รายงานสภาพการณ์ธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย (State of Social Enterprise in Thailand)

 

British Council - The State of Social Enterprise in Thailand

รายงานสภาพการณ์ธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย (State of Social Enterprise in Thailand) เป็นรายงานฉบับล่าสุดในชุดรายงานที่พัฒนาโดย บริติช เคาน์ซิล และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเซียและแปซิฟิก (UNESCAP) เพื่อศึกษาสภาพการณ์ของธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สำหรับรายงานฉบับประเทศไทยได้จัดทำด้วยความร่วมมือของสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย รายงานฉบับดังกล่าวให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพการณ์ในปัจจุบันของธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาเพื่อประโยชน์สำหรับองค์กรต่าง ๆ ในการออกแบบมาตรการที่จะส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจเพื่อสังคม รวมถึงศึกษาผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ต่อธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย และการตอบสนองต่อวิกฤติดังกล่าว ผลจากการศึกษาได้รับการพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล นายกสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า “ทั้งโลกกำลังพยายามอย่างยิ่งในการหาจุดสมดุลระหว่างการบริโภคและการอนุรักษ์ ซึ่งธุรกิจเพื่อสังคมเป็นเครื่องมือที่ใกล้เคียงกับการเป็นทางออกสำหรับปัญหาดังกล่าว เนื่องจากเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดการบรรลุผล ทั้งความมั่งคั่งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ระบบนิเวศสำหรับการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมยังคงมีหนทางอันยาวไกล และมีอุปสรรคหลากหลายที่ต้องร่วมกันเอาชนะ ผมเชื่อว่ารายงานสภาพการณ์ธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยจะให้ข้อมูลเชิงลึกกับผู้ที่สนใจ และจะมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่”

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า “รายงานนี้ออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมที่มีฐานข้อมูลสนับสนุน”

สรุปผลการศึกษาจากรายงานสภาพการณ์ธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย

  • ธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยดำเนินกิจการด้านการเกษตร การศึกษา และสุขภาพมากที่สุด โดยมีการสร้างผลกระทบทางสังคมต่อกลุ่มผู้รับผลประโยชน์ที่หลากหลาย ทั้งครอบครัวผู้มีรายได้ต่ำ คนสูงอายุ และเยาวชน
  • ธุรกิจเพื่อสังคมค่อนข้างยืดหยุ่นและปรับตัวได้ดีในวิกฤติ ซึ่งสะท้อนได้จากความสามารถในการปรับตัวในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
  • ธุรกิจเพื่อสังคมเห็นว่าข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และความเข้าใจของสาธารณชนโดยทั่วไปต่อธุรกิจเพื่อสังคมเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการดำเนินกิจการ
  • ข้อเสนอแนะทางนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจเพื่อสังคมสามารถสร้างผลกระทบทางสังคมที่กว้างขวางขึ้น ได้แก่ การส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมเป็นการทั่วไป การจัดทำข้อมูลและงานวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมให้มากขึ้น การสนับสนุนให้ธุรกิจเพื่อสังคมสามารถสื่อสารผลกระทบทางสังคมที่องค์กรสร้าง นำกฎหมายไปสู่การปฏิบัติในการส่งเสริมระบบนิเวศการประกอบการเพื่อสังคม เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุนบุคคล และการขยายแหล่งเงินทุนให้ธุรกิจเพื่อสังคมสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น เป็นต้น

อ่านรายงานฉบับเต็มที่นี่

ขอบคุณที่มา: British Council