สรุปสาระสำคัญจากงาน SE Night ครั้งที่ 22 ในหัวข้อ “เริ่มทำ SE แบบยังไม่ต้องสร้างอะไร ทำได้จริงหรือ?”

สำหรับคนที่กำลังสนใจอยากจะใช้ธุรกิจเพื่อสังคมเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาสังคม และไม่แน่ใจว่าควรจะเริ่มจากตรงไหน วันนี้ทาง Social Enterprise Thailand ได้สรุปสาระสำคัญจากงาน SE Night ครั้งที่ 22 ในหัวข้อ “เริ่มทำ SE แบบยังไม่ต้องสร้างอะไร ทำได้จริงหรือ?” เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 มาแชร์ให้ทุกท่านได้อ่านกัน เราได้รับเกียรติจากวิทยากร 3 ท่าน คือ คุณธุวรักษ์ ปัญญางาม Partnership Director จาก School of Changemakers คุณสายใจ ผ่องศรีเพชร Corporate Strategist จาก Reapra และคุณเมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ CEO, Vulcan Coalition และ Founder, Guidelight มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

ธุรกิจเพื่อสังคม หรือ social enterprise เป็นกิจการที่รวมเอาจุดแข็งขององค์กรธุรกิจและองค์กรภาคสังคมเข้าด้วยกัน คือเป็นกิจการที่ใช้แนวคิดและการบริหารจัดการทางธุรกิจเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาสังคม องค์ประกอบหลัก ๆ ของธุรกิจเพื่อสังคมจึงได้แก่ 1) การแก้ไขปัญหาสังคม และ 2) การดำเนินธุรกิจนั่นเอง


การเริ่มต้นที่ปัญหาสังคม โดยคุณธุวรักษ์ School of Changemakers

1. ปัญหาสังคมคืออะไร

  • ปัญหาสังคมต้องเป็นปัญหาที่กระทบต่อคนจำนวนมาก อาจจะเป็นปัญหาในมิติใดมิติหนึ่ง ได้แก่ 1) มิติสังคมหรือคน เช่น สุขภาพจิต ครอบครัว การค้ามนุษย์ 2) มิติเศรษฐกิจ เช่น รายได้ ปากท้อง หรือ 3) มิติสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะ 
  • ในการกำหนดปัญหาสังคมที่ต้องการแก้ไข อาจจะเริ่มจากการกำหนดปัญหาในมิติใดมิติหนึ่งก่อน แต่ต้องไม่ลืมว่าปัญหาสังคมทุกปัญหามีความซับซ้อน ความซับซ้อนปรากฏทั้งในส่วนต้นเหตุของปัญหา ที่อาจคาบเกี่ยวระหว่างหลายมิติ เช่น ปัญหาปากท้องทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา และมีความซับซ้อนในผลที่เกิดจากการแก้ไขปัญหาด้วย เพราะการแก้ปัญหาหนึ่งอาจกระทบกับอีกปัญหาหนึ่ง จึงต้องมองปัญหาให้ครบทุกมิติ

2.  จะแก้ปัญหาอะไร อย่าเพิ่งปักใจเชื่อว่าสิ่งที่เราเห็นเป็นทั้งหมดของปัญหา เราอาจเห็นเพียงแค่เสี้ยวเดียว เมื่อไหร่ก็ตามที่เราคิดว่าปัญหานี้ก็ง่ายเท่านี้เอง ให้เราเอะใจว่าเรายังไม่ได้เห็นทั้งหมดของปัญหา เพราะถ้าง่ายเท่านี้เอง ก็น่าจะมีคนแก้ปัญหานี้สำเร็จไปแล้ว สิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหาอาจจะนำมาใช้เป็นสมมติฐานในการค้นหาภาพทั้งหมดของปัญหาได้

3. เพราะฉะนั้น problem insight หรือข้อมูลเชิงลึกของปัญหาจึงมีความสำคัญอย่างมาก การหา problem insight หากพูดให้เข้าใจง่ายคือการเห็นปัญหาในมุมที่แตกต่างออกไป 

4. ผลของการหา problem insight นอกจากจะทำให้เข้าใจปัญหามากขึ้นแล้ว ยังเป็นเครื่องมือของทีมงานในมองปัญหาให้ตรงกัน และทำให้เห็นภาพของความเปลี่ยนแปลงสุดท้ายที่อยากให้เกิดขึ้นอีกด้วย เช่น ปัญหาคุณภาพชีวิต มีความแตกต่างหลากหลายระหว่างแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ในชุมชนชนบท การเข้าถึงแหล่งน้ำหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดี บางกลุ่มการมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น xxx บาททำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี การหาข้อมูลเชิงลึกจึงทำให้ทีมงานมีข้อสรุปเดียวกันว่าปัญหาที่ต้องการแก้ไขคือ การขาดแคลนน้ำ หรือรายได้ที่ไม่เพียงพอกันแน่ และเมื่อรู้ว่าปัญหาที่ต้องการแก้ไขคืออะไร ก็ทำให้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการให้เกิดขึ้นด้วย เช่น มีบ่อน้ำ มีรายได้ xxx บาท ซึ่งจะทำให้การคิดหาวิธีแก้ไขปัญหานั้น ๆ มีผลลัพธ์ปลายทางที่ทีมงานเห็นตรงกัน

5. จะรู้ได้อย่างไรว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาเพียงพอแล้ว ปัญหาแต่ละปัญหามีความลึก ไล่จากชั้นบนสุดที่เราสามารถมองเห็นได้ คือ สถานการณ์ปัญหา รูปแบบปัญหา และสิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งที่มองไม่เห็น คือ โครงสร้าง/กฎหมาย และความเชื่อ/ค่านิยม หากเราสามารถเห็นปัญหาทั้งภูเขาน้ำแข็งส่วนที่โผล่พ้นน้ำ และที่อยู่ใต้น้ำ ก็ถือว่าเราน่าจะเห็นภาพรวมของปัญหาระดับหนึ่ง ที่สำคัญเมื่อเราเห็นปัญหาเป็นชั้น ๆ ตามระดับความลึกของปัญหาแล้ว เราจะเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งเราจะเข้าไปสอบถามเพื่อหาข้อมูลได้

6. การหาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาต้องมีทั้งการเก็บข้อมูลทุติยภูมิ และข้อมูลปฐมภูมิ เมื่อศึกษาข้อมูลทุติยภูมิและรู้ว่าใครที่เราจะต้องเข้าไปหาข้อมูลปฐมภูมิด้วยแล้ว ต้องไม่ละเลยที่จะหาข้อมูลเชิงคุณภาพจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมินั้น ๆ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจปัญหามากขึ้น อย่าให้ความสำคัญเฉพาะกับข้อมูลเชิงปริมาณที่ได้จากการสำรวจเพียงอย่างเดียว

7. เมื่อจะเข้าไปเก็บข้อมูลปฐมภูมิ ควรลิสต์สิ่งที่อยากรู้ แล้วค่อยเตรียมคำถาม เพื่อให้มั่นใจว่าคำถามนั้นจะทำให้ได้คำตอบในสิ่งที่เราอยากรู้จริง ๆ  ต้องระวังการถามเพื่อชี้นำให้ได้คำตอบที่สอดคล้องกับทางแก้ปัญหาที่เราเตรียมไว้อยู่แล้ว หรือการได้คำตอบที่เราอยากฟัง แต่ไม่ใช่คำตอบเกี่ยวกับปัญหาหรือทางแก้ไขที่แท้จริง ในคำถามที่อ่อนไหวจะต้องพัฒนาทักษะการถามที่ทำให้คนตอบอยากตอบ

8. เมื่อเก็บข้อมูลแล้ว นำมาวิเคราะห์และหาทางแก้ปัญหานั้นแล้ว ต้องมีการนำทางแก้ปัญหานั้นไปทดสอบกับกลุ่มเป้าหมาย และนำกลับมาปรับปรุงทางแก้ การเข้าไปเก็บ problem insight จึงไม่ใช่กระบวนการที่ทำครั้งเดียวจบ 


การเริ่มต้นธุรกิจตามแบบฉบับของ Reapra โดยคุณสายใจ

1. Reapra เป็น venture builder และนักลงทุนในกิจการที่อยู่ในขั้น idea และ seed stage (ช่วงเริ่มต้นค้นหาธุรกิจ และช่วงที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เพิ่งเข้าสู่ตลาด) จึงให้ความสำคัญกับตัวผู้ก่อตั้งกิจการอย่างมาก

2. ผู้ประกอบการที่ทาง Reapra สนับสนุนมีคุณลักษณะสำคัญ ได้แก่

  • เข้าใจตนเอง รู้ว่ามีภารกิจอะไรในระยะยาว (mission)
  • มีทัศนคติในการสร้างกำไร (profit-driven mindset) ซึ่งในที่นี้หมายถึงการหารายได้จากการขายสินค้าและบริการ เพื่อให้มีกำไรมาหล่อเลี้ยงกิจการได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่การหาทุน หรือการลงทุนในช่วงแรกจำนวนมาก ๆ เพื่อให้ได้ฐานลูกค้า
  • พัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ 
  • มีความสามารถในการปรับเปลี่ยน โดยไม่ยึดติดกับสินค้าหรือบริการ หรือทางแก้ไขปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อให้กิจการบรรลุภารกิจ (mission) ได้

3. ธุรกิจในช่วงเริ่มต้นจะต้องตอบคำถามให้ได้ ว่าปัญหาทางธุรกิจนั้นเป็นปัญหาจริงไหม (ในที่นี้หมายถึงปัญหาของลูกค้า ซึ่งไม่จำเป็นต้องหมายถึงปัญหาสังคมที่ธุรกิจเพื่อสังคมต้องการแก้ไข) ปัญหานั้นใหญ่ขนาดไหน เพราะจะเป็นตัวบอกว่ามีศักยภาพในอนาคตเพียงใด และปัญหานั้นมีความต้องการในตลาดจริงไหม

4. การทำธุรกิจในช่วงแรกต้องมีการปรับเปลี่ยนเยอะมาก ซึ่งสอดคล้องกับจุดแข็งของการเริ่มธุรกิจในช่วงตั้งต้นที่มีขนาดเล็ก ปรับเปลี่ยนง่าย ผู้ประกอบการควรใช้ประโยชน์ของการมีขนาดเล็กนี้ให้เต็มที่ ยึดภารกิจหรือปัญหาที่ต้องการแก้ไข ไม่ใช่ยึดติดกับผลิตภัณฑ์ หรือ business model ที่ร่างมาในตอนต้น ต้องลองถูกลองผิดตลอด รื้อ business model ของตัวเองไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอตัวที่ใช่ได้ business model ที่ดีไม่ใช่ตัวที่ร่างออกมาอย่างสวยหรู แต่เป็นตัวที่ได้ทดลองในตลาดจริง แล้วได้ผลว่าลูกค้ายอมจ่าย

5. ในระหว่างที่หาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตลาด ต้องใช้เงินทุนให้น้อยที่สุด ไม่ควรลงทุนกับสิ่งที่ใหญ่เกินไป และยังไม่รู้ว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่


ตัวอย่างการแก้ไขปัญหาสังคมผ่านธุรกิจเพื่อสังคม Guidelight และ Vulcan Coalition โดยคุณเมธาวี (จูน)

  1. ปัญหาสังคมที่อยู่ในความสนใจของคุณจูน คือคุณภาพชีวิตของคนพิการ โดยเริ่มจากการต้องการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงตลาดแรงงานของคนพิการ 
  2. เมื่อคุณจูนเข้าไปศึกษาปัญหาในเชิงลึก กลับพบว่ามีคนพิการที่จบมหาวิทยาลัยไม่มาก ปัญหาหลักของนักศึกษาที่เป็นคนพิการในมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่การหางานเมื่อเรียนจบ แต่เป็นอุปสรรคที่ทำให้เรียนมหาวิทยาลัยไม่จบด้วย คุณจูนจึงกำหนดขอบเขตของปัญหาใหม่ เป็นการแก้ปัญหาคนพิการเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย โดยริเริ่มกิจการเพื่อสังคมชื่อ Guidelight
  3. Guidelight ส่งเสริมการเรียนของคนพิการในระดับมหาวิทยาลัยด้วยการทำให้คนพิการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอน และต่อมาได้จ้างงานนักศึกษาคนพิการในการรวบรวมสื่อการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษาพิการรุ่นต่อ ๆ ไปได้เข้าถึงสื่อเหล่านี้ ในขณะเดียวกันนักศึกษาพิการที่เป็นผู้รวบรวมสื่อเองก็มีผลการเรียนดีขึ้นเนื่องจากต้องทำความเข้าใจเนื้อหาวิชาที่ตนรวบรวมสื่อการเรียนการสอนนั้น
  4. เมื่อนักศึกษากลุ่มแรก 30 กว่าคนที่ Guidelight ช่วยเหลือ จบการศึกษาแล้ว Guidelight จึงเริ่มมองหาแนวทางในการช่วยเหลือเรื่องการจ้างงาน ในการทำงานช่วงแรกคุณจูนใช้เงินจากงานประจำมาทำงาน Guidelight
  5. จุดเปลี่ยนสำคัญของการแก้ไขปัญหาเรื่องการจ้างงานคนพิการในกรณีของคุณจูน เกิดจากการพบกับพาร์ทเนอร์ (คุณรัน) ในงานสัมมนางานหนึ่ง คุณรันมีปัญหาในงานด้าน AI ที่ขาดแรงงานในการ train AI คุณจูนจึงขอทดลองนำงานดังกล่าวมาให้กลุ่มคนพิการทำ พบว่าคนพิการสามารถทำงานลักษณะนี้ได้ดี เช่น คนตาบอดสามารถฟังคลิปเสียงได้เร็วกว่าคนปกติสองเท่า คนหูหนวกจะเห็นรายละเอียดในภาพดีกว่าคนทั่วไป การจ้างงานคนพิการเพื่อทำ data labelling ได้ผลดีมากจนคุณจูนและคุณรันตั้งธุรกิจร่วมกันในชื่อ Vulcan Coalition ที่ปัจจุบันสามารถสร้างงานให้คนพิการมากกว่า 200 คน
  6. ปัจจัยความสำเร็จของคุณจูน คือ 
  • การมีพาร์ทเนอร์ที่ถูกฝาถูกตัว คุณจูนใช้เวลาทำ Guidelight กว่าสี่ปี แต่เมื่อเจอคุณรันทำให้ขยายงานเป็นกิจการใหม่ Vulcan Coalition ซึ่งขยายการจ้างงานคนพิการในช่วงแรก 20 กว่ารายเป็น 200 กว่ารายภายในปีกว่า ๆ
  • Vulcan Coalition เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างการแก้ไขปัญหาสังคมด้านการจ้างงานคนพิการ และแก้ปัญหาของตลาดธุรกิจ AI ที่ขาดแรงงาน ธุรกิจนี้จึงสามารถตอบได้ทั้งปัญหาสังคมและปัญหาของลูกค้า
  • การมีแบรนด์ที่ชัดเจน ซึ่งช่วยในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ ทำให้ขอบเขตในการทำงานชัดเจน และไม่หลงทาง

นอกจากเนื้อหาที่วิทยากรนำมาแลกเปลี่ยนกับพวกเราแล้ว ทั้งสามยังได้แนะนำข่องทางการสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมในช่วงตั้งต้นที่มีอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ด้วย

  1. ความรู้ด้านการค้นหาปัญหาสังคม การอบรม Insight Tank โดย School of Changemakers (สำหรับปีนี้ยังไม่ประกาศช่วงเวลาการอบรม สามารถติดตามการประกาศเปิดอบรมได้ที่ https://www.schoolofchangemakers.com/)
  2. เงินทุนสำหรับการทดลองทำผลิตภัณฑ์ในช่วงตั้งต้น คุณจูนได้รับจาก School of Changemakers และ สสส. ส่วนผู้ที่เพิ่งมีไอเดียทางธุรกิจ สามารถนำเสนอและหารือความเป็นไปได้กับ Reapra ได้ที่ https://bit.ly/2T9mvbD 

ดูคลิปงาน SE Night ครั้งที่ 22 ได้ที่ https://www.facebook.com/sethailandorg/videos/2603877613241251