดเล็กทำไมไม่เปิดให้สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ซึ่งจากที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น เราเองกำลังเปิดช่องทางให้ SME สามารถระดมทุนจากคนจำนวนมากได้และให้จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ได้ (ไม่ใช่ SET, mai) แต่เป็นตลาดหลักทรัพย์ใหม่สำหรับธุรกิจ SME โดยเฉพาะซึ่งกิจการจะสามารถระดมทุนกับผู้ลงทุนจำนวนมากได้โดยสามารถเอาหุ้นของตัวเองไปจดทะเบียนเพื่อซื้อขายในตลาดรองได้ แต่เนื่องจากต้องให้การระดมทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมีการคุ้มครองผู้ลงทุนจึงจำเป็นต้องจำกัดประเภทผู้ลงทุนบางรายที่เข้ามาในตลาดนี้เฉพาะผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ รับความเสี่ยงได้โดยกิจการที่ระดมทุนต้องเปิดเผยข้อมูลสำคัญให้ครบซึ่งก็ขอให้ติดตามกันไปก่อน อาจจะได้ข้อสรุปในช่วงเดือนหน้าสำหรับผู้ที่สนใจระดมทุนและลงทุน

SME Board

 

สรุปช่องทางการระดมทุน โดยคำแนะนำจากคุณไพบูลย์ ดำรงวารี

        เรามีช่องทางการระดมทุนสำหรับกิจการที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมตามพ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ทำได้ง่ายๆ ตามช่องทางที่ 1 แต่ถ้าเป็นกิจการที่มีสินค้าเพื่อสังคมแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนเนื่องจากความไม่พร้อม เช่น ยังต้องการปันกำไรเกิน 30% อยู่ จะขอเรียกว่า SME ซึ่งสามารถใช้ช่องทาง 2 3 และ 4 ได้ แต่ถ้าไม่มีหรือไม่รู้จักผู้ลงทุนเลย แนะนำช่องทางที่ 3 แต่ถ้าต้องการระดมทุนจากคนหมู่มาก พร้อมแล้ว โตมาระดับหนึ่ง หวังว่าจะเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์หรือ mai บ้าง แต่ว่าทุนจดทะเบียนอาจจะยังไม่ถึงให้รอสักระยะ เพราะจะมีตลาดหลักทรัพย์ใหม่ ซึ่งเป็นตลาดที่ 3 สำหรับ SME โดยเฉพาะ

 


 

เป็นอย่างไรกันบ้างกับประเด็นที่เรายกมาให้อ่านกันจากงาน SE NIGHT ครั้งที่ 17

หัวข้อ “ รู้ลึก รู้จริง ช่องทางระดมทุน สำหรับ SE” …หวังว่าท่านจะได้อะไรติดมือไม่มากก็น้อย 

หากมีคำถามเกี่ยวกับ ….. สามารถสอบถามทีมงาน SE Thailand ผ่านทางเพจ Facebook และ อย่าลืมติดตาม SE Night ประจำทุกเดือนได้ ผ่านทาง ZOOM และ/หรือ Facebook LIVE  เพื่อให้ไม่พลาดกิจกรรมดีๆ