ถอดเนื้อหา Clubhouse: SE 4 ทุ่ม ตอน “เป็นพนักงาน SE มีอนาคตมั้ยนะ?”


1.แนะนำตัวทุกคน เป็นใครบริษัททำอะไร ทำงานอะไรอยู่ในบริษัทนั้น?

คุณนีลปีตาชัย เดชไกรศักดิ์ (CEO & Founder,Jasberry): Mission ของ Jasberry ต้องการยกระดับและแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร โดยเราเชื่อว่าโมเดลการทำธุรกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนต้องมาจากผู้บริโภค รูปแบบการทำงานตั้งแต่เริ่มต้น คือ  For-profit social enterprise ใช้กระบวนการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการทำสินค้าต่อยอดที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากการเกษตร

คุณไผสมศักดิ์ บุญคำ (Founder, Local Alike): Local Alike จับประเด็นเรื่องการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เราเชื่อว่าการท่องเที่ยวจะยั่งยืนได้ คนในชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรต้องมีส่วนร่วมในการคิดและตัดสินใจในการทำการท่องเที่ยวในหมู่บ้านให้มากขึ้น จึงเกิด product ที่ขายอยู่ในตลาดให้กับ consumer หรือนักท่องเที่ยว คือตัวเส้นทางท่องเที่ยว ซึ่งดำเนินการมากว่า 10 ปีแล้ว และอีกโมเดลหนึ่ง เราออก product มาเป็นอาหารจากวัตถุดิบชุมชน ภายใต้แบรนด์ Local Aroi ล่าสุด คือ E-commerce สินค้าชุมชนที่เป็นแบรนด์ Local Alot ซึ่งเราทำงานร่วมกับชุมชนมากกว่า 200 ชุมชน

คุณแก๊ป – ธนากร พรมยศ (CEO & Co-Founder, YoungHappy): YoungHappy ทำ Community Platform ให้กับผู้สูงอายุ เราสร้างพื้นที่ให้คนเหล่านี้ได้มาเจอกัน มีการจัดกิจกรรม และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณค่าในตัวเองผ่านการทำจิตอาสาในโครงการ YoungHappy Time Bank สำหรับเก็บสะสมชั่วโมงเพื่อ Redeem Service ในการดูแลตัวเอง และส่วน Application มีเพื่อสร้าง Community online เป็นพื้นที่ sharing ไว้พูดคุยกันและทำกิจกรรม challenge ต่างๆ เราเชื่อว่าการทำให้ผู้สูงอายุ Active ไปได้นานที่สุดทำให้เขามีความสุขกาย สุขใจ สิ่งเหล่านี้จะเป็นพลังให้กับสังคมได้

คุณเอื้อง – ธีตา โหตระกิตย์ (ผู้ก่อตั้ง Steps with Theera): Steps with Theera เป็นศูนย์ฝึกทักษะอาชีพแก่บุคคลที่มีความแตกต่างทางการเรียนรู้สำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ มีร้านคาเฟ่กลางเมืองใหญ่ที่ตั้งใจฝึกผู้มีภาวะออทิซึมให้เป็นคนทำงานที่มีศักยภาพของสังคม

คุณยิ้ม : ทำงานตำแหน่ง Consult ให้กับ Steps with Theera เน้นด้านการมีส่วนร่วม  ทำอย่างไรให้คนทั่วไปและคนที่มีความต้องการพิเศษอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่รู้สึกแบ่งแยก

คุณหนอน: หนอนเริ่มด้วยการเป็น Field Officer ของ Jasberry ทำงานโดยตรงกับเกษตรกร

คุณอุ๋ม: ตำแหน่ง Senior Manager รับผิดชอบด้าน Community Relations & Social Impact ให้กับ Local Alike

คุณบอล : ทำงานเป็น Event Manager ดูแลเรื่องของกิจกรรมทั้งหมดของ YoungHappy 


2. คิดว่าองค์กรที่เรียกว่า SE แตกต่างกับองค์กรลักษณะอื่นอย่างไร มีการทำงานแบบไหนที่ต่างกัน?

คุณนีล : ผมว่าความยากของ SE ที่หินที่สุดเลยก็คือว่า ถ้าเราพูดถึง SE เป็นธุรกิจทั่วไปนะครับ มันก็ต้องแข่งขัน กับธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งธุรกิจอื่น ๆ เขาไม่ได้มีส่วนของ Social หรือ Environmental Mission เข้ามา เพราะฉะนั้น เขามองแต่เรื่องของการทำกำไรล้วน ๆ เขาสามารถทำให้ต้นทุนต่ำกว่า SE ได้อยู่แล้ว

คุณเอื้อง : สิ่งที่ยากสำหรับ SE คือ ผลตอบแทนคุณได้เทียบเท่ากับคนอื่น แต่ว่างานของคุณเยอะกว่าคนอื่น เพราะคุณมีเรื่องของ Social Impact ที่คุณต้องสร้างด้วย ไม่ใช่เรื่องของงานหน้าที่ปกติอย่างเดียว แต่มันมีงานมากกว่าคนอื่น เกิดความรับผิดชอบ มากกว่าคนอื่น


3.การเป็นพนักงาน SE คิดว่าเหมือนหรือแตกต่างกับการเป็นพนักงานบริษัทปกติหรือไม่ อย่างไร?

คุณหนอน : ลักษณะองค์กรที่เป็น NGO รูปแบบเวลาที่เราทำงาน การตัดสินใจ การวางแผนการต่างๆต้องมีการผ่านผู้ใหญ่ ส่วน SE เราสามารถ handle งานของเราได้เอง

คุณบอล : ต้องบอกว่าในองค์กรใหญ่จะมีข้อดีที่ เรื่องของการทำงานเป็นระบบ ทำให้เรารู้ว่าเราต้องทำงานอย่างไรให้เป็นขั้นเป็นตอน พอมาทำงานในองค์กรเล็ก จะมีข้อดีที่ว่าเราได้มีโอกาสได้ลงมือทำ มีโอกาสได้ลุยจริง ๆ มีโอกาสได้เห็นผลลัพธ์ที่มันเร็วขึ้น

คุณหนอน : สามารถพูดกันได้อย่างตรงไปตรงมา Open ได้ บางองค์กรแบบคุณเป็นลูกน้องนะ คุณไม่ควรที่จะพูดแบบนี้ ไม่ควรที่จะออกความ คิดเห็นเยอะแยะมากมาย ก็แค่ทำตามไป อันนี้มันทำให้เขาไม่โตด้วย


4. โดยภาพรวม คิดว่าคนข้างนอกถ้ารู้ว่าเราทำงานSEจะมีความรู้สึกแบบไหน คิดว่าข้างนอกมองต่างหรือไม่?

คุณยิ้ม : ส่วนมุมมองของคนรอบข้างจะมองว่าเราทำงานการกุศลไม่ต้อง Serious มาก มองว่าเราไม่คิดมากเรื่องเงินเดือนหรือไม่คิดว่าเราจะมี career path แต่ทุกคนในองค์กรได้รับทำเงินเดือนปกติตามตำแหน่งหน้าที่ บางคนบอกว่าอิจฉาเราที่มีเป้าหมายของตัวเอง ต่างกับเขาที่ทำงานหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ของบริษัทอย่างเดียว

คุณอุ๋ม :ตอนเริ่มต้นคิดแค่ว่าเราอินกับสิ่งนี้ อยากทำงานนี้โดยไม่ได้สนใจว่าคนรอบข้างจะคิดอย่างไร แต่เรารู้ตัวเองว่าเรามี passion แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายก็คือเรามี Social mind เยอะแต่เราไม่รู้เรื่อง business เลยถูกย้ายมาทำ Sales and marketing พอมาทำตำแหน่งนี้แนวคิดเราเปลี่ยน เกิดคำถามว่าเราจะทำให้ชุมชนอยู่ได้ยังไง  ในเมื่อเราสร้างแต่สังคมได้ ไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจได้

คุณบอล : พอพูดถึงว่าเรามาทำงาน SE แบบนี้ หลายคนบอกว่าเหมือนมูลนิธิหรือเปล่า มันได้รายได้น้อยไหม ซึ่งสำหรับในความคิดของคนที่ทำงานตรงนี้ที่เป็น SE เนี่ย ผมรู้สึกว่ามันก็คือ บริษัทจำกัด บริษัทหนึ่งที่เรามีวัตถุประสงค์เพื่อทำเพื่อสังคมในด้านใดด้านหนึ่งที่เราสนใจอยากเข้าไปช่วยนะครับ


5. คิดว่าเป็นพนักงาน SE มีอนาคตมั้ย?

คุณอุ๋ม : อุ๋มว่าเราก็เริ่มเห็นความกว้างของตลาดงานมากขึ้นนะคะ หมายถึงตัว Social Enterprise มันก็เป็น Passion มันเป็นสิ่งที่เราเลือกตัดสินใจทำแล้วเราฟินในทุก Step ก้าวที่เดินมา แล้วมันแบบ Achieve ได้ เช่น มันมีการเติบโต มีคนใหม่ ๆ เข้ามาช่วย มีอะไรให้เราได้เรียนรู้ตลอดเวลาค่ะ มันก็ท้าทาย

คุณเอื้อง : อย่างธุรกิจทั่วไปก็เริ่มมีความสนใจเรื่องของสังคมมากขึ้น ด้วยความที่ปัญหาสังคมเริ่มเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาครัฐบาล หรือภาค SE อย่างเรา ต่อให้คุณไปทำงานภาคธุรกิจ Skill ของคุณในการสร้าง Social Impact เอื้องเชื่อว่าจะได้รับการ Recognize ในองค์กรอื่นที่เห็นความสำคัญ ของเรื่อง Social เหมือนกันค่ะ

คุณแก๊ป : ผมก็เชื่อว่าตอนนี้ฝั่งธุรกิจโลกก็มองเห็น SE มากขึ้น เขาเริ่มเข้าใจว่าบางงานเขาไม่สามารถทำได้ เขาอาจจะมา สนับสนุน SE ให้ทำในสิ่งที่เขาทำไม่ได้ก็ได้ หรือเราเองวันหนึ่งเราจะกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ขึ้นไป

คุณไผ : เป้าหมายเราก็คือสิ่งที่เราซื้อใจน้อง ๆ คือเราพยายามที่จะบอกน้อง ๆ เสมอว่าก่อนที่เราจะตัดสินใจจะจ้างใครสักคนเราต้องมีเงินที่จะจ้างเขาระยะยาวได้ อย่างน้อยคือต้องมองภาพ 6 เดือน หรือ 1 ปีที่เขาจะอยู่กับเราได้ อันนี้คือสิ่งที่เราบอกกับน้อง ๆ เสมอว่าพี่จะพยายามหาเงินมาเพื่อจ้างน้องให้ได้

คุณหนอน : มันไม่ใช่ว่าการที่เรามาทำงานด้านสังคม เราจะต้องได้เงินน้อย อันนี้ไม่เข้าใจ Mindset หลาย ๆ องค์กรเหมือนกันว่าทำไม คนที่ทำงานด้านสังคม คนที่ทำ NGO จะต้องได้เงินเดือนน้อย แล้วก็อีกอย่างหนึ่งคือ ถ้ามองว่าอย่างของเราเนี่ยเงินเดือนโอเคเลยนะคะ ไม่ได้หมายถึงว่าเราได้เยอะมาก หรือเราไม่ได้ได้น้อยมาก เราได้แบบที่เราอยู่ได้ และคิดว่าการที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำงาน เขาก็จะต้องตอบโจทย์ชีวิตตัวเองได้คือเขาต้องไม่ลำบาก การที่ไม่ลำบากคือแบบ เขาเลี้ยงตัวเองได้ เขาเลี้ยงครอบครัวได้ เขาอยากจะใช้ชีวิตแบบที่เขาอยากจะใช้ชีวิตได้ บวกกับเขาได้ทำงานในสิ่งที่เขาอยากจะทำแล้วก็รู้สึกชอบ คือมันน่าจะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

คุณบอล : คิดว่าในส่วนที่เราทำตรงนี้ ณ ตอนนี้ผมเห็นว่าใน Stage ของ SE อย่างที่กลุ่มแรกเข้ามาบุกเบิก จนมาถึงรุ่นนี้ ผมเชื่อว่ามาตรฐานมันก็น่าจะเพิ่มขึ้นมาระดับนึงแล้ว แล้วเชื่อว่าถ้าเกิดว่าเรายัง Gear up ต่อไปได้มันก็อาจจะอยู่ในมาตรฐาน อันนี้พูดในแง่ Benefit เงินเดือนพนักงานด้วยครับ ผมเชื่อว่าถ้าบริษัทมีกำไรมากขึ้น พนักงานก็ต้องอยู่ดีขึ้นแน่นอน เพราะว่าเรื่องคนผมเชื่อว่าใน SE พวกเราให้ความสำคัญที่สุด


6. คิดว่า SE กำลังมองหาพนักงานแบบไหนและคิดว่าพนักงานควรเป็นยังไง?

คนที่มี Passion ในการอยากแก้ไขปัญหาสังคม คนที่พร้อมเหนื่อยกับการทำงานหนักเพื่อแลกกับสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่ดีและน่าอยู่มากขึ้น คนที่ชอบความท้าทายอยากได้ลองแก้ปัญหา อยากชนะใจตัวเองชนะปัญหาที่เกิดขึ้น


7. Q&A

คำถาม: ผมทำ Project กับทาง Central นะครับ เอางานสินค้ามาให้ศิลปิน เซเลป Custom ครับ แล้วก็จัดประมูลเอารายได้เข้าไปในมูลนิธิและสิ่งแวดล้อม แล้วผมกำลังจะจดบริษัท เป็น SE เหมือนกันครับ อยากขอถามในรูปแบบนี้มันมีคนทำไหมครับลักษณะนี้เกี่ยวกับงาน Art?

คำตอบโดยคุณไผ : ยังไม่ได้เห็นธุรกิจ SE ในประเทศไทยทำเรื่องนี้ หรือว่ายังไม่เคยเห็นเป็นกิจจะลักษณะ ของเมืองไทยเห็นแต่ภาครัฐทำมาแต่ก็ไม่ได้เป็นอะไรขนาดนั้น

(เพิ่มเติมโดยคุณสุดารัตน์ – ผู้จัดการทั่วไปของ SE Thailand: มี SE ที่ทำใกล้เคียงกันกับโมเดลดังกล่าวคือ Socialgiver)

 

คำถาม: รู้สึกว่าเรามีค่าจ้างพนักงานหรือเงินเดือนที่ไม่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของคนเก่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามหาคนเก่งเข้ามาในการร่วมมือกับเรา คำถามคือทำไมไม่เลือกคนที่มีแนวคิด แทนที่จะโฟกัสกับสิ่งที่เราต้องมานั่งหาพนักงานที่ต้องการเพื่อตอบโจทย์ Lifestyle ของเขา ไม่แน่ใจว่าการทำงานฝั่ง SE ตรงนี้หาคนที่มีแนวคิดหรืออยากจะทำเพื่อสังคมจริง ๆ มัน ค่อนข้างยากอย่างไร หรือมันมีปัญหาอย่างไรที่จะหาคนที่มีความคิดแบบนี้?

คำตอบโดยคุณนีล : วงการ SE ตอนนี้ก็คือว่าต้องดึงคนจากฝั่งธุรกิจมาทำฝั่งสังคม เพราะว่าเราถ้าจะเทรนคน ฝั่งสังคม เรื่องธุรกิจมันยากกว่า คือคนที่มาจากฝั่งธุรกิจเขาจะมองในเรื่องของ Option เรื่องของผลตอบแทนเป็นเรื่องปกติ แต่ที่คำถามว่าทำไมไม่หาคนที่มีแนวคิด จริง ๆ น่ะมีครับ แต่นับจากเคสที่ส่วนใหญ่จะมาจากคนฝั่งสังคม ซึ่งเขาไม่ได้พัฒนาทักษะที่จะมา ช่วย SE มันยั่งยืนได้ มันก็เลยเป็นจุดที่คิดว่า เราพยายาม Educate ให้คนเข้าใจมากขึ้นว่าเป็นทางเลือกของคนที่เก่งเขาก็มาทำได้

 

คำถาม: อยากได้ Insight จากผู้ร่วมพูดคุยว่ามีวิธีการอธิบายหรือว่ามีวิธีการ Communicate เรื่องของการเป็น SE ที่ดีอย่างไรบ้าง?

คำตอบโดยคุณไผ: ผมว่ามันอยู่ที่ว่าเรา Pitching ใครด้วย ถ้าเรา Pitching Impact Investor มันก็ต้องอีกมุมมองนึง ซึ่งมันเข้ากับ SE มากกว่า แต่ถ้ามันเป็น Pitching กับ Investor ที่ Profit-driven มันก็อยู่ที่เราแล้วว่าเราไม่สามารถทำให้เขามาบอกได้ว่ามันดีหรือไม่ดี เพราะเราทำมาเรารู้ว่ามันดี ทีนี้สิ่งที่มาคุยกับเขาคือ เรื่องของเงิน ถ้าเรามั่นใจว่าทำเงินได้ ก็ทำให้เขาเห็นว่ามันทำเงินได้ และสร้างกำไรได้จริง ๆ หรือว่าต้องเห็นชัดเจนว่าบริษัทหุ้นที่เราจะเสียไปมันมากน้อยเท่าไหร่ ถ้าเราไม่ยอมไม่กล้าที่จะเสียหุ้นมาก ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปหา

 

คำถาม: อยากขอตัวอย่างพนักงานที่หมุนเวียนออกจากบริษัทไปเขามีอนาคตที่ดีขึ้น อาจจะทำองค์กร SE ที่ใหญ่ขึ้น หรือไปทำองค์กรบางองค์กรที่เป็นเอกชนแล้วทำงานด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะไหม?

คำตอบโดยคุณนีล:  อันนี้ผมว่ามันเป็น Career Path ที่ดีนะครับ เพราะอย่างคนที่เคยทำกับเรา เขาก็ไปทำเป็น Executive รอง CEO ที่บริษัทเยอรมัน ก็เป็น Good Career