Sanergy เมื่อเรื่อง “ขี้ๆ” มีค่าดั่งทองคำ

เมื่อพูดถึงสิ่งปฏิกูลจากห้องน้ำ เราทุกคนคงนึกถึงของเสียหนักเบาที่ขับออกจากร่างกายมนุษย์ และกลิ่นที่ไม่โสภาที่ควรถูกเก็บให้มิดชิด สิ่งที่เมื่อกดชักโครกลงเราก็คงไม่ต้องพบเจอกันอีก

แต่ของเสียที่ไม่มีใครต้องการเหล่านี้กลับกลายเป็นวัตถุดิบสำคัญของกิจการเพื่อสังคมที่ “คิดต่าง” ในการเปลี่ยนอุจจาระและปัสสาวะเหล่านี้ให้เป็นรายได้ ควบคู่ไปกับการยกระดับสุขอนามัยของคนในชุมชนแออัดกว่า 53,000 คนในแต่ละวัน ในเมืองหลวงของประเทศเคนยา

sanergy 1

หลายคนอาจไม่ทราบว่ายังมีคนอีก 4.5 พันล้านคนบนโลกใบนี้ที่ไม่มีส้วมใช้และยังขับถ่ายในที่สาธารณะ ซึ่งไม่ได้นำพาแค่ปัญหาความสกปรกและกลิ่นเหม็นเท่านั้น แต่อุจจาระและปัสสาวะเหล่านี้ปนเปื้อนไปสู่แหล่งน้ำที่ต้องใช้บริโภค และทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ ที่มากับสิ่งปฏิกูลไม่ว่าจะเป็น ท้องร่วง อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ และหัด กระจายตัว

แม้เราจะมีการแพทย์ที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน แต่โรคท้องร่วงยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของเด็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบถึงวันละ 4,000 คนในประเทศยากจน โรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการมีส้วมที่ถูกสุขลักษณะเหล่านี้กลายเป็นวาระสำคัญขององค์การอนามัยโลก องค์การสหประชาชาติ รวมไปถึงมูลนิธิของนักธุรกิจชื่อดังอย่าง Bill & Melinda Gates Foundation อีกด้วย

sanergy 2

sanergy 3

อย่างไรก็ตาม ปัญหา “ส้วม” และ “อุจจาระ” นี้ได้กลายเป็นโอกาสทองของกิจการเพื่อสังคมจากสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ Sanergy กิจการที่เกิดจากการรวมตัวกันของนักศึกษาปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ (MBA) ของสถาบัน Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT ที่ได้รับมอบหมายงานในห้องเรียนให้แก้ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นกับคนไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านคน

เพื่อน ๆ ทั้งสามได้แก่ David Auerbach, Lindsay Stradley และ Ani Vallabhaneni ได้เลือกปัญหาห้องน้ำและการจัดการของเสียที่ส่งผลกระทบกับคนจำนวนมากทั่วโลกขึ้นมาเป็นโจทย์ ซึ่งสมาชิกแต่ละคนล้วนมีประสบการณ์ทำงานในประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีนและฟิลิปปินส์

ทั้งสามเลือกเมืองไนโรบี ในเคนยาเป็นตลาด เมืองที่มีสลัมขนาดใหญ่เป็นบ้านของคนกว่า 8 ล้านคนนี้ มีคนที่ไม่ได้ใช้ห้องน้ำถึง 2.5 ล้านคน พวกเขายังใช้ห้องน้ำชุมชนที่ปุปะด้วยแผ่นสังกะสีเก่า ๆ ไม่มีระบบการจัดเก็บที่ดี และมีไม่พอต่อความต้องการ และใช้ “ส้วมบิน” (Flying Toilet) คือ ขับถ่ายใส่ถุงพลาสติกแล้วโยนทิ้งไป หรือปาไปให้ไกลที่สุด ซึ่งทำให้สถานการณ์ขยะภายในชุมชนยิ่งย่ำแย่ และเป็นสาเหตุให้เชื้อโรคแพร่กระจาย

sanergy 5

sanergy 6

Sanergy ต้องการแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องสุขอนามัย การกำจัดสิ่งปฏิกูลที่มีประสิทธิภาพ และการสร้างคุณค่าเพิ่มแก่สิ่งปฏิกูล ที่สำคัญพวกเขาต้องการให้การแก้ไขปัญหาสังคมครั้งนี้สร้างกำไรได้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การกุศล

Sanergy จึงสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่อาศัยนวัตกรรมเข้ามาช่วย พวกเขาให้บริการห้องน้ำสาธารณะภายใต้แบรนด์ Fresh Life ขายเป็นแฟรนไชส์ให้คนในท้องถิ่นเป็นผู้ประกอบการ

ระบบห้องน้ำขนาด 3×5 ฟุตนี้มีราคา 500 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 16,300 บาท) และคืนทุนภายใน 7-9 เดือน ผู้ประกอบการจะเก็บเงินจากคนในชุมชนที่มาใช้ห้องน้ำ ไม่เกิน 3-5 ชิลลิงเคนยาต่อครั้ง (ประมาณ 1-1.50 บาท) โดยห้องน้ำ Fresh Life นี้สะอาดมาก ไร้กลิ่น สีสันสดใส และมีกระดาษชำระ รวมถึงสบู่และน้ำล้างมือให้ครบวงจร

sanergy 7

การทำธุรกิจห้องน้ำนี้สร้างกำไรให้ผู้ประกอบการในชุมชนได้จำนวน 1,000 เหรียญสหรัฐต่อชุดต่อปี โรงเรียนหลายแห่งรวมทั้งห้องเช่าก็เป็นลูกค้าของระบบห้องน้ำ Fresh Life และพบว่ามีนักเรียนสมัครมาเรียนเพิ่มขึ้นหรือคิดราคาห้องเช่าได้เพิ่มขึ้นเพราะมีห้องน้ำสะอาด การให้คนในชุมชนเป็นคนดำเนินกิจการห้องน้ำนี้ถือเป็นหัวใจที่ทำให้กิจการดำเนินต่อไปในระยะยาวได้ เพราะพวกเขาเป็นเจ้าของธุรกิจ ไม่ใช่คนที่รอรับของบริจาค

ในเชิงเทคนิค ห้องน้ำของ Sanergy ไม่ใช้น้ำ ทำให้เหมาะกับพื้นที่ขาดแคลนน้ำ และจัดเก็บสิ่งปฏิกูลเพื่อไปใช้ต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า ระบบจัดเก็บสิ่งปฏิกูลถือเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบ เพราะทำได้สะดวก ไม่มีการปนเปื้อน ซึ่งอุจจาระและปัสสาวะเหล่านี้จะถูกนำไปทำปุ๋ยออร์แกนิกคุณภาพสูงต่อ เพื่อจำหน่ายให้เกษตรกร ส่วนหนึ่งนำไปใช้เป็นพลังงานทางเลือก และเป็นวัตถุดิบโปรตีนสูง นำไปทำเป็นอาหารสัตว์ปลอดเชื้อโรคสร้างรายได้สู่บริษัท Sanergy ได้

นับจากการเป็นโครงการในห้องเรียน MBA เมื่อปี 2011 จนวันนี้ Sanergy ระดมทุนไปได้แล้ว 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 114 ล้านบาท) และคาดว่าจะคุ้มทุนในปลายปี 2017 นี้ บริษัทสร้างห้องน้ำไปแล้วกว่า 1,134 แห่ง รองรับผู้ใช้บริการกว่า 53,000 คนต่อวัน จัดการสิ่งปฏิกูลจากร่างกายคนไปเกือบ 2,500 ตันในปีนี้ และสร้างงานให้คนกว่า 900 คน

sanergy 7

sanergy 8

แม้จะเป็นกิจการเพื่อสังคมที่ได้รับรางวัลระดับโลกยาวเป็นหางว่าว แต่เดวิดก็ยอมรับว่าเส้นทางธุรกิจนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องมีการปรับตลอดเวลา โดยมีหัวใจในการทำงานคือ รับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละฝ่ายเสมอ และสร้าง “คุณค่า” ที่ชัดเจนแก่พวกเขาในแต่ละจุดของธุรกิจ

Sanergy เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจ “คิดต่าง” ที่มองปัญหาที่ใครหลายคนอาจจะร้อง “ยี้” ให้เป็นโอกาส ไม่ใช่แค่เพียงการหยิบยกปัญหาที่ส่งผลกระทบกับคนจำนวนมหาศาลในโลกที่จะช่วยทำให้ธุรกิจเติบโตและนำไปทำซ้ำได้เท่านั้น การแก้ปัญหาสังคมนี้ยังสร้างรายได้และโอกาสอื่นๆ ให้ชุมชน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน


ขอบคุณที่มา: THE STANDARD