สรุปสาระสำคัญจากงานเสวนาในหัวข้อ “How to Co-create & Collaborate : ออกแบบทางออกร่วมภาคธุรกิจและภาคสังคม” ภายในงาน SET Social Impact Day 2019

SET Social Impact 2019

 

ทางสมาคมฯ ได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจสั้น ๆจากงานเสวนาในหัวข้อ “How to Co-create & Collaborate : ออกแบบทางออกร่วมภาคธุรกิจและภาคสังคม” ซึ่งเป็นเสวนาหลักภายในงาน SET Social Impact Day 2019 ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2562 มาฝากทุกท่านดังนี้ค่ะ

การเสวนาในหัวข้อนี้เป็นการสะท้อนมุมมองของผู้นำด้านธุรกิจและด้านสังคม เกี่ยวกับแนวทางการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร - ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย
คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร – ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย

คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย พูดถึงบทบาทของตลาดทุนในการปรับเปลี่ยนภาคธุรกิจให้ดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่ามากถึงหนึ่งแสนล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นมูลค่าที่สูงกว่า GDP โลกเสียอีก การกำหนดมาตรฐานการทำธุรกิจจากตลาดทุนจึงสามารถสร้างผลกระทบต่อวิธีการดำเนินธุรกิจได้อย่างมหาศาล เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ตลาดทุนในประเทศตะวันตกปฏิเสธการลงทุนในธุรกิจสีเทา (เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข) หรือธุรกิจจากประเทศที่มีปัญหาเชิงระบอบ ทำให้ธุรกิจเหล่านั้นเข้าถึงทุนได้ยาก จนมาถึงปัจจุบันตลาดทุนให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG ซึ่งก่อให้เกิดแรงกดดันกับภาคธุรกิจให้หันมาใส่ใจในผลกระทบของธุรกิจตนเองต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล การปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจให้คำนึงถึง ESG มากขึ้นนั้นเป็น win-win solution ธุรกิจเองนอกจากจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ เช่น กรณีการเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดไฟ ยังสามารถดึงดูดนักลงทุนและผู้บริโภคที่เริ่มเรียกร้องให้ธุรกิจมีการปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนเช่นเดียวกัน ที่สำคัญมีข้อพิสูจน์แล้วว่าราคาหุ้นและผลประกอบการของบริษัทที่มี ESG ดีกว่าบริษัทที่ไม่มี สำหรับตลาดทุนไทยเองก็กำลังจะเดินตามแนวทางนี้ โดยจะมีการรวมตัวกับสมาคมต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ และกองทุนรวมต่าง ๆ ประกาศแนวทางการไม่ลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีนโยบาย ESG นักลงทุนและผู้สนใจทั้งหลายสามารถติดตามข่าวนี้ต่อได้นะคะ

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล - นายกสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล – นายกสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล นายกสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม เน้นย้ำให้ทุกคนมองภาพใหญ่ในเชิงระบบว่าตัวเราเองสร้างผลกระทบอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้การเสวนาในวันนี้จบลงที่การเสวนา แต่ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงนอกห้องเสวนาได้ เราต้องยอมรับว่าทุกคนในฐานะผู้บริโภค เราเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ผลิต เราเป็นผู้ส่งเสริมให้ผู้บริโภคทำลายสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดผลกระทบในวงกว้างจริง ๆ จึงต้องเปลี่ยนแปลงที่ทุกคน ซึ่งล้วนแต่ต้องบริโภคและผลิตอย่างคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น การเกิดขึ้นของธุรกิจเพื่อสังคม แม้จะเกิดขึ้นจากความพยายามในการแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่สามารถแก้ได้หมด ธุรกิจเพื่อสังคมในปัจจุบันยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจน้อยกว่าภาคธุรกิจอยู่มาก การสร้างผลกระทบในทางบวกจึงต้องมาจากภาคธุรกิจด้วย หากภาคธุรกิจและประชาชนในฐานะผู้บริโภคร่วมมือกัน โดยมีธุรกิจเพื่อสังคมเป็นตัวแบบ ก็จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ได้ สมาคมธุรกิจเพื่อสังคมจึงได้จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการเชื่อมประสานองค์กรภาคธุรกิจและธุรกิจเพื่อสังคมให้เกื้อหนุนกันให้มากที่สุด และดึงการมีส่วนร่วมจากประชาชน เพื่อเป้าหมายหลักในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม

คุณทรงพล ชัญมาตรกิจ - ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน)
คุณทรงพล ชัญมาตรกิจ – ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน)

คุณทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) ได้นำเสนอวิวัฒนาการของแนวคิดในการดำเนินงานด้านสังคมของภาคธุรกิจ เริ่มตั้งแต่ Self Responsibility ไปเป็น CSR, CSR in Action, Social Engagement จนในที่สุดเป็น Social Enterprise ปัญหาของบริษัท จำกัด มหาชน (บมจ.) หลายแห่งคือการไม่มีองค์กรที่ทำงานด้านสังคมอย่างจริงจัง โดยมากยังเป็นการจ้างพนักงานไม่กี่คนในแผนก CSR ซึ่งเมื่อพนักงานลาออก โครงการก็หยุดชะงักไป การทำงานร่วมกับ SE จึงเป็นทางออกที่ดีของ บมจ. เนื่องจาก SE มีการดำเนินการที่ตอบโจทย์ในการสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว การสนับสนุน SE จะทำให้ บมจ. ไม่ต้องสร้างองค์กรหรือหน่วยงานเฉพาะด้าน CSR เลย แต่สามารถสร้างผลกระทบผ่านการทำงานร่วมกับ SE

คุณอรุษ นวราช - เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ
คุณอรุษ นวราช – เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ

คุณอรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ กล่าวถึงสามพรานโมเดล ซึ่งเป็นธุรกิจโรงแรมที่หันมาให้ความสำคัญด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบสำหรับระบบอาหาร ซึ่งจะทำให้เกิดขึ้นได้ผ่านผู้นำร่วม เริ่มต้นจากการสร้างความเชื่อมั่นในระบบอาหารตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำก่อน จนสามารถนำไปสู่ขบวนการในระดับสังคมที่สนับสนุนการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย และมีพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในที่สุด

 

คุณนภ พรชำนิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลฟ์อีสกรุ๊ป จำกัด
คุณนภ พรชำนิ – ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลฟ์อีสกรุ๊ป จำกัด

คุณนภ พรชำนิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลฟ์อีสกรุ๊ป จำกัด เน้นยำถึงความสำคัญของการมีเวที หรือพื้นที่ให้ทุกคนที่สนใจเรื่องการสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้มาคุย แลกเปลี่ยนกัน เพราะจะนำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา และสร้างผลกระทบวงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ได้ และทำให้ทางออกแบบ win-win ที่ทุกคนได้ประโยชน์เกิดขึ้นจริง

นอกจากการเสวนาบนเวทีแล้ว ยังมีคำถามจากผู้รับฟังการเสวนาที่น่าสนใจหลากหลายคำถาม เช่น ธุรกิจเพื่อสังคมจะแก้ปัญหาเรื่องการดึงคนเก่ง ๆ เข้ามาเป็นพนักงานได้อย่างไร ผู้ผลิตจะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันได้อย่างไรในกรณีที่ผู้บริโภคยังมีความต้องการที่ขัดแย้งกับคุณค่าที่ดีในทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ต้องการทานผลไม้ที่มีรูปร่างสวยงามซึ่งต้องใช้สารเคมี ผู้ผลิตจะปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าที่มีความคงทนเหมือนในอดีตได้หรือไม่แทนที่จะผลิตสินค้าที่ต้องเปลี่ยนบ่อย ๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอายุการใช้งานต่ำลงเรื่อย ๆ บทบาทของผู้สูงอายุที่ยังมีกำลังที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงข้อเสนอแนะในการดึงภาครัฐเข้ามาร่วมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เป็นต้น

 

ท่านที่สนใจสามารถรับฟังเสวนาจากวิดีโอคลิปฉบับเต็มได้ที่ https://www.facebook.com/SETsocialimpactofficial/videos/1001132263595648/