เทคนิคการทำ Pitch Deck นำเสนอผลงาน Social Innovation

Pitch for SE

Pitch Deck คืออะไร?

Pitch Deck เป็นเครื่องมือที่เราใช้ในการสื่อสาร หรือสรุปให้ผู้ฟังเข้าใจธุรกิจของเราภายในระยะเวลาอันสั้น และมี Slide ไม่เกิน 13-15 Slides ส่วนมากจะใช้เวลาไม่เกิน 3-7 นาที

Pitch Deck แบบ SE กับแบบ Startup แตกต่างกันอย่างไร?

โดยรวมแล้วรูปแบบมีความคล้าย แต่ ข้อมูลและประเด็นที่ต้องเน้นจะค่อนข้างแตกต่างกัน

คำนิยามของ SE School กล่าวไว้ว่า SE กิจการเพื่อสังคม คือ ธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยสามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจในระดับที่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ด้วยตนเอง ทำให้มีความยั่งยืนในการแก้ไขประเด็นปัญหาเหล่านั้น ในขณะเดียวกันมีการวัดผลการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นจากกิจการและสามารถขยายผลการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ในอนาคต ดังนั้น ใน Pitch Deck แบบ SE จึงจะต้องเน้นในเรื่องประเด็นเหล่านี้

ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจ Startup เป็นธุรกิจที่เน้นการเติบโต ระดมทุนจากนักลงทุนเพื่อสร้างผลกำไร สร้างการเติบโตแบบ 10x ใน Pitch Deck แบบ Startup จะให้ความสำคัญกับธุรกิจและโอกาสในการเติบโตมาก

Pitch Deck แบบ SE ควรมีส่วนประกอบอะไรบ้างและแต่ละส่วนควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

Disrupt Ignite ได้รวบรวมส่วประกอบสำคัญที่ควรมีใน Pitch Deck แบบ SE โดยได้รวบรวมมาจากประสบการณ์ตรงของทีมงาน Disrupt ข้อแนะนำจาก กสศ. จาก SE ชื่อดังในไทย และจากคลังความรู้ของ SE School และ ChangeFusion รวมถึงศึกษาจาก SE pitching งานแข่งขันต่าง ๆ

นอกจากนี้ Disrupt Ignite ยังมีตัวอย่างประกอบมาให้ดูด้วย เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ซึ่งตัวอย่างที่ Disrupt Ignite จะหยิบยกมาให้ดูในบทความนี้มาจาก 5 ทีมในเครือข่ายของ Disrupt Ignite ได้แก่

  1. insKru: แพลตฟอร์มที่เป็นเพื่อนรู้ใจคุณครูไฟแรง ร่วมกันแชร์ไอเดียการสอน พัฒนาทักษะ creativity มีเครื่องมือช่วยงานครู สื่อการสอนสมัยใหม่ กระจายความรู้และสู่ห้องเรียนทั่วประเทศ
  2. Look ‘n Say: แอพลิเคชั่นช่วยฝึกพูด ฝึกฟัง สำหรับเด็กหูหนวกที่ได้รับการผ่าประสาทหูเทียมแล้ว ให้มีโอกาสได้ฝึกฝนอย่างต่อเนื่องจนสามารถสื่อสารได้เหมือนเด็กปกติในที่สุด
  3. Full Circle Filament: มุ่งลดปริมาณขยะ โดยการรีไซเคิล เปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถนำไปใช้งานอย่างอื่นได้ ผลิตภัณฑ์แรกคือ นำขยะมาผลิตเป็นวัสดุเส้นใยสำหรับ 3D printing
  4. โครงการ Fun for ฟัน: โครงการเงินอุดหนุนด้านทันตกรรมแบบยั่งยืน สำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ
  5. โครงการ 10 ASEAN: สื่อเสริมการเรียนการสอนสารคดีอาเซียน 10 ประเทศ

ทีมงาน Disrupt ขอขอบคุณทั้ง 5 ทีมที่ยินดีช่วยแบ่งปัน slide ที่เคยทำ เพื่อเผยแพร่ความรู้

ประเด็นสำคัญที่ควรมีใน Pitch Deck แบบ SE

1. Problem Statement ปัญหาที่เราจะแก้คืออะไร

เป้าหมาย:

ต้องทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า นี่คือปัญหาที่สำคัญ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข จะเป็นส่งผลร้ายต่อสังคม และที่สำคัญ ต้องทำให้เชื่อให้ได้ว่าปัญหานี้มีอยู่จริง ไม่ได้คิดเอาเอง แต่มีข้อมูลรองรับ เช่น สถิติ บทสัมภาษณ์ insight เคส ยิ่งถ้าเคยมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องหรือเคยลงพื้นที่ไปสัมผัสปัญหาโดยตรงยิ่งดี

รูปแบบการนำเสนอ:

  • ตีโจทย์ปัญหาให้ชัดเจน พยายามสรุปเป็น headline ประโยคหัว slide ใน 1-2 ประโยคให้ได้ ที่เหลือที่เป็นรายละเอียดค่อยเล่าเพิ่มเติมตอนพูดได้
  • เทคนิคในการตีโจทย์ปัญหา หากยังไม่แน่ใจ สามารถตั้งต้นจาก outcome หรือเป้าหมายทางสังคมของเราก่อนก็ได้ เช่น ถ้าเป้าหมายทางสังคมของเราคือ ต้องการช่วยให้เด็กด้อยโอกาสได้มีโอกาสเรียนต่อมหาวิทยาลัย กรณีนี้ Problem Statement อาจเป็น “มีเด็กยากจนเพียง 5% เท่านั้นที่มีโอกาสเรียนต่อ อีก 95% ต้องพลาดโอกาสไปเพราะฐานะยากจน ต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน”
  • ใช้สื่ออะไรก็ได้ให้คนเข้าใจและนึกภาพออก สามารถใส่รูป เพื่อให้ผู้ฟังเห็นภาพตามและเข้าใจสภาพความเป็นจริง ถ้ามีตัวเลข ข้อมูล คำพูด quote สถิติ ที่น่าสนใจ ก็นำมาใส่ได้
  • สำคัญมาก คือ ควรฝึกการเล่าเรื่อง storytelling ให้ผู้ฟังมีอารมณ์ร่วม รู้สึกอิน รู้สึกอยากช่วยเหลือ เน้นย้ำความรุนแรงของปัญหา และอาจเล่าประกอบด้วยก็ได้ว่า สิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เราถึงต้องทำเพิ่ม

ตัวอย่าง:

Problem Insight
ตัวอย่างสไลด์ปัญหา จาก insKru ที่อธิบายว่าคุณครูต้องเผชิญปัญหาเรื่องระบบการประเมินผลงานครู การมีคำพูดจริงจากครูมาประกอบยิ่งช่วยให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น

Disrupt’s Tips: 

  • ปัญหาต้องพิสูจน์ได้ว่ามีอยู่จริง ควรอ้างอิงจาก insights ที่มาจากกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือมีข้อมูลรองรับ ไม่ใช่เป็น assumption ที่มาจากการนึกเอาเอง
  • หากคุณกำลังแก้ปัญหาที่ยุ่งยาก ซับซ้อน คุณต้องหาวิธีการในการอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายที่สุด ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะซับซ้อนแค่ไหน มักมีวิธีนำเสนอให้คนทั่วไปเข้าใจได้
  • ลองอ่านตัวอย่างดูเยอะๆ ดู Pitch Deck ของ Startup ต่างประเทศที่แก้ไขปัญหาที่ใกล้เคียงกับเรา ว่าเขาสื่อสารออกมาอย่างไร แล้วนำมาปรับใช้
  • อาจสร้างตัวละครขึ้นมา 1 คน แล้วร้อยเรียงเรื่องราวขึ้นมา ว่าตัวละครนี้ใช้ชีวิตแบบนี้ ในแต่ละวันพบเจอกับปัญหาแบบนี้ ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียกับตัวเขา ลามมาถึงผลกระทบที่ร้ายแรงในสังคม

2. Solution สิ่งที่เราทำคืออะไร แล้วมันสามารถแก้ปัญหาได้อย่างไร

เป้าหมาย:

ต้องทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า Solution นี้สามารถ “ทำได้จริง” “มีความแตกต่างจาก Solution อื่น ๆ ที่มีอยู่” และสามารถ “แก้ปัญหาได้จริง”

รูปแบบการนำเสนอ:

  • อธิบายว่า แนวทางการแก้ปัญหาของเรา ไอเดีย Solution นี้คืออะไร ดำเนินการอย่างไร หรือถ้าเป็น product โชว์ภาพ prototype ก็จะช่วยให้เห็นภาพชัดเจน
  • อธิบายว่าไอเดีย Solution นี้จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร ส่งผลให้ดีขึ้นอย่างไร มีประโยชน์อย่างไรต่อผู้ใช้หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ผลลัพธ์ทางสังคมที่เราคาดหวังจากการทำ Solution นี้คืออะไร
  • อธิบายว่าไอเดีย Solution นี้ดีกว่าแบบอื่น ๆ ที่มีอยู่อย่างไร หากมีข้อมูลที่เป็น feedback จากกลุ่มเป้าหมายด้วยยิ่งดี เช่น เด็กนักเรียนลองใช้แล้วชอบ บอกว่าทำให้เรียนเข้าใจมากขึ้น

ตัวอย่าง:

ตัวอย่างสไลด์โซลูชั่น จาก insKru อธิบายว่าแพลตฟอร์มคืออะไร ใช้ทำอะไร เพื่ออะไร พร้อมโชว์ภาพแพลตฟอร์มให้ดูเพื่อให้นึกภาพออกว่าเป็นอย่างไร

Disrupt’s Tips:

สำหรับทีมงาน Disrupt เราชอบเป็นพิเศษ ถ้าไอเดีย Solution สามารถแสดงให้เราเห็นได้ว่า

  • ไอเดียสอดคล้องกับบริบทของปัญหา เป้าหมายทางสังคม และพฤติกรรมของผู้ใช้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส หาก Solution ที่นำเสนอเป็นแอพมือถือ แต่กลุ่มเป้าหมายไม่มีเงินซื้อ smartphone แบบนี้เราก็จะเกิดข้อสงสัยว่าทำได้จริงหรือ? กรณีนี้มี 2 ทางเลือกคือ 1) ไม่ต้องทำแอพ เปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมกับผู้ใช้ เช่น ของเล่น สื่อการเรียนรู้แบบอื่น 2) ยังอยากทำแอพอยู่ แบบนี้ต้องไปคิดเพิ่มมาด้วยว่า แล้วจะทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายของเราเข้าถึงได้
  • ต้องโชว์ให้เห็นว่าไอเดียนี้สามารถแก้ปัญหาได้ถูกจุด และมีประโยชน์ต่อผู้ใช้ หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น จะทำระบบคุณครูใช้ บางคนยึดถือกับไอเดียมากเกินไป จนมองพลาดไปว่า ระบบที่ทำขึ้นมานี้ช่วยลดงานให้โรงเรียนได้จริงหรือเปล่า หรือเป็นการเพิ่มภาระให้ต้องมาเรียนรู้การใช้งาน ต้องแบ่งเวลาที่ยุ่งอยู่แล้วมาบันทึกข้อมูลเพิ่มในออนไลน์อีกหรือเปล่า
  • ถ้าทีมไหนได้มีการทดสอบไอเดียกับกลุ่มเป้าหมาย แล้วนำ feedback มาการปรับปรุงไอเดียให้ดียิ่งขึ้น แบบนี้เราจะชอบเป็นพิเศษ เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าทีมลงมือทำจริง มี insights จากผู้ใช้จริง และมีความสามารถในการ iterate ปรับเปลี่ยนได้

3. Target Users / Target Market กลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร หรือ ตลาดของเราเป็นกลุ่มไหน

เป้าหมาย:

ต้องทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า เราเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย เข้าใจความต้องการของเขา ระบุได้ว่าเขาเป็นคนกลุ่มไหน มีจำนวนประมาณเท่าไร และเรามีช่องทางในการเข้าถึงเพื่อเข้าไปสร้างคุณค่า ช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้

รูปแบบการนำเสนอ:

  • อธิบายว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายหลักเรา อาจใช้วิธีใส่รูปภาพแล้วเล่าเอา หรือ ยกตัวอย่างคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายแล้วเล่าปู context ให้เข้าใจสภาพชีวิตเขา หรือ ทำ segmentation ใส่ข้อมูลหลัก ๆ เจาะกลุ่มแยกประเภท หรือ จะใช้วิธีทำ persona ก็ได้
  • อธิบายว่าเราจะมีวิธีการในการเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้เหล่านี้ได้อย่างไร เช่น ต้องการเข้าถึงผู้ปกครอง อาจใช้วิธีร่วมมือกับโรงเรียน หรือสมาคมผู้ปกครอง หรือว่า มีเครือข่าย องค์กร หน่วยงาน อะไรบ้างที่สามารถสนับสนุนเราในส่วนนี้ได้
  • ระบุว่าได้ว่าคาดว่าจะมีปริมาณผู้ใช้ หรือ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบประมาณเท่าไร

ตัวอย่าง:

ตัวอย่างสไลด์กลุ่มเป้าหมาย จาก insKru อธิบายว่าคุณครูกลุ่มไหนที่เป็นกลุ่มที่จะมาเข้าร่วมการอบรมของ insKru และระบุจำนวน

Disrupt’s Tips: 

  • ถ้ามีคนเริ่มใช้แล้ว ควรระบุตัวเลขประกอบด้วย เพิ่มความน่าเชื่อถือ ถ้ายังไม่มี สามารถใช้จำนวนคนที่ได้ test prototype ของเราไปก่อนก็ได้
  • อาจแสดงเพิ่มเติมด้วยก็ได้ว่า เราเข้าใจตลาดนี้ ว่าเราได้มีการหาข้อมูลขนาดตลาด เรารู้จัก Solution อื่น ๆ ที่ target กลุ่มเป้าหมายใกล้เคียงกัน

4. Social Impact & Assessment ผลลัพธ์ทางสังคมที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร จะวัดผลอย่างไร

เป้าหมาย:

ต้องทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า จะมี impact เกิดขึ้นจริง ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง และมีแนวทางในการวัดผล

รูปแบบการนำเสนอ:

  • เล่าว่า เป้าหมายทางสังคม ที่เราอยากเห็นจากการทำสิ่งนี้คืออะไร การเปลี่ยนแปลงที่คาดหวังคืออะไร อาจเล่าจากภาพเล็ก Phase 1 เป้าหมายหลักของโครงการที่จะทำก่อน แล้วค่อยเสริมไปทีหลังว่า อนาคตมองว่าจะสามารถขยายผล ต่อยอดสร้าง impact ต่อไปอีกอย่างไร
  • ในส่วน Assessment ระบุ indicators ตัวชี้วัด / output / outcome ของสิ่งที่จะทํา เช่น ทำโครงการอบรมครูในการสร้างเกมส์การเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์แบบ creative ในกรณีนี้ indicator แบบง่าย ๆ อาจเป็นคะแนนทดสอบวิชาวิทยาศาสตร์ของกลุ่มนักเรียนที่ได้เล่นเกมส์นี้เพิ่มสูงขึ้น ส่วน output (วัดเป็นตัวเลขได้) ก็คือ จำนวนครูที่สามารถสร้างเกมส์การเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ได้ จำนวนเกมส์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในโครงการ และ outcome (ผลที่เกิดขึ้นที่อาจเป็นหรือไม่เป็นรูปธรรม) คือ คุณครูมีสื่อการเรียนการสอนมากขึ้น พัฒนาความคิดสร้างสรรค์และทำให้การเรียนสนุกขึ้น เด็ก ๆ สนใจเรียนวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้น

ตัวอย่าง:

ตัวอย่างสไลด์เป้าหมายทางสังคมจาก Look ‘n Say บอกความคาดหวังจากการดำเนินโครงการ และระบุตัวเลขว่าในระยะที่ 1 มีเป้าหมายที่จะเข้าถึง 20 ครอบครัว

Disrupt’s Tips: 

  • ระวังอย่าตั้งเป้าที่ใหญ่จนเกินตัว จากจุดเริ่มต้น ควรเริ่มจากกลุ่มที่เราสามารถทำได้ก่อน ไม่จำเป็นต้องใหญ่มาก เช่น เริ่มจาก 1-2 จังหวัด พอทำแล้ว ไปได้ดี เกิด operating model ที่พิสูจน์แล้วว่าสร้าง impact ได้ ค่อยต่อยอดขยายผลไปจังหวัดอื่น ๆ หรืออย่าง Look ‘n Say ก็มีเป้าที่ใหญ่ในการช่วยผู้พิการหูหนวก แต่ก็ scope ลงมาเป็นเด็กเล็กก่อน แล้วค่อยขยายผลสู่เด็กโต และผู้ใหญ่ในอนาคต
  • ในส่วน Assessment ถ้าเพิ่งเริ่มต้น ยังไม่ต้องกังวลมาก อาจทำเพียงแค่ ระบุ indicators / output / outcome ของสิ่งที่จะทําว่าเราจะเก็บข้อมูลอะไรบ้างที่จะมาวัด before VS after ทีหลังที่จะโชว์ได้ว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้ว ยังไม่ต้องทำซับซ้อนมากก็ได้

(สำหรับคนที่สนใจแบบที่ลึกยิ่งขึ้น มี framework ที่เป็นสากลทั่วโลกที่หน่วยงานเพื่อสังคมที่เติบโตใหญ่แล้วใช้กันเป็นมาตรฐาน เช่น SROI, Social Value ศึกษาได้ที่ ป่าสาละ)

  • ในระยะเริ่มต้น สามารถเสริมความน่าเชื่อถือของ impact ที่คาดว่าจะเกิดได้ด้วย testimonials ของผู้ใช้และผู้ที่เกี่ยวข้อง จากการ test prototype ไปก่อนได้

5. Team สมาชิกทีม และเครือข่าย ทำไมทีมเราถึงเป็นทีมที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้

เป้าหมาย:

ต้องทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า ทีมนี้มี passion ในเรื่องนี้ มีทักษะ มีความเข้าใจ และมีความตั้งใจจริงที่จะทำให้เกิดขึ้น

รูปแบบการนำเสนอ:

  • สมาชิกทีมแต่ละคนมีประสบการณ์อะไรบ้าง แต่ละคนมีจุดเด่นเรื่องอะไร ทำอะไรมาบ้างแล้วที่เกี่ยวกับการศึกษา ใส่คำอธิบายสั้น ๆ หรือใช้ logo องค์กร แล้วพูดอธิบายเพิ่มเติมเอา
  • ทำไมทีมนี้ถึงสนใจเรื่องการศึกษา ทำไมสนใจแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะ passion คืออะไร

ตัวอย่าง:

ตัวอย่างสไลด์ทีมจาก insKru ที่อธิบายตำแหน่งของแต่ละคน ซึ่งมีความหลากหลายและสอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในการทำแพลตฟอร์มลักษณะนี้

Disrupt’s Tips: 

  • ทีมเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในช่วงเริ่มต้น เพราะถึงแม้คนอื่นจะมีไอเดียเหมือนกับเรา แต่ทีมนี่แหละที่จะเปลี่ยนจากไอเดีย ให้กลายเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้และเติบโตได้จริง และการที่คนในทีมมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือได้มาก สิ่งสำคัญคือเราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า “ทำไมทีมเรา จึงเป็นทีมที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้”
  • ถ้าเรามีจุดเด่นอื่น ๆ ที่โดดเด่นและแตกต่าง เช่น ได้รับรางวัล ก็สามารถใส่เพิ่มขึ้นมาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือได้ด้วย

6. Sustainability ศักยภาพในการดํารงอยู่ได้ในระยะยาว

เป้าหมาย:

ต้องทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า องค์กรแบบนี้มีโอกาสอยู่รอดได้ในระยะยาว ในระยะแรกอาจยังไม่มีรายได้ ต้องพึ่งเงินสนับสนุน แต่ในระยะยาวมีช่องทางในการสร้างรายได้มาจุนเจือกิจการแบบไม่ต้องหวังผลกำไรก็ได้ สาเหตุที่ข้อนี้เป็นจุดสำคัญ เป็นเพราะว่า มีหลาย SE ที่ทำ impact ได้เยอะ แต่ไม่สามารถทำเงินได้ ทำให้วันหนึ่งมีเงินไม่เพียงพอแล้วต้องปิดตัวลง impact ที่ทำไปก็ต้องหยุดชะงักลง การจะทำให้ impact อยู่ยืนไปได้ยาว องค์กรควรมีรายได้มาจุนเจือในระดับที่เพียงพอต่อการดำเนินงานต่าง ๆ

รูปแบบการนำเสนอ:

  • แสดงตัวเลขคร่าว ๆ ว่ารายได้ในอนาคตน่าจะเป็นเท่าไร จากช่องทางไหน โมเดลในการทำเงินเป็นอย่างไร ค่าใช้ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นประมาณเท่าไร อาจใส่มาแค่ตัวเลขหลัก แล้วอธิบายเอา หรือจะโชว์ตาราง excel ด้วยก็ได้
  • หากมีแผนระยะยาว ก็สามารถใส่มาด้วยได้ จะได้เห็นภาพว่า ประมาณปีไหน จึงจะเกิดรายได้ แต่หากยังไม่มี ก็ไม่เป็นไร สำหรับ SE ที่เพิ่งเริ่มต้น เราให้น้ำหนักกับเรื่องปัจจุบันมากที่สุดว่าต้องพิสูจน์ Problem-Solution-Fit ให้ได้ เรื่องเงินสามารถร่วมกันคิดภายหลังได้

ตัวอย่าง:

ตัวอย่างสไลด์งบประมาณจาก โครงการ Fun for ฟัน แสดงการคำนวณมาว่า จะต้องใช้ต้นทุนในการดำเนินงานเท่าไรในระยะเวลา 1 ปี โดยแยกค่าใช้จ่ายเป็นหมวดหมู่ย่อย
ตัวอย่างสไลด์โมเดลในการทำเงินจาก insKru
ตัวอย่างสไลด์แผนระยะยาวจากโครงการ Fun for ฟัน

Disrupt’s Tips: 

  • ช่วงเพิ่งเริ่มต้น ยังไม่ต้องซีเรียสกับการทำ Financial Projection ลึกมากนัก เพราะทุกอย่างมาจากสมมติฐาน assumption ซึ่งจะยังไม่รู้จนกว่าจะทำจริง สามารถใส่เป็นตัวเลขคาดการณ์คร่าว ๆ ได้ ว่าน่าจะมีรายได้เท่าไรในแต่ละปี รายได้มาจากช่องทางไหน โชว์ logic ในการคิดว่ามีที่มาที่ไปและสมเหตุสมผล ส่วนค่าใช้จ่าย ให้ประมาณการณ์มาคร่าว ๆ เป็นหมวดหมู่ใหญ่ ๆ ก็ได้ว่าน่าจะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เท่าไร กรรมการแค่จะดูโดยรวมว่าปริมาณค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผลไหม และเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจริง ๆ ไหม

แล้วหน้าสุดท้ายจะใส่อะไรดี?

หลังจากนำเสนอเสร็จ ผู้ฟังส่วนมากจะจดจำได้เพียง 10% ของคอนเทนต์ทั้งหมดเท่านั้น อย่าลืมว่า คณะกรรมการวันหนึ่ง ๆ ต้องอ่าน Pitch Deck เป็นจำนวนมาก ผู้ฟังเองก็ได้ฟังเป็น 10+ ทีมใน 1 วัน

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือ คุณต้องสร้างความน่าสนใจให้กับ Pitch Deck ของคุณในทุก ๆ หน้า และในตอนจบของ Pitch Deck ควรเน้นย้ำอะไรก็ตามที่เราอยากจะให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านจดจำเกี่ยวกับ SE ของเรามากที่สุด อาจเน้นย้ำเรื่องความสำคัญของปัญหานี้ หรือ เล่าเป้าหมายความฝันของทีมก็ได้ การเปลี่ยนแปลงที่ทีมอยากเห็น อยากทำให้เกิด ความตั้งใจของทีม

หรือจะเล่าภาพใหญ่ของ Vision/Mission วิสัยทัศน์ที่กว้างมากขึ้นก็ได้ เช่น หากเราแก้ปัญหานี้ได้ สังคมจะเปลี่ยนอย่างไร และมันจะเป็นรากฐานต่อยอดไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในอนาคต

เคล็ดลับเพิ่มเติมจากทีม Disrupt

บทความนี้เป็นการให้ข้อแนะนำแบบกว้าง ๆ โดยพื้นฐาน ใช้ได้กับ SE ทุกประเภท หัวข้อการนำเสนอจะเรียงตามนี้หรือเรียงยังไงก็ได้ ตามหลัก storytelling ที่เราอยากจะเล่า

ในส่วนของความยาว แต่ละหัวข้อสามารถมีได้ 1-3 สไลด์ มากน้อยตามเรื่องที่ต้องการจะเน้น จำนวนหน้าทั้งหมด (ไม่นับ Appendix) ประมาณ 10-15 Slides จำนวนี้เป็นเพียงข้อแนะนำเฉย ๆ ไม่ได้ fix ขอเพียงแค่ว่าสามารถพูดนำเสนอให้จบภายใน 3-7 นาทีได้โดยไม่ต้องเร่ง ถ้าเกินเวลา อาจต้องตัดบางส่วนไปเป็น Appendix แล้วถ้ากรรมการถามประเด็นนั้น ค่อยเปิดมาให้ดู

และหากในธุรกิจของคุณมีประเด็นอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญอีก ก็สามารถใส่ข้อมูลประกอบเพิ่มมาอีกได้

เคล็ดลับก็คือ ลองจินตนาการดูว่า คนที่ไม่รู้จัก SE ของเรามาก่อน ถ้าได้มาดู Pitch Deck นี้เป็นครั้งแรก จะเข้าใจไหม? จะรู้สึกอินไปกับปัญหาไหม? จะรู้สึกว่าธุรกิจของเราสามารถช่วยเหลือสังคมได้จริงหรือไม่? แล้วเราจะได้ไอเดียว่า ข้อมูลตรงไหนที่ยังติดขัด ตรงไหนควรเพิ่ม

อีกเคล็ดลับหนึ่งคือ ถ้าจินตนาการไม่ออก ให้ลองเอา Pitch Deck ที่ทำเสร็จแล้ว ส่งไปให้คนอื่น เพื่อขอ feedback มาปรับ ถ้าเป็นคนที่เป็น กลุ่มเป้าหมาย stakeholders หรือ คนที่ไม่เคยรู้จัก SE ของเรามาก่อน ยิ่งดี

หลังจากอ่านบทความนี้จบ หากใครเตรียม Pitch Deck ของตัวเองพร้อมแล้ว และอยากก้าวมาทำ Education Innovation นวัตกรรมรูปแบบใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเสมอไป มุ่งช่วยเหลือการศึกษาไทย ลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ก็สามารถสมัครเข้าร่วมงาน Education Disruption Hackathon 2 แข่งขันพัฒนานวัตกรรมเพื่อการศึกษาฝั่ง Social Impact track ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 3 พฤษภาคม 2563 ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://www.disruptignite.com/hackathon


ขอบคุณที่มา: Disrupt Ignite