Sati App พื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนเรื่องราว และบริการรับฟังอย่างเข้าใจ ไม่ตัดสิน | SE STORIES ตอนที่ 8

คุณอมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท สติ แอพ จำกัด หรือ Sati App แอปพลิเคชันที่ต้องการเชื่อมผู้ที่มีภาวะเครียดหรือมีปัญหาในชีวิต ได้เข้าหาผู้ที่รับฟังด้วยใจซึ่งผ่านการฝึกอบรมมาเรียบร้อยเเล้ว เพื่อให้ผู้มีภาวะเครียดรู้สึกว่ามีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับแชร์ความรู้สึก เเละรู้สึกว่ายังมีคนคอยรับฟังอย่างเข้าใจ

คุณอมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ ผู้ก่อตั้ง Sati App
คุณอมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ ผู้ก่อตั้ง Sati App

Q: ประเด็นปัญหาใดที่ Sati App มองเห็น และต้องการเข้าไปเเก้ไข

A: แรงบันดาลใจในการก่อตั้ง Sati App มาจากปัญหาของตัวเอง เพราะผมเป็นโรคซึมเศร้า เเละมีอาการจิตเภทร่วมด้วย เริ่มรู้ตัวว่าเป็นตั้งเเต่ปี 2015 และเมื่ออยู่ในสังคมที่คนไม่ค่อยมีความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิต ก็รู้สึกว่าคนทั่วไปยังมีความรู้สึกเเละความเชื่อผิด ๆ ต่อสิ่งนี้อยู่ เช่น เมื่อผมมีภาวะซึมเศร้า จะรู้สึกดำดิ่ง รู้สึกว่าทุกสิ่งรอบตัวไม่มีอะไรดีเลย ทุกอย่างแย่ไปหมด และเมื่อใดที่มีภาวะจิตเภทร่วมด้วย จะเห็นเป็นภาพหลอน และได้ยินเสียงเหมือนมีคนคุยด้วยอยู่ตลอดเวลา แต่แล้วเมื่อต้องการหาคนคุยด้วยจริง ๆ กลับไม่มี ทุกคนจะตัดสินทันทีว่าเราคิดมาก หรือบอกว่าเดี๋ยวมันก็ต้องดีขึ้น แนะนำว่าพยายามควบคุมสติอย่าไปฟังเสียงนั้นสิ ทั้งหมดนี้เป็นการรับฟังที่เรารู้สึกว่าเขาไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่เรากำลังประสบจริง ๆ 

สภาวะนี้อยู่กับผมมาถึง 3 ปี จนกระทั่งปี 2017 และ 2018 ก็ตัดสินใจจะจบชีวิตตัวเองลง พยายามทำทั้งหมด 2 ครั้ง ซึ่งในปี 2018 ก่อนที่จะตัดสินใจจบชีวิตตัวเองนั้น ผมได้ลองโทรไปที่ศูนย์รองรับสำหรับคนคิดฆ่าตัวตาย เเต่ไม่มีผู้รับสาย จึงออกจากโรงพยาบาลมาด้วยความโกรธ และเริ่มศึกษาเรื่องสุขภาพจิตในประเทศไทยอย่างจริงจัง ตั้งต้นด้วยปัญหาของตัวเองที่ว่า ในเวลาคับขัน เราเข้าถึงคนที่จะรับฟังเราได้ยากมาก จึงตัดสินใจสร้างแพลตฟอร์ม Sati App ที่ซึ่งต้องการให้คนที่กำลังประสบปัญหา เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีผู้รับฟังได้อย่างรวดเร็วที่สุด และง่ายที่สุด เพื่อตอบโจทย์ผู้ที่ประสบปัญหาเดียวกับเรา


Q: Sati App แก้ไขปัญหาอะไรได้บ้าง เเละองค์กรอยู่รอดได้อย่างไร

A: มีงานวิจัย 2 ฉบับในประเทศไทยชี้ว่า เรื่องแรก มีคนทำงานทางด้านสุขภาพจิต 1 ต่อ 250,000 คน คือ เจ้าหน้าที่ 1 คน ต้องรักษาผู้ป่วย 250,000 คน จะเห็นว่าจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพจิต ค่อนข้างสวนทางกับจำนวนผู้ป่วยอย่างมาก  

เรื่องที่สอง ในปี 2018 บริการสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต มีคนติดต่อเข้ามา 800,000 สาย เเต่จำนวนที่ตอบรับได้มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด ถ้ามองระดับการรักษาโรคนี้เป็นรูปพีระมิด ไล่จากด้านล่างขึ้นมา จะประกอบด้วยนักจิตวิทยา จิตเเพทย์ และการนอนโรงพยาบาล เเต่ในความเป็นจริงแล้ว ผมมองว่า ล่างสุดของฐานพีระมิดควรจะเป็น “ผู้ที่รับฟัง” หรือ “Community Support” หรือ “Peer Support”  ในสังคม ซึ่งทำหน้าที่เสมือนระบบคัดกรอง ก่อนที่คน ๆ นั้นจะเข้าไปสู่กระบวนการรักษาในระดับที่สูงขึ้นต่อไป เพราะระดับความเครียดของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนอาจจะเครียดเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เครียดไม่กี่วันก็หาย หรือบางคนเครียดกินเวลาเป็นสัปดาห์ ยิ่งเครียดเป็นระยะเวลาที่นานขึ้น ก็จะยิ่งนำไปสู่ความเครียดแบบเรื้อรังได้ ดังนั้น หากในสังคมมีผู้ที่คอยรับฟังมากขึ้น ก็จะช่วยลดการข้ามขั้นการรักษาได้ เพราะบางคนมีความเครียดสะสมมากจนถึงขนาดที่ต้องข้ามขั้นตอนการพบนักจิตวิทยา และจิตแพทย์ก่อน แล้วรักษาตัวที่โรงพยาบาลเลยก็มี 

Sati App ร่วมโครงการ “Have You Listened รับฟังปัญหา-เคียงข้างผู้ป่วยซึมเศร้า” โดยอแมนด้า มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2563
Sati App ร่วมโครงการ “Have You Listened รับฟังปัญหา-เคียงข้างผู้ป่วยซึมเศร้า” โดยอแมนด้า มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2563

เมื่อเห็นแล้วว่าล่างสุดของพีระมิดในสังคมเรายังไม่มี เพราะฉะนั้น ต้องสร้างฐานล่างสุดให้แข็งแรงก่อน นั่นคือการสร้างให้คนในสังคมของเราเป็นสังคมแห่งการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ หรือ Empathic Listening พูดง่าย ๆ ว่า ถ้ามีใครสักคนตกอยู่ในภาวะความเครียด เราจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเขาในฐานะผู้ฟังที่ดีได้ โดยไม่ต้องจัดหาพื้นที่พูดคุยกันในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง แต่สามารถใช้ประโยชน์จากสมาร์ตโฟนของเราเพื่อจัดการสิ่งนี้ได้ทุกที่ ทุกเวลา 

รวมถึง ในประเทศไทยยังคงมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงการรักษาภาวะสุขภาพจิต และเข้าถึงในราคาที่จับต้องได้ อย่างเช่นตัวผมเอง มีรายได้เพียงพอก็จะเข้าสู่กระบวนการการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้ แต่แลกมาด้วยอัตราค่ารักษาที่ค่อนข้างสูงพอสมควร อยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อครั้ง และในขณะเดียวกัน ผมก็ต้องรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ควบคู่กันไปด้วย ประมาณ 150 บาทต่อชั่วโมง เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ค่ารักษาระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชนมีความแตกต่างกันมาก ทำให้คนที่รักษาในโรงพยาบาลของรัฐมีจำนวนมาก จนบางครั้งต้องรอคิวกว่า 6-7 ชั่วโมง เทียบกับเพียง 3 ชั่วโมงของการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน 

ด้วยสถานที่เพื่อรองรับการเข้าถึงการรักษาที่ยังมีน้อย รวมถึงค่าบริการที่สูงเกินกว่าคนทั่วไปจะสามารถจ่ายได้ จึงตั้งใจสร้าง Sati App ให้เป็น Free Model เพราะมองว่าคุณสมบัติอย่างแรกที่ต้องมี เพื่อดึงดูดให้คนที่มีปัญหาเข้าถึงผู้รับฟังได้ คือ ต้องไม่มีค่าใช้จ่าย มองว่าคนทั่วไปควรเข้าถึงสิ่งนี้ได้อย่างไม่รู้สึกว่าเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน และรัฐควรสนับสนุนการสร้างพื้นที่นี้ให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะการมีคนคอยรับฟัง เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน

ปัจจุบัน เราได้รับการสนับสนุนเรื่องงบประมาณในการสร้างแอปพลิเคชันจากกรมสุขภาพจิต เเละศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ นอกจากนั้น ทั้ง 2 หน่วยงานเป็นทั้งที่ปรึกษาและผู้แนะนำเรื่องข้อมูลต่าง ๆ ด้วย 

เราได้จดทะเบียน Sati App เป็น 2 รูปแบบ คือ ทั้งแบบองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Nonprofit Organization) เเละ กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยใช้ส่วน Nonprofit ในการรัน Sati App ให้เกิดการพูดคุยแบบไม่มีค่าใช้จ่าย และกำลังศึกษาโมเดลที่สามารถรองรับค่าใช้จ่าย เพื่อให้มีทุนมาช่วยประคับประคองตัว Sati App ได้ด้วย


Q: ทำไมเลือกเครื่องมือการเเก้ปัญหานี้ เป็นรูปแบบของแอปพลิเคชัน

A: จากที่ผมลองศึกษาพวก Suicide Hotline (สายด่วนให้คำปรึกษาสำหรับคนที่อยากปลิดชีพตัวเอง) ส่วนใหญ่จะใช้แบบ Landline หรือโทรศัพท์บ้าน ความยุ่งยากของ Landline ประการแรก คือ ต้องมีคู่สาย ซึ่งการมีคู่สาย แปลว่าต้องมีพื้นที่ในการติดตั้งที่แน่นอน และปัญหาถัดมา คือ คนต้องประจำอยู่ในพื้นที่ที่แน่นอน เพื่อรอรับสายอยู่ตลอดเวลา 

ช่วงปี 2016 ที่ผมเป็นหนัก ๆ ผมชอบขับอูเบอร์ (Uber) มาก รู้สึกว่าระบบแบบ Uber มันง่ายและสะดวก มีคนกดเข้ามารับแล้วไปส่งเรา ด้วยการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว บวกกับมองว่า คนในสังคมทุกคนสามารถเป็นผู้ฟังที่ดีได้ทั้งหมดหากผ่านการฝึกอบรม แล้วให้เขามาอยู่บนแพลตฟอร์มของเรา ว่างเมื่อไหร่ก็เปิดออนไลน์เอาไว้ได้ ไม่ว่างก็แค่ออฟไลน์ แปลว่าช่วยลดการเสียเวลาในการจัดหาพื้นที่ การเดินทางไปยังพื้นที่นั้น รวมถึงขนาดของพื้นที่ ซึ่งมีผลต่อจำนวนผู้ให้บริการด้วย หากประยุกต์ใช้ระบบแบบ Uber แต่ละคนก็สามารถใช้สมาร์ตโฟนของตัวเองเป็น Virtual Call Center ได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างอิสระ ประโยชน์ที่ตามมา คือ จากที่เคยจำกัดว่ามีผู้ฟังหรือผู้ให้บริการเพียง 10 คนในพื้นที่จำกัด ก็สามารถเพิ่มจำนวนคนเป็นหลักร้อยคนที่มีความตั้งใจจะเป็นผู้ฟังที่ดี ให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มของเราได้อย่างไม่จำกัด

คนทั่วไปควรเข้าถึงสิ่งนี้ได้อย่างไม่รู้สึกว่าเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน และรัฐควรสนับสนุนการสร้างพื้นที่นี้ให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะการมีคนคอยรับฟัง เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน


Q: Listener มารวมทีมกันได้อย่างไร

A: เป็นบุคคลทั่วไปที่ผ่านการฝึกอบรม “การฟังด้วยใจ” หรือ “Empathic Listening” มาเรียบร้อยแล้ว การฟังไม่ได้เป็นเรื่องยาก หลายคนอยากเป็นผู้ฟัง อยากช่วย เเต่ไม่ทราบว่าจะไปช่วยได้ที่ไหน ก็สามารถมาอยู่บน Sati App ได้

หน้าเว็บไซต์ สำหรับผู้ที่ต้องการสมัครเป็น Listener บน Sati App เลือก “join us” ตรง “Listener Volunteers” (ข้อมูล ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2564)
หน้าเว็บไซต์ สำหรับผู้ที่ต้องการสมัครเป็น Listener บน Sati App
เลือก “join us” ตรง “Listener Volunteers” (ข้อมูล ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2564)

วิธีการ คือ เข้ามายังเว็บไซต์ www.satiapp.co ให้เลือก “join us” ตรง “Listener Volunteers” จากนั้นกรอกข้อมูลส่วนตัว และกด “เข้าร่วมเป็นอาสา”

กรอกข้อมูลส่วนตัว และกด “เข้าร่วมเป็นอาสา”
กรอกข้อมูลส่วนตัว และกด “เข้าร่วมเป็นอาสา”

โดย Sati App กำลังพัฒนาระบบ e-learning ของตัวเอง ที่จะอบรม “Basic Psychological First Aid” ซึ่งจะเริ่มเปิดระบบในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ 

ในการเข้าใช้งานระบบ ต้องใช้เบอร์โทรศัพท์ขอรับหมายเลข OTP เมื่อเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มแล้ว ก็สามารถเลือกได้ว่าต้องการเป็นผู้ฟังภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ และเลือกได้ว่าจะเป็นแบบ online หรือ offline ถ้าเลือก online เมื่อมีสายเข้าก็ทำหน้าที่เป็น Listener ตามปกติ หลังจากจบการสนทนาและวางสายแล้ว Listener ก็จะถามคำถามอย่างเช่นว่า ในระหว่างที่คุยกันเป็นอย่างไรบ้าง มีปัญหาอะไรไหม มีความเครียดลักษณะไหน ซึ่งเรามีให้เลือกประมาณ 10 ตัวเลือก ไม่ว่าจะเป็นความเครียดเรื่องสุขภาพ การเงิน การงาน ความสัมพันธ์ หรือความเครียดจากการถูกรังแก เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปเก็บในระบบหลังบ้านของเราว่าคน ๆ นี้ อายุเท่านี้ เพศนี้ ที่โทรมาวันนี้ มีความเครียดเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการนำมาวิเคราะห์ในอีก 6 เดือน หรือ 1 ปีข้างหน้า ว่าคนแต่ละกลุ่มมีความเครียดเรื่องอะไร ระดับใด 


Q: ตัวแอปพลิเคชันมีวิธีการใช้งานอย่างไร เเละจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าข้อมูลจะถูกปิดเป็นความลับ

A: เราให้ความสำคัญเรื่องข้อมูลส่วนตัวมาก เนื่องจากบริบทปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทย ยังถูกสังคมตีตราค่อนข้างเยอะ ผู้ที่มีปัญหาจึงไม่มีใครต้องการเปิดเผยตัวตนกับเราว่าเขาเป็นใคร

การใช้งานบน Sati App เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเรียบร้อยแล้ว เราจะขอให้คุณสร้าง account (บัญชีผู้ใช้) ก่อน ซึ่งไม่จำเป็นต้องกรอกชื่อจริงก็ได้หากไม่สะดวก ใช้ username อะไรก็ได้ เพราะเราถือว่าชื่อจริงค่อนข้างมีความเป็นข้อมูลส่วนตัว แต่จะขอให้กรอกอายุเเละเพศตามความเป็นจริง แต่ก็ไม่ได้จำกัดเพศอีกเช่นกันว่าต้องเลือกเฉพาะชายหรือหญิง เราทำการศึกษามาก่อนว่าเพศทางเลือกในประเทศไทยนอกเหนือจากชายและหญิงแล้ว ยังมี Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Queer หรือ L G B T Q และอื่น ๆ ผู้ใช้จึงสามารถเลือกกรอกให้ตรงกับความเป็นจริงได้ เพื่อให้เราเข้าใจในปัญหาของแต่ละคนได้ลึกมากยิ่งขึ้น 

หน้าตาของ Sati App เมื่อดาวน์โหลดและติดตั้งเรียบร้อยแล้ว
หน้าตาของ Sati App เมื่อดาวน์โหลดและติดตั้งเรียบร้อยแล้ว

หลังจากนั้น อ่านรายละเอียดความยินยอมในข้อตกลงซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เราไม่มีการเปิดเผยข้อมูลของคุณอย่างแน่นอน หากยอมรับการใช้งานบนแอปพลิเคชัน ก็กดยินยอม เเละเข้าสู่ระบบ 

สร้าง account โดยให้กรอกอายุเเละเพศตามความเป็นจริง เพราะมีผลในการใช้วิเคราะห์ปัญหาต่อไป
สร้าง account โดยให้กรอกอายุเเละเพศตามความเป็นจริง เพราะมีผลในการใช้วิเคราะห์ปัญหาต่อไป

เมื่อเข้าสู่ระบบแล้วจะเห็นปุ่มที่เขียนว่า “talk” ส่วนด้านล่าง ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าต้องการผู้ฟังภาษาไทย หรือผู้ฟังภาษาอังกฤษ หลังจากเลือกภาษาแล้ว ให้กด “talk” ระบบก็จะลิงก์ไปหา Listener ที่กำลังเปิดใช้งาน (available online) อยู่ในขณะนั้นทันที เมื่อจบการสนทนา ให้กดวางสาย หลังจากวางสาย ระบบจะขอให้ผู้ใช้ช่วยเสนอแนะหรือรีวิวกลับมายัง Sati App ในประเด็นดังต่อไปนี้ ได้แก่ 

  1. ตอนนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง 
  2. Listener โอเคสำหรับผู้ใช้หรือไม่ 
  3. ต้องการให้เราเช็คอินกับผู้ใช้ภายใน 24 ชั่วโมงไหม หากต้องการ เราจะส่งการแจ้งเตือนไปถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง
  4. หากมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถแสดงความคิดเห็นได้
เมื่อผู้ใช้กด “talk” และเข้าสู่กระบวนการพูดคุยกับ Listener
เมื่อผู้ใช้กด “talk” และเข้าสู่กระบวนการพูดคุยกับ Listener

Q: คิดว่าจุดเด่นของคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ฟัง หรือ Listener บน Sati App คืออะไร

A: ผมคิดว่าในสังคมของเรามีคนที่อยากเป็นผู้ฟังที่ดีกันค่อนข้างเยอะ เพราะคนที่อินเรื่องสุขภาพจิตก็มีไม่น้อย และทุกคนล้วนมีโอกาสที่จะเกิดภาวะสุขภาพจิตโดยที่ไม่รู้ตัว อย่างน้อย 1 ใน 4 คนรอบข้างเราจะมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ขอยกตัวอย่าง Listener ท่านหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นผู้ใช้งานแอปฯ ได้โทรเข้ามาคุยกับผมว่า ตัวเขาเองก็มีปัญหาสุขภาพจิต แต่ก็อยากเป็นผู้ฟังด้วย เพราะรู้ดีว่าเวลาที่เรามีภาวะอารมณ์ความรู้สึกดิ่งลงมาก ๆ คนที่จะรับฟังเราอย่างเข้าใจ มีความสำคัญมากขนาดไหน 

ผมจึงมองว่า Listener บนแพลตฟอร์มของผมมีจุดเด่น เพราะประกอบไปด้วยคนในสังคมหลากหลายกลุ่ม ได้แก่ 

  1. กลุ่มที่มีภาวะสุขภาพจิต และต้องการมาเป็นผู้ฟังให้แก่ผู้ที่มีปัญหาภาวะสุขภาพจิตด้วยกัน
  2. กลุ่มที่ต้องการจะเป็นผู้ดูแล (Caretaker) ของคนที่มีภาวะสุขภาพจิต
  3. กลุ่มนักศึกษาทางด้านจิตวิทยาของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยชวนเขาให้มาลองฝึกเป็นผู้ฟังบนแพลตฟอร์มของเรา 
  4. กลุ่มอื่น ๆ เช่น พระสงฆ์ นักจิตวิทยา และจิตแพทย์

Q: ตอนนี้มี Listener และผู้ใช้บน Sati App มากไหม

A: ตอนนี้มีผู้ใช้อยู่ทั้งหมด 148 Users และ 141 Listeners ผมทดลองเปิด Online ปรากฏว่ามีผู้ใช้งานโทรเข้ามาประมาณหนึ่ง และมีท่านหนึ่งที่คุยกันประมาณครึ่งชั่วโมง โทรมาเพื่อจะบอกเราว่าเขามีข่าวดี แต่ไม่รู้จะไปบอกใคร จึงโทรมาที่นี่ เพราะอยากจะแชร์ข่าวดีให้ฟัง

(สัมภาษณ์ วันที่ 9 เมษายน 2021 โดยจากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2021 มี 4,007 Users และ 141 Listener Volunteers แล้ว)


Q: ติดตั้งแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์ใดได้บ้าง

A: ใช้ได้ทั้งบน Android iPhone และ iPad ครับ


Q: แอปพลิเคชันมีขอบเขตการใช้งานกว้างมากน้อยแค่ไหน

A: ขณะนี้ยังใช้งานได้เฉพาะในประเทศไทย แต่กำลังดำเนินการจดทะเบียน Sati App ที่ยุโรปด้วย เพื่อเปิดตัว Sati App กับทาง Czech Republic เป็นประเทศต่อไป และกำลังอยู่ระหว่างศึกษากันต่อว่าสามารถจะเปิดตัวที่ไหนในยุโรปได้อีกบ้าง นอกจากนี้ก็มีทั้งประเทศอินเดีย และอินโดนีเซีย ที่ติดต่อให้เราไปเปิดตัวในประเทศของเขาด้วยเช่นกัน 


Q: มีแนวทางที่จะพัฒนา Sati App ต่อไปอย่างไรบ้าง

A: ในปี 2019 เราได้เข้าไปอยู่ในโปรแกรม “AI for GOOD”  ร่วมกับ Microsoft ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เราเข้าใจผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การออกแบบ และพัฒนาบริการให้สามารถรองรับความต้องการผู้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้นต่อไป ที่ปรึกษาของเราจึงเป็นผู้บริหารของ Microsoft AI ที่ Central Europe และมีอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับ AI ด้วย โดยแผนที่กำลังจะพัฒนาต่อไปในอนาคต ได้แก่ 

  • การขอเข้าถึงสถานที่อยู่ปัจจุบัน (Turn on location services) หน้าที่ของ AI ในระหว่างที่ผู้ใช้งานกำลังรอสาย คือ การชวนคน ๆ นั้นคุยไปก่อน และพบว่า AI มี Empathy หรือ ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ถึงประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ มันจะฟังคน ๆ นั้นไปเรื่อย ๆ และคอยถามคำถามเขาไปเรื่อย ๆ ถ้าเมื่อไหร่ที่คน ๆ นั้นใช้คำว่า “อยากตาย” อย่างน้อยประมาณ 5 ครั้งภายใน 2 นาที ระบบก็จะส่งสัญญาณไปยัง “HOPE Task Force” หรือทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย ของกรมสุขภาพจิต จากนั้นทีมงานก็จะส่งหน่วยกู้ชีพ หรือพยาบาลที่ผ่านการฝึกอบรม “Psychological First Aid” (การปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้น) มาแล้ว ไปยังสถานที่ ๆ ผู้ใช้แชร์มาให้เรา เพื่อจะหยุดเขา ก่อนที่เขาจะทำร้ายตัวเอง
  • Machine learning คือ เราจะไม่บันทึกเสียงสนทนาใด ๆ ที่เกิดขึ้นบนแอปพลิเคชัน สิ่งที่ Machine learning จะทำ เป็นการกรองบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างคุยกัน และสังเกตว่ามีคีย์เวิร์ดสำคัญอะไรปรากฏขึ้นมาไหม เช่น ถ้ามีคีย์เวิร์ดว่า “อยากตายจังเลย ไม่อยากอยู่แล้ว” ประมาณ 5 ครั้งภายใน 2 นาที ระบบก็จะส่งสัญญาณไปที่ “HOPE Task Force” อีกครั้งหนึ่ง ให้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วไปช่วยเหลือ ก่อนที่เขาจะพลั้งทำอะไรลงไป 

ทุกคนล้วนมีโอกาสที่จะเกิดภาวะสุขภาพจิตโดยที่ไม่รู้ตัว อย่างน้อย 1 ใน 4 คนรอบข้างเราจะมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต


Q: ต้องการการสนับสนุนจากองค์กรใดเพิ่มเติมไหม

A: ภาระงานทั้งหมดที่เล่าให้ฟัง มีผู้ดูแลเพียง 3 คน ดูแลทั้ง Mental Capacity (สมรรถภาพของจิตใจ) และ Funding Capacity (สมรรถภาพในการจัดหาทุน) 

CEO, CTO และ COO ของ Sati App ในปัจจุบัน
CEO, CTO และ COO ของ Sati App ในปัจจุบัน

ทั้งหมดที่ผมและ Co-Founder อีก 2 ท่านพยายามทุ่มเททำ เพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่จะได้กลับมา คือ ผลประโยชน์เชิงสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต เช่น เวลาที่ผมถามหลาย ๆ คนว่า คุณรู้ไหมว่าการที่มีคนฆ่าตัวตาย 1 คน สร้างความเสียหายเชิงเศรษฐกิจเท่าไหร่ คนก็จะไม่รู้ เพราะเราไม่เคยทำการวิจัยทางด้านนี้มาก่อน ซึ่งในฝั่งอเมริกา ทำวิจัยออกมาพบว่า ถ้ามีคนฆ่าตัวตาย 1 คน ความเสียหายต่อเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 1.32 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 30-40 ล้านบาท หรืออย่างสำนักข่าวรอยเตอร์ส ก็เคยเผยแพร่ข้อมูลว่า ถ้าหากไม่มีการช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจิตเกิดขึ้นเลย ในปี 2030 จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ประมาณ 16 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขณะนี้ที่สหรัฐฯ เอง คน Generation Z ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์กำลังออกจากกระบวนการการทำงานแล้ว เนื่องจากมีภาวะเครียดมาก 

สิ่งที่ผมกำลังจะสื่อสารก็คือว่า เหตุผลที่เราสร้างแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา เพราะเรามองว่าถ้าหากไม่มีการแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพจิตอย่างจริงจังและยั่งยืน ในอนาคตเราจะมีปัญหามากกว่าที่มีอยู่ในขณะนี้หลายเท่า เพราะฉะนั้น ใครที่พอมีทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรเรื่องเงินทุน ทรัพยากรเรื่องข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ที่ต้องการสนับสนุนเรา เรายินดีต้อนรับทุกคนที่ต้องการเข้ามาช่วยแก้ไข


Q: มีเป้าหมาย เเละผลลัพธ์ทางสังคมอะไรบ้าง ที่ต้องการสร้างให้เกิดขึ้น

A: มีเยอะมากเลยครับ (หัวเราะ) โดยเฉพาะ 2 ประเด็นนี้ 

เรื่องแรก ต้องการให้คนเข้าใจความแตกต่างระหว่าง Empathy (ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น) กับ Sympathy (ความสงสาร) คือ ก่อนที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหา ต้องเข้าใจความรู้สึกของเขาก่อน ไม่ใช่สงสาร แม้จะไม่เกี่ยวกับสุขภาพจิตโดยตรง แต่ความเข้าใจในเรื่องนี้มีผลต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพจิตต่อไป 

ฝึกอบรมการปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้น หรือ Psychological First Aid Workshop for อสส.
ฝึกอบรมการปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้น หรือ Psychological First Aid Workshop for อสส.

เรื่องที่สอง เมื่อปีที่แล้วผมเป็น Global lead ของ Global Mental Project ของ Global Shapers Community เราได้จัดทำเนื้อหาเรื่องการปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้นเป็นภาษาอังกฤษ และกำลังปรับให้เป็นฉบับภาษาไทยด้วย เพื่อให้คนทั่วไปเข้าสู่หลักสูตรการเรียนปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้น หรือ Psychological First Aid ได้ ซึ่งเป็นอีกขั้นหนึ่งของ Empathic Listening 

แต่ถ้าเป็นแผนในอีก 5 ปีข้างหน้า เราต้องการจะเป็น 2 อย่าง ได้แก่

  • เป็นผู้ที่สามารถทำวิจัยเรื่องสุขภาพจิตในประเทศไทยได้ 
  • เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้แก่คนที่ต้องการเรียนทางด้านจิตวิทยาได้ เพราะจำนวนนักศึกษาที่เรียนจบด้านนี้โดยตรงยังมีน้อยกว่าความต้องการจริง ๆ ของสังคม

Q: มีเเนวทางการดำเนินงานอย่างไร เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้น

A: สิ่งที่กำลังทำ และทำอย่างต่อเนื่อง คือ การหาเครือข่าย เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ไปพูดเรื่องของเราได้ เพราะทุกครั้งที่พูด จะมีหน่วยงานต่าง ๆ ติดต่อสอบถามเข้ามาเสมอ เพื่อช่วยเหลือในสิ่งที่จะช่วยได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีแพสชันในประเด็นนี้ค่อนข้างมาก จึงใช้วิธีเล่าจากเรื่องราวของตัวเอง เพื่อบอกคนที่อยากมาร่วมเป็นภาคีกับเราว่า มันมีพื้นที่ที่สามารถจะร่วมมือกันได้แล้วนะ

Sati App ร่วมงาน ME Talk (Mental Educational Talk) เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก ปี 2562
Sati App ร่วมงาน ME Talk (Mental Educational Talk) เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก ปี 2562

Q: มีรายได้จากช่องทางอื่นอีกไหม เเละนำไปสร้างคุณค่าทางสังคมอย่างไร  

A: เราพาตัวเองไปอยู่บนแพลตฟอร์ม “Socialgiver” เพื่อเป็นช่องทางการระดมทุน และอีกวิธีหนึ่งคือ สามารถให้คนมาบริจาคเพื่อสนับสนุนบนแพลตฟอร์มของเราได้ อาจจะใช้วิธีตัดบัตรเครดิตเดือนละ 500 บาททุก ๆ เดือน เป็นต้น เพื่อใช้พยุงตัว Sati App ไว้ก่อน 

ในทุก ๆ นาทีที่มีผู้ใช้โทรเข้ามาจะมีค่าโทรเกิดขึ้น การบริจาค 500 บาท สามารถสนับสนุนค่าโทรแก่ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ 1,000 นาที เป็นต้น นั่นคือประโยชน์ที่จะใช้จากตัวเงินที่ได้รับการสนับสนุนมา 

อีกส่วนใช้เป็นงบประมาณในการสร้างเนื้อหาความรู้ จะเห็นว่าใน Facebook หรือ IG ของ Sati App เน้นการโพสต์ในเชิงให้ความรู้มากกว่าความบันเทิง เช่น ทำไมคนที่มีภาวะทางสุขภาพจิต อารมณ์ค่อนข้างเหวี่ยงกว่าคนทั่วไป หรือ การมีความเข้าอกเข้าใจคนอื่นคืออะไร ภาวะเครียดที่เราควรรู้มีรูปแบบใดบ้าง เป็นต้น เพื่อให้คนในสังคมเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ว่ามา ไม่จำเป็นต้องมีโรคประจำตัวก่อน แล้วจะมีปัญหาสุขภาพจิตได้ แต่ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและจากทุกบริบทรอบตัว 


Q: Sati App ช่วยลดภาวะซึมเศร้าได้มากเเค่ไหน

A: อาจจะไม่ลดภาวะซึมเศร้า แต่เป็นการเปิดช่องทางให้ใครคนใดคนหนึ่งเข้าถึงคนอีกคนได้ ในเวลาที่สภาวะจิตใจกำลังคับขัน 

จริง ๆ ผมได้แรงบันดาลใจจากโครงการ “The Friendship Bench” ที่ประเทศซิมบับเวด้วย เกิดจากที่ดร.ดิกซอน ชิบันดา (Dixon Chibanda) เป็นจิตแพทย์ ทำงานในระบบสาธารณสุขของภาครัฐ ประเทศซิมบับเว ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพจิต ในคืนหนึ่งเขาได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลที่อยู่ห่างออกไป 200 กิโลเมตรว่า มีเด็กหญิงคนหนึ่งพยายามจะฆ่าตัวตาย ดร.ดิกซอน บอกแม่ของเด็กว่าถ้าหากพร้อมเมื่อไหร่ก็ให้พาลูกมาที่เขาเพื่อรักษาต่อ ผ่านไป 2 สัปดาห์ แม่โทรมาบอกคุณหมอว่าลูกสาวฆ่าตัวตายแล้ว ที่แม่ไม่ได้พาลูกสาวมาหาคุณหมอ เพราะไม่มีเงิน 15 เหรียญจ่ายค่าเดินทางจากจุดที่เธออยู่เข้ามาในเมืองหลวง คุณหมอจึงตัดสินใจเดินทางไปยังหมู่บ้านแห่งนั้น เพื่อศึกษาปัญหา จึงพบว่าที่นั่นมีคนที่ติดเชื้อเอชไอวีค่อนข้างเยอะ และมีหญิงสูงอายุอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้มีกิจกรรมอะไรสำหรับคนสูงวัยเลย คุณหมอคิดว่า น่าจะดีถ้าไปสอนคุณยายเหล่านี้เรื่องการฟังด้วยใจ ซึ่งเกี่ยวกับภาวะสุขภาพจิต หลังจากสอน ก็ให้คุณยายกระจายไปนั่งประจำการตามมุมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน แล้วให้เด็ก ๆ เข้ามานั่งคุยกับคุณยายแต่ละคน ผลปรากฏว่าวิธีนี้ ช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายได้จาก 60 เหลือเพียง 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น     

จึงได้โมเดลนี้มาเป็นแนวทางในการสร้าง Sati App เพราะเห็นว่าการมีเพื่อนคอยรับฟัง ช่วยลดหรือบรรเทาอัตราการฆ่าตัวตายได้ เราไม่ได้หวังว่าคนที่เป็นโรคนี้จะลดจำนวนลง เพราะความซับซ้อนของโรคที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนมาจากบริบทที่ต่างกัน แต่มองว่าการมีพื้นที่จะช่วยชะลอหรือยื้อการตัดสินใจฆ่าตัวตายออกไปได้ 


Q: อะไรคือความสุขจากการทำงานนี้ 

A: ผมว่าเป็นเพราะทั้งตัวผม และ Co-Founder อีก 2 ท่าน ต่างเคยผ่านเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน ประสบการณ์ของ Co-Founder ท่านแรกเกิดขึ้นกับญาติ ท่านที่ 2 เคยเป็นโรคซึมเศร้ามากว่า 10 ปี และผม เกิดขึ้นกับตัวเอง เราจึงอยากทำสิ่งนี้ให้ดีขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ พอเรายิ่งรู้ปัญหาของแต่ละคน ยิ่งหยุดทำไม่ได้ กว่าที่จะผ่านเหตุการณ์นั้นมามันยากลำบากมาก เพราะฉะนั้น คนที่กำลังประสบปัญหาแบบเดียวกับเรา ก็ตกอยู่ในสภาวะเดียวกันกับที่เราเคยเป็น 

ทุกวันที่ตื่นขึ้นมายอมรับนะครับว่าเหนื่อย แต่เหนื่อยแบบไม่ท้อ และตื่นมาแบบไม่รู้สึกแย่ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกเยอะแยะมากมาย จากวันที่ผมจะฆ่าตัวตายมาจนถึงวันนี้ ผมได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง จากหลาย ๆ คนรอบตัวเยอะมาก ทั้งจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา Caretaker และอีกหลาย ๆ คน รู้สึกว่าเราอยากจะทำแต่ละวันให้มันดีขึ้นไปเรื่อย ๆ อยากนำประสบการณ์ชีวิตที่มีค่าของเรา มาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เหนื่อยด้วยความอิ่มใจ ไม่ใช่ความท้อใจ

เราไม่ได้หวังว่าคนที่เป็นโรคนี้จะลดจำนวนลง เพราะความซับซ้อนของโรคที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนมาจากบริบทที่ต่างกัน แต่มองว่าการมีพื้นที่จะช่วยชะลอหรือยื้อการตัดสินใจฆ่าตัวตายออกไปได้


Q: อยากฝากอะไรถึงคนที่กำลังตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า หรืออยากฆ่าตัวตาย

A: หลายครั้งที่เราท้อ เราต้องการแค่เพียงแสงสว่างเล็ก ๆ ที่จะช่วยจุดประกายให้เราเดินต่อไปข้างหน้าได้ ลองนึกดูว่ามีใครบ้างที่เราสามารถจะแชร์ความรู้สึกกับเขาได้ มีใครบ้างที่เราสามารถคุยกับเขาได้โดยที่เราไม่ต้องเป็นคนอื่นนอกจากเป็นตัวเอง ลองเข้าหาคน ๆ นั้น หรือถ้าหากมีความเครียดแล้วไม่กล้าไปหาหมอ ขอบอกเลยครับว่าการเข้าหาจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เหมือนเราไปพูดคุยกับเพื่อน คนที่เขาพยายามทำความเข้าใจเรา พยายามช่วยเหลือเรา ถ้าหากว่าไปหาคนแรกแล้วรู้สึกไม่ถูกใจ ก็ไม่เป็นไร สามารถไปหาคนที่สอง คนที่สาม ต่อไปได้เรื่อย ๆ อาจจะคล้าย ๆ กับการหาแฟนที่ถ้าคนแรกไม่ใช่ ก็ลองเปิดใจคุยกับคนที่สอง คนที่สาม ไปเรื่อย ๆ 

การแก้ปัญหาอะไรสักอย่างในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟังปัญหานั้นเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ดีเลย หากเราไม่รับฟังปัญหาของกันและกัน

และสำหรับคนที่เป็น Caretaker เราต้องเป็นคนที่เปิดใจรับฟังเขา เวลาที่ฟัง เราจะไม่เอาความคิดเห็นส่วนตัวของเราไปอยู่เหนือความคิดของเขา ต้องพยายามทำความเข้าใจกับความรู้สึกของเขา และสะท้อนความรู้สึกของเขากลับไปให้เขา เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่ง หากเขาเห็นปัญหา และเข้าใจปัญหาของตัวเองแล้ว เราแทบจะไม่ต้องเข้าไปช่วยแก้ไขอะไรให้เขาเลย หรือถ้าอยากช่วยลองใช้คำว่า “เรามีคำแนะนำนะ ขอให้คำแนะนำได้ไหม” แต่ถ้าเขาไม่รับฟังก็ไม่ต้องไปยัดเยียดความหวังดีให้ ผมเข้าใจว่าการเป็นโรคนี้มันเหนื่อย แต่มันไม่ได้น่ากลัวถ้าเราพร้อมที่จะรักษา


Q: อยากให้ฝากถึงผู้อ่าน หรือผู้ที่กำลังสนใจในตัวแอปพลิเคชัน

A: สังคมเรามีเเต่นักพูด แต่ไม่มีคนฟัง การรับฟังเป็นตัวช่วยทำให้เกิดความสมดุล ถ้าไม่มีนักฟังเลย สังคมจะเเตกเเยก จึงอยากจะชวนทุกคนไปลองศึกษาดูว่าการฟังเเต่ละแบบมีลักษณะแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เพื่อเราจะได้เป็นผู้ฟังที่ดีในสังคม ถ้าหากเราคิดว่าตอนนี้แย่แล้ว อนาคตจะยิ่งแย่กว่าถ้าไม่มีผู้ฟังในสังคมเลย การแก้ปัญหาอะไรสักอย่างในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟังปัญหานั้นเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ดีเลย หากเราไม่รับฟังปัญหาของกันและกัน

การแก้ปัญหาอะไรสักอย่างในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟังปัญหานั้นเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ดีเลย หากเราไม่รับฟังปัญหาของกันและกัน


เรียบเรียงโดย เสาวลักษณ์ เอียดปุ่ม สัมภาษณ์โดย ทลปภร ปัญโยรินทร์