สรุปสาระสำคัญจากงาน “ติดปีกให้ SE วิสาหกิจเพื่อสังคม”

สรุปสาระสำคัญจากงาน “ติดปีกให้ SE วิสาหกิจเพื่อสังคม”
วันพุธที่ 26 สิงหาคม 2563 เวลา 13.30 – 17.00 น.
ณ ชั้น 3 ตึกมูลนิธิเสนีย์ ปราโมช


 

ติดปีกวิสาหกิจเพื่อสังคม
คุณจุรินทร์ ลักษณวิสิษฐ์ ถ่ายรูปร่วมกับกรรมการ และที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม สมาชิกสมาคมฯ และผู้เ้ข้าร่วมงานผู้ทรงเกียรติ

เมื่อวันพุธที่ 26 สิงหาคม 2563 ณ ชั้น 3 ตึกมูลนิธิเสนีย์ ปราโมช ประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม คุณจุรินทร์ ลักษณวิสิษฐ์ จัดงาน “ติดปีกให้ SE วิสาหกิจเพื่อสังคม” เป็นการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมจากธุรกิจเพื่อสังคม (SE) หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวมกว่า 30 องค์กร เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาแนวทางการส่งเสริม SE ที่เหมาะสมต่อไป สมาคมธุรกิจเพื่อสังคมได้เข้าร่วมงานและรวบรวมประเด็นที่นำเสนอโดย SE ต่าง ๆ เรียงลำดับประเด็นตามที่มีการพูดถึงมากที่สุด เพื่อให้ SE และบุคคลทั่วไปที่สนใจได้รับทราบและเป็นฐานสำหรับการหารือเพื่อพัฒนานโยบายส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม

ด้านการตลาด

SE เป็นกิจการที่มีต้นทุนสูงกว่าธุรกิจปกติ เนื่องจากต้องสร้างผลกระทบทางบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการผลิต และต้องรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายในการดำเนินกิจการ ส่งผลให้กิจการแข่งขันได้ยาก จึงควรมีกลไกในการสนับสนุนด้านการตลาดสำหรับ SE ในรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างเป็นกรณีพิเศษ (preferential procurement) หรือการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ (commercial partnership) ทั้งกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งสามารถทำได้หลายทาง เช่น การให้ “ผลกระทบทางสังคม” (social impact) เป็นเกณฑ์ตัวชี้วัดเพิ่มเติมในการจัดซื้อจัดจ้าง จากเดิมที่พิจารณาเพียงราคาและคุณภาพ การประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการของ SE ในวงกว้าง การสร้างกลไกการจับคู่ทางธุรกิจ (business matching) ไปจนถึงการส่งเสริมการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ (commercial partnership) ในรูปแบบที่เกื้อกูลกันระหว่างบริษัทเอกชนรายใหญ่และ SE

ด้านเงินทุน มีประเด็นย่อยหลายประการ

ประการแรก SE เข้าถึงแหล่งทุนระดับสถาบันการเงินยาก เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงิน ซึ่งอาจแก้ไขได้โดยอาศัยธนาคารภาครัฐค้ำประกัน ทั้งนี้ อาจจัดทำเป็นโครงการนำร่องระหว่างธนาคารภาครัฐ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม สำหรับ SE ที่มีความพร้อม หากประสบความสำเร็จในการทำให้ SE เข้าถึงเงินทุนหนึ่งรอบ ก็จะสามารถสร้างแรงจูงใจให้ SE ต่าง ๆ อยากจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังอาจให้สถาบันการเงินเพิ่มสิ่งทดแทนหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น สัญญาเช่าบริการ เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน

ประการที่สอง ถึงแม้จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ แต่ข้อสัญญาในการร่วมลงทุนจากนักลงทุนยังมีความขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของ SE ในระยะยาว จึงต้องมีการสร้างความเข้าใจกับนักลงทุนถึงความแตกต่างระหว่าง SE และ Startup ซึ่งไม่สามารถใช้ข้อสัญญาในลักษณะเดียวกันได้ แต่ต้องเป็นเงื่อนไขการลงทุนที่ตอบโจทย์การสร้างผลกระทบและความยั่งยืนด้านสังคมด้วย

ประการที่สาม แหล่งเงินทุนมีจำกัด ซึ่งมีการเสนอให้จัดตั้ง Founders Fund เพื่อระดมทุนจาก SE ที่เติบโตแล้วมาลงทุนใน SE ที่ตั้งใหม่ รวมถึงการสร้างกลไกการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในภาคเอกชนให้มากขึ้น

ประการที่สี่ ขาดเงินทุนในการทำวิจัยและพัฒนา เนื่องจากทุนวิจัยในเมืองไทยจำกัด จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนเงินทุนวิจัยและพัฒนามากยิ่งขึ้น

ด้านภาษี

สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นมาตรการลำดับต้นๆ ที่ภาครัฐดำเนินการแล้วเพื่อส่งเสริม SE (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.sethailand.org/resource/tax-se/)เป็นประโยชน์อย่างมากต่อ SE และนักลงทุนหรือผู้สนับสนุน SE ประเภทนิติบุคคล แต่สิทธิประโยชน์ดังกล่าวยังไม่ดึงดูดนักลงทุนรายบุคคล ซึ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนา SE ในช่วงตั้งต้น ที่อาศัยนักลงทุนรายบุคคลเป็นส่วนใหญ่ เช่น ญาติมิตรของผู้ก่อตั้งธุรกิจ Angel Investors การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บุคคลธรรมดาที่ลงทุนและสนับสนุน SE จะทำให้เกิด SE มากขึ้นและทำให้ SE ในช่วงตั้งต้นเติบโตได้มาก นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้มูลนิธิที่ได้รับการรับรองเป็น SE ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ (2% ของรายได้) เช่นเดียวกับบริษัทที่ได้รับการรับรองเป็น SE ประเภทไม่ปันผลกำไร ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (20% ของกำไร)

ด้านทรัพยากรบุคคล

SE ส่วนมากประสบปัญหาการขาดบุคลากรที่มีความสามารถมาร่วมงาน เนื่องจากอัตราค่าตอบแทนไม่ดึงดูดพอ จึงมีข้อเสนอจากผู้ก่อตั้ง SE ให้รัฐใช้นโยบายที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ คือรัฐบาลอุดหนุนเงินเดือนบุคลากรของ SE บางส่วน เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาทำงานให้ SE มากขึ้น โดยเฉพาะบุคลากรที่มีทักษะด้านการประกอบธุรกิจ

ด้านศักยภาพ

SE ในระยะตั้งต้นขาดศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจ ในขณะที่ SE ที่กำลังเติบโตขาดศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุน (Impact Investors) จึงควรส่งเสริมให้บริษัทเอกชนทำโครงการบ่มเพาะธุรกิจเพื่อสังคมมากขึ้น ทั้งโครงการบ่มเพาะในระยะตั้งต้น (incubators) และระยะเติบโต (accelerators) เพื่อพัฒนาต่อยอดให้มีความพร้อมสำหรับรับเงินทุนที่ใหญ่ขึ้น ตลอดจนสร้างกลไกให้เกิด SE ในต่างจังหวัดมากขึ้น เช่น การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังควรมีการส่งเสริมเครือข่ายที่จะช่วยต่อยอดการทำงานของ SE ให้ดียิ่งขึ้น

ด้านการนำเสนอนโยบาย

มีการเสนอให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม จัดตั้งสมัชชาตาม พ.ร.บ. โดยเร็ว เพื่อให้ธุรกิจเพื่อสังคมมีช่องทางในการนำเสนอด้านนโยบายต่อภาครัฐต่อไป