d.light Design แสงสว่างจากพลังโซลาร์ที่พลิกชีวิตคนไร้ไฟฟ้าทั่วโลก

หากพูดถึงปัญหาการไม่มีไฟฟ้าใช้ คนไทยเกือบทั้งหมดคงนึกไม่ออก เราอาจจะนึกถึงได้แค่เวลาไฟดับในเมืองใหญ่ เพียงแค่ 3-4 ชั่วโมงที่เราขาดเครื่องปรับอากาศ ไฟชาร์จโทรศัพท์มือถือ หรือแสงสว่างก็เพียงพอแล้วที่เราจะอึดอัด

แต่กับคนอีกหนึ่งพันล้านคนทั่วโลกที่เกิดมาและใช้ชีวิตทุกวันโดยไม่เคยรู้จักไฟฟ้าเลยล่ะ เราคงนึกไม่ออกเลยว่าชีวิตเขาจะเป็นอย่างไรเมื่อสิ้นแสงอาทิตย์ในแต่ละวัน ปัญหาพื้นฐานที่ส่งผลกระทบต่อคนนับพันล้านทั่วโลกนี่เองที่ได้กลายเป็นแนว “คิดต่าง” ของกิจการเพื่อสังคมที่เปลี่ยนชีวิตคนมาแล้วกว่า 76 ล้านคนทั่วโลก

d.light-Design 1

แม้จะเกิดและเติบโตในสหรัฐอเมริกา แต่ แซม โกลด์แมน (Sam Goldman) ก็เข้าใจปัญหาของการเข้าไม่ถึงแหล่งพลังงานพื้นฐานอย่างไฟฟ้าเป็นอย่างดี

ในปี 2004 แซมใช้ชีวิตเป็นอาสาสมัครสันติภาพในเบนิน ประเทศยากจนขนาดเล็กในแอฟริกา หมู่บ้านที่แซมอยู่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านใช้น้ำมันก๊าดจุดตะเกียงเป็นแหล่งพลังงานหลักเพื่อให้แสงสว่าง ตะเกียงเหล่านี้ปล่อยควันออกมาจำนวนมาก ทำให้ผู้ใช้แสบตาแสบจมูก น้ำมันก๊าดเองก็มีราคาสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของพวกเขา

วันหนึ่งแซมสงสัยว่าเด็กวัยรุ่นที่เป็นเพื่อนสนิทหายไปไหนหลายวัน เขาจึงไปตามดูที่บ้านก่อนจะพบว่าเด็กชายนอนรักษาตัวอยู่เพราะไฟคลอกทั้งตัวจากอุบัติเหตุตะเกียงน้ำมันก๊าดล้ม แซมช็อกและหงุดหงิด เขามีคำถามในใจว่า ในยุคที่คนในประเทศของเขาท่องอวกาศได้ตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน ทำไมคนอีกซีกโลกถึงยังต้องเสี่ยงชีวิตเพียงเพราะอยากมีแสงสว่างใช้ เมื่อเริ่มหาข้อมูลมากขึ้น แซมพบว่านี่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะในแอฟริกา แต่รวมไปถึงอีกหลายส่วนของโลกที่คน 1 ใน 5 ยังต้องพึ่งพิงตะเกียงน้ำมันก๊าดอยู่

เมื่อมองเห็นความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงพลังงาน แซมจึงพยายามทดลองหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ มาใช้ที่บ้านพัก จนได้คำตอบว่าหลอดไฟ LED คือทางเลือกที่ดีที่สุด แสงสว่างจาก LED ของเขาดึงให้คนทั้งหมู่บ้านมาดู ทุกคนถามเซ็งแซ่ว่าเขาซื้อเจ้าสิ่งนี้มาจากไหนเพราะอยากได้บ้าง แซมเริ่มเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจ จากประสบการณ์ในแอฟริกา เขาไม่เชื่อในประสิทธิภาพของเงินบริจาคและการกุศลที่ถูกใช้อย่างด้อยประสิทธิภาพ เขาเชื่อว่า “ทุนนิยม” ที่ผ่านธุรกิจที่เหมาะสมต่างหากที่จะแก้ปัญหานี้ได้และขยายผลได้อย่างรวดเร็ว

d.light-Design 2

แซมเริ่มติดต่อบริษัทต่าง ๆ ที่ผลิตหลอดไฟ LED ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพื่อขอเป็นผู้จัดจำหน่ายแต่ไม่มีบริษัทไหนที่สนใจตอบกลับ เพราะความคิดดั้งเดิมที่บริษัทต่าง ๆ มองว่าคนเหล่านี้ยากจน ขาดกำลังซื้อ แม้ว่าจะเป็นตลาดขนาดใหญ่ครอบคลุมประชากรนับพันล้านคนทั่วโลกก็ตาม แซมจึงต้องสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เหมาะกับตลาดนี้ขึ้นเอง ซึ่งเป็นช่วงที่เขากลับมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) และได้พบกับ เน็ด ทูซอน (Ned Tuzon) เพื่อนนักศึกษาที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ทั้งสองร่วมทดลองและทำต้นแบบของโคมไฟพลังแสงอาทิตย์ ทดสอบไปทั่วในหลายตลาดรวมทั้งพม่าใกล้บ้านเรา ก่อนจะก่อตั้งกิจการเพื่อสังคมแบบแสวงกำไร d.light Design และจะเริ่มขายสินค้าในปี 2008

d.light-Design 3

d.light-Design 9

d.light Design มีพันธกิจจัดหาแหล่งพลังงานสะอาด สว่าง ปลอดภัยและราคาย่อมเยาสำหรับคนทั่วโลก สินค้ารุ่นแรกๆ ของบริษัทเป็นโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผู้ใช้เอาไปตากแดดตอนกลางวัน และนำมาใช้ในตอนกลางคืนโดยให้แสงสว่างต่อเนื่องได้ถึง 6-8 ชั่วโมง

แสงสว่างจากหลอด LED มีความสว่างกว่าตะเกียงน้ำมันก๊าดมาก ไม่ทำลายสายตาทำให้ใช้อ่านหนังสือได้ รวมทั้งปลอดภัยจากควันและเพลิงไหม้ รวมทั้งขายในราคาที่ย่อมเยาซึ่งคนในประเทศรายได้น้อยซื้อได้ บริษัทเน้นออกแบบให้สินค้าใช้ง่ายกับลูกค้าที่ไม่ถนัดเรื่องเทคโนโลยีและทนทาน การสาธิตสินค้าของ d.light ในพม่า ผู้ขายจะโยนโคมไฟลงมาจากยอดต้นมะพร้าวและให้รถมอเตอร์ไซค์วิ่งทับเพื่อแสดงถึงความทนทานต่อทุกสภาพการใช้งาน

d.light-Design 5

d.light-Design 6

โคมไฟของ d.light Design ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า บริษัทจำหน่ายสินค้าใน 65 ประเทศ ได้รับเงินลงทุนกว่า 63 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,079 ล้านบาท) ผลิตภัณฑ์ของ d.light Design ในปัจจุบันมีทั้งโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการอ่านหนังสือเยาวชน โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดครอบครัวที่ใช้ชาร์จโทรศัพท์มือถือได้ ระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของทั้งบ้าน ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกนำไปใช้ในพื้นที่ที่แร้นแค้นของประเทศอย่างบังกลาเทศ อินเดีย แทนซาเนีย ปาปัวนิวกินี หรือกระทั่งค่ายผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเฮติ

บริษัทยังวัดผลลัพธ์ทางสังคมอยู่ตลอดเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าแก้ปัญหาของลูกค้าได้จริง ณ ปี 2017 d.light Design นำแสงสว่างช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนแล้ว 76 ล้านคนทั่วโลก

d.light-Design 7

20 ล้านคนในนั้นเป็นเด็กในวัยเรียนที่ใช้โคมไฟอ่านหนังสือ สร้างพลังงานทางเลือกไปแล้วกว่า 85 กิกะวัตต์ชั่วโมง ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ลูกค้าได้ 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (118,800 ล้านบาท) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 18 ล้านตัน และเพิ่มชั่วโมงการทำงานหลังพระอาทิตย์ตกได้ 1.04 หมื่นล้านชั่วโมง

เมื่อผู้เขียนเชิญแซมมาเป็นวิทยากรที่กรุงเทพฯ ในปี 2013 แซมพูดถึงเรื่องราวของผู้คนที่ได้รับประโยชน์จาก d.light ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้านในแทนซาเนียที่น้ำตาปริ่มและละล่ำละลักขอบคุณพระเจ้าที่ส่งแสงสว่างมาให้เมื่อเห็นแสงสว่างครั้งแรกจากโคมไฟ d.light ครั้งแรก และคำขอบคุณจากเพื่อนวัยรุ่นชาวเบนินที่เขาส่งเทคโนโลยีที่ดีกว่าตะเกียงน้ำมันก๊าดมาให้ ฟีดแบ็กตรงจากลูกค้าสำคัญกับแซม เพราะมันช่วยยืนยันว่าเขาแก้ไขปัญหาได้จริง แม้จะยังต้องลุยแก้ปัญหาใหม่ ๆ จากของปลอมและของเลียนแบบ

d.light-Design 8

จากปัญหาพื้นฐานของคนจำนวนมากทั่วโลกที่ธุรกิจไม่สนใจ หรือโลกการกุศลยังแก้ไขได้ไม่เต็มที่ กลับกลายมาเป็นกิจการเพื่อสังคมที่โตเร็วที่สุดแห่งหนึ่ง และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้คนได้นับล้าน บางทีคำตอบใหม่ๆ หรือนวัตกรรมทางธุรกิจ อาจจะมาจากปัญหาซ้ำซากในสังคมที่เราต้อง “คิดต่าง” และมองให้ชัดก็เป็นได้


ขอบคุณที่มา: THE STANDARD