IHRI ธุรกิจเพื่อสังคมที่เน้นพัฒนาศักยภาพคน ที่ประสบปัญหาการเข้าถึงบริการ Sexual Health ให้เป็นผู้ออกแบบบริการสุขภาพ ที่ตอบโจทย์ให้กับผู้รับบริการที่ประสบปัญหาเดียวกัน | SE STORIES ตอนที่ 12

ดร.แพทย์หญิง นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ผู้ซึ่งเห็นปัญหาภาวะสุขภาพทางเพศ หรือ Sexual Health มายาวนาน ตัดสินใจลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปรับทัศนคติ แก้ไขระบบที่ผิดเพี้ยนของสังคม ให้รู้จักมองจากต้นเหตุ ลดการกล่าวโทษ โดยการพัฒนาศักยภาพให้คนที่เคยถูกสังคมตัดสิน ไม่ว่าจะเป็นเกย์ สาวประเภทสอง LGBTQ ผู้ใช้สารเสพติด หรือพนักงานบริการเอง มาเป็นผู้ออกแบบและให้บริการสุขภาพหรือ “People Centered Approach” ทำให้สามารถให้บริการ Sexual Health แก่ผู้ที่อยู่ร่วมบริบทเดียวกันได้มากกว่าครึ่งประเทศจนเป็นที่ประจักษ์ในเชิงหลักฐาน ในขณะที่ระบบสาธารณสุขปกติยังทำไม่ได้และไปไม่ถึง นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านของเรา และแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกา ก็ต่างยอมรับในรูปแบบการให้บริการเช่นนี้ของ IHRI เพราะเห็นประโยชน์ที่จะเกิดต่อประชากรโลก ดั่งที่ ดร.แพทย์หญิง นิตยาพูดไว้ตอนหนึ่งว่า “การเห็นคนที่เรามองว่าเขาเคยเป็นเหยื่อ เป็นผู้ได้รับผลกระทบ เป็นคนไข้ของเรา เป็นใครสักคนที่ถูกละเลยในสังคม ได้กลายมาเป็นคนที่พูดเพื่อตัวเขาเอง หรือเพื่อกลุ่มประชากรของเขา สามารถพูดได้ดีมากกว่าการที่เราพยายามจะไปพูดเพื่อเขา”

ดร.แพทย์หญิง นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (Institute of HIV Research and Innovation) หรือ IHRI
ดร.แพทย์หญิง นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (Institute of HIV Research and Innovation) หรือ IHRI

Q: มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี หรือ IHRI เป็นธุรกิจเพื่อสังคมเกี่ยวกับอะไร

A: มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (Institute of HIV Research and Innovation) หรือ IHRI เพิ่งมีการเปลี่ยนผ่าน มาจากทีมเดิม ซึ่งทำงานด้านเอชไอวีมาก่อน ร่วม ๆ 20 ปีแล้ว ทีมของเรามีทั้งแพทย์ พยาบาล และนักวิจัย 

เริ่มแรก เราอยู่ภายใต้ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย แต่ด้วยขอบเขตของงานที่ค่อนข้างกว้างขวางมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเอชไอวีโดยตรงเท่านั้น เพราะเราไม่ได้ทำงานกับโรค แต่ทำกับคนหรือกลุ่มประชากรที่หลากหลายมากขึ้น ปัญหาสุขภาพทางเพศก็มีหลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นงานที่อาจจะอยู่นอกเหนือภารกิจของสภากาชาดไทย จึงมาจัดตั้งเป็นมูลนิธิ IHRI และเปิดพริบตาแทนเจอรีน สหคลินิกขึ้น เพื่อให้บริการสุขภาพทางเพศอย่างครบวงจร

ต้องขอเล่าตรง ๆ ว่าธุรกิจเพื่อสังคมเป็นไอเดียที่พวกเราไม่ได้มีความถนัดหรือเชี่ยวชาญมาก่อน แต่เนื่องด้วยโอกาสของการขยับตัวเองมาเป็นมูลนิธิ แม้งานที่ทำอยู่จะเป็นประเด็นเชิงการให้บริการทางสุขภาพ แต่เพราะเราเห็นช่องทางของงานที่ได้ทำ หรือได้รับการร้องขอให้ทำ ว่าจริง ๆ มันสามารถที่จะอยู่ในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมได้ ซึ่งมองเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ 

ส่วนแรก คือ เรื่องการให้บริการทางการแพทย์ หลายคนเมื่อได้ยินชื่อของเรา เชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อยเลยที่คิดว่าภารกิจของเราเกี่ยวข้องกับเรื่องเอชไอวีเพียงอย่างเดียว จริง ๆ แล้วเอชไอวีเป็นเพียงสภาวะโรคหนึ่ง หรือสภาวะทางสุขภาพหนึ่งในบรรดา Sexual Health (สุขภาพทางเพศ) เท่านั้นเอง และมันไม่ใช่สิ่งที่ฟังดูน่ารื่นรมย์สำหรับคนทั่วไป การบริการสุขภาพด้านนี้จึงไม่ได้มีอยู่อย่างแพร่หลาย หากมี ก็มีในสถานพยาบาลที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้น ซึ่งค่อนข้างยากต่อการเข้าถึง สำหรับคนที่ต้องการบริการสภาวะสุขภาพด้านนี้ ยากทั้งเรื่องสถานที่ เวลาเปิด-ปิด ความละเอียดอ่อนของผู้ให้บริการ รวมถึงราคา เราเห็นว่าเรามีความถนัดด้านนี้และมุ่งมั่นที่จะทำ เราคาดหวังว่าการบริการ Sexual Health ควรเข้าถึงได้โดยคนทุกคน โดยเฉพาะคนที่มีความจำเป็นต้องเข้าถึง 

อีกส่วนหนึ่ง คือ เรื่องการพัฒนาศักยภาพ เพราะ Sexual Health ไม่ใช่เรื่องที่ใคร ๆ ต้องการจัดบริการ รวมถึงการเรียนการสอนในระดับบุคลากรทางสาธารณสุข ก็ไม่ได้เน้นเรื่องนี้ ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญหรือความเฉพาะเจาะจง จึงคิดว่าถ้าอย่างนั้นควรพัฒนาศักยภาพด้านการให้บริการ Sexual Health ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ทั้งในระดับจังหวัด ภูมิภาค ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับนานาชาติด้วย 


Q: ปัญหาสังคมประเด็นใดที่ IHRI มองเห็นและตัดสินใจเข้าไปแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีการอย่างไร

A: เอชไอวีเป็นโรคที่อยู่กับโลกนี้มานานถึง 40 ปี โรคอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ เกี่ยวกับกลุ่มประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คนที่เป็นโรคมักจะถูกตีตราและถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชากรที่เปราะบาง และได้รับผลกระทบจากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ง่าย คล้าย ๆ กับโควิดตอนนี้ เป็นโรคที่เกิดขึ้นมาใหม่ คนยังไม่รู้จักมัน ก็พยายามตามหาอะไรสักอย่างที่จะไปเกี่ยวโยงกับมันได้ อย่างเช่น เมื่อโควิดระบาดเป็นระลอก ๆ ทุกคนก็จะกลัว ความกลัวทำให้พยายามมองหาว่าใครเป็นคนที่นำเชื้อเข้ามา แล้วก็เกิดการตีตราว่า คนที่เป็นนักเที่ยว เป็นคนที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งนักเที่ยวเป็นคนที่อยู่ในแวดวงของบางอาชีพ เป็นต้น เช่นเดียวกันกับเอชไอวี มันก็กำเนิดมาแบบนั้น เริ่มต้นจากกลุ่มที่เป็น LGBTQ จากนั้นค่อย ๆ ขยับมาเป็นกลุ่มผู้ใช้ยา กลุ่มประชาชนทั่วไป และกลุ่มผู้ที่ให้บริการทางเพศ เราเรียกเขาว่าเป็น service worker ไม่เรียก sex worker เพราะเขาให้บริการ entertain (ให้ความบันเทิง) อื่น ๆ ก่อน ก่อนที่จะนำไปสู่เรื่องเซ็กส์ จากนั้นก็ค่อย ๆ ขยับเข้ามาถึงกลุ่มที่เป็นนักเที่ยว คนที่เป็นภรรยาของนักเที่ยว และเป็นลูก นี่คือลักษณะระบาดวิทยาของเอชไอวี

เมื่อเป็นแบบนี้ ทุกคนจะพยายามโทษคนแรก ๆ ที่รับเชื้อมา หากใครเป็น LGBTQ หรือเป็นผู้ใช้สารเสพติดก็จะถูกมองว่า คนนี้มันต้องไปเกี่ยวข้องอะไรสักอย่างกับเอชไอวี ซึ่งในความเป็นจริง พื้นฐานของการที่ทำให้กลุ่มประชากรเหล่านี้เข้าไปเสี่ยงกับเอชไอวี นั่นแหละคือสิ่งสำคัญที่ควรค้นหาสาเหตุ ไม่ใช่เจาะจงด้วยตัวโรค หรือยิ่งกล่าวโทษให้เขายิ่งกลัว การกล่าวโทษไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นนอกจากจะนำไปสู่การซ่อนตัวอยู่ภายใต้ระบบ ไม่ออกมาสู่ระบบที่ควรจะรักษา สุดท้ายก็เกิดการส่งต่อเชื้อมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น เมื่อรู้แล้วว่าเอชไอวีเป็นเพียงปัญหาสุขภาพภาวะหนึ่ง ซึ่งทับซ้อนอยู่ทั้งในเชิงของเศรษฐกิจ เศรษฐานะ โครงสร้างเชิงอำนาจของสังคม อะไรต่าง ๆ ที่ทำให้ประชากรกลุ่มเปราะบางเสี่ยงจะติดโรค ๆ หนึ่งขึ้นมา ก็ควรเน้นแก้ปัญหาที่จุดนั้น

ถามว่าต้องแก้ปัญหานี้อย่างไร ก็ต้องสื่อสารให้รู้ว่าเขามีความเสี่ยง ต้องมารับบริการการตรวจคัดกรอง แล้วทำการรักษา แต่สิ่งที่ไม่ง่ายคือ การเปลี่ยนทัศนคติคนในสังคมให้ไม่เกิดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ ถึงแม้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกสอนมา แต่การแสดงให้เห็นซ้ำ ๆ ในสื่อ ในการกระทำของคนที่เป็นรุ่นพี่เรา การพูดการจาของผู้ที่มีอำนาจในสังคม ทำให้ความเป็น LGBTQ ความเป็นผู้ใช้ยา มันดูผิดธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม ไม่ควรนำมาเป็นตัวอย่าง หรือแม้แต่ผิดกฎหมายด้วยซ้ำ บริบททั้งหมดที่ประกอบกัน ทำให้การบริการทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุขเกือบทั่วโลก ไม่สามารถจัดออกมาให้ welcome ต่อกลุ่มประชากรเหล่านี้ได้ เราอาจจะไม่สามารถแก้ไขโครงสร้างทั้งหมดในสังคมได้ แต่อย่างน้อย เราสามารถทำงานผสมผสานระหว่างเชิงการแพทย์และเชิงสังคมให้ไปด้วยกันได้ โดยใช้วิธีเน้นเอาตัวคนที่อยู่ในกลุ่มประชากรนั้น ๆ มาเป็นศูนย์กลางในการออกแบบรูปแบบบริการสุขภาพ หรือ “People Centered Approach”


Q: ช่วยเล่าการให้บริการทางการแพทย์ที่บอกว่าเป็น “People Centered Approach” 

A: ขอพูดถึงเป้าหมายของการให้บริการ 3 ประการ ดังนี้ 

ข้อแรก เราต้องการให้การบริการ acceptable (ตอบสนอง) friendly (เป็นมิตร) และ accessible (เข้าถึงได้) กล่าวคือ สถานที่ตั้งต้องเดินทางสะดวก เราเป็นชุมชนเมือง ดังนั้น การโดยสารรถไฟฟ้า ไปที่อาคารจามจุรี สแควร์ ชั้น 11 น่าจะทำได้ไม่ยาก ส่วนเรื่องเวลาเปิดปิด ก็ต้องพิจารณาว่าเหมาะสมกับกลุ่มประชากรที่จะมาใช้บริการหรือไม่ ไม่ใช่ตั้งเวลาเปิดปิดแบบเวลาราชการแปดโมงครึ่งถึงสี่โมงครึ่ง ซึ่งเป็นเวลาที่คนส่วนใหญ่ทำงานกัน (หัวเราะ) การเข้ามารับบริการแบบนี้ ถ้าไม่ได้เจ็บป่วยหนักหนาสาหัสจริง ๆ คนมักผลัดวันประกันพรุ่งไว้เป็นทางเลือกหลัง ๆ เสมอ เราจึงเลือกเปิดให้บริการตั้งแต่ 10 โมงเช้าไปจนถึง 1 ทุ่ม เพื่อรองรับกลุ่มที่เป็นเยาวชน หรือคนวัยทำงาน ที่สามารถมาใช้บริการได้หลังเลิกงาน หลังเลิกเรียน หรือแวะมาช่วงพักเที่ยง เพราะเน้นประหยัดเวลาของทุก ๆ คนให้มากที่สุด เช่น แวะเข้ามาเจาะเลือดโดยไม่ต้องรอฟังผล เราจะส่งผลเลือดให้ทาง LINE,  SMS หรือทาง Email ได้ หรือคนที่ต้องรับยาอย่างต่อเนื่อง หากไม่สะดวกแวะมาที่คลินิกด้วยตัวเอง เราจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ได้ วิธีการคือ ไม่ว่าคุณไปเจาะเลือดมาจากที่ไหนก็ตาม เพียงส่งผลเลือดให้เราดู แล้วเราจะจัดยาให้เอง นี่คือบริการที่พยายามทำให้เขารู้สึกว่าไม่ต้องจัดหาเวลาเป็นพิเศษ เพื่อมาหาเราโดยเฉพาะ

ข้อสอง คือ affordability (ความสามารถในการจ่าย) ค่าบริการต้องจับต้องได้ เพราะต้องไม่ลืมความมุ่งหวังของตัวเองว่าเราต้องการให้เขามารับบริการ หากเขาไม่สามารถจ่ายได้ ก็ต้องมีระบบที่ช่วยซัพพอร์ทได้ หมายความว่า คนที่จ่ายได้ก็จ่าย ส่วนคนที่จ่ายไม่ได้ เราจะขอให้คนที่จ่ายได้จ่ายเผื่อให้ เรียกว่าแคมเปญ “ส่ง-ไม้-ต่อ” สมมติว่าคุณมาตรวจเอชไอวี คุณจ่าย 250 บาท แล้วรู้สึกว่ามันดี มีประโยชน์ คุณก็อาจจะซื้อแพ็กเกจสำหรับตรวจเอชไอวีเผื่อไว้ให้คนอื่นอีกสัก 2 คน คล้าย ๆ ฝากเงินไว้กับ IHRI 500 บาท ถ้าบังเอิญมีน้องนักศึกษา ซึ่งยังไม่มีรายได้ ต้องการเข้าถึงการตรวจแบบเดียวกับคุณ เขาก็สามารถตรวจได้โดยที่ไม่ต้องควักกระเป๋าตัวเองจ่าย หรืออาจจะช่วยคนอื่นต่ออีกสัก 50 บาท ก็สามารถทำได้ตามกำลังของคุณ เป็นต้น เราต้องการให้คนในชุมชนเห็นว่าการตรวจ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเองภายในชุมชนเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งคนนอกอาจจะไม่ได้เข้าใจปัญหา และโดยพื้นฐานไม่ได้มีความมุ่งหวังที่จะช่วยชุมชนลักษณะแบบนี้อยู่แล้ว

ข้อสุดท้าย คือ คุณภาพ ไม่ใช่ว่าพอจัดบริการที่มัน friendly, accessible และ affordable แล้ว คุณภาพก็ต่ำลงไปด้วย เราต้องการยกระดับทั้ง 3 อย่างนี้ให้มีคุณภาพสูงเท่าเทียมกัน 

เมื่อรู้แล้วว่าเอชไอวีเป็นเพียงปัญหาสุขภาพภาวะหนึ่ง ซึ่งทับซ้อนอยู่ทั้งในเชิงของเศรษฐกิจ เศรษฐานะ โครงสร้างเชิงอำนาจของสังคม อะไรต่าง ๆ ที่ทำให้ประชากรกลุ่มเปราะบางเสี่ยงจะติดโรค ๆ หนึ่งขึ้นมา ก็ควรเน้นแก้ปัญหาที่จุดนั้น

เราต้องการให้ IHRI เป็นศูนย์กลางการให้บริการ ในขณะเดียวกันก็เป็นโมเดลของการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันด้วย ผ่าน “พริบตาแทนเจอรีน สหคลินิก” หนึ่งในคลินิกซึ่งยึดเป้าหมายทั้ง 4 อย่างที่ว่ามาเป็นหลักในการให้บริการ ด้วยโมเดล People Centered Approach เพราะมีตัวแทนของกลุ่มประชากรต่าง ๆ เป็นผู้ให้บริการอยู่ที่คลินิกด้วย เช่น มีสาวประเภทสอง หรือกลุ่ม LGBTQ มาช่วยออกแบบการให้บริการ ทั้งบรรยากาศของการให้บริการ รวมไปถึงชนิดของบริการ ให้ตอบสนองต่อกลุ่มประชากรที่มารับบริการมากที่สุด 


บรรยากาศของ “พริบตาแทนเจอรีนสหคลินิก” ที่ยึดเป้าหมาย acceptable, friendly, accessible และ affordability เป็นหลักในการให้บริการ
บรรยากาศของ “พริบตาแทนเจอรีนสหคลินิก” ที่ยึดเป้าหมาย acceptable, friendly, accessible และ affordability เป็นหลักในการให้บริการ

ถ้าถามว่าทำไมไม่ตรวจหาเอชไอวี หรือซิฟิลิส ไปเลย ทำไมต้องออกแบบบริการให้ยุ่งยาก คำตอบคือ เพราะการรณรงค์ให้คนตรวจเอชไอวีฟังดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่าย ไม่มีใครอยากยอมรับว่าตัวเองเสี่ยงต่อเอชไอวี ดังนั้น หากต้องการทำงานกับคนกลุ่มนี้ให้เกิดประสิทธิภาพ ต้องเข้าใจก่อนว่าเขาชอบและต้องการอะไร เช่น สิ่งที่ประชากรคนข้ามเพศต้องการรับบริการ ก็ย่อมเกี่ยวกับเรื่องการข้ามเพศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาฮอร์โมนส์ การผ่าตัด หรือการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องของตัวเอง เหล่านี้ ต้องยกมาเป็นศูนย์กลาง แล้วแอบนำเรื่องเอชไอวี หนองใน ซิฟิลิส ฯลฯ สอดแทรกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจบริการ มันจึงจะออกมาอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า friendly และ acceptable 


Q: มีการพัฒนาศักยภาพด้านใดบ้าง พัฒนาอย่างไร และผลลัพธ์เป็นอย่างไร

A: ในแง่ของรูปแบบบริการ หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทย มาขอดูงานกับเราอยู่เรื่อย ๆ และใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว ฟิลิปปินส์ เวียดนาม พม่า ก็ประสบปัญหานี้ และมีลักษณะบริบทของประชากรคล้าย ๆ กันกับเรา เมื่อเห็นโมเดล ก็ต้องการให้เราทำสิ่งนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งเราเห็นด้วย เพราะต่อให้เรามี Sexual Health คลินิกที่ประเสริฐมาก ๆ คนชอบมาใช้บริการมาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะถูกยอมรับง่าย ๆ โดยเฉพาะในระดับนโยบาย เพราะไม่ได้เป็นภาวะสุขภาพทั่วไปที่ใคร ๆ ต้องการสนับสนุนอยู่แล้ว เรียกว่ามันไม่ได้ดูสวยก็ได้ เราจึงต้องใช้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะทำให้การบริการ Sexual Health เป็นบริการที่มีมาตรฐาน ไม่ใช่บริการแบบตามมีตามเกิดให้ผู้มารับบริการรู้สึกว่า แค่มีคนตรวจเอชไอวีให้ก็บุญแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น แต่จะต้องตรวจอย่างมีคุณภาพ ให้ยาต้านไวรัสก็ต้องให้อย่างมีคุณภาพ คุณภาพในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ตายอย่างเดียวนะคะ แต่คุณภาพต้องมาพร้อมกับการไม่ถูกตีตรา ไม่เลือกปฏิบัติ ผู้มารับบริการมีความสุข มีพลังบวกอยากกลับมารับบริการอีก ไม่ทิ้งบริการกลางคัน เราพยายามป้องกันไม่ให้เขากลายเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ หรือถ้าติดแล้ว ก็ให้กินยาต้าน กินจนมั่นใจว่าไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อให้ใครได้อีก ดำรงชีวิตอยู่อย่างยืนยาว เหมือนไม่เคยติดเชื้อมาก่อน นี่คือเป้าหมายสูงสุดของเรา

ส่วนศักยภาพในแง่ของผู้ให้บริการ ต้องยอมรับว่าหมอหรือพยาบาล ที่มีทัศนคติและความตั้งใจในการให้บริการ Sexual Health มีน้อยมากถึงมากที่สุด หรือถึงแม้มีความตั้งใจอย่างนั้นก็ตาม ต้องยอมรับอีกว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำได้ดี ตราบเท่าที่หมอและพยาบาล ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มประชากรนั้น ๆ เอง เช่น เราเป็นหมอ เป็นพยาบาล แต่ไม่ได้เป็นเกย์ สาวประเภทสอง พนักงานบริการ หรือไม่ได้ใช้สารเสพติด เพราะฉะนั้น ยากมากที่เราจะเข้าอกเข้าใจบริบทชีวิตของคนเหล่านี้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำแล้วประสบความสำเร็จอย่างมาก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ก็คือ การชวนคนในชุมชนของเขาเอง ทั้งคนที่เป็นพนักงานบริการ เป็นผู้ใช้สารเสพติด เป็นสาวประเภทสอง มาฝึกอบรมพัฒนา ให้เขามีทักษะพื้นฐานด้านการให้บริการ Sexual Health ต่าง ๆ ได้ ซักประวัติเพื่อประเมินความเสี่ยงได้ เจาะเลือดได้ เก็บสิ่งส่งตรวจได้ โดยป้ายเอาจากก้น ช่องคลอด ในช่องคอ ทุกช่องทางที่สามารถมีเซ็กส์ได้ มาตรวจหาหนองใน หนองในเทียม สามารถให้ยาเบื้องต้นได้ ให้ยาป้องกันเอชไอวีซึ่งไม่ใช่แค่แจกถุงยางไปวัน ๆ แต่จะให้ยาเพร็พ* (PrEP) ยาเป๊บ** (PEP) ที่สำคัญ คือ ให้โดยคนที่ไม่ได้เป็นหมอหรือพยาบาล ปัจจุบัน คาดว่ามีผู้ให้บริการลักษณะนี้ประมาณเกือบ 200 คนแล้วในประเทศไทย และสามารถจัดบริการ Sexual Health ให้กับกลุ่ม LGBTQ ได้เกินครึ่งประเทศ

* เพร็พ (PrEP) คือ ยาที่ใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสโรค รับประทานยาวันละหนึ่งเม็ดทุกวัน เพร็พ (PrEP) ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ จึงยังจำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

** เป๊บ PEP คือ ยาต้านไวรัสที่ช่วยลดโอกาสในการสร้างไวรัสเอชไอวีในร่างกายหลังจากที่ร่างกายได้รับการสัมผัสเชื้อเอชไอวีมาจากหลายรูปแบบ อาทิ การมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรืออุบัติเหตุจากการโดนเข็มฉีดยาตำ เป็นต้น

หมายความว่า คนเหล่านี้กระจายอยู่ในองค์กรชุมชนประมาณเพียง 10 แห่ง แต่สามารถให้บริการได้มากกว่าครึ่งหนึ่งหรือเกินครึ่งด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลรัฐ 900 กว่าแห่งทั่วประเทศที่ไม่สามารถให้บริการเรื่อง Sexual Health ได้อย่างทั่วถึง

เราคัดเลือกคุณสมบัติของผู้ที่ฝึกอบรม โดยประเมินจากความรู้ที่เขาได้จากการเข้าฝึกอบรม ว่านำไปปฏิบัติอย่างมีคุณภาพแค่ไหน จึงจะออกใบรับรองให้ได้ และต้องต่ออายุใหม่ทุก ๆ 2 ปี

ให้คนที่เป็นกลุ่มประชากรในชุมชนนั้น ๆ มาเป็นผู้ให้บริการด้าน Sexual Health ด้วยโมเดล People Centered Approach เพราะจะเข้าใจบริบทชีวิตของคนเหล่านี้ได้ดีกว่าคนทั่วไป
ให้คนที่เป็นกลุ่มประชากรในชุมชนนั้น ๆ มาเป็นผู้ให้บริการด้าน Sexual Health ด้วยโมเดล People Centered Approach เพราะจะเข้าใจบริบทชีวิตของคนเหล่านี้ได้ดีกว่าคนทั่วไป

ทั้งหมดเป็นภาพซึ่งทุกประเทศที่มาพาร์ทเนอร์กับเรามองไว้คล้าย ๆ กัน เราจึงจัดเป็นแพ็กเกจที่จะมาเสริมศักยภาพในส่วนผู้ให้บริการ สมมติว่าชาวพม่ามีกลุ่มสาวประเภทสอง และต้องการจัดตั้งบริการแบบนี้ เราจะมีหน้าที่เป็น facilitator (ผู้อำนวยความสะดวก) ให้เขา เช่น ให้รัฐบาล หรือผู้สนับสนุนเงินทุนในประเทศของเขาเข้ามาหารือกับเรา ว่าพร้อมจะจัดตั้งบริการไหม ถ้าพร้อม เรามีหน้าที่ไปฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ชุมชนนั้น ๆ ให้สามารถทำสิ่งที่เล่าไปข้างต้นได้ เรียกว่าเป็นรูปแบบการซื้อบริการ Capacity Building (สร้างขีดความสามารถ) ของเรา เพื่อให้ระบบนี้ถูก integrate เข้าไปในระดับนโยบายของประเทศ 


Q: “PrEP in the City” เป็นแคมเปญเกี่ยวกับอะไร 

A: ต่อยอดมาจากการทำงานแบบ People Centered Approach เรื่องเอชไอวี เรามีองค์ความรู้มานานแล้วว่า ใครที่ติดเชื้อเอชไอวี ต้องทานยาต้านไวรัสวันละเม็ดทุกวัน ทานประมาณ 6 เดือน จึงจะยุติการถ่ายทอดเชื้อ เมื่อตรวจจนมั่นใจว่าไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อได้แล้ว ก็ยังต้องทานยาต่อเนื่องไปตลอดชีวิต นั่นเป็นวิธีจัดการกับเชื้อเอชไอวีในฝั่งของการรักษา ถ้าในฝั่งการป้องกันสำหรับสมัยก่อน เป็นการตรวจให้เจอ เจอแล้วรักษา แต่ปัจจุบันเรารู้สึกว่ามันไม่พอ เพราะต่อให้ทุ่มเทตรวจอย่างไรก็ไม่สามารถค้นเจอคนทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ติดเชื้อได้ สมมติตรวจเจอ 70 เปอร์เซ็นต์ เราคิดแค่ว่าให้กินยาต้านไวรัสก็จบ ถ่ายทอดเชื้อให้คนอื่นไม่ได้แล้ว อย่าลืมว่าที่เหลืออีกตั้ง 30 เปอร์เซ็นต์ คือคนที่อาจจะมีเชื้อหรือไม่มีก็ได้ ไม่มีก็โชคดีไป แต่หากมี แปลว่าเขายังไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็น ถ่ายทอดเชื้อให้คนอื่นได้สบาย ๆ คล้ายกับโควิดในปัจจุบัน 

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามียาที่ชื่อว่า “เพร็พ (PrEP)” เป็นยาต้านไวรัส  2 ชนิดอยู่ในเม็ดเดียวกัน สามารถป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อเอชไอวีได้เกิน 99 เปอร์เซ็นต์ ถามว่ามีประโยชน์อย่างไร บางคนบอกว่า ก็มีถุงยางอยู่แล้ว จะมาใช้เพร็พอีกทำไม คำตอบ คือ ถ้ามีถุงยางแล้วมันป้องกันเอชไอวีได้ เราคงไม่ต้องทำงานด้านนี้กันมาจนถึง 40 ปี นั่นแปลว่า ยังมีคนที่เขาไม่ได้ออกมาประกาศว่าใช้หรือไม่ใช้ถุงยาง หลายครั้งที่เราแจกถุงยางอนามัยให้ผู้มาใช้บริการแล้วถูกปฏิเสธ เขาบอกตรง ๆ ว่าไม่ได้ใช้ทุกครั้งหรอกนะ ใน 10 ครั้ง อาจจะใช้ครั้งเดียว เราในฐานะผู้ให้บริการจะทำอย่างไร จะปล่อยคนเหล่านั้นกลับออกไปโดยไม่มีอาวุธไม่ได้ มองว่าการรักษาไม่สำคัญเท่าการป้องกัน ทันทีที่มีเพร็พออกมาเลยรู้สึกอุ่นใจ เรียกว่าเป็นอาวุธคู่กายให้คนที่มีความเสี่ยงได้ใช้ป้องกันตัวเองไปก่อน ในระหว่างรอค้นหาอีก 30 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ เมื่อเขาค่อย ๆ ทยอยรู้ตัว แล้วตรวจครบร้อยเปอร์เซ็นต์เมื่อไหร่ เมื่อนั้นทุกคนก็จะได้รับการรักษาจนครบ หน้าที่ของเพร็พก็จะหมดไป 

เมื่อทำการสำรวจ พบว่ากลุ่มที่ใช้เพร็พส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกย์ และมีบ้างที่เป็นกลุ่มพนักงานบริการ แต่กลุ่มสาวประเภทสองมีสัดส่วนการใช้เพร็พน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่มากพอสมควร เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกก็พบว่า สาวประเภทสองไม่รู้จักเพร็พ ไม่เคยได้ยินมาก่อน เพราะไม่ได้เป็นสิ่งที่คนในชุมชนกันเองพูดถึง เช่น ในแอปพลิเคชันหาคู่ของชุมชนเกย์ จะมีการพูดถึงว่าคุณใช้เพร็พหรือเปล่า เรียกว่ามีการส่งสารเรื่องความสำคัญของเพร็พ แล้วเพร็พก็ค่อย ๆ ถูกฝังเข้าไปในชีวิตประจำวันของกลุ่มเกย์ทีละเล็กละน้อย กลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตไปโดยปริยาย ซึ่งกลุ่มสาวประเภทสองไม่มี Dating Platform แบบนี้ จึงไม่ได้มีบริบทของการเป็นกลุ่มเพื่อนลักษณะนี้ แต่เป็นกลุ่มแบบแม่และลูกสาว พี่และน้องสาวมากกว่า ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เพร็พเป็นที่รู้จักในกลุ่มนี้ได้ หรือถึงแม้จะรู้จักดี แต่ก็ยังลังเลที่จะใช้ เพราะกังวลว่าการใช้เพร็พและยาฮอร์โมนส์ไปพร้อม ๆ กันจะเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย

จากข้อมูลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของแคมเปญ “PrEP in the City” เราใช้ตัวแทนของคนที่เป็นสาวประเภทสอง เพื่อให้เพร็พสามารถสื่อไปถึงคนกลุ่มนี้ได้ โดยพยายามชูเพร็พให้ถูกยอมรับ เนื่องจากหมอบางคนไม่สนับสนุนให้ใช้เพร็พ เพราะรู้สึกว่าคนกินเพร็พ คือคนที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัย ดังนั้น การที่เราไปโปรโมทเพร็พ เท่ากับว่าเรากำลังสนับสนุนให้คนไม่ใช้ถุงยางอนามัย นั่นคือทัศนคติที่คนบางกลุ่มยังมีต่อเพร็พ

แคมเปญ “PrEP in the City” ใช้ตัวแทนของคนที่เป็นสาวประเภทสอง เพื่อให้เพร็พสามารถสื่อไปถึงคนกลุ่มนี้ได้
แคมเปญ “PrEP in the City” ใช้ตัวแทนของคนที่เป็นสาวประเภทสอง เพื่อให้เพร็พสามารถสื่อไปถึงคนกลุ่มนี้ได้

เราจึงต้องมีจุดมุ่งหมายในการสื่อสารที่ชัดเจน ว่าเพร็พคือตัวช่วยสำหรับทุกคน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะพูดได้เต็มปากว่าฉันใช้เพร็พ ไม่ใช่ว่าฉันมีความเสี่ยงสูง เลยหันมาใช้ แต่เพราะฉันเป็นคนที่แคร์กับ Sexual Health ของตัวเอง ฉันใช้ถุงยางอยู่แล้ว แต่ฉันก็จะใช้เพร็พด้วย หรือ ฉันไม่ใช้ถุงยาง แต่รู้ว่าเพร็พดีอย่างไร จึงหันมาใช้มัน เป็น Positive Message ที่สื่อว่าฉันเป็นคนรับผิดชอบตัวเองและสังคม นี่คือใจความสำคัญของ “PrEP in the City”   

ต้องยอมรับว่าหมอหรือพยาบาล ที่มีทัศนคติและความตั้งใจในการให้บริการ Sexual Health มีน้อยมากถึงมากที่สุด หรือถึงแม้มีความตั้งใจอย่างนั้นก็ตาม ต้องยอมรับอีกว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำได้ดี ตราบเท่าที่หมอและพยาบาล ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มประชากรนั้น ๆ เอง


Q: คนทั่วไปมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีด้วยสาเหตุใดบ้าง และตอนนี้ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อประมาณกี่ราย ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยใด และมีสาเหตุมาจากอะไร

A: เรามีผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่หลัก 5,000 – 7,000 คนต่อปี ถามว่าดีหรือแย่ ก็ต้องบอกว่าดีกว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตอนนั้น เราคาดการณ์ว่าในแต่ละปีจะมีคนติดเชื้อเป็นหลักแสนคน ซึ่งตอนนี้ลดลงมาก แต่ก็ยังไม่หมด และยังคงค้างอยู่ที่ตัวเลขเดิมมาหลายปีมากแล้ว ดูเหมือนไม่รุนแรง แต่เรื้อรัง 

ถามว่าใครคือ 5,000 – 7,000 คนนั้น พบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในกลุ่มเกย์และสาวประเภทสอง อีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ที่ใช้สารเสพติดแบบฉีด และพนักงานบริการ ส่วนที่เหลือเป็นคู่ของคนเหล่านี้ ซึ่งเขาไม่ได้เป็นประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ว่ามา นี่คือการกระจายตัว โดยช่วงอายุของผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นข้อมูลเดียวกันทั่วโลก ก็คือ กลุ่มอายุที่น้อยกว่า 25 ปี 

ส่วนตัวเลขของผู้ติดเชื้อเอชไอวีสะสมทั้งหมดในประเทศไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 550,000 คน เราคาดว่าน่าจะมีผู้ติดเชื้อถึงหนึ่งล้านกว่าคน แต่ด้วยช่วงแรก ๆ ยังไม่มียาต้านไวรัส คิดว่ามีคนเสียชีวิตกันเป็นใบไม้ร่วง จะเหลือก็แต่คนที่ยังรักษาไม่หาย บางคนอยู่รอดมาได้กว่า 30-40 ปีก็มี 


Q: ในสถานการณ์โควิด ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดมากกว่าคนทั่วไปหรือไม่ เพราะอะไร 

A: ข้อมูลจนถึงปัจจุบันค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดว่า ผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี มีโอกาสติดโควิดง่ายขึ้น และมีโอกาสที่จะเจ็บป่วยด้วยอาการรุนแรงหากติดเชื้อแล้ว มากกว่าคนทั่วไป ไม่ได้รุนแรงเพราะตัวเชื้อเอชไอวีเองเท่านั้น แต่รุนแรงเพราะคนที่เป็นเอชไอวีมีโรคประจำตัวค่อนข้างเยอะกว่าคนทั่วไป เช่น โรคเบาหวาน ความดัน โรคอ้วน ฯลฯ บวกกับการมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายเป็นเวลาติดต่อกันหลายปี ย่อมส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเสื่อมเร็วกว่าปกติ


Q: ถ้าสงสัยว่าตัวเองเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ จะติดต่อขอรับชุดตรวจเอชไอวีได้ที่ไหน แล้วผลการตรวจจากอุปกรณ์นี้มีความแม่นยำมากน้อยเพียงใด  

A: เมืองไทยเรา ได้แก้กฎหมายให้ประชาชนสามารถตรวจเอชไอวีได้ด้วยตัวเองเมื่อปี 2019 ก่อนหน้านี้ทำไม่ได้ ใครสั่งซื้อชุดตรวจด้วยตัวเองผ่านออนไลน์ ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะไม่เคยผ่านการรับรองโดย อย. มาก่อน กว่าจะดำเนินการแก้กฎหมายข้อนี้ได้เป็นเรื่องยากมาก เพราะบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงนักเทคนิคการแพทย์มีความกังวลถึงความปลอดภัยในชีวิตของผู้ป่วย เกรงว่าจะคิดสั้น หากรู้ว่าตัวเองติดเชื้อ ซึ่งเป็นความกลัวที่ฝังรากลึกมามากกว่า 40 ปี เพราะสมัยก่อนมันไม่มีทางออก ไม่มียาต้านไวรัส คนที่เป็นก็จะนึกแค่ว่า ทางออกเดียวคือต้องตายเท่านั้น แต่จากการทำข้อมูลของเราในปัจจุบัน ผลสรุปได้ยืนยันแล้วว่าไม่มีใครตายเพราะรู้ความจริงด้วยตัวเอง เรามองว่าปัจจุบันมีองค์ความรู้มากพอที่สามารถถูกสอนได้ เรียนรู้ได้

หากกระบวนการจัดซื้อชุดตรวจเอชไอวีในประเทศไทยแล้วเสร็จ ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะเลือกชนิดการตรวจแบบไหน เพราะความไวของแต่ละแบบไม่เหมือนกัน ชนิดที่ตรวจโดยเจาะเลือดจากปลายนิ้ว แล้วหยดลงบนแท่นตรวจ จะได้ความไวเกือบเทียบเท่ากับตรวจที่คลินิก ถ้าผลออกมาเป็นบวกก็คือบวก แปลว่าเสี่ยง ถ้าลบคือลบ ผลจะค่อนข้างแม่นยำสำหรับการตรวจจากเลือด

การตรวจชนิดที่สอง สำหรับคนที่กลัวเจ็บ คือ ป้ายน้ำในช่องปากผสมกับน้ำยาสำหรับตรวจ แล้วหยดลงบนแท่นตรวจ แต่วิธีนี้ความไวจะน้อยกว่าตรวจจากเลือด เพราะในเลือดมีสารแอนติบอดีเข้มข้นมากพอที่จะทำให้ปรากฏผลเป็นบวกในชุดตรวจหากมีเชื้อ แต่แอนติบอดีของน้ำในช่องปากจะเจือจางลดลงมาระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้น โอกาสที่ผลจะออกมาเป็นบวก แปลว่าเชื้อในเลือดต้องมีปริมาณมากจริง ๆ เชื้อจึงจะผสมกับน้ำในช่องปากได้ และต้องสัมผัสเชื้อไปแล้วเกินหนึ่งเดือนขึ้นไป ผลตรวจจึงจะเชื่อถือได้ชัดเจน 

สำหรับเมืองไทย การตรวจแบบนี้ถือเป็นการตรวจชนิดที่หนึ่งเท่านั้น การยืนยันว่าติดหรือไม่ติดเชื้อ ต้องตรวจด้วยชุดตรวจอย่างน้อย 2 ชุด


Q: หากพบว่าติดเชื้อเอชไอวี จะมีขั้นตอนการรักษาอย่างไร 

A: สำหรับเมืองไทย ไม่ว่าคุณจะไปตรวจเอชไอวีที่ไหน ทั้งที่โรงพยาบาลหรือคลินิก เจ้าหน้าที่จะเจาะเลือดไปตรวจด้วยชุดตรวจที่หนึ่ง ถ้าผลเป็นบวก เจ้าหน้าที่จะยืนยันผลทันทีด้วยชุดตรวจอีก สองชุด การยืนยันผลว่าเป็นบวกต้องยืนยันภายในวันเดียวกันทุกแห่ง จากนั้นจะมีการประเมินความเจ็บป่วยของเรา ว่ามีโรคแทรกซ้อน โรคประจำตัว ติดเชื้อราในสมอง ในตา หรือมีวัณโรคร่วมด้วยด้วยหรือไม่ 

เมื่อคัดกรองเรียบร้อยแล้ว ถ้าเราแข็งแรงดี ก็สามารถเริ่มยาต้านไวรัสในวันเดียวกันได้เลย ปัจจุบันเป็นสูตรที่มีตัวยา 3 ชนิดอยู่ในเม็ดเดียวกัน ทานวันละ 1 ครั้งเท่านั้น เมื่อทานติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน ก็จะทำการตรวจหาเชื้ออีกครั้ง เป้าหมายของการตรวจพบเชื้อและเริ่มยาต้านไวรัส คือ หากรู้ว่าวันนี้มีเชื้อ ก็เริ่มยาวันนี้ทันที พบว่าจำนวนผู้ที่ทานยาติดต่อกันตามระยะเวลาที่กำหนด เกิน 95 เปอร์เซ็นต์ ไม่พบเชื้อในเลือดแล้ว หมายความว่า ไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อให้ใครได้อีกเลย ไม่ว่าจะทานข้าวกับใคร กอดใคร มีเพศสัมพันธ์กับใครโดยไม่ได้ใส่ถุงยางอนามัย ก็ไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อได้อีก นี่คือวิธีการรักษา แต่ถึงแม้ไม่พบเชื้อแล้ว ก็ยังต้องทานยาไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิต ซึ่งปัจจุบันมียาชนิดใหม่ ๆ เข้ามา จากเดิมที่ต้องทานยาวันละเม็ด ก็เปลี่ยนเป็นฉีดยาทุก ๆ 2 เดือน และคาดว่าอีกประมาณ 5-10 ปี อาจจะมีการฝังยาได้ บ่งบอกว่า การรักษาเอชไอวีถึงแม้จะต้องรักษาไปตลอดชีวิต แต่อาจจะไม่ต้องกินยาแบบเดิมไปตลอดชีวิตก็ได้ 


Q: คุณหมอมองว่าปัญหาเอชไอวี เป็นปัญหาใหญ่ระดับใด ถ้ามันไม่ได้รับการแก้ไข จะเกิดปัญหาอะไรตามมา

A: ถ้าเทียบระดับปัญหาของเอชไอวี ก็คงเท่า ๆ กันกับโควิด มันคือแพนเดมิก ฟาทีค (Pandemic Fatigue) หรืออาการเหนื่อยล้าจากโรคระบาด แล้วมันก็เป็นแพนเดมิกที่ยาวนาน เป็นปัญหาระดับโลก ก็เพราะการเข้าถึงชุดตรวจ การเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัส การเข้าถึงยาเพร็พ ต่าง ๆ เหล่านี้ มันยังมีความเหลื่อมล้ำ เพราะฉะนั้น ถามว่ามันเป็นปัญหาระดับไหน มันคือปัญหาระดับโลกแน่นอน ไม่ใช่ปัญหาระดับพื้นที่แต่อย่างใด

ด้วยความที่มันมีมานานมากแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ยากแล้วที่จะหาวิธีตรวจ หาวิธีป้องกัน รักษา สิ่งที่ยาก คือ การเข้าถึง มันยังไม่ได้รับการแก้ไข จะเห็นว่าในบางประเทศ เช่น แอฟริกา ก็มีคำถามว่า ในเมื่อมีชุดตรวจ มียาป้องกัน หรือยารักษาแล้ว ทำไมประชากรบางประเทศประมาณครึ่งหนึ่ง ยังมีคนติดเชื้อเอชไอวีอยู่ หลักการก็ง่าย ๆ ค่ะ ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงบริษัทผู้ผลิตได้ เพราะขาดทรัพยากรทางสาธารณสุขที่สามารถจะซื้อได้ ประเทศเหล่านี้ไม่กล้าลงทุนกับการจัดสรรระบบสาธารณสุขในการรองรับเอชไอวี ก็ต้องรอให้มีพระเอกขี่ม้าขาวช่วยสนับสนุนเงินทุน ทำให้ปัญหามันยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

พอเกิดโควิด เราก็จะเห็นความเหลื่อมล้ำนี้ชัดเจนมากขึ้น ในประเทศที่ระบบสาธารณสุขพร้อมรองรับเอชไอวีอยู่เดิม ก็จะรองรับโควิดได้ค่อนข้างดี เอชไอวีเองก็ได้รับผลกระทบไม่มากเท่าไหร่นัก คนยังสามารถเข้าถึงการตรวจเอชไอวีในระหว่างที่มีโควิดได้โดยที่ไม่ถูกชะงัก แต่ประเทศในแอฟริกาบางประเทศ ซึ่งระบบเอชไอวีเดิมก็ไม่แข็งแรง พอโควิดเข้ามาเสริมอีก ระบบก็แทบจะล่ม อย่างในอินเดีย จะเห็นปัญหานี้ได้ค่อนข้างชัด สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าอีกประมาณ 6 เดือนข้างหน้า เมื่อคนเริ่มหันกลับมามองเอชไอวีอีกครั้งหนึ่ง จะเห็นชัดเจนเลยว่าปัญหาเอชไอวีกลับมาแย่ลง เพราะการตรวจคัดกรองถูกชะงัก คนที่ติดเชื้อแล้วไม่รู้ตัว ปล่อยไว้นานจนป่วยหรือเสียชีวิต ซึ่งมันไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกแล้วในยุคนี้ หรือคนที่กำลังทานยาต้านไวรัส แต่ระบบเรื่องเอชไอวีของโรงพยาบาลถูกปิดตัวไป ก็อาจจะเกิดการดื้อยา ภูมิตก ติดเชื้อ มีอาการแทรกซ้อน แล้วก็เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นได้ หรือคนที่กินเพร็พอยู่ เมื่อไม่ได้กิน ก็เกิดการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งหมดคือคำตอบของคำถามที่ว่า เอชไอวียังเป็นปัญหาอยู่ไหม คำตอบคือยังเป็นปัญหา โควิดที่เข้ามาเสริม ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของระบบสาธารณสุขในประเทศนั้น ๆ ที่ไม่สามารถรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บได้ เพราะระบบเดิมไม่แข็งแรงพอ 


Q: ระหว่างการมุ่งเน้นที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพทางเพศ กับการแก้ปัญหาผู้ติดเชื้อในภายหลัง IHRI จะให้น้ำหนักการทำงานในด้านใดมากกว่ากัน เพราะอะไร

A: การที่เราบอกว่า เราต้องการให้คนตรวจหาเชื้อให้ได้มากที่สุด เมื่อพบเชื้อแล้วให้ยาต้านไวรัสรักษาในวันเดียวกัน เราไม่ได้เน้นรักษาเพื่อไม่ให้เขาเสียชีวิต เพราะสิ่งนั้นเป็นจุดมุ่งหมายอยู่แล้ว ไม่ได้น่าตื่นเต้นอะไร สิ่งที่น่าตื่นเต้นมากกว่า คือ ไม่ต้องการปล่อยให้เขาถ่ายทอดเชื้อให้คนอื่น เราคิดว่าประเด็นนี้ต่างหากที่สำคัญกว่าหลายเท่า เมื่อเทียบกับการรักษาชีวิตของคนหนึ่งคน การที่รักษาชีวิตของหนึ่งคน ด้วยค่าใช้จ่ายสำหรับคน ๆ นั้น กับการที่เราสามารถป้องกันไม่ให้มีคนอีก 3-5 คน ที่จะติดเชื้อจากคน ๆ นั้น และต้องแบกภาระการรักษาคนอีก 3-5 คน คิดว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม นี่คือในแง่ของการรักษา เป็นการรักษาเพื่อป้องกันนั่นเอง

ถ้าเทียบระดับปัญหาของเอชไอวี ก็คงเท่า ๆ กันกับโควิด มันคือแพนเดมิก ฟาทีค หรือ อาการเหนื่อยล้าจากโรคระบาด แล้วมันก็เป็นแพนเดมิกที่ยาวนาน เป็นปัญหาระดับโลก เพราะความเหลื่อมล้ำของระบบสาธารณสุข

น่าสังเกตว่า คนที่ติดเชื้อเอชไอวีเป็นคนส่วนน้อย เช่น ตรวจ 100 คน พบเป็นบวก 5 คน ส่วนใหญ่เราจะเลือกจัดการกับ 5 คนนั้น ที่เหลืออีก 95 คน ระบบสาธารณสุขของเรามักจะปล่อยเขาไป ทั้ง ๆ ที่คนเหล่านี้อุตส่าห์เข้ามาตรวจ วันนี้ผลเป็นลบ แต่ใครจะรู้ว่าในอีก 1 ปีข้างหน้า 95 คนนี้อาจจะมีอีก 5 คนกลายเป็นบวกเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเสียหายมาก การจัดการกับ 95 คนนั้น จึงต้องเน้นการเสนอแพ็กเกจป้องกันให้เขาเลือกว่า แพ็คเกจไหนเหมาะกับเขามากที่สุด ไม่ได้แปลว่า IHRI โปรโมท “PrEP in the City” จึงต้องแจกเพร็พให้กินทั้ง 95 คน ไม่ใช่อย่างนั้น ในจำนวน 95 คนนั้น จะมีประมาณ 20 คนที่บอกว่า กินยาทุกวันไม่ได้หรอก ต้องลืมแน่นอน เพราะฉะนั้น เพร็พก็ไม่เหมาะกับเขาค่ะ ต้องหาวิธีอื่น เช่น ให้เขาทราบทักษะการใช้ถุงยางอนามัย การทำให้ถุงยางมันดูสนุก ดูน่าภาคภูมิใจที่จะพก เป็นต้น เสริมเข้าไปเพื่อให้ 95 คนนั้น ไม่มีใครติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้นเลย ภารกิจของเราจึงดูใหญ่ หรือเยอะกว่างานที่มุ่งรักษาเพียงอย่างเดียว 


Q: คุณหมอพอจะสรุปได้ไหมว่า IHRI สร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมในแง่ใดบ้าง  

A: คิดว่างานหลัก ๆ ของ IHRI ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ประจักษ์ได้อย่างดีว่า แนวความคิดของการให้บริการ ซึ่งเอาคนที่เราต้องการให้เขามารับบริการ มาเป็นศูนย์กลางนี้ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้จริง และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ทำให้คลินิกเพียงไม่กี่คลินิก ให้บริการคนได้เกินครึ่งของจำนวนคนทั้งหมดในประเทศ คิดว่าสิ่งนี้เป็น impact ที่ชัดเจนที่สุดแล้ว และไม่ได้ชัดเจนเฉพาะในประเทศเราเท่านั้น แต่ถูกขยายไปในระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย ที่สำคัญ เพื่อนบ้านและภูมิภาคอื่นของโลกรับรู้ว่าเป็นโมเดลที่ถือกำเนิดมาจากเมืองไทย แม้แต่อเมริกาก็ยังอยากมาถามเรา เช่น เมืองอย่างซีแอตเทิลสนใจการใช้รูปแบบนี้ในการดำเนินงาน ก็ต้องการมาเรียนรู้กับเรา คิดว่านอกจากเป็นสิ่งที่สังคมได้เห็นแล้ว ที่สำคัญกว่านั้นคือได้รับประโยชน์โดยตรง

_ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมการให้บริการ Sexual Health ซึ่งมาจากกลุ่มประชากรประเภทต่าง ๆ
ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมการให้บริการ Sexual Health ซึ่งมาจากกลุ่มประชากรประเภทต่าง ๆ

สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไปก็คือ เราจะสร้างให้เกิดกองทัพของผู้ให้บริการ Sexual Health ภาคประชาสังคมขึ้นในประเทศไทย จะทำให้เกิดการยอมรับโดยกรมควบคุมโรค และกระทรวงสาธารณสุข ให้การบริการ Sexual Health เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของผู้ให้บริการทางสาธารณสุขที่มีความสำคัญเท่าเทียมกันกับภาวะสุขภาพทั่วไป คิดว่าสิ่งนี้เป็น impact ที่ใหญ่ และจะทำให้เกิดความยั่งยืนในแบบของมันได้ หากเราได้รับการยอมรับในระดับนโยบายได้มากเท่าไหร่ หมายความว่างบประมาณในการก่อร่างสร้างตัวระบบให้แพร่หลาย ก็จะเข้าใกล้ความจริงมากขึ้นเท่านั้น


Q: IHRI ทำงานกับหน่วยงานใดบ้าง ทั้งในไทยและต่างประเทศ 

A: การจะทำให้เกิดในสิ่งที่เราคุยกันมาได้ เราต้องทำงานกับทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ จนถึงระดับประเทศและระดับนานาชาติ ระดับพื้นที่ เช่น ทำงานกับองค์กรภาคประชาสังคมในพัฒน์พงษ์ เพื่อสร้างคนของเขาให้สามารถให้บริการ Sexual Health ได้ และต้องทำงานกับหน่วยงานภาคสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ถ้าเป็นพัฒน์พงษ์ เรามีองค์กรชื่อ “สวิง (SWING)” ที่ให้บริการกับพนักงานบริการอยู่ เราเข้าไปพัฒนาศักยภาพ ให้เขาสามารถให้บริการ Sexual Health ในคลินิกที่ตั้งอยู่ในพัฒน์พงษ์ได้ ถามว่าเมื่อถึงขั้นตอนนี้แล้วจบไหม ยังไม่จบค่ะ เพราะเราต้องหารือกับทางกรุงเทพมหานคร  สำนักอนามัย กรมควบคุมโรค สปสช. ต่อ เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นั้นถูกมองเห็น ถูกยอมรับ ให้มีงบประมาณของภาครัฐเข้ามาหล่อเลี้ยงองค์กรชุมชนที่เขาทำงาน ให้สามารถทำงานเช่นนี้ต่อไปได้

กลุ่มนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ หรือโรงเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็เป็นกลุ่มที่เราต้องทำงานด้วยเช่นเดียวกัน เพราะต้องนำข้อมูลที่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ ได้จากการทำงานจริงในพื้นที่ เข้าไปเสนอเพื่อให้เกิดการยอมรับในระดับของการผลิต guideline (แนวปฏิบัติ) แบบนี้สำหรับในประเทศไทย

ในระดับภูมิภาค เราเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานทั้งที่เป็นภาคชุมชน ภาควิชาการ และภาครัฐของประเทศเพื่อนบ้าน เราดีใจที่ได้รับการเรียกหาอยู่เสมอ การถูกเรียกหาเป็นประจำ แปลว่าเราถูกยอมรับ เพราะเรามีประโยชน์กับเขา 

ในระดับโลก จริงๆ แล้วพวกเรานั่งอยู่ในทีมผู้พัฒนา guidelines ของโลก อย่างของ WHO (องค์การอนามัยโลก) และ UNAIDS (โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ) รวมถึง International AIDS Society (สมาคมเอดส์นานาชาติ) ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นภาคีเครือข่ายที่เราทำงานด้วย

IHRI มีภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานในไทยและต่างประเทศ เพื่อผลักดันให้เรื่อง Sexual Health ได้รับการยอมรับในสังคมโลก
IHRI มีภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานในไทยและต่างประเทศ เพื่อผลักดันให้เรื่อง Sexual Health ได้รับการยอมรับในสังคมโลก

Q: เราสามารถเรียก IHRI ว่าเป็นความหวังของผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือเป็นความหวังของสังคมได้ไหม 

A: เราไม่มองว่าเราเป็นความหวังของใคร การที่เราให้ความสำคัญกับผู้ที่ประสบปัญหานั้นจริง ๆ มาเป็นผู้ที่ร่วมออกแบบทุกกิจกรรม ทุกบริการ ทุกหลักสูตรที่เราทำอยู่ และให้คนที่เขาอยู่ในกลุ่มประชากรเหล่านั้นเอง ได้ร่วมส่งมอบทั้งบริการ ทั้งหลักสูตร กับเราอยู่เสมอ เราคงมองว่าเราไม่ได้เป็นความหวังของใคร เพราะถ้าพูดว่าเราเป็นความหวังของใคร นั่นแปลว่าเขาทำอะไรไม่ไหวแล้ว ไม่สามารถทำอะไรได้ เราถึงต้องทำให้เขา แต่นี่ไม่ใช่ กลับมองว่า เราสามารถ empower (เสริมพลัง) ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ หรือผู้ได้รับผลกระทบต่าง ๆ เหล่านี้ ให้เขาได้ทำงาน บางครั้งแม้แต่คำว่า empower ก็แทบไม่อยากใช้เลย เพราะ empower แปลว่าเรามี power มากกว่าเขา แล้วไป empower เขา ซึ่งจริง ๆ เรายินดี และพร้อมที่จะเป็นภาคี เพื่อทำงานด้าน Sexual Health ร่วมกันอย่างเท่าเทียม


Q: คุณหมอมองว่าก้าวต่อไปของ IHRI จะเป็นอย่างไร และภาพในอุดมคติ หรือเป้าหมายใหญ่ที่อยากให้เกิดขึ้นในมุมมองของคุณหมอ เป็นอย่างไร 

A: มองว่าเป้าหมายระยะสั้น คือ รูปแบบการทำงานที่เป็น People Centered Approach ต้องการให้แนวคิดนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างยั่งยืนสำหรับประเด็นของเอชไอวี รวมถึงกลุ่มประชากรที่เราทำงานด้วยทั้งหมด ต้องการให้ IHRI มีบทบาทหลักในการผลักดันเรื่องนี้ในประเทศ ในภูมิภาค และในโลก 

สำหรับระยะยาวกว่านั้น มองว่าเอชไอวีในที่สุดมันต้องจบ และสามารถนำรูปแบบเดียวกันนี้ ไปประยุกต์ใช้กับภาวะทางสุขภาพอื่น ๆ หรือกลุ่มประชากรอื่น ๆ ได้เลย ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ อย่างเช่น เรื่องโควิดขณะนี้ ทุกคนที่ทำงานด้านเอชไอวีมักพูดเสมอว่า รู้สึกว่าโควิดเป็นเหมือนฝันร้ายที่มันกลับมา สมัยที่เอชไอวีเพิ่งเข้ามาใหม่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ทุกคนตระหนก ทุกคนเกิดการตีตรา ทุกคนเห็นระบบของสาธารณสุขที่มันเละเทะ เห็นความเห็นแก่ตัวของหลายประเทศ ความเห็นแก่ตัวของนักการเมือง ทุกอย่างมันเหมือนรีรันภาพซ้ำ ซึ่งเราควรนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากเอชไอวี มาประยุกต์ใช้กับโควิด 

ที่ผ่านมา IHRI ก็ร่วมมือกันกับองค์กรภาคประชาสังคมทั้งหลายที่ทำงานด้านเอชไอวี หรือทำงานร่วมกับกลุ่มประชากรเหล่านี้ จัดตั้งเป็น Community-led COVID-19 Support Workforce หรือ Com COVID-19  ที่จะทำให้เรารู้ว่าต้องอุดช่องว่างของระบบในส่วนไหน เช่น เคสคนรอเตียง หรือเคสที่เสี่ยงแต่ไม่มีที่ตรวจ โดยเอาคนในชุมชนนั้นมาเรียนรู้เรื่องโควิด และเซ็ตระบบในการช่วยเหลือระหว่างที่รอเตียง เราสามารถที่จะช่วยจัดสภาพที่อยู่อาศัยในบ้าน การส่งอาหาร ฯลฯ นี่คือเรียนรู้มาจากเอชไอวีเลย แล้วก็มาจับกับสภาพของโควิด และกับอีกหลาย ๆ โรคในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นวัณโรค การใช้สารเสพติด การใช้สารเสพติดพร้อมกับการมีเซ็กส์ หรือแม้แต่ภาวะ Mental Health (สุขภาพจิต) ทุก ๆ อย่างสามารถใช้กระบวนการเดียวกันนี้ได้ แค่เรายังไม่เคยเอาคนที่เขาถูกปัญหารุมเร้าขึ้นมาเป็นคนที่เขาจัดรูปแบบบริการ และร่วมให้บริการของเราเท่านั้นเอง ดังนั้น หัวใจของ IHRI ที่มองในระยะยาว คือเห็นว่า IHRI ยังคงทำงานโดยใช้ concept เดิมนี้ แต่เป็น concept ที่สามารถช่วยบริบทปัญหาอื่น ๆ ของสังคมได้เพิ่มขึ้น 


Q: อะไรคือความสุขของคุณหมอที่ได้ทำงานนี้

A: ถามว่าอะไรคือความสุข คำตอบอย่างแรกที่แว้บมาในหัวเลยก็คือ การเห็นคนที่เรามองว่าเขาเคยเป็นเหยื่อ เป็นผู้ได้รับผลกระทบ เป็นคนไข้ของเรา เป็นใครสักคนที่ถูกละเลยในสังคม ได้กลายมาเป็นคนที่พูดเพื่อตัวเขาเอง หรือเพื่อกลุ่มประชากรของเขาเอง แล้วพูดได้ดีมากกว่าการที่เราพยายามจะไปพูดเพื่อเขา อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก อย่างเช่น เรามี Sex Worker คนหนึ่งในพัฒน์พงษ์ ซึ่งเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เขายังต้องทำงานในบาร์ ไม่มีองค์ความรู้อะไรใด ๆ ในการป้องกันตัวเอง มีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ เพื่อหาเงินเลี้ยงตัวเอง ส่งกลับบ้านได้บ้าง จนวันนี้เขากลายเป็นคนที่สามารถเข้าไปนั่งอยู่ในทุกการประชุมของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะวางนโยบายด้านเอชไอวีของประเทศไทย สามารถที่จะออกไปพูดในระดับนานาชาติได้ว่า เมืองไทยเป็นผู้นำเรื่อง People Centered Approch ของ Sexual Health นะ สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ ในที่อื่น ๆ นำผลที่ได้นี้ไปขยายต่อได้ คิดว่านี่คือสิ่งที่เป็นความสุขที่ได้ทำงานทุกวัน มันไม่ใช่ความสุขที่เกิดขึ้นได้ง่ายและเกิดขึ้นทุกวัน แต่เนื่องจากเราเคยประสบกับมันมาแล้ว จึงรู้ดีว่าต่อให้วันนี้จะยากขนาดไหน จะโดนใครดูถูกมากมายก็ตาม แต่สักวันหนึ่งเราจะไปถึงจุดหมายที่วางไว้ 


Q: อยากให้คุณหมอช่วยให้ข้อมูล หากมีผู้อ่านต้องการเข้าถึง IHRI จะติดต่อได้ที่ช่องทางใดบ้าง

A: หากคิดว่าเป็นผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากกิจกรรมการให้บริการที่ IHRI จัดการอยู่ทั้งหมด ช่องทางที่ง่ายที่สุดที่จะเข้าถึงเราได้ก็คือ ที่คลินิกของเรา “พริบตา แทนเจอรีน สหคลินิก” ตั้งอยู่ที่จามจุรี สแควร์ ชั้น 11 มาดูซิว่าการบริการของเราคืออะไร มีประโยชน์ไหม ลองชวนเพื่อนชวนใครมารับบริการตรงนี้ก็มาได้ อันนั้นคือช่องทางหนึ่ง 

หากคิดว่าเป็นผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากบริการของ IHRI เชิญชวนให้มาใช้บริการ “พริบตา แทนเจอรีน สหคลินิก” ตั้งอยู่ที่อาคารจามจุรี สแควร์ ชั้น 11 แล้วบอกต่อคนรอบข้าง ให้เขาสามารถเข้าถึงบริการนี้ได้
หากคิดว่าเป็นผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากบริการของ IHRI เชิญชวนให้มาใช้บริการ “พริบตา แทนเจอรีน สหคลินิก” ตั้งอยู่ที่อาคารจามจุรี สแควร์ ชั้น 11 แล้วบอกต่อคนรอบข้าง ให้เขาสามารถเข้าถึงบริการนี้ได้

ส่วนช่องทางอื่นสำหรับติดต่อเพื่อทำงานร่วมกัน เพราะคิดว่าคนที่ได้รับสื่อนี้ อาจจะเป็นคนที่ก็ทำธุรกิจเพื่อสังคมอื่น ๆ อยู่แล้ว ถ้ามองเห็นว่ามีส่วนใดที่เราเสริมซึ่งกันและกันได้ ไม่ว่าเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์บริการ ที่สามารถจะเสริมบริการทางด้าน Sexual Health หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพของคนในองค์กรของคุณ เรายินดีมาก หากจะร่วมงานกันเพื่อขยายเครือข่าย สามารถมาหาเราที่ออฟฟิศ ซึ่งอยู่ที่จามจุรี สแควร์ชั้น 11 เช่นเดียวกัน หรือติดต่อ เยี่ยมชมข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ www.ihri.org หรือต้องการชมภาพกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นประจำวันก็มี Facebook ของแทนเจอรีน คลินิก และ Facebook ของพริบตา คลินิกค่ะ


Q: อยากให้คุณหมอสื่อสารแทนผู้ติดเชื้อเอชไอวี ว่าเขาอยากบอกอะไรกับสังคมมากที่สุด 

A: ขอพูดแทนในฐานะที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบการให้บริการนะคะ ด้วยความก้าวหน้าของนวัตกรรมในการตรวจ การรักษา การป้องกันเอชไอวีในขณะนี้ เราอยากให้มองคนเหล่านี้ว่าเป็นแค่คนที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี ไม่ได้แค่อยากใช้คำสวย ๆ แต่มาจากความรู้สึกจริง ๆ 

เราไม่เรียกเขาว่าผู้ป่วยเอชไอวี ไม่เรียกผู้ป่วยเอดส์ ไม่เรียกว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วยซ้ำ เพราะว่าการที่คน ๆ หนึ่งในยุคปัจจุบันนี้มีเชื้อเอชไอวี มันสามารถที่จะรักษาได้ เพียงแต่ว่า เขายังอยู่ร่วมกับเชื้อที่มันซ่อนอยู่ตามจุดต่าง ๆ เท่านั้น แต่ไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อให้ใครได้อีก ถามว่าให้มองแบบนี้เพื่ออะไร ก็เพื่อให้เราตัดเรื่องการเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจจะเลือกปฏิบัติด้วยความหวังดี เช่น เป็นเอชไอวี อย่าทำงานหนัก เราไม่รับคุณเข้ามาทำงานกับเราดีกว่า เพราะงานเราหนัก หรือเป็นเอชไอวีติดเชื้อง่าย อย่ามาเข้าใกล้เราเลยนะ อย่างนี้ เป็นต้น 

ตัวอย่างที่สื่อออกไปล้วนแต่เป็นการตีตราและเลือกปฏิบัติ อันเนื่องมาจาก เรายังมองว่าเขาเป็นผู้ติดเชื้อและป่วย ซึ่งเขามีสิทธิ์ได้รับโอกาสทางสังคม โอกาสการใช้ชีวิตเหมือนกับผู้ไม่ได้อยู่ร่วมกับเอชไอวี เราไม่ได้คิดว่าต้องการเรียกร้องให้เกิดความสงสาร ความสงสารนี้กรุณาอย่ามี แต่เราต้องการความเข้าใจในการที่จะอยู่ร่วมกันได้ เหมือนเป็นคนอีกคนหนึ่งในสังคมเท่านั้นเอง นี่คือสิ่งที่ต้องการฝากไว้แทนผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีทุกคน

เราอยากให้ทุกคนมองเรื่องเอชไอวี ว่าเป็นเพียงภาวะทางสุขภาพหนึ่ง ซึ่งทุกคนมีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้องได้ทั้งนั้น อย่ามองว่าเอชไอวีมันไกลตัว ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนควรจะทำ คือ การตรวจคัดกรองเชื้อเอชไอวีปีละครั้ง คล้าย ๆ กับคัดกรองเบาหวาน ไขมัน เอชไอวีก็เช่นเดียวกัน ถ้าคุณมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 1 ครั้งมาแล้วในชีวิต คุณควรจะคัดกรองเอชไอวีอย่างน้อยปีละครั้ง ถ้าพบว่าติดเชื้อจะได้รีบรักษา ถ้าไม่พบ เราจะได้ป้องกันตัวเองให้เหมาะกับวิธีการใช้ชีวิตของเราอย่างดีที่สุด เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นได้อีก 

เรื่องสุดท้ายที่อยากฝากก็คือว่า มีคนจำนวนไม่น้อยเลย ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการแบบนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะความอาย ความกลัวถูกตีตรา เศรษฐานะ หรือคนที่ไม่ทราบว่ามีบริการลักษณะนี้ ดังนั้น คนที่รู้ สามารถส่งสาร คุยเรื่องนี้กับคนรอบ ๆ ตัวเรา ให้เรื่องนี้มันกระจายออกไปเป็นวงกว้าง แล้วถ้าเรามีเหลือ อยากจะเอื้อเฟื้อให้แก่คนอื่น ก็ช่วยสนับสนุนแคมเปญ “ส่งไม้ต่อ” ได้ คิดว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องการส่งความรู้ ความหวังดี แต่เป็นการส่งบริการตัวเป็น ๆ ให้เขาเลย ให้กับคนที่มีความยากลำบากให้ได้รับประโยชน์ ที่ผ่านมาเราเห็นว่าหลายคนไม่สามารถมาตรวจเอชไอวีได้ พอมีแคมเปญส่งไม้ต่อ ก็ทำให้เขาได้รับโอกาสที่คนอื่นได้ส่งมอบไว้ให้ ทุกคนสามารถมีส่วนช่วยในประเด็น Sexual Health ได้ทั้งหมด ตามความสะดวกของแต่ละคน 

การเห็นคนที่เรามองว่าเขาเคยเป็นเหยื่อ เป็นผู้ได้รับผลกระทบ เป็นคนไข้ของเรา เป็นใครสักคนที่ถูกละเลยในสังคม ได้กลายมาเป็นคนที่พูดเพื่อตัวเขาเอง หรือเพื่อกลุ่มประชากรของเขา สามารถพูดได้ดีมากกว่าการที่เราพยายามจะไปพูดเพื่อเขา


เรียบเรียงโดย เสาวลักษณ์ เอียดปุ่ม สัมภาษณ์โดย ทลปภร ปัญโยรินทร์