moreloop ธุรกิจเพื่อสังคมที่มุ่งมั่นสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าเหลือใช้ | SE Stories ตอนที่ 1

moreloop_210401_6

 

หนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบมากที่สุดอย่างหนึ่งคือเรื่องขยะ ซึ่งวิธีการจัดการขยะที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการนำทรัพยากรที่เหลือใช้นำกลับมาใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ หรือการสร้าง “การวน Loop” ให้เกิดขึ้น และนี่เป็นที่มาของ “moreloop” ธุรกิจเพื่อสังคมที่มีเป้าหมายในการ “ Make Circular Economy a Reality ” โดยการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อนำผ้าคงค้างในสต็อก (Dead Stock) ของโรงงานการ์เมนต์ โรงงานรับผลิตเสื้อผ้า มาวนใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเสื้อผ้าใหม่ ช่วยระบายผ้าสต็อกให้กับโรงงานผ้ามาแล้วกว่า 20 ตันในช่วงเวลา 2 ปีนับตั้งแต่ที่ดำเนินธุรกิจมา

การได้พูดคุยกับคุณพล – อมรพล หุวะนันทน์ CEO และ Co-Founder ของบริษัท มอร์ลูป จำกัด อดีตนักวิเคราะห์ด้านการเงินและความเสี่ยงบริษัท ทำให้เรามีความหวังในการแก้ไขปัญหาขยะและช่วยสิ่งแวดล้อมของพวกเราทุกคน

 


Q: หลาย ๆ ท่านอาจจะสงสัยว่า Circular Economy คืออะไร อยากให้ลองช่วยขยายความให้เห็นภาพชัดขึ้น

 A: Circular Economy เป็นเศรษฐกิจที่หมุนเวียนเป็นอีกระบบหนึ่ง ต้องถามว่าตอนนี้เศรษฐกิจเราหมุนเวียนหรือไม่ อย่างไร เป็นเศรษฐกิจแบบไหน ต้องบอกว่าปัจจุบันเป็นเศรษฐกิจแบบเป็นเส้นตรง มันไมได้หมุนเวียนกลับมา ปัจจุบันการหมุนเวียนกลับมาอยู่ทีประมาณแค่ 9 % เท่านั้นเอง หมายความว่าทุกอย่างที่เคยผลิตขึ้นมา 91 % คือการทิ้งหมดเลย เพราะฉะนั้นการที่เราเป็นธุรกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ปัญหาอย่างแรกเลยคือ จะมีการขุดใช้ทรัพยากรอย่างมากและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทรัพยากรจะหมดไป อย่างที่สอง คือการขุดใช้และนำมาเป็นของก็จะเกิด คาร์บอนไดออกไซต์ (CO2) ตลอดเวลา เกิดก๊าซเรือนกระจก ทำให้โลกร้อน มี Emission (การปล่อยมลพิษ) เกิดขึ้นตลอด แม้กระทั่งการที่เราจะบริโภคเนื้อสัตว์ ก็มีผลกระทบเหมือนกัน อย่างที่สามเป็นปัญหาขยะ ทั้ง 3 อย่างรวมกันก็นับว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน สิ่งที่เรียกว่า Linear Economy ซึ่งถามว่ามันจะดีกว่าหรือเปล่าถ้าเราผลิตของออกมาทั้งหมดอยู่แล้ว แต่เรานำสิ่งของที่มันมีอยู่หรือเหลืออยู่นำมาผลิตหรือนำกลับมาใช้ใหม่โดยที่เราไม่ต้องผลิตเพิ่ม เลยวนมาเป็นแนวคิด Circular Economy

 

Q: สิ่งที่ moreloop วนกลับมาใช้ใหม่ หรือทรัพยากรอะไรที่ทาง moreloop มองเห็นและนำมาเป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งองค์กร ไอเดียธุรกิจแรกของธุรกิจเพื่อสังคมนี้คืออะไร

A: เราเริ่มต้นคิดไอเดียธุรกิจด้วยโมเดลที่เรียกว่า Pain กับ Passion คือผมมี Passion กับการที่จะวนของพวกนี้ เห็นว่าเป็นโอกาสที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ อีกด้านหนึ่งคือ Pain ของ Co-Founder คุณแอ๋ม – ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ เป็นทายาทรุ่น 2 ของโรงงานเย็บเสื้อผ้า ซึ่ง Pain ของคุณแอ๋มคือการมีผ้าเหลือใช้อยู่ในโรงงงาน ซึ่งผ้าเหลือแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ผ้าที่เหลือจากการผลิต ซึ่งเป็นเศษผ้าเล็ก ๆ ที่ปักเสร็จเรียบร้อยแล้ว เรียกอีกอย่างว่า “เศษจากการผลิต” ประเภทที่สองคือ ผ้าที่เหลือจากการสั่งผลิต เนื่องจากทุกการสั่งซื้อต้องมีการสั่งผ้ามาเผื่อ เช่นถ้าเราจะผลิตเสื้อ 1,000 ตัว เราต้องสั่งผ้ามาเผื่ออย่างน้อย 3-5 % ซึ่งการเผื่อวัตถุดิบเอาไว้ สุดท้ายผ้าเหลือเยอะ แต่เหลือเป็นผ้าม้วนซึ่งจะเรียกผ้าพวกนี้ว่าเป็น Dead Stock ของโรงงาน ซึ่งเป็นส่วนที่ moreloop นำมาวนใช้เป็นวัตถุดิบแรก และนำข้อมูลจำนวนผ้าแบบนี้มาจากหลาย ๆ โรงงานมาอยู่ในระบบออนไลน์ ก็จะเป็น Pain ของแต่ละโรงงาน ที่มีผ้าเหลือ แทนที่จะเป็นผ้าเหลือให้กับโรงงาน ก็สามารถเป็น Supply ด้านหนึ่งในการที่เราจะรวบรวมของพวกนี้ แล้วรอให้คนอื่นมาใช้ สมัยก่อนผ้า Dead Stock พวกนี้จะติดค้างอยู่ตามโรงงาน โดยที่ไม่ได้มีใครมาเห็น แต่พอมี Platform moreloop ก็จะมีการมองเห็นและการได้ใช้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันผ้าเหลือเหล่านี้ เราสามารถผลิตเสื้อได้ 700 ล้านตัว อันนี้คือการคาดการณ์ของ moreloop และทั่วโลกก็คือมากกว่านั้นเยอะเลย เลยมองว่าตรงนี้เป็นทรัพยากรแรกที่เรานำมาวนใช้ ซึ่งในปัจจุบันเราสามารถระบายผ้าไปได้ประมาน 20 ตัน ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา

 

คุณแอ๋ม – ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ และ คุณพล – อมรพล หุวะนันทน์ แห่งมอร์ลูป
คุณแอ๋ม – ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ และ คุณพล – อมรพล หุวะนันทน์ แห่งมอร์ลูป
Q: สโลแกนที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของ moreloop คืออะไร

A: เราก็มีสโลแกนที่ว่า “ Make Circular Economy a Reality ” คือเราอยากให้มันเป็นจริงขึ้นมาได้ สำหรับความเป็นจริงของทีมเราคือ ต้องสามารถทำได้จริง เป็นธุรกิจได้จริง มีกำไร และขยายได้จริงในอนาคต ซึ่งเราก็เริ่มเห็นสามสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน โดยที่เราหวังว่าถ้าสิ่งนี้สามารถเป็นธุรกิจได้จริง และสามารถขยายได้ในอนาคต จะทำให้คนหันมาสนใจมากขึ้น และทำให้คนอยากจะมาลองทำเรื่อง Circular Economy กันมากขึ้น น่าจะเป็น impact ของ 2 อย่างที่เราอยากให้เกิดขึ้น อย่างแรกคือเราอยากแสดงให้เห็นว่าการระบายผ้ามันทำได้จริง และมันก็เกิดเป็นสินค้าที่ดีได้จริงผ่านความคิดแบบนี้ อันที่สองก็คือในเชิงของ idea พอคนเห็นการทำแบบนี้ได้แล้ว ก็จะไปศึกษาเพิ่มเติม และทีมเชื่อว่าถ้าคนได้รู้จักกับคำนี้ เขาก็จะย้อนกลับไปดูผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  เป็นการเปลี่ยน mindset อะไรบางอย่างให้กับคนที่เข้ามารู้จัก moreloop ด้วย จะทำให้ความยั่งยืนเกิดมากขึ้นในเชิงของผู้บริโภคหรือคนที่อยากจะทำธุรกิจแบบ Circular Economy 

 

Q: ปัจจุบัน moreloop เป็นที่รู้จักพอสมควรหรือยัง และคนที่รู้จักคิดว่ารู้จักเพราะอะไร อาจจะเป็นสินค้าหรือการที่เราใช้ content ใน Social Media หรือเปล่าที่ทำให้คนรู้จัก Moreloop มากขึ้น

A: น่าจะหลายอย่าง ผมว่าในเรื่องความรู้เกี่ยวกับ awareness ปัญหาสิ่งแวดล้อม คนรู้ค่อนข้างเยอะ พอเราทำเรื่องที่มันเป็น solution บางอย่างที่โดนใจ ทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้นในเชิง content โดยการเริ่มคือเริ่มจากสื่อเล็ก ๆ มาเขียนเกี่ยวกับเราในตอนแรก พอเราเริ่มเป็นที่รูจัก กลไกเริ่มเดิน มีสื่อออกไป มีสินค้าออกไป เราเริ่มเป็นที่รู้จัก ลูกค้าใช้แล้วของดี ถูกใจ กลับมาซื้อซ้ำและพูดต่อกันไปเรื่อย ๆ ในเชิงของการทำการตลาด องค์กรของเราเป็นองค์กรเล็ก ๆ แน่นอนเราไม่ได้เริ่มจากการที่เราพยายามออกสื่อหรือพยายามโฆษณา เรามองว่าเราควรที่จะทำสินค้าให้ดีและเรามีความสามารถในการทำสินค้าได้แบบเยอะ ๆ  เพราะว่าโรงงานสามารถผลิตสินค้าได้เป็นแบบจำนวนมาก ( Mass Scale) ทำให้ตอบโจทย์องค์กร เน้นการทำแบบ B2B (Business-to-Business คือ การทำการค้าระหว่างธุรกิจทำกับธุรกิจด้วยกัน) คือทำทีละ 50 ตัวถึงหลายพันตัว พอคนได้สัมผัส และทำเนื้อหาประกอบไปว่าเสื้อของเรา 1 ตัว สามารถลดคาร์บอนไดออกไซต์ได้เท่าไหร่ เน้นวิธีการพูดปากต่อปากแบบเร็วพอสมควร เพราะเราผลิตสินค้าไปรวมกันแล้วน่าจะประมาณ 100,000 ชิ้น อย่างน้อยก็มีคนประมาณ 100,000 คนที่รู้จักเรามากขึ้น

 

 

Q: จะเห็นว่าสิ่งสำคัญที่ตัว moreloop ใช้คือคุณภาพของตัวสินค้าซึ่งจะทำให้เกิดการบอกต่อ เห็นคุณพลพูดถึงการทำธุรกิจแบบ B2B อยากทราบรูปแบบการทำธุรกิจตั้งแต่ก่อตั้งมา ว่าทำแบบใด ช่วยแชร์ไอเดียหรือวิธีการได้ไหม

A: ในเชิงของไอเดียหรือวิธีการ จริง ๆ แล้วเรามี 4 กิจกรรมที่เราจะทำ

  1. สร้าง Database (ฐานข้อมูล) ให้มีทรัพยากรขึ้นมาก่อน เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญแต่ไม่ได้เงินจากตรงนี้ เราต้องไปติดต่อโรงงานผ้าหลายแห่งเพื่อที่จะนำข้อมูลผ้าคงค้างในสต็อกเข้ามาใน Database เราก่อน พอรวมได้เยอะ สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือ
  2. ขายเป็น Material (วัตถุดิบ) คือทำให้คนที่เป็น Designer (นักออกแบบ) สามารถที่จะเข้ามาซื้อวัตถุดิบจากเราไปทำต่อได้ สร้างแบรนด์ เริ่ม Collection ใหม่ จากผ้าที่เรารวบรวมมาได้
  3. ทำแบบ B2B คือองค์กรมารับจ้างเราเพื่อผลิตของเสื้อขององค์กร ต่อยอดผ้าที่เรารวบรวมมา เป็นสินค้าที่ยั่งยืนและตอบโจทย์องค์กร
  4. B2C (Business-to-Customer คือธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการระหว่างเจ้าของธุรกิจ และผู้บริโภครายบุคคล) จริง ๆ แล้วเป็นอีกขาหนึ่ง ตอนแรกเรายังไม่ได้โฟกัสกับวิธีการนี้มาก แต่พอมาช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่แล้ว ทาง B2B ลดลงไปค่อนข้างเยอะ ไม่มีการออก Event เราเลยเน้นทำ B2C เยอะมากขึ้น แล้วตอนนี้มีสินค้า Original ของ Moreloop คือ เสื้อยืด หน้ากากอนามัย ขายเป็นแนว B2C ซึ่งจริง ๆ แล้ว ธุรกิจหลักของเราที่ผ่านมาคือจะเป็น B2B ที่เหลือก็จะเป็นสิ่งที่กำลังเติบโตมากขึ้น

 

Q: เชิงสังคมจากที่เล่าสิ่งที่ moreloop มองเห็นคือการจัดการกับสินค้า Dead stock คิดว่านำกลับมาใช้ใหม่ได้ อยากให้ขยายชัด ๆ ว่าสังคมจะได้ผลกระทบที่ดีในลักษณะแบบไหน นอกจากเรื่องของการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์มากขึ้น

A: อย่างที่บอกว่าในตัว moreloop เองมี Impact (ผลกระทบ) ทั้งที่เป็น Direct Impact (ผลกระทบทางตรง) และ Indirect Impact (ผลกระทบทางอ้อม) ซึ่งมันก็คือผ้าหรือวัสดุที่เหลือตามที่ต่าง ๆ มาทำเป็นสินค้า ตรงนี้มี impact ชัดเจนในเรื่องของจะที่การลดของที่เหลืออยู่และลดการผลิตใหม่ เราจะบอกว่าเราลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ออกไปเท่าไหร่ ในเชิง direct impact ปัจจุบันมีการใช้ของที่เหลือ 20 ตัน และการที่ผ้า 20 ตันพวกนี้ถูกนำไปใช้ แสดงว่าไม่ได้มีการผลิตผ้าใหม่ขึ้นมา จึงสามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ในส่วนนี้ ส่วน Indirect Impact  คือสิ่งที่สังคมได้รับและคิดว่าจะเพิ่มมากขึ้นคือ ส่วนผู้บริโภคที่จะเข้าใจเรื่อง Circular Economy และการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนมากขึ้น ก็จะทำให้มุมมองและความคิดด้านสิ่งแวดล้อมของคนในสังคมเปลี่ยนไป ซึ่งมีผลทำให้เกิดการบริโภคอย่างยั่งยืนมากขึ้น และอีกส่วนคือ คนจะเริ่มมองว่าธุรกิจแบบ moreloop เป็นธุรกิจที่น่าสนใจ และเริ่มทำธุรกิจที่มี impact มากขึ้นในเชิง Circular Economy เมื่อมีธุรกิจแบบนี้เยอะขึ้น ก็จะทำให้ผู้บริโภคมีความสนใจมากขึ้น เราเองก็มีการรวมกลุ่มกับคนที่ทำธุรกิจด้านนี้มากขึ้นด้วย ก็ทำให้เราพยายามเปิดทางในเรื่องของ Circular Economy หรือการใช้ Waste (ขยะเหลือใช้) ไปด้วยกันในมุมต่าง ๆ ตอนนี้เชิงของผมมองว่าอาจจะยังไม่ได้มีผลกระทบที่ยิ่งใหญ่มากมาย แต่คิดว่าการที่เราเห็นการเจริญเติบโตของ Segment เรื่องของการทำ Circular Economy หรือเรื่อง Green มากขึ้น คิดว่าน่าจะทำให้มีผลกระทบต่อสังคมมากขึ้น หรือว่าไปผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ หันมามองเรื่องนี้มากขึ้น จริง ๆ แล้วองค์กรใหญ่ก็มีการพูดถึงเรื่อง Circular Economy ถึงขนาดมี Symposium เป็นของตัวเองจากหลาย ๆ เวที อันนี้เราก็เห็นแล้ว ซึ่งถ้าเกิดว่าเรื่องเหล่านี้มันโดนขยายมากขึ้นจากผู้ผลิตและผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กัน เรื่อง Circular Economy จะเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดได้จริงและผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมน่าจะดีขึ้นในอนาคต

 

Q: เป้าหมายในการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมของ moreloop คืออะไร และมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์เราไหม ที่ต้องทำธุรกิจไปพร้อมๆกับการสื่อสารเรื่องผลลัพธ์ทางสังคมในขณะเดียวกัน

A: เรามีเป้าหมาย 5 ปี คือภายในปี 2024 เราอยากที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ 1 ล้านกิโลคาร์บอน ซึ่งถ้าเทียบกับจำนวนเสื้อผ้าผมคิดว่าน่าจะสักประมาณ 5 – 6 แสนตัว ปัจจุบันเราทำไปได้ประมาณ 3 แสนกิโลคาร์บอน

ส่วนเรื่องผลกระทบกับเรา จริงๆ ข้อดีคือ ลูกค้าเราน่ารักมาก เข้าใจเราทุกอย่างเลย อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริง ด้วยความเชื่อเหมือนกันเราจะดึงคนนิสัยดีหรือว่าคนที่มุมมองเหมือนกันมาทำงานด้วยกัน และการ upcycle (การใช้วัสดุจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ถูกใช้งานแล้ว เพื่อสร้างสิ่งใหม่) ของแต่ละอย่าง เช่น Material ที่มีจำกัด หรือว่าบริบทของของที่ไม่ได้มีเยอะ เลือกได้ สีที่ตรงใจกับองค์กรหรือบริษัท ก็จะทำให้เราเกิดการทำงานร่วมกัน ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้เข้ามา และกลุ่มนี้ก็จะนำสินค้าเราไปใช้และพูดถึงตลอด เป็นการเติบโตแบบ Organic (โตด้วยตนเอง) ค่อนข้างรู้สึกดีที่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ และมีแต่คนที่ทำงานด้วยได้อย่างสบายใจเข้ามา 

ในการที่เราสื่อออกไปในเชิงสินค้าเพื่อสังคม สิ่งแรกที่เราโฟกัสคือสินค้าของเรามีคุณภาพอยู่และ พอเราสื่อสารและได้คนที่สนใจสังคมเข้ามาด้วย มันก็จะได้คนที่นิสัยดีและเข้าใจเราเข้ามาด้วย พอคุยเรื่องสินค้าก็จะสามารถยอมกันได้ มันจะยอมกันในกรอบที่ชัดเจน ลูกค้าจะบอกว่าเขาต้องการแบบนี้ เราอาจจะบิดจินตนาการเขานิดหน่อย  เช่น ลูกค้าต้องการเสื้อสีแดง 100 ตัว แต่เรามีผ้าไม่พอที่จะทำ เราก็จะมีเสื้อสีแดง 4 เฉดแทน เพราะผ้าแต่ละอันจะพอทำเพียง 25 ตัว  ในขณะเดียวกัน ข้อเสียของการทำเรื่องแบบนี้ คือ การที่เราจะเจริญเติบโตทางธุรกิจ เราก็จะไม่สามารถที่จะเติบโตแบบ Fast Fashion (การผลิตเสื้อผ้าที่เน้นการซื้อง่าย ขายเร็ว ราคาย่อมเยา) ได้มาก มีข้อจำกัดในการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างที่เราอาจจะเห็นคนอื่นเขาสามารถทำได้ เพราะเราต้อง Balance เรื่องสิ่งแวดล้อมหรืออุดมคติที่เราอยากจะเห็นมันจะขัดกับเรื่องการเจริญเติบโตแบบรวดเร็วอย่าง Linear Economy

 

Q: คุณพลคิดว่าถ้าจะมีคนต้องการสนับสนุนผ้าที่มาจากแนวความคิดเรื่อง Circular Economy ตอนนี้มี Demand (ความต้องการซื้อ) หรือ Supply (ความต้องการขาย) ประมาณไหน เยอะกว่ากันมากน้อยเพียงใด

A: เป็น Supply (ความต้องการขายผ้าค้างสต็อก) เยอะมากเลย Demand เข้ามาเถอะ เป็นแบบนั้น ซึ่งทีมเราค่อนข้างเล็ก เราต้องทำสองด้านพร้อมกัน การมี Marketplace โดยเฉพาะลูกค้าด้าน Demand เราทำ 3 ธุรกิจพร้อมกัน มันก็จะเป็นสิ่งที่โตมากขึ้นเรื่อย ๆ ผ้าก็จะตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น เราก็มีหน้าที่หา Supply ที่เยอะขึ้น ตอนนี้เรากำลังโฟกัสกับเรื่องทำระบบให้ทั้งสองด้านเข้ามาเจอกันในปริมาณที่ใหญ่ขึ้น ให้เกิดได้เร็วขึ้นครับ เราปรับปรุงระบบตรงนี้และดำเนินธุรกิจแบบ Lean Startup (การสร้างธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับผู้บริโภคเป็นหลัก เพื่อผลิตสินค้าที่คนต้องการออกมา ด้วยทรัพยากรเท่าที่จำเป็น) ทำไปเรียนรู้ไป ทำใหม่ แบบนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วก็ดูว่าเราจะเติบโตไปกว่านี้ 3-4 เท่าอย่างไรได้บ้าง หาวิธีการตลอดเวลา อะไรที่สำคัญและสามารถลงมือทำ มีอะไรได้บ้าง ในขณะเดียวกันก็รับลูกค้าใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ

 

Q: แสดงว่า moreloop อยู่ตรงกลาง และพอมีลูกค้าเข้ามา moreloop ก็จะเป็นคนเชื่อมเพื่อหา Supplier มาเพื่อผลิตสินค้าพวกนั้นให้ลูกค้าไป  เรามีเคล็ดลับในการบริหาร Supplier ยังไงบ้าง

A: ไม่มีเคล็ดลับ กำลังเรียนรู้เยอะเลยแต่สิ่งที่คิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการที่เราจะเชื่อม คือแน่นอนตัว Supplier เขามี Pain Point อยู่แล้วสิ่งที่เขามีเหล่านี้ เขาจะมาด้วยความที่ว่าเรากำลังแก้ Pain Point ให้เขาอยู่ในส่วนที่เขามีของเหลือ ถ้าเราสามารถขายให้เขาได้ของเหลือจะเปลี่ยนเป็นเงิน เราทำหน้าที่เหมือนซาเล้งเหมือนกัน ในการบริการตรงนั้น เราจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าแต่เริ่ม 

  1. การที่ลูกค้าฝั่งโรงงานผ้า นำข้อมูลจำนวนผ้าเหลือมาให้เรา เราก็จะเป็นคนรับผิดชอบ เช่น ถ่ายรูป นำข้อมูลขึ้นระบบให้เขา แล้วก็ทำให้กระบวนการตรงนี้ง่ายที่สุด
  2. การที่เราสื่อสารกับ Seller เราจะคอยมีข้อมูลแต่ละที่ว่าเคยทำอะไรไปบ้างแล้ว แต่ละคนสื่อสารไปยังไงบ้าง
  3. คุยกันแบบเป็นเพื่อน เราจะรู้จักทุกคนที่เราต้องดีลด้วย เขาเป็นยังไงอะไรบ้าง ที่ทำให้เขาสะดวกสบาย เราก็จะพยายามทำตรงนี้ให้ได้ดีที่สุด เป็นเรื่องธรรมดาแต่พอ Seller เยอะเราต้องการจัดการบริหารตรงนี้ที่ดีหรือว่าเป็นการทำ Knowledge Transfer ให้กับทีมว่า Seller คนนี้เป็นแบบนี้นะ มีการจดบันทึกกับการที่จะมีสัมพันธ์ที่ดี เหมือนกับ Seller Relationship Management ที่เราต้องทำเรื่อย ๆ 

 

Q: ในอดีตเคยมีข้อผิดพลาดหรือบทเรียนทีได้จากการทำธุรกิจไหม แล้วคิดว่าในปัจจุบันเรามีการปรับใช้ ปรับแก้อย่างไร

A: ข้อผิดพลาดคือ ณ ตอนนี้เรามองว่าเราอาจจะมี Capacity (สมรรถนะ) ในการที่จะนำของเหลือใช้เข้ามาในระบบช้าไปนิดหนึ่ง ให้รอรับกับ Demand ที่เข้ามา เราไม่คิดว่าเราจะโตแบบก้าวกระโดด เลยทำให้สุขภาพของผู้ก่อตั้งทั้ง 2 คนค่อนข้างแย่ จริง ๆ แล้วเราอาจจะสามารถทำงานดุดันมากกว่านี้ได้ หากในตอนแรกมีการเตรียมทีม ทรัพยากร หรือเตรียมระบบไว้แต่เริ่ม แต่ก็พูดยากว่ามันเป็นข้อผิดพลาดไหม แต่ผมมองว่ามันไม่มีใครรู้หรอกว่า balance จะเป็นยังไง มันก็มีสิทธิที่ว่า เราเตรียมทุกอย่างแล้ว แต่ธุรกิจนี้มันกลับไม่โต แต่ของ moreloop คือกลับกัน คือเราอาจจะเตรียมความพร้อมในเรื่องของทีมที่น้อยเกินไป ในขณะที่มีความต้องการเยอะขนาดนี้ อันนี้เป็นการทดลองในปี 2018 พอเริ่มทำได้สักพักหนึ่งมันโตแบบพุ่งอย่างรวดเร็ว อันนี้บางทีเราอาจจะต้องวัดดูให้ดีว่าจริง ๆ แล้ว เราสามารถที่จะลงทุนได้มากกว่านี้ไหมตั้งแต่ต้น

Q: โอกาสไหนที่เรากำลังรออยู่หรือว่าถ้าได้รับโอกาสนี้จะทำให้ทวีคูณในเรื่องผลลัพธ์เชิงรายได้เพิ่มขึ้น มันคือผลลัพธ์ทางสังคมที่เพิ่มขึ้นด้วย 

A: คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องระบบปัจจุบันที่กำลังพัฒนาให้ดีขึ้น คือต้องบอกก่อนว่า 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา moreloop ยังใช้วิธีการทำงานแบบ MVP (Minimum Viable Product – Product ที่มีฟีเจอร์ในการให้บริการน้อยที่สุด ที่สามารถใช้ประเมินตลาดได้ สามารถนำไปทดสอบตลาดได้เร็ว) คือเรายังเรียนรู้กับ Requirement ของลูกค้า หรือ Requirement ของธุรกิจนี้อยู่ เรายังไม่ได้มีระบบที่เราทำขึ้นมาเป็น database ก็คือเป็นสินค้าที่เรายังไม่ได้ตอกเสาเข็ม เป็นระบบที่ไม่ได้เขียนเอง แต่ว่าต่อเชื่อมกับระบบหลาย ๆ อย่าง ก็จะเป็นระบบที่ยังเชื่อมต่อกับ Application หลาย ๆ อย่างที่ยังสำเร็จรูป แล้วเอามาต่อกัน ซึ่งปัจจุบันจากการที่ลูกค้าเยอะขึ้น เราโตขึ้น จะเห็นแล้วว่าจะมีระบบหลายอย่างที่เอามาช่วยเราให้ทำงานได้เร็วมากขึ้น โอกาสที่เรามองหาอยู่คือทุนที่จะมาช่วยขยายคอขวด เพื่อที่เราจะรับลูกค้าได้เร็วขึ้นและดีขึ้น และทำให้ Moreloop สามารถหมุนเวียนทรัพยากรได้เร็วมากขึ้น

 

Q: ถ้าในอนาคตต้องการขยายองค์กร จะขยายไปในทิศทางไหน และสินค้าไหนจะเป็นสินค้าหลักและขยายการตลาดให้ moreloop ได้ในอนาคต และผลลัพธ์ทางสังคมจะขยายผลลัพธ์ได้ขนาดไหน

A: ในอีกสัก 5-6 ปีข้างหน้าเราน่าจะโฟกัสกับตลาดสินค้าเครื่องนุ่งห่มให้เต็มที่ เริ่มจากผ้า ลงลึกมากขึ้นในเรื่อง กระดุม ซิป  Accessories อื่น ๆ ด้วย เป็นอีกส่วนเพื่อที่จะทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าที่รู้จักเราอยู่แล้วให้ได้ใช้ทรัพยากรเหล่านี้ร่วมกันมากขึ้น อันนี้คือส่วนหนึ่ง ส่วนที่สอง ถ้าเป็นไปได้อยากขยายไปในอุตสาหกรรมอื่น ๆ แต่อาจจะเป็นอะไรที่เกิด 4-5 ปีเป็นต้นไป เช่นอุตสาหกรรม กระดาษ เครื่องหนัง ยังมีอีกหลายที่ ที่ยังมีวัตถุดิบเหลือใช้และนำกลับมาใช้ได้ และการที่เราจะนำออกไปต่างประเทศมากขึ้น เป็นสิ่งที่เราอยากจะทำมากขึ้น เป็นสิ่งที่เราอยากจะไป มันจะมี Loop หลายวัตถุดิบ หลายอุตสาหกรรม เกิดหลายประเทศ เช่น วันหนึ่งเรามีเสื้อของ moreloop ที่เสียแล้วหรือขาด ในอนาคตสามารถซ่อมหรือ หมุนกลับมาอีกรอบหนึ่งได้ก็เป็นอะไรที่มองได้เหมือนกัน

 

Q: อยากเห็นอะไรในการทำธุรกิจเพื่อสังคม moreloop นี้

A: ผมมองในเชิงแบบ Ecosystem สิ่งหนึ่งที่เห็นคือทุกคนอยากทำธุรกิจแบบนี้ แต่พอมาทำจริงมันเกิดขึ้นได้ยาก ทั้ง balance การเติบโตและมี impact ไปพร้อมกัน อย่างไรก็ไม่สามารถสู้กับธุรกิจที่เป็นธุรกิจปกติทั่วไปธรรมดาได้ สิ่งที่อยากเห็นคือ เราเริ่มเห็นในเรื่องของการที่มีคนเข้ามาทำมากขึ้น แต่เรื่องของการสนับสนุน เราก็อยากเห็นเพิ่มมากขึ้นด้วย ในเรื่องของการสนับสนุน เงินทุน หรือว่ากฎหมายบางอย่าง ณ ปัจจุบันเริ่มมี และอย่างของ moreloop เอง ก็ต้องขอขอบคุณ SE Thailand ที่มอบโอกาสดี ๆ ให้กับเรา ในการที่ทำให้เราได้เข้าถึงเงินกู้ และได้สภาพคล่องที่มาช่วยเราได้เยอะมาก ทำให้เราสามารถที่จะหายใจได้ในการเจริญเติบโตต่อไป ต้องบอกว่า ณ ปัจจุบันหากเรายังเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตแต่ไม่มีสภาพคล่อง จะทำให้เราเหนื่อยมากและอย่างที่บอกตอนแรกว่าสิ่งที่เป็นข้อผิดพลาดของเราที่เราไม่ได้สำรอง capacity มากพอหรือแม้กระทั่งเรื่องเงิน ทำให้เราสู้แบบหืดขึ้นคอ ก็อยากให้ support ตรงนี้มีเยอะมากขึ้นสำหรับ SE ที่จะมารับสิทธิตรงนี้ครับ

 

Q: อยากให้พูดถึงคนหรือองค์กรที่กำลังสนใจทำธุรกิจเพื่อสังคมหรือกำลังทำอยู่ได้ไหม

A: อยากเชิญชวนในเชิงของการทำเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy มองว่าปัจจุบัน เศรษฐกิจของเราอยู่ในขีดที่วิกฤต ค่อยข้างอันตรายกับเราทุกคน ผลกระทบเยอะมากขึ้น ถ้าเรามองในเรื่องสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นเรื่องเล็กน้อยหากเทียบกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะฉะนั้นมนุษย์ทุกคนมีส่วนร่วมในการที่ทำให้โลกมาอยู่ในสภาพนี้ และจริง ๆ แล้วเราก็จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นกว่านี้ได้ เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นแค่การเลือก บางคนคิดว่าถ้าจะทำต้องไปสร้างโรงงานรีไซเคิล หรือว่าต้องไปทำแบบ moreloop ไหม จริงๆ แล้วไม่เกี่ยวเลย เราสามารถที่จะเริ่มได้จากการที่เราใส่เสื้อตัวเดิม ไม่มีการบริโภคที่เยอะไป เข้าใจในเรื่องผลกระทบจากการบริโภค ถ้าเราได้เข้าใจที่มาที่ไปก็จะสามารถทำให้สภาพแวดล้อมเรายั่งยืนได้มากขึ้น

 

Q: อยากฝากอะไรเกี่ยวกับ moreloop เช่น สนันสนุนได้ที่ไหน ติดตามช่องทางไหนได้บ้าง

A: ฝาก Platform moreloop ที่นำทรัพยากรผ้าส่วนเกินมาวนใช้อีกครั้ง ปัจจุบันคนที่อยากได้ผ้าที่มีคุณภาพและยั่งยืนด้วยก็สามารถมาที่ moreloop หรือผลิตสินค้าที่เป็นเสื้อโปโล กระเป๋า หรือว่าหน้ากาก สามารถมาใช้บริการได้ที่เรา เราใช้ทรัพยากรส่วนเกินทั้งหมด มั่นใจได้ว่าทั้งคุณภาพและความยั่งยืนสามารถมาเจอได้ที่ Moreloop ครับ


เรียบเรียงโดย พรรณวรัช กูลรัตน์กิติวงศ์ สัมภาษณ์โดย ทลปภร ปัญโยรินทร์