Interface กับกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน

interface1

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อ Interface ในฐานะหนึ่งในบริษัทที่ได้รับการยกย่องว่า “ยั่งยืน” เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่บางคนอาจไม่ทราบว่า Interface เป็นบรรษัทข้ามชาติที่เป็นผู้นำด้านการผลิตพรมแบบแผ่น (Modular Carpet) อันดับหนึ่งของโลก โดยในปี ค.ศ. 2014 Interface มีรายได้ราว 1,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ พนักงาน 3,500 คน ใน 110 ประเทศทั่วโลก

ชื่อเสียงด้านความยั่งยืนเริ่มต้นจากการพลิกวิสัยทัศน์องค์กรโดยเรย์ แอนเดอร์สัน (Ray Anderson) อดีตผู้บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท Interface ที่ยอมรับว่าครั้งหนึ่งเขาเป็นนักธุรกิจแบบสุดโต่ง จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1994 เขาถูกตั้งคำถามโดยลูกค้าว่า “Interface ดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง?”

เรย์ แอนเดอร์สัน อดีตผู้บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท Interface
เรย์ แอนเดอร์สัน อดีตผู้บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท Interface

เขาไม่มีคำตอบ แต่ได้ใช้โอกาสนั้นทบทวนถึงจุดยืนของบริษัท กอปรกับแรงบันดาลใจจากหนังสือ The Ecology of Commerce โดยพอล ฮอว์เคน (Paul Hawken) ที่กล่าวว่าธุรกิจและอุตสาหกรรม เป็นสถาบันเดียวในโลกที่มีพลังอำนาจเพียงพอที่จะเปลี่ยนโลกได้ ในปีนั้นเองที่เรย์ตัดสินใจประกาศเป้าหมายสำคัญคือ Mission Zero ที่ตั้งเป้าว่าภายในปี ค.ศ. 2020 Interface จะต้องไม่มีผลกระทบภายนอกด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม

ภารกิจที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่ความมุ่งมั่นของเรย์ได้เป็นแรงผลักดันให้องค์กรเริ่ม “ปีน” ขึ้นสู่ยอดเขาแห่งความยั่งยืนอย่างไม่ย่อท้อ และเมื่อเดือนมกราคมปี ค.ศ. 2014 นี้เองที่ Interface ได้ประกาศว่าโรงงานที่ Scherpenzeel ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ประสบความสำเร็จสามเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยโรงงานใช้ไฟฟ้า 100% จากพลังงานหมุนเวียน มีน้ำเสียและขยะเป็นศูนย์ นับว่าเป็นก้าวสำคัญของบริษัท Interface และเป็นตัวอย่างสำคัญที่ยืนยันถึงความเป็นไปได้ของความยั่งยืน

เมื่อต้นเดือนกันยายน ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานดังกล่าว แม้โดยผิวเผินแล้วหน้าตาของโรงงาน Interface จะไม่ต่างจากอุตสาหกรรมทั่วไป แต่หลังจากได้ฟังการนำเสนอก็ทราบว่า ความเขียวของ Interface ได้ซ่อนอยู่ในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ ไปจนถึงความพยายามปิดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์โดยการนำกลับมารีไซเคิล และที่สำคัญ Interface ไม่มีฝ่ายความยั่งยืนในบริษัท เพราะทุกส่วนงานมีความตระหนักในเรื่องความยั่งยืน ผ่านการอบรม พูดคุยทำความเข้าใจ และวิสัยทัศน์ขององค์กร


สร้างนวัตกรรมจากการวิเคราะห์วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์

พรมอาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประเทศเมืองร้อนอย่างประเทศไทยอาจไม่คุ้นเคยนัก แต่สำหรับประเทศทางตอนเหนือในภูมิภาคยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา พรมกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นแทบทุกอาคารในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่บ้าน มหาวิทยาลัย และที่ทำงาน

น้อยคนที่จะนึกออกว่าพรมเหล่านั้นมีความ “ไม่เขียว” อย่างไรบ้าง

พรมขาดความเขียวตั้งแต่วัตถุดิบเพราะวัตถุดิบสำหรับใช้ผลิตพรม เช่น ไนลอน โพลิเอสเตอร์ และอคริลิค ต่างก็เป็นผลผลิตจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมไปถึงวัสดุรองหลังพรม (Backing) สีย้อม และกาว ที่นอกจากจะไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีอันตรายต่อสุขภาพเพราะวัสดุเหล่านั้นจะปล่อยสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds: VOCs) ที่ทำให้บางคนเกิดอาการแพ้ พรมส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานไม่ถึง 10 ปี แต่หลังจากที่ถูกขนไปยังหลุมฝังกลบ พรมเหล่านั้นอาจใช้เวลาในการย่อยสลายนานหลายศตวรรษ

หลังจากประกาศ Mission Zero สิ่งแรก ๆ ที่ Interface ทำคือการวิเคราะห์วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์โดยใช้ระดับการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเกณฑ์ เพื่อค้นหาว่ากิจกรรม ขั้นตอน หรือวัตถุดิบใดที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด จากการวิเคราะห์ดังกล่าว Interface ก็พบว่าการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ของพรมมาจากไนลอน ซึ่งคิดเป็นราวร้อยละ 45 ตลอดชีวิตผลิตภัณฑ์ ในขณะที่กิจกรรมและวัตถุดิบอื่น ๆ คิดเป็นราวร้อยละ 10

Interface ตอบรับกับความท้าทายดังกล่าวโดยใช้ 3 ทางเลือกคือ 1) ลดการใช้ไนลอนในการผลิต 2) พัฒนาไนลอนให้มีส่วนประกอบจากการรีไซเคิลมากขึ้น และ 3) คิดค้นนวัตกรรมในการผลิตไนลอนรูปแบบใหม่ ทั้ง 3 ทางเลือก นำไปสู่การปฏิบัติในฝ่ายวิจัยและพัฒนา ก่อนจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาจำหน่ายจริงในตลาดคือ

  • Microtuft ที่ใช้การออกแบบเพื่อลดการใช้ไนลอนลงถึงครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ยังสามารถคงคุณภาพของพรม และอายุของการใช้งานไว้เช่นเดิม สินค้าดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมาก โดยจำหน่ายไปแล้วกว่า 11 ล้านตารางเมตร
  • Biosfera I พรมรุ่นแรกของโลกที่ผลิตจากไนลอนรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์จากพรม แหหรือเครื่องมือประมงที่หมดอายุการใช้งาน โดย Interface ได้ร่วมมือกับ Zoological Society of London เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานจากชุมชนประมงในประเทศกำลังพัฒนาเป็นเครือข่ายชื่อว่า Net-Works เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวประมงสามารถขายเครื่องมือประมงเพื่อนำกลับมารีไซเคิลเป็นไนลอน ตั้งแต่เริ่มจำหน่ายในปี ค.ศ. 2011 Biosfera I มียอดขายอยู่ที่ราว 780,000 ตารางเมตร
  • Fotosfera นวัตกรรมจากการใช้วัตถุดิบใหม่เพื่อผลิตไนลอนจากน้ำมันเมล็ดละหุ่ง (Castor Bean) ร้อยละ 63 ละหุ่งยังเป็นพืชที่สามารถเติบโตได้ในอากาศร้อนและดินทรายซึ่งยากที่จะใช้ทำการเกษตรชนิดอื่น โดยจำเป็นต้องรดน้ำทุก ๆ 25 วันเท่านั้น อินเดียเป็นประเทศที่มีการปลูกละหุ่งมากที่สุดในโลก และพืชชนิดนี้เองที่เป็นรายได้เสริมให้กับชาวอินเดีย โดยไม่เบียดบังพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหาร
interface2
เมล็ดละหุ่ง วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพรม Fotosfera

ทั้งสามผลิตภัณฑ์นับเป็นนวัตกรรมในการผลิตพรมที่นอกจากจะลดรอยเท้าภายในกระบวนการแล้ว ยังสามารถสร้างผลลัพธ์ทางสังคมนอกองค์กรได้ด้วยการสร้างรายได้เสริมให้กับประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา แต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการบรรลุ Mission Zero เท่านั้น เพราะ Interface ยังพยายามลด “ของเสีย” ที่เกิดขึ้นในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์อีกด้วย


ลดขยะแบบนอกกรอบ

ปัญหาสำคัญนอกจากวัตถุดิบที่นำมาผลิตพรมคือ “ของเสีย” ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่ง Interface ได้แก้ปัญหาด้วยการนำเทคโนโลยีการตัดแบบเหนือเสียงที่ใช้ในองค์กรนาซ่ามาสร้างนวัตกรรมใหม่ในการตัดแบ่งพรมโดยมีเศษพรมลดลงถึงร้อยละ 80 หรือราวปีละ 310 ตัน

Interface ยังปรับปรุงการขนส่งพรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่ความพยายามลดการขนส่งข้ามทวีป เช่น พรมที่ผลิตขึ้นในยุโรปร้อยละ 99 จะถูกจำหน่ายในยุโรป พร้อมกับจัดการขนส่งให้รถบรรทุกมีปริมาณบรรจุไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 เพื่อประหยัดต้นทุนและลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

interface3
Tactiles นวัตกรรมการติดตั้งพรมที่ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากปัญหาของเสียในโรงงานและการขนส่ง Interface ยังประยุกต์ใช้แนวคิดชีวลอกเลียน (biomimicry) มาใช้ในการออกแบบนวัตกรรมอย่าง Tactiles ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากจิ้งจกที่ปีนบนผนังได้โดยใช้ขนเล็กๆ นับล้านที่เท้า Tactiles ระบบการติดตั้งพรมรูปแบบใหม่ที่เชื่อมต่อพรมแต่ละแผ่นด้วยพลาสติกใสขนาดเล็กโดยไม่จำเป็นต้องยึดพรมกับพื้นห้องตามวิถีการปูพรมแบบเดิม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดรอยเท้าคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 90 Tactiles ยังช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายที่เกิดจากกาวในการติดตั้งแบบทั่วไปอีกด้วย

interface4
Random Design ดีไซน์พรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ

อีกแนวคิดที่น่าสนใจของการประยุกต์ใช้แนวคิดชีวลอกเลียนคือ Random Design ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพื้นดินที่ปกคลุมด้วยใบไม้ตามธรรมชาติซึ่งแม้จะไม่ได้รับการจัดเรียงก็ยังคงมีความสวยงาม Random Design คือพรมที่ออกแบบมาว่าจะวางในรูปแบบใดก็ได้โดยไม่ต้องสนใจเรื่องทิศทางหรือสี การออกแบบดังกล่าวช่วยลดพรมที่สูญเสียในกระบวนการปูพื้นห้องเหลือเพียง 1 ถึง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่การใช้พรมผืนใหญ่เพื่อปูพื้นห้อง จะมีเศษพรมเหลือทิ้งเฉลี่ยถึง 12 เปอร์เซ็นต์

Interface ยังพัฒนานวัตกรรมเพื่อปิดวงจรผลิตภัณฑ์ กล่าวคือการนำพรมที่หมดอายุการใช้งานมาเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบและกลับเข้าสู่การผลิตพรมผืนใหม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบัน Interface ได้เริ่มระบบ ReEntry 2.0 ที่สามารถดำเนินการได้โดยมีฐานการรีไซเคิลที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ อย่างไรก็ดี กระบวนการรีไซเคิลของ Interface ยังเผชิญความท้าทายในการจัดหาพรมเก่าเพื่อนำมารีไซเคิล เนื่องจากระบบดังกล่าวจำเป็นต้องใช้พรม Interface ซึ่งมีการออกแบบที่แตกต่างจากพรมแบรนด์อื่นมารีไซเคิลเท่านั้น

แม้ว่าเรย์ แอนเดอร์สันจะเสียชีวิตไปเมื่อปลายปี ค.ศ. 2011 แต่จะเห็นว่าความทะเยอทะยานในการขึ้นสู่ยอดเขาแห่งความยั่งยืนได้ถูกสืบทอดต่อพนักงานของ Interface เพื่อบรรลุ Mission Zero ภายในปี ค.ศ. 2020 และหลายคนคาดว่า Interface จะประกาศก้าวต่อไปจาก “ไม่สร้างผลกระทบ” สู่ธุรกิจที่ช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม


กลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนกับมูลค่าขององค์กร

ถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มสงสัยว่าความพยายามลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต หรือลดของเสียภายใน Interface จะสามารถสร้างมูลค่าให้กับองค์กรได้อย่างไร ตามแนวคิดดั้งเดิม มูลค่าขององค์กรสามารถคำนวณได้จากกระแสเงินสดสุทธิที่ไหลเข้าสู่องค์กรในอนาคตโดยคิดลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ซึ่งอาจยังไม่ได้รวมมูลค่าเพิ่มจากความยั่งยืน เพราะบางคนอาจมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบภายนอก (externalities)

เมื่อปี ค.ศ. 2003 Stuart Hart และ Mark Milstein ได้เสนอแนวคิด “มูลค่าที่ยั่งยืน” โดยพล็อตกลยุทธ์บนสองแกนคือ ภายนอก-ภายใน และ ปัจจุบัน-อนาคต โดยได้แบ่งกลยุทธ์เพื่อสร้างความยั่งยืนออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  • การป้องกันมลภาวะ (Pollution Prevention) คือการลดของเสียและการปลดปล่อยมลภาวะขององค์กร โดยจะช่วยลดความเสี่ยงและต้นทุนขององค์กร
  • การดูแลผลิตภัณฑ์ (Product Stewardship) คือการนำข้อคิดเห็นหรือข้อเรียกร้องของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดำเนินงาน โดยจะสร้างชื่อเสียงทางบวกและความชอบธรรมให้กับองค์กร
  • การใช้เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) คือการพัฒนาความได้เปรียบในการแข่งขันขององค์กรอย่างยั่งยืนในอนาคต เป็นการสนับสนุนนวัตกรรม รวมทั้งช่วยสร้างแบรนด์ขององค์กร
  • วิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน (Sustainability Vision) คือการกำหนดแนวทางการดำเนินงานในอนาคตเพื่อตอบสนองความต้องการที่ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยจะสร้างโอกาสเติบโตของบริษัทในอนาคต

interface5

จากทั้ง 4 กลยุทธ์ จะเห็นว่า Interface ได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวเพื่อสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนให้กับองค์กร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องสูญเปล่าหรือเป็นการประชาสัมพันธ์ แม้ว่า Interface จะไม่ได้มีอัตราการเติบโตที่หวือหวาในระยะสั้นเช่นเดียวกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม แต่ข้อพิสูจน์มูลค่าของความยั่งยืนใน Interface คือการเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย โดยนับตั้งแต่การเปลี่ยนวิสัยทัศน์สู่ความยั่งยืน ยอดขายพรมของ Interface ก็เพิ่มขึ้นราว 2 ใน 3 และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นราวสองเท่า

Interface จึงเป็นบทพิสูจน์สำคัญของนักธุรกิจที่ยังคงตั้งคำถามถึงมูลค่าเพิ่มจากกลยุทธ์ที่ยั่งยืน รวมทั้งทำลายกรอบความเชื่อที่ว่าอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบปิโตรเคมีอย่างพรมไม่มีทางยั่งยืนได้ และยังเป็นบทเรียนสำคัญว่าความยั่งยืนสร้างได้ แต่ต้องมีความทุ่มเทที่จะสร้างอย่างต่อเนื่องและจริงจัง


ขอบคุณที่มา: Sal Forest – ป่าสาละ