สรุปประเด็นจากงาน SE Night ครั้งที่ 12 หัวข้อ From Local to Global Competition: เตรียมตัวอย่างไรให้ SE ของคุณพร้อมร่วมประกวดบนเวทีโลกกับ WSA 2020

WSA หรือ World Summit Awards เป็นรายการแข่งขันที่จัดขึ้นเพื่อเฟ้นหาผู้ประกอบการและไอเดียทางธุรกิจที่มีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและสร้างผลกระทบสู่สังคม เพื่อรับโอกาสการประชาสัมพันธ์บนสื่อต่างประเทศ เข้าถึงเครือข่ายระดับโลก อันนำไปสู่หนทางในการพัฒนาธุรกิจต่อไปในอนาคต ซึ่งวันนี้ เราได้รับเกียรติจาก คุณแก๊ป ธนากร พรหมยศ Co-Founder ของบริษัท YoungHappy หนึ่งในธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มีประสบการณ์การเข้าแข่งขันมาหลากหลายเวทีประกวด รวมถึง WSA ในปีที่แล้วด้วย และจะตามต่อมาด้วยคุณชุลี หวังศิริเลิศ จาก RISE IMPACT ที่เป็นผู้ดำเนินงานหลักร่วมกับ SE Thailand สำหรับการประกวด WSA ปี 2020 นี้

K. Gap YoungHappy
คุณแก๊ป – ธนากร พรหมยศ, YoungHappy (ขอบคุณรูปภาพจาก Creative Citizen)

Q : สวัสดีค่ะคุณแก๊ป รบกวนแนะนำตัวและแนะนำ YoungHappy สไตล์คน YoungHappy ได้ไหม

A : (หัวเราะ) สวัสดีครับ ผมแก๊ป ธนากร พรหมยศ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ YoungHappy ครับ

ตัว Younghappy เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่มีเป้าประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ความตั้งใจตั้งแต่แรกเลยเนี่ยคือเราต้องการสนับสนุนให้สังคมผู้สูงอายุมีความแข็งแรงมากขึ้น หลายๆคนก็สงสัยครับว่าทำไมมาสนใจประเด็นนี้ (หัวเราะ) แต่ถ้าสังเกตุกันเนี่ย ปํญหาเกี่ยวกับผู้สูงอายุนั้นเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องเจอมันนะครับ อย่างน้อยๆก็สองครั้ง ครั้งแรกคือตอนญาติผู้ใหญ่เรากลายเป็นผู้สูงอายุ ส่วนอีกครั้งคือตอนที่พวกเราเองเนี่ยแหละกลายเป็นผู้สูงอายุ

ปัญหาผู้สูงอายุมันสูงขึ้นเรื่อยๆทุกปี ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยครับ ซึ่งนั่นทำให้เราพยายามสร้างชุมชนสำหรับผู้สูงอายุขึ้นมาครับ เราแบ่งผู้สูงอายุออกเป็นสามช่วงคือ ช่วง Active, Home bound หรือช่วงติดบ้าน และช่วง Sick หรือช่วงกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงครับ โดยหลักการง่ายๆคือเราจะพยายามขยายเวลาช่วง Active ออกไปให้นานที่สุด ทำให้ช่วงติดบ้านและช่วงติดเตียงมาช้าลง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของเราหลักๆจึงเป็นผู้สูงอายุในเขตชุมชนเมือง ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตค่อนๆข้างมาก และกระทบต่อการเป็นหาสุขภาพกายต่อครับ ง่ายๆคือเราเน้นให้พวกเค้าได้ทำกิจกรรม ได้ทำงานอาสาที่ใช้ความถนัดของพวกเค้า เพื่อให้พวกเค้ารู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองมากขึ้น และการให้ได้ใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อได้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ

ผมมีสมการง่ายๆอยู่สมการนึงครับคือ Active = Happy = Healthy ถ้ามีความสุขก็จะเพิ่มโอกาสการมีสุขภาพกายที่ดี พวกเค้าจะได้อยู่กับลูกหลานนานๆ และลูกหลานเองก็จะมีความสุขตามมาด้วยครับ

เรามีวิธีวัดผลของเราด้วยการใช้ Active Aging Index ซึ่งเราพบว่า ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมกับ YoungHappy จะมีค่า Active Aging Index สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 18% เป็นวิธีวัดผลง่ายๆที่เราใช้เป็นหลักครับ

ส่วนทางด้านรายได้ หลักๆก็จะมาจากสปอนเซอร์เวลาเราจัดกิจกรรม หรือการโฆษณาแฝง และการมี Portal Service ต่างๆในแอพพลิเคชั่นครับ

 

Q : อะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้คุณแก๊ปตัดสินใจเข้าร่วมการประกวดต่างๆ

A : ถ้าแบบตรงๆเลยก็คือ เงินรางวัล (หัวเราะ) และมากกว่านั้นคือเราต้องการไปเรียนรู้ครับ จากคนในวงการที่เก่งๆ

ผมสรุปออกมาสามข้อหลักครับสำหรับการไปแข่งหรือไปประกวดงานต่างๆ ข้อแรกคือเรื่อง เงิน หรือ Grant Support แน่นอนว่าการทำธุรกิจเพื่อสังคมช่วงแรกไม่ใช่เรื่องง่าย การได้รับเงินสนับสนุนมานี่เปรียบดั่งน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต ส่วนข้อสองคือ Network ครับ เป็นสิ่งที่สำคัญอีกอย่างนึงของการทำธุรกิจเพื่อสังคมเลยครับ และข้อสามคือ Knowledge หรือการมีความรู้เพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาตนเอง พัฒนาธุรกิจเรา ซึ่งทุกครั้งที่ประกวดเราก็จะได้เตรียมตัว เตรียมความพร้อม เพิ่มความสามารถเราไปในตัวด้วยครับ

ข้อดีก็ตามนั้นครับ เราจะได้เจอคนที่สนใจในแบบเดียวกับเรา เรามีโอกาสสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่มากขึ้น ซึ่งการทำธุรกิจเพื่อเอากำไรก็ว่ายากแล้ว แต่การทำเพื่อสังคมไปด้วยเนี่ยเหมือนยากขึ้นไปอีกเท่าตัว เหมือนต้องใช้หัวทั้งสองด้านเลยครับ แต่ก็ต้องระวังนะ เพราะข้อเสียมันก็มี มันเหมือนกับการเพิ่มงานเราไปด้วย งานหลักเราก็มีอยู่แล้ว อันนี้เหมือนได้งานมาเพิ่ม จุดนี้เราเองก็ต้องไป Trade off ดูนะว่าคุ้มรึเปล่า อย่าให้มันหนักเกินไป

 

Q : การประกวดในหลายครั้งยังไงก็น่าจะต้องเคยตกรอบ ทำไมถึงยังไม่ยอมแพ้ 

A : อย่างที่บอกไปเลยครับเมื่อกี้ ว่าเรามองสามเรื่อง และทุกครั้งที่ไม่ผ่านเข้ารอบ เราก็จะได้เรียนรู้ เหมือนเราได้ตรวจสอบตัวเองทุกรอบ เอาเข้าจริงทุกวันนี้ตอนเราทำงานเหมือนเราจะเจอแต่งานเร่งด่วน คุยกับคนนั้นคนนี้ จนบางครั้งเราอาจจะลืมมองบางอย่างที่มันสำคัญแต่อาจไม่ใช่งานเร่งด่วนในขณะนั้น อย่างการทบทวน Theory of Change ของธุรกิจที่เราทำมามันเป็นยังไง ยังอยู่ในทิศทางของเราอยู่มั้ย ผลลัพธ์เป็นยังไงบ้าง บางครั้งเราอาจลืมมองไปครับว่าทั้งองค์กรของเราเป็นยังไงบ้าง การประกวดพวกนี้นั้นทำให้เราได้มองมันอีกครั้งครับ

อันนี้ผมเพิ่มเติมนิดหน่อยเพราะผมพึ่งนึกได้ เรื่องภาษาที่หลายๆคนกังวลเนี่ย ผมบอกเลยไม่ต้องกังวลมากครับ เราสื่อสารเรื่อง Impact ของเราให้ชัดเจน เน้นจุดที่สำคัญ เชื่อผมครับว่าทุกคนในงานประกวดพยายามจะทำความเข้าใจเรา แต่เราก็ต้องจินตนาการนะ ว่าถ้าคนอ่านไม่ใช่คนไทย เค้าจะเข้าใจเรารึเปล่า

ผมมีเทคนิคนะ ที่ทำให้ผมส่งงานประกวดได้หลายๆครั้ง ผมเนี่ยเจ้าแห่งการ Copy paste เลย (หัวเราะ) แพ้รอบนี้หรอ ไม่เป็นไร ใช้โครงเดิมปรับแก้นิดหน่อยแล้วลุยต่อ ซึ่งการที่แพ้บ่อยๆ ไม่เข้ารอบบ่อยๆทำให้ผมได้เทคนิคมาสามข้อ คือ ข้อแรก Copy paste งานเก่าไว้ตลอด สะดวกเรา หรือถ้าปรับแก้ก็จะเห็นพัฒนาการของเราด้วย ข้อสองคือ คิดเสมอว่าการเล่าปัญหาของเรา คนฟังคนอ่านไม่ใช่คนไทย และข้อสามคือ การวัด Impact measurement ข้อนี้สำคัญ เล่าไม่ต้องยากมาก แต่เห็นตัวเลขที่แน่ชัด เข้าใจง่าย อาจจะต้องลองจินตนาการเหมือนเราไปขอเงินเพื่อนแล้วเพื่อนถามว่าเอาไปทำอะไรบ้าง รายละเอียดเป็นยังไง เราก็ต้องหาคำตอบไปตอบเพื่อน ลองเอาพวกนี้มาปรับใช้ดูครับ

 

Q : เราต้องเริ่มต้นมานานขนาดไหน มีอะไรบ้างถึงจะรู้สึกว่าตอนนี้เราพร้อมแล้วสำหรับการเข้าประกวด

A : สำคัญเลยอยู่ที่การมี Track record ครับ

ไม่ได้สำคัญว่านานขนาดไหน (นอกจากกติกาของ WSA ที่ว่าต้องดำเนินโครงการมาไม่เกินสองปี โดยต้องพิจารณากติกาของแต่ละการประกวดด้วย) แต่ความต่อเนื่องและการบันทึกเนี่ยแหละสำคัญที่สุด ไม่ใช่แค่เป็น Idea Stage แต่เราต้อง Prove ไอเดียนั้นมาในระดับนึง มันไม่ได้เป็นการแข่งขันแค่ในกระดาษ ถ้าไม่มี Proven case ก็จะยากนิดนึง แต่เอาจริงการแข่งขันก็เป็น Early stage ถ้าเรามีข้อมูลอยู่พอประมาณก็ลองส่งดูได้ อย่างน้อยก็สมัครเข้าไปดูคำถาม เราจะได้รู้ว่าเค้าอยากรู้อะไรบ้าง เผื่อไว้สำหรับครั้งต่อๆไปก็ได้

ฝากทิ้งท้ายไว้นิดนึงครับทุกคน  Award เนี่ยมันก็ดีนะ แต่มันเหมือนหมากฝรั่ง เคี้ยวได้แต่อย่ากลืน (หัวเราะ) อย่าไปยึดติดกับมันมากเกินไป อย่าลืมว่างานของเราสำคัญที่สุด เราต้องโฟกัสกับผลกระทบที่เราอยากทำให้เกิดจากงานของเรา ถ้าทำได้ เดี๋ยวพวกรางวัลเดี๋ยวมันก็ตามมาเอง

สำหรับหลายๆคนที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมแต่ยังไม่เคยเก็บตัวเลข หรือเก็บข้อมูล สามารถเริ่มเก็บได้เลยนะ เราอาจไม่ต้องใช้มาประกวดก็ได้ แต่เอามาคุยกับคนในทีม ทำให้เกิดการฉุกคิด การพูดคุยกันว่าตอนนี้สังคมเรากำลังเป็นยังไงบ้าง การทำงานของเราเกิดผลอะไรบ้าง แค่นั้นก็ดีแล้ว

มาคุยกันต่อกับคุณชุลี หวังศิริเลิศ จาก RISE IMPACT หนึ่งใน National Experts ของ WSA 2020 

WSA 2020

Q : ขอเล่าแบบกระชับ กับ โครงการ WSA ได้ไหม

A : (ยิ้ม) หลักๆเลยคือเราเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้ SE ในระยะเริ่มต้น มีหนทางในการไปต่อ ซึ่งทางเราเน้นเฟ้นหานวัตกรรมที่สร้างผลกระทบในพื้นที่แต่ละประเทศ ซึ่งจากฝั่ง UN เฟ้นหา Digital Solution เพราะเค้าเชื่อว่ามันจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ ซึ่ง WSA เริ่มมาตั้งแต่ปี 2003 เป็นเวทีที่ช่วยให้นวัตกรรมดีๆได้รับ Network ได้รับชื่อเสียง ทาง RISE Impact ที่เห็นด้วยและต้องการสนับสนุนในด้านนี้อยู่แล้วจึงนำ WSA กลับมาทำต่อในไทยในช่วงหลังๆมานี้

สำหรับบริษัทที่อยู่ในระยะเริ่มต้น การมี Connection นั้นสำคัญมาก ซึ่งเราก็นับว่าเป็น Value หลักๆเลยที่เรามอบให้กับผู้เข้าแข่งขันที่มาสมัครทุกคน

ทาง WSA เองนั้นเปิดกว้างกับทั้งแบบองค์กรและแบบบุคคล แค่เน้นการมีนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหา และเสร็จสมบูรณ์ก่อนเข้าร่วมประกวดไม่เกินสองปี ก็คือมีการเข้าตลาดหรือมีการใช้งานจริง ไม่เกินสองปี

เราแยกออกเป็นสองส่วนหลักๆนะ ส่วนแรกคือ Strategic Criteria อันนี้เราจะดูที่ Impact หรือผลกระทบต่อสังคมและชุมชน กับ UN Value – Digital Device

ส่วนที่สองเนี่ยเป็น Technical Criteria แยกออกมาเป็นห้าข้อ คือ Content, Functionality ,Design, Technology และ Innovation ซึ่งรายละเอียดพวกนี้อ่านได้จากตัวเว็บไซต์ได้เลย

 

Q : เคล็ดลับย่อๆสำหรับคนที่สนใจ และอยากฝากอะไรเพิ่มเติม

A : จุดที่สำคัญของงานเลยเนี่ย คือเรื่องของการสื่อสาร โดยเฉพาะการย่อยเนื้อหาเยอะๆ ให้กลายเป็นเนื้อหาที่เข้าใจง่ายในระยะเวลาสั้นๆ เราเน้นแต่เนื้อหาสำคัญๆ มันมีผลมากนะกับผู้คัดเลือกที่ต้องอ่านใบสมัครหลายๆใบ จริงๆบางคนก็ใช้วีดีโอ มันเป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ทำให้เข้าใจง่ายและส่งผลต่อด้านความรู้สึกได้อย่างรวดเร็ว

WSA เราไม่ได้อยากเป็นแค่งานประกวดธรรมดาๆ เราอยากให้ทุกคนที่มาร่วมกับเราได้คุณค่าไม่มากก็น้อย ตั้งแต่เริ่มส่งใบสมัครจนถึงการเตรียมตัวส่งก็เป็นคุณค่าแล้ว อีกทั้งเรายังรวม National Expert ในด้านต่างๆเข้ามา เพื่อขัดเกลาและส่งเสริม พัฒนาชิ้นงานของผู้ร่วมแข่งขัน เปิดโอกาสให้ได้รับการสนับสนุนต่อ ได้รับเครือข่ายต่างๆ ซึ่งเรารวมคนมาจากหลายๆกลุ่ม ได้ทั้งการเรียนรู้และโอกาสในการลงทุนเพิ่มเติมอีกด้วย 


สรุปประเด็น

งานประกวดหรือการแข่งขันต่างๆ ทำให้เราได้รับโอกาสเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งการสนับสนุนทางการเงิน การได้รับเครือข่ายเพิ่มเติม รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของตัวเองมากขึ้น การประกวดทำให้เราได้กลับมาตรวจสอบธุรกิจเพื่อสังคมตัวเอง ได้นำไอเดียตัวเองไปตรวจสอบความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ได้ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนเก่งๆมากมายที่เคยมีประสบการณ์มาไม่มากก็น้อย

หลักสำคัญคือการเก็บบันทึกข้อมูลผลการดำเนินงานของธุรกิจเพื่อสังคม และสามารถนำการวัดผลกระทบทางสังคมมานำเสนอเป็นข้อมูลที่เข้าใจได้ง่าย เข้าใจได้รวดเร็ว และสามารถเล่าเรื่องได้ แต่ต้องคำนึงถึงคนอ่านเราตลอดด้วยว่าถ้าไม่ใช่คนไทยอ่านแล้วเค้าจะเข้าใจหรือไม่

ดังนั้นแล้ว WSA หรือ World Summit Awards จึงเป็นหนึ่งในช่องทางอีกช่องทางสำหรับผู้ประกอบการเพื่อสังคม ที่เฟ้นหาการใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาสังคม มาได้ลองเข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อขัดเกลาและพัฒนาไอเดีย รวมถึงการมองหาเครือข่ายและโอกาสใหม่ๆ ทาง WSA เองก็มีผู้เชี่ยวชาญจากหลายๆสาขาเตรียมต้อนรับและพร้อมจะผลักดันให้กับผู้ร่วมแข่งขันทุกท่าน

ซึ่งในปีนี้เราได้ความร่วมมือจากพันธมิตรที่หลากหลายในฐานะ National Experts และ Community Partners โดย National Experts ประกอบด้วยไปด้วย RISE Impact, สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (SE Thailand) , New Energy Nexus, REAPRA, Thailand Tech Startup Association (TTSA), Volunteer Forward Asia (VFA), Impact Collective และ Aspen Network of Development Entreprenuers (ANDE) โดย National Exports ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการคัดกรองใบสมัคร เพื่อเฟ้นหาตัวแทนจากประเทศไทยไปร่วมประกวดในรอบใหญ่ต่อไป

และในฝั่ง Community Partners ที่ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการ ก็มีหลายองค์กร ทั้ง Techsauce, Urban Studies Lab, Young Southeast Asian Leaders Initiative (YSEALI), ChangeFusion, LearnEducation, CHEEWID, GDG Thailand, PLANETS และ SEED …. บอกได้เลยว่า แค่ใบสมัครของทุกคนผ่านตาองค์กรเหล่านี้ก็นับว่าคุ้มค่ามากๆแล้ว เพราะนั่นหมายถึงโอกาสที่คุณจะได้เป็นที่รู้จักในองค์กรต่างๆดังกล่าว ที่พร้อมจะผลักดันเข้าสู่การสนับสนุนที่แต่ละองค์กรมีพร้อมอยู่แล้ว!

อย่างไรก็ตามอย่าลืมงานหลักที่ต้องการทำเพื่อสังคมของเรา แต่ถ้าการประกวดจะทำให้ไอเดียของเราคมกริบยิ่งขึ้น ครบถ้วนมากขึ้น ดังนั้นอย่ารอช้า สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.sethailand.org/wsa2020 และ https://wsa-global.org อย่านิ่งเฉยกันไปเพราะวันหมดเขตก็ใกล้เข้ามาแล้วนะทุกคน! (สมัครได้ถึง 10 กันยายน 2563)


หากมีคำถามเกี่ยวกับ WSA 2020 สามารถสอบถามทีมงาน SE Thailand ผ่านทางเพจ Facebook และ อย่าลืมติดตาม SE Night ประจำทุกเดือนได้ ผ่านทาง ZOOM และ/หรือ Facebook LIVE  เพื่อให้ไม่พลาดกิจกรรมดีๆ