รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม SE

นับตั้งแต่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 คำถามยอดฮิตอันดับหนึ่งของนักธุรกิจเพื่อสังคมซึ่งสอบถามมายัง SE Thailand หนีไม่พ้นคำถามว่า “ควรจะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมตาม พ.ร.บ. ดีไหม?” ทีมงานมักจะไม่ตอบว่าดีหรือไม่ แต่ชี้ให้ผู้ถามพิจารณา 2 เรื่อง เรื่องแรก จดทะเบียนแล้วจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง เรื่องที่สอง คุณผ่านเกณฑ์ที่จะจดทะเบียนหรือยัง เมื่อผู้ถามได้คำตอบในสองเรื่องนี้แล้ว จะตัดสินใจได้ว่า ควรนำธุรกิจเพื่อสังคมของตนไปจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมตาม พ.ร.บ. หรือไม่

ทีมงานได้รวบรวมข้อมูลที่ตอบโจทย์ทั้ง 2 เรื่อง มาไว้ในที่เดียวกัน โดยหวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่สนใจเรื่องการจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมในเบื้องต้น และทีมงานจะมีการอัพเดตข้อมูลต่าง ๆ บนหน้านี้อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์หรือมาตรการส่งเสริมใหม่ ๆ ที่ออกมา


Q: จดทะเบียนแล้วจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง

A: สิทธิประโยชน์ที่วิสาหกิจเพื่อสังคมได้รับ แบ่งตามที่มาได้เป็น 2 เรื่องใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. สิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ปัจจุบันมี 3 ประการ


1.1 สิทธิประโยชน์ทางภาษี 

  • สำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคม และผู้สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นไปตาม พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 735) พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคบใช้อย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ทาง SE Thailand สรุปไว้ที่นี่

สำหรับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 735) พ.ศ. 2564 สามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่ 

1.2   การระดมทุนจากประชาชนเป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นมาตรการที่ทางสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ออกมาเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมโดยเฉพาะ สิทธิประโยชน์นี้ทำให้บริษัทจำกัดที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้ว สามารถระดมทุนจากประชาชนเป็นการทั่วไป โดยไม่ต้องเปลี่ยนสถานะเป็น บริษัทมหาชนจำกัด และไม่มีเพดานจำกัดจำนวนผู้ลงทุน รวมถึงยอดของการระดมทุน รวมทั้งในการดำเนินการ ไม่ต้องแจ้งต่อ กลต. แต่ในหนังสือชี้ชวนต้องระบุให้ชัดเจนเกี่ยวกับข้อจำกัดตามกฎหมายของการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เช่น หากจดทะเบียนเป็นประเภทไม่ปันผลกำไร หรือปันผลกำไรได้ไม่เกิน 30% ของกำไรสุทธิ จะต้องแจ้งข้อจำกัดในการปันผลกำไรดังกล่าว สามารถดูประกาศ กลต. ได้ที่นี่ 

1.3   การจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐ เป็นไปตามกฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 ซึ่งทำให้วิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐได้มากขึ้น เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้าง “โดยวิธีเฉพาะเจาะจง” ได้ โดยไม่ถูกจำกัดมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้าง (การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ตามหลักสามารถกระทำได้เมื่อมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างไม่เกิน 5 แสนบาทเท่านั้น) สามารถดูกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2563 และ พ.ศ.2564 ได้ที่นี่

     2.  สิทธิประโยชน์จากทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.)

             2.1 ขึ้น platform Thaitrade.com 

             2.2  Thailand Post Mart

             2.3 ขึ้น platform ชุมชนยิ้มได้ 


Q: คุณผ่านเกณฑ์ที่จะจดทะเบียนหรือยัง

A: คำตอบนี้อยู่ใน มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 โดยผู้ขอจดทะเบียนต้องเป็นนิติบุคคลที่มีการดำเนินงานมาแล้วอย่างน้อย 1 ปีบัญชี และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ดังสรุปในภาพด้านล่าง

วิสาหกิจเพื่อสังคมตามพ.ร.บ.ไทย


Q: เมื่อตัดสินใจว่าจะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้ว จะต้องทำอย่างไร

A: เตรียมแบบคำขอจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม และเอกสารประกอบ ส่งไปยังสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม อาคารมหานครยิบซั่ม ชั้น 12B เลขที่ 539/2 ถนนศรีอยุธยา แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 โดยสามารถดาวน์โหลดแบบคำขอได้จากหัวข้อ “แบบฟอร์มดาวน์โหลด” ที่นี่

หากมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจดทะเบียน สามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายทะเบียน (งานทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคม) อีเมล se_registration@osep.mail.go.th หรือ LINE @osep