ฟางไทย แฟคทอรี่ ธุรกิจที่ทำให้การทำนาเป็นมากกว่าอาชีพ แต่มันคือวิถีชีวิต | SE STORIES ตอนที่ 17

ฟางไทย แฟคทอรี่ เริ่มต้นจาก “คุณนุ๊ก” จารุวรรณ คำเมือง กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท ฟางไทย แฟคทอรี่ จำกัด ร่วมกับคุณณฐพล คำเมือง นำ “ฟางข้าว” ที่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาสร้างมูลค่าเพิ่ม แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งสำหรับผู้บริโภคเอง และโรงงานอุตสาหกรรม สู่การทำธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างงาน สร้างเงิน สร้างคน สร้างโอกาสให้คนในชุมชน รวมถึงสร้างผลลัพธ์ทางสังคมโดยการทำให้คนในชุมชนมีอาชีพเพิ่มมากขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่ได้กลับมามีพื้นที่ในการทำงานและอยู่ร่วมกับครอบครัวอย่างมีความสุข

คุณจารุวรรณ คำเมือง (นุ๊ก) กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟางไทย แฟคทอรี่ จำกัด

คุณจารุวรรณ คำเมือง (นุ๊ก) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟางไทย แฟคทอรี่ จำกัด

จากการต่อยอดอาชีพบรรพบุรุษสู่ธุรกิจเพื่อสังคมแบบคนรุ่นใหม่

สาเหตุที่ชื่อ “ฟางไทย” เพราะครั้งแรกที่เริ่มต้นทำธุรกิจ เราเลือกใช้วัสดุเป็น “ฟางข้าว” หลายคนอาจจะสงสัยว่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นฟางข้าวอ้อยหรือข้าวโพด ทำไมถึงเลือกใช้ฟางข้าว คำตอบ คือ เพราะครอบครัวเป็นเกษตรกรอยู่แล้ว คนในชุมชนทำนาทุกปี เพราะฉะนั้น เราเห็นสิ่งหนึ่งที่เรามองว่าการทำนาของชุมชนไม่ได้เป็นแค่อาชีพ แต่มันเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชน 

เพราะในแต่ละปี ไม่ว่าข้าวจะราคาถูกหรือแพง คนในชุมชนก็เลือกที่จะทำนาเพื่อมีข้าวเก็บไว้ทานเอง ได้ข้าวที่มาจากพื้นที่นาของตนเอง และเราเป็นคนรุ่นใหม่กลับจากกรุงเทพฯ มาอยู่ในชุมชน จึงอยากสร้างอาชีพให้คนในชุมชน ซึ่งตอนแรกไม่รู้ว่าจะทำอะไร มองไปรอบ ๆ เห็นเป็นทุ่งนา เห็นการทำนาของคนในชุมชนที่เป็นมากกว่าอาชีพ จึงได้ข้อสรุปให้ตนเองว่าการที่เราจะมาอยู่ร่วมกับเขาได้ เราต้องกลับมาต่อยอดจากสิ่งที่เขาทำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การใช้วัสดุอย่างฟางข้าวที่มีอยู่แล้ว ก็เหมือนกับคนต่างวัยที่สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยมีฟางข้าวเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงเข้าหากัน คนรุ่นใหม่อย่างเราก็ต่อเติมจากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาต่อยอดอาชีพของบรรพบุรุษให้ก้าวหน้าขึ้น บรรพบุรุษทำนาใช่ไหม เราก็ใช้วัสดุที่บรรพบุรุษทำอยู่แล้วมาสร้างเป็นอาชีพ สร้างเป็น “ผลิตภัณฑ์ใหม่”

ก็เลยตั้งชื่อเป็น “ฟางไทย” เพราะทุกครั้งที่มีผลิตภัณฑ์จากฟางข้าวไปอยู่ที่ไหน ทุกคนก็สามารถรับรู้ได้ว่านี่คือ “ฝีมือที่เริ่มต้นจากคนไทยที่มีอาชีพทำนา”

การที่เราจะมาอยู่ร่วมกับคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ รุ่นลุง ของเราได้ คือ เราต้องกลับมาต่อยอดจากสิ่งที่เขาทำ


“เปลี่ยนวิกฤตโลกให้เป็นโอกาสในการสร้างอาชีพใหม่ในชุมชน เพื่อการพึ่งพาตนอย่างยั่งยืน” สโลแกนของฟางไทย แฟคทอรี่ ซึ่งมันช่วยสร้างงาน สร้างเงิน และสร้างโอกาสให้คนในชุมชน 

สร้างงาน จากแต่ก่อนหลังฤดูทำนาก็ไม่มีอาชีพอื่นเสริม ทำงานรับจ้างทั่วไปก็ไม่มีความแน่นอน มองว่าวัสดุฟางข้าวสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้แล้วสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ คนในชุมชนก็มีงานทำ สังเกตว่าคนต่างจังหวัดมักอพยพไปอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ เราคิดว่าถ้าในชุมชนมีงาน ที่เอื้อต่อพื้นฐานการใช้ชีวิตประจำวันดีพอ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่คนรุ่นใหม่บางคนต้องดิ้นรนออกไปใช้ชีวิตข้างนอก อยู่ท่ามกลางกระแสของความไม่แน่นอนต่าง ๆ อีกมากมาย

บทความฟางไทย แฟคทอรี่1

สร้างเงิน จากแต่ก่อนเราอยู่ในชุมชน และเราอยู่ในครอบครัวชาวนา เขาก็จะคิดว่าทำอย่างไรก็ไม่รวยหรอก ยังไงก็จน เราเป็นลูกหลานชาวนา เราไม่สามารถทำธุรกิจได้หรอก เพราะการทำธุรกิจต้องมีเงินเยอะ ๆ  จากการที่เราเห็นปัญหา ฟางข้าว วัสดุทางการเกษตรที่ไม่มีคุณค่า เราจึงนำมาทำผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างเงิน สร้างคุณค่าให้แก่มัน ทำให้ผู้คนทั่วโลกมองเห็นได้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้น มันสามารถสร้างเงิน สร้างอาชีพ มีรายได้ให้กับคนในชุมชน และสามารถลดปัญหาการกู้หนี้ยืมสิน เพราะรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซึ่งสุดท้ายพอทุกคนมีงาน มีเงิน ทุกคนก็จะเห็นคุณค่าในงาน รวมถึงคุณค่าในตนเองอีกด้วย 

สร้างคน ชาวบ้านไม่เชื่อในศักยภาพของตนเอง มีความเชื่อว่า ทำอะไรเป็นอาชีพอยู่แล้ว ก็ต้องทำสิ่งเดิม เช่น เคยมีอาชีพทำนา ก็ต้องทำนาเป็นอยู่อย่างเดียว ลังเลที่จะลองเปลี่ยนหรือลองทำอะไรใหม่ ๆ เพิ่ม พอเรามีพื้นที่ให้ได้ลองทำ มีผลงานให้เห็น ทุกคนก็เริ่มเปิดใจที่จะลอง อีกทั้งยังมีความมั่นใจในตนเองเพิ่มมากขึ้น มีพื้นที่ที่สามารถพัฒนาทักษะอาชีพ พัฒนาศักยภาพและปรับทัศนคติของผู้คนที่ได้มาร่วมงานให้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เช่น คนอายุช่วง 60 – 70 ปี มักเชื่อว่าตนเองอายุมากแล้ว การศึกษาน้อย เรียนจบเพียงชั้นป.4 คงคิดคงทำอะไรใหม่ ๆ ได้ไม่ดีเท่าเด็กรุ่นใหม่ เราก็ให้กำลังใจลุง ๆ ป้า ๆ ให้ลองเริ่มทำ ถ้าครั้งแรกทำได้ ครั้งต่อไปก็ต้องทำได้ และไม่ใช่เพียงให้กำลังใจแบบเลื่อนลอย แต่ “เราเชื่อมั่นจริง ๆ ว่าเขาทำได้” ซึ่งทัศนคติใหม่ที่ได้มานี้เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าเงิน เพราะมันไม่ง่าย

การเปลี่ยนทัศนคติคนไม่สามารถพูดเพียงครั้งเดียวแล้วจะเปลี่ยนได้ในทันทีทันใด ต้องใช้เวลาในการสั่งสมให้เขาค่อย ๆ ปรับ ให้เขาได้สัมผัสและรู้สึกเอง และอีกอย่างที่เราเปลี่ยนได้และภูมิใจ คือ เปลี่ยนทัศนคติที่คิดว่าเป็นเพียงชาวนาจะทำได้หรือ เพราะเครื่องยืนยันที่ว่า “ทำได้” ได้ถูกพิสูจน์ให้เห็นในรูปแบบของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทั้งในแง่นวัตกรรม และในแง่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน ให้ปรากฏแก่สายตาชาวโลกแล้ว และภูมิใจที่จะสอนลูกหลานได้ว่า “ไม่ว่าเป็นใครมาจากไหน ถ้าตั้งใจทำ ทุกสิ่งเป็นไปได้”

สร้างโอกาส จากแต่ก่อนเคยใช้ชีวิตแบบวิถีเดิม ๆ ไม่มีพื้นที่ทำอะไรใหม่ ๆ แต่พอเรามีพื้นที่เหมือนกับช่วยสร้างโอกาสให้ทั้งคนสูงวัย และคนวัยกลางคนไปด้วย ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ด้วยความที่เราเป็นคนรุ่นใหม่ เรามักจะคิดต่างจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ คิดแบบต่างคนต่างอยู่ แต่พอมีพื้นที่ในการปรับจูนทำให้ช่องว่างระหว่างวัยที่เคยมีลดน้อยลง และกลายเป็นที่ ๆ คนในแต่ละช่วงวัยต่างมาเติมเต็มความรู้ และประสบการณ์ซึ่งกันและกันแทน อีกมุมหนึ่ง โรงงานของเราก็เปิดโอกาสให้ผู้พิการทางสติปัญญา ได้มีพื้นที่ทำงานอย่างเต็มศักยภาพของเขาซึ่งคนปกติอาจจะไม่มีด้วยซ้ำว่า เขาสามารถที่จะทำอะไรซ้ำ ๆ ได้ มีความอดทนมากกว่าคนปกติ จนคนปกติยอมรับ เพราะรู้ดีว่าความอดทนเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการทำงานให้ลุล่วง พื้นที่ ๆ เราได้ให้โอกาสเขาพิสูจน์ตัวเองนี้ น่าจะทำให้เขารู้สึกเหมือนได้เกิดใหม่ เพราะก่อนหน้านี้เขาไม่กล้าที่จะสบตาใคร ไม่กล้าเข้าสังคม รู้สึกแปลกแยก ซึ่งการมีพื้นที่ทำงานร่วมกับคนปกติ ช่วยให้เขามีความมั่นใจ กล้ายิ้มกล้าสบตาคนอื่น ได้เห็นสีหน้าแววตาที่มีความสุข ซึ่งปัจจุบันผู้พิการในองค์กรมีเพียงหนึ่งคน เป็นคนในชุมชนเองที่เรียนด้วยกันมาตั้งแต่สมัยประถม เขาเคยบอกว่า “เขามั่นใจในตัวเรานะ ให้เราทำงานนี้ต่อไป เพราะเชื่อว่าถ้าวันข้างหน้าเราสบายขึ้น เขาเองก็จะสบายเหมือนกัน” เป็นประโยคธรรมดาที่นึกถึงแล้วมีกำลังใจให้ทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ต่อไป 

ไม่ว่าเป็นใครมาจากไหน ถ้าตั้งใจทำ ทุกสิ่งเป็นไปได้


ธุรกิจไม่ได้เติบโตจากความเก่ง แต่เติบโตจากการพัฒนา

สินค้าที่น่าสนใจของฟางไทย แฟคทอรี่ เริ่มต้นธุรกิจจากงานแฮนด์ดิคราฟท์ เป็นงานทำมือในครัวเรือน ในรูปแบบกระดาษที่สามารถนำไปปลูกได้ ซึ่งในวันหนึ่งเรามีโอกาสได้ออกตลาด มีคนเห็นว่าตัววัสดุ “ฟางข้าว” มันสามารถเป็นวัสดุสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมได้เหมือนกัน ซึ่งทำให้ปัจจุบันฟางไทย แฟคทอรี่ มีการผลิตหลัก ๆ อยู่ 2 อย่าง คือ ฟางไทยแฮนด์ดิคราฟท์ เป็นกระดาษเมล็ดพันธุ์ที่สามารถนำไปปลูกได้ ในรูปแบบของกระดาษโน้ตและสมุด ซึ่งในกระดาษมีเมล็ดผักอยู่ในกระดาษด้วย ใช้เสร็จแล้วสามารถนำกระดาษไปปลูกได้ โดยปกติกระดาษที่ใช้เสร็จแล้วเราก็ทิ้งลงถังขยะ แต่กระดาษเมล็ดพันธุ์สามารถทิ้งลงต้นไม้ได้โดยไม่เป็นขยะ หรือถ้าตั้งใจปลูกก็สามารถเอาไปวางไว้บนจาน ชาม แล้วรดน้ำ เมล็ดที่อยู่ในกระดาษมันก็จะงอกขึ้นมาเป็นต้นผักตามที่เราใส่ เช่น ถ้าเราใส่เมล็ดของผักกวางตุ้ง ผักกวางตุ้งก็จะโตขึ้นมาเป็นต้นกล้า อีกสินค้าหลักของฟางไทยคือ การทำอุตสาหกรรมผลิตตัวเยื่อกระดาษจากฟาง ซึ่งเป็นเยื่อบริสุทธิ์ที่ส่งให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ที่เป็นโรงงานขึ้นรูปจานชาม

บทความฟางไทย แฟคทอรี่2 

ไอเดียในการผลิตสินค้า เช่น กระดาษปลูกได้ แน่นอนว่าธุรกิจของไม่ได้มาจากความเก่ง แต่มาจากการคิดต่อในแต่ละครั้งแต่ละที่ที่เราออกไปเจอผู้คน จนธุรกิจเติบโตได้ถึงวันนี้ เราโชคดีมากที่มักมีลูกค้าตั้งโจทย์ให้ได้กลับไปคิดต่อเสมอ เพราะหมายความว่าผลิตภัณฑ์ของเราถูกพัฒนาขึ้นในทุก ๆ ครั้งที่ต้องไปแก้โจทย์นั้น ๆ ด้วย ในช่วงแรกของการเริ่มต้นทำธุรกิจ เราพยามยามไปออกบูธ บางครั้งแทบจะไม่ได้ขายเลย แต่สิ่งที่มีค่า ณ ตอนนั้น คือ Keyword จากลูกค้าที่เข้ามาถาม ด้วยความที่เราเป็นคนที่ชอบทดลองอยู่แล้ว มีศูนย์หนังสือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศูนย์หนังสือ สวทช.) เขามีเมล็ดพันธุ์จากนักวิจัยไปแจกแบบใส่ถุงแจก แต่เรามองว่ามันธรรมดาไป มันสามารถที่จะมาผสมผสานกับงานกระดาษฟางข้าวของเราได้หรือไม่ และมองว่ามันมีความเป็นไปได้ เพราะปกติใช้คลุมดินในการปลูกผักอยู่แล้ว และตัวฟางเองก็มีสารอาหารเป็นปุ๋ยบำรุงดินอยู่แล้ว จึงได้ “กระดาษเมล็ดพันธุ์” ที่สามารถปลูกผักให้โตขึ้นได้จริง ๆ และต่อยอดมาเรื่อย ๆ

ในส่วนของงานทำเยื่อกระดาษ แรงบันดาลใจมาจากการที่เราเจออุตสาหกรรมโมลดิ้ง ที่ทำพวกชานอ้อย ซึ่งมันค่อนข้างจะเต็มตลาด ลูกค้าเลยแนะนำว่าตัวฟางข้าวมีความเป็นไฟเบอร์ เพราะฉะนั้น สามารถที่จะทำได้เหมือนกัน แต่จะต้องผลิตในปริมาณที่เยอะขึ้น เราเห็นโอกาสทางธุรกิจ เห็นแนวโน้มการตลาดที่ดี และกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังแก้ไขปัญหาสังคม ในที่สุดก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้ทำธุรกิจที่มีกำลังการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น จากแต่ก่อนเราผลิตเยื่อได้วันละประมาณ 20 กิโลกรัม ปัจจุบันขยายกำลังการผลิตขึ้นมาเพื่อให้รองรับอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 500 – 1,000 กิโลกรัม

โอกาสที่เรามองเห็นนั้น เป็นเรื่องของนโยบาย คือ คนหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพราะเห็นผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป อีกสิ่งหนึ่ง คือ นโยบายการปรับกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมของหลาย ๆ ประเทศค่อนข้างเข้มข้น เช่น การนำเข้ากระดาษที่เป็นเยื่อไม้ หรือห้ามนำเข้าเศษกระดาษ และการแบนการใช้พลาสติก โฟม ซึ่งนั่นคือโอกาสที่ทำให้สินค้าประเภทฟางที่เราทำอยู่นั้นสามารถเติบโตและไปต่อได้


เริ่มต้นจากการมองเห็นปัญญา และอยากแก้ไขปัญหา

จุดแข็งของฟางไทย แฟคทอรี่ ฟางไทยเราไม่ได้เริ่ม ไม่ได้เติบโตมาจากธุรกิจจ๋า แต่สิ่งที่เราทำให้คนรู้สึกว่าถ้าใช้สินค้า เขาจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือชาวนา มีส่วนร่วมในการลดการเผาขยะ มีส่วนร่วมในการช่วยลดการตัดต้นไม้ เพราะบางคนต้องการใช้สินค้าที่ช่วยโลก อยากช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้เป็นคนเริ่มต้นทำเอง เพราะฉะนั้น การที่ใช้สินค้าของฟางไทย แฟคทอรี่ ก็เหมือนกับการได้เข้ามามีส่วนร่วม และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม จุดเด่นอีกอย่างของเราคือ ฟางข้าว เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ก่อนหน้านี้กำจัดโดยการเผาทิ้งเฉย ๆ แต่พอนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ก็จะแปลกตาออกไป เช่น เอาฟางข้าวมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์ ทำกระดาษที่สามารถปลูกได้ เป็นต้น น่าจะทำให้คนรู้สึกตื่นตาตื่นใจว่าฟางข้าวที่เคยเห็นกองเป็นภูเขา ถูกเผาอยู่ในทุ่งนา สามารถกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ขนาดนี้ได้เลยหรือ อาจเป็นเหตุผลให้คนอยากลองใช้และสนใจในตัวผลิตภัณฑ์มากขึ้น

บทความฟางไทย แฟคทอรี่3

ฟางไทย แฟคทอรี่ เราเริ่มจากการมองเห็นปัญหาและเราอยากแก้ปัญหา คือ เริ่มจากการเห็นชาวบ้านเผาฟาง ชาวบ้านว่างงาน อยากเป็นคนจัดการและหาแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จึงได้ฟางมาเป็นวัสดุหลักในการผลิตสินค้าต่าง ๆ ซึ่งความแตกต่าง คือ โรงงานกระดาษทั่วไปใช้สารเคมีในการผลิต แต่ระยะเวลา 8 ปีที่ฟางไทยทำมาตลอด เราไม่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษในกระบวนการการผลิตเลย อีกส่วนที่แตกต่าง คือ โรงงานกระดาษทั่วไปใช้วัตถุดิบเยื่อไม้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตกระดาษ แต่ฟางไทยเราไม่ได้ใช้เยื่อไม้ เราใช้เป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เรียกว่า “กระดาษ Non – Wood” เป็นกระดาษที่ไม่ได้มาจากการตัดต้นไม้ นอกจากนี้ พอเยื่อกระดาษทำจากฟางข้าว ก็สามารถย่อยสลายและเป็นปุ๋ยได้ เพราะฉะนั้น พอใช้งานเสร็จก็ไม่ได้กลับไปเป็นขยะหรือภาระนั่นเอง

ในส่วนรายได้หลักของฟางไทย แฟคทอรี่ มาจากการผลิตเยื่อ เพราะ เยื่อเป็นการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งงานแฮนด์ดิคราฟท์จะเป็นการผลิตตามแต่โอกาสต่าง ๆ โดยสั่งผลิตจากแต่ละองค์กร และไม่ได้ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ปกติจะรับทำตามออเดอร์ วางขายเป็นหน้าร้านที่ Siam Discovery ชั้น 4 โซน Ecotopia หรือที่เห็นผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เป็นการสั่งทำของที่ระลึกเป็นราย ๆ ไป ปัจจุบันเราเน้นเป็นอุตสาหกรรม เน้นผลิตเยื่อกระดาษ งานแฮนด์ดิคราฟท์เป็นงานไลฟ์สไตล์ ผลิตแบบ Made-to-order ซึ่งความสม่ำเสมอของงานค่อนข้างน้อยกว่างานในอุตสาหกรรม


การทำให้เห็นปัญหาจะมีความยั่งยืนมากกว่าการสร้างความเกรงกลัว

ปัญหาฟางข้าวในไทย โดยเฉพาะโซนภาคเหนือ คือ หลังฤดูเก็บเกี่ยวเราจะเห็นผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าห้ามเผาฟาง ห้ามเผาวัสดุทางการเกษตร เพราะเมื่อเผาเสร็จแล้วก็จะเกิดปัญหาหมอกควัน หรือฝุ่น PM2.5 ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาที่เราก็เห็นมานานแล้ว ทางเราก็เลยมองว่าในส่วนของตัวฟางข้าว เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้เพื่อ หนึ่ง ช่วยลดการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร สอง ลดการเผา ช่วยให้มลภาวะทางอากาศลดลง ปัญหาหมอกควันลดลง จากที่เคยพูดคุยกับชาวนา จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้อยากเผา เพียงแต่ไม่รู้วิธีการจัดการเศษฟาง เพราะต้องเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกข้าวในฤดูถัดไป ซึ่งหากเรามีทางออก มีทางเลือกในการใช้ฟางข้าวที่ดีกว่าการเผาทิ้ง สามารถนำมาขายได้ นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้ “พอเขาเห็นคุณค่า เขาจะหยุดเผาอัตโนมัติ” เพราะความตระหนัก ฉะนั้น การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้จะยั่งยืนมากกว่าการไปพูดให้เกิดความกลัวเพื่อให้หยุดทำ

ในแต่ละปี เป้าหมายของฟางไทย แฟคทอรี่ คือ การลดการเผาฟางข้าวให้ได้มากที่สุด ในพื้นที่ของเราเองมีฟางข้าวประมาณ 400,000 ตัน เราอยากใช้ฟางข้าวให้ได้มากที่สุด แต่ติดที่กำลังการผลิตค่อนข้างน้อย ซึ่งเราพยายามเพิ่มการผลิตให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าผลิตเยอะ ก็เท่ากับการเผาลดลง การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และคาร์บอนก็ลดลงไปด้วย อีกเป้าหมายหนึ่ง คือ สร้างผลกระทบทางสังคม อยากสร้างงานในชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีอาชีพมากขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่มีงานทำ กลับมาอยู่ในชุมชน กลับมาอยู่กับครอบครัว อยู่กับพ่อแม่ให้ได้มากที่สุด

เราคิดว่าถ้าในชุมชนมีงานที่เอื้อต่อพื้นฐานการใช้ชีวิตประจำวันดีพอ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่คนรุ่นใหม่บางคนต้องดิ้นรนออกไปใช้ชีวิตข้างนอก อยู่ท่ามกลางกระแสของความไม่แน่นอนต่าง ๆ อีกมากมาย


ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 

ความท้าทายในการดำเนินธุรกิจของฟางไทย แฟคทอรี่ กับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ต้นน้ำ – เกษตรกร ชาวนา เป็นต้นน้ำของเรา ความยาก คือ วิธีการเข้าไปชักจูง หรือ การเข้าถึง ว่าจะมีวิธีการพูดอย่างไร เข้าหาอย่างไรให้เขาหันมาร่วมมือกับเรา เพราะการเปลี่ยนทัศนคติของคนเป็นการเปลี่ยนที่ค่อนข้างยาก เราจึงใช้วิธีเข้าหาทางผู้นำชุมชน ให้ผู้นำชุมชนช่วยประชาสัมพันธ์ ซึ่งสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง เพราะชาวบ้านจะเชื่อมากกว่าการที่เราเข้าไปคุยเอง

กลางน้ำ – ก็คือตัวฟางไทยเอง แรก ๆ ความยากส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเริ่มต้นทำธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนใกล้ตัว หรือ ครอบครัวมากกว่าเรื่องอื่น 

ปลายน้ำ – โรงงานอุตสาหกรรม ความท้าทาย คือ ลูกค้าเป็นกลุ่มโรงงานกระดาษ ซึ่งโรงงานเหล่านี้ใช้เยื่อขั้นต่ำวันละ 60 – 70 ตัน ธุรกิจเราเป็นธุรกิจเกิดใหม่ ไม่ได้มีเงินทุน เพราะฉะนั้น การเติบโตของธุรกิจจึงค่อนข้างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ลูกค้าปลายทางของเรา ต้องการความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบที่จะนำไปใช้ในกระบวนการผลิต สิ่งนี้จึงเป็นความท้าทายที่ว่าเราจะทำอย่างไรที่จะสามารถผลิตได้ตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการได้ ถือเป็นการเพิ่มความท้าทายให้ธุรกิจของเรามากขึ้นไปอีก


อุปสรรค คือ การเรียนรู้ที่จะปรับตัว

สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันค่อนข้างส่งผลกระทบ เพราะที่ผ่านมาลูกค้าของเราเป็นลูกค้าจากต่างประเทศ โควิด-19 ทำให้โรงงานต้องมีมาตรการล็อคดาวน์ที่เข้มข้น ส่งผลให้การขนส่งสินค้าค่อนข้างที่จะมีปัญหา จากที่เคยส่งออกเป็นหลัก เราจึงปรับตัวโดยการมองหาตลาดที่เป็นงานแฮนด์ดิคราฟท์มากขึ้นเพื่อให้อยู่รอดได้ นั่นเอง

เมื่อเขาเห็นคุณค่าของฟาง เขาจะหยุดเผาอัตโนมัติ คิดว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ยั่งยืนมากกว่าการพูดให้เกิดความกลัวเพื่อให้หยุดทำ


การทำธุรกิจต้องเจอปัญหา เพียงเรามองปัญหาให้เป็นโอกาส

บทความ ฟางไทย แฟคทอรี่5

อยากเป็นกำลังใจให้คนที่คิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจ การเริ่มต้นทำธุรกิจให้มองในสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด และหากต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมไม่ต้องคิดอะไรที่ไกล ๆ  ให้เริ่มจากเรื่องที่ใกล้ตัวก่อน ในการทำธุรกิจมันต้องเจอปัญหาอยู่แล้ว แต่ถ้ามองปัญหาให้เป็นโอกาสก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้พัฒนาตนเอง ซึ่งเราเองก็จะมีกำลังใจในการทำต่อไป “เชื่อว่าถ้าเราไม่หยุดทำ ไม่หยุดพัฒนาตนเอง ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล”