วันที่ 28 มีนาคม 2562 สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม ร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และ Asian Venture Philanthropy Network (AVPN) จัดงานเสวนา “Leveraging Partnership for Empowering People and Ensuring Inclusiveness and Equality : Role of Private Sector and Civil Society in Achieving SDG 4 8 10 13 16 and 17” ซึ่งเป็นงานเสวนาคู่ขนานในงาน Sixth Asia-Pacific Forum on Sustainable Development (APFSD 6)* ณ อาคารสหประชาชาติ
งานดังกล่าวเกิดจากความตั้งใจของกระทรวงการต่างประเทศไทย ในการเผยแพร่ธุรกิจเพื่อสังคมในฐานะหนึ่งในเครื่องมือที่จะนำประเทศไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ทั้ง 6 เป้าหมายที่สหประชาชาติมีการติดตามผลในปีนี้ ได้แก่ เป้าหมายที่ 4 8 10 13 16 และ 17 สมาคมธุรกิจเพื่อสังคมได้นำธุรกิจเพื่อสังคมในเครือข่าย 7 องค์กรเข้าร่วมงาน ประกอบด้วย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, KidKid, Saturday School, Siam Organic, Social Health Enterprise, Local Alike และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ รูปแบบการเสวนาเป็นแบบ World Café ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจำนวน 70 ท่าน สามารถฟังบรรยายโดยย่อจากธุรกิจเพื่อสังคม รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและคำถามต่าง ๆ ที่มีต่อธุรกิจเพื่อสังคมรายละ 15 นาที ผู้เข้าร่วมงานแต่ละท่านจึงมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับธุรกิจเพื่อสังคม 4 รายตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมงของการเสวนา
*งาน APFSD 6 เป็นการประชุมประจำปีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เพื่อเตรียมการในระดับภูมิภาคซึ่งปูทางไปสู่เวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development : HLPF) ในช่วงปลายปี สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของงาน APFSD 6 ได้ที่นี่
ทีมงานได้เก็บภาพบรรยากาศ รวมทั้งข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมที่เข้าร่วมงาน มาฝากทุกท่านด้วยค่ะ ร่วมติดตามไปด้วยกันนะคะ
อภัยภูเบศร
เป็นกิจการเพื่อสังคมที่พัฒนาและส่งเสริมการใช้สมุนไพรตามภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย การดำเนินธุรกิจครอบคลุมการพัฒนาแหล่งเพาะปลูกและผลิตสมุนไพร รวมถึงการแปรรูปและจัดจำหน่ายสมุนไพรในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งในลักษณะของยารักษาโรค และผลิตภัณฑ์สำหรับอุปโภคและบริโภคในครัวเรือน โดยปัจจุบันมีเกษตรกรที่เปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาปลูกสมุนไพรกว่า 5,000 ราย ทำให้มีรายได้สูงขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่า และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
Kid Kid
เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ออกแบบและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และให้บริการที่ปรึกษาด้านพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมกับองค์กรต่าง ๆ เน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานของบริษัท เช่น การร่วมออกออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าชุมชน การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งประเทศ
Saturday School
เป็นโครงการที่กลุ่มอาสาสมัครรวมตัวกันเพื่อจัดการเรียนการสอนให้กับเด็ก ๆ ในชุมชนแออัดและโรงเรียนขยายโอกาสในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เรียนวิชาที่ตนเองสนใจ โดยมีครูอาสาสมัครมาสอนให้ทุกเช้าวันเสาร์ ซึ่งวิชาเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีสอนในหลักสูตรของโรงเรียน เช่น ถ่ายภาพ ร้องเพลง มวยไทย ทำอาหาร เต้น ฟิล์ม ออกแบบบอร์ดเกม ออกแบบผลิตภัณฑ์ การพูดในที่สาธารณะ การตัดต่อวิดีโอ การทำธุรกิจ ฯลฯ โครงการนี้ทำงานภายใต้ความเชื่อที่ว่า “เด็กจะพัฒนาศักยภาพได้เต็มที่ก็ต่อเมื่อได้เรียนในสิ่งที่สนใจ” ซึ่งทำให้เด็ก ๆ ได้มีพื้นที่ในการพัฒนาความสามารถและศักยภาพอย่างไร้ข้อจำกัด
Siam Organic
เป็นบริษัทเจ้าของแบรนด์ข้าวคุณภาพชั้นนำ Jasberry® ซึ่งปลอดภัยและดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ออแกนิคที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่สำคัญ ตลอดกระบวนการผลิตข้าวแต่ละเมล็ดของบริษัท มาจากความทุ่มเทในการพัฒนาศักยภาพของชาวนาไทย ให้มีความรู้ความเข้าใจในขบวนการผลิตที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด จุดมุ่งหมายของธุรกิจคือการนำพาชาวนาไทยให้หลุดพ้นจากความยากจน ด้วยการสร้างรายได้สูงสุดจากการผลิตข้าวคุณภาพสูง และการทำการตลาดที่เข้าถึงผู้บริโภค
Social Health Enterprise (SHE)
SHE ตั้งต้นธุรกิจมาจากความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาของคนเมืองกับคนด้อยโอกาสไปพร้อม ๆ กัน คุณหมอพูลชัย จิตอนันตวิทยา ผู้ก่อตั้งธุรกิจ เป็นศัลยแพทย์หัวใจ ผู้ออกแบบโปรแกรมนวดขนาดย่อ ที่เรียกว่า Human Maintenance Service ใช้เวลานวดเพียง 10 นาที ผู้รับบริการจะหายจากอาการ work place stress ทันที ถือเป็นบริการที่แก้ไขปัญหาของคนในเมือง แต่ความพิเศษของธุรกิจบริการนวดนี้อยู่ที่การจ้างงานอดีตผู้ต้องขัง และเยาวชนในพื้นที่เขาหัวโล้นที่ครอบครัวพึ่งพิงรายได้จากการบุกรุกป่าเพื่อปลูกข้าวโพด ธุรกิจนี้จึงไม่เพียงแต่ให้บริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค แต่ยังสร้างโอกาสให้กลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงอาชีพที่สร้างรายได้มั่นคง ถือเป็นตัวอย่างธุรกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจริง ๆ
Local Alike
เป็นธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน ที่แตกต่างจากบริษัทนำเที่ยวทั่ว ๆ ไป เนื่องจากธุรกิจตั้งต้นมาจากความพยายามที่จะทำให้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยลงไปถึงชุมชนให้มากที่สุด แทนที่จะกระจุกตัวอยู่กับสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม หรือร้านค้าไม่กี่แห่ง การสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่เข้าถึงชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมในชุมชน ไปจนถึงการรักษาวัฒนธรรมและธรรมชาติในขณะท่องเที่ยวจึงเป็นหัวใจในการทำธุรกิจของ Local Alike นอกจากนี้กำไรที่ได้จากการบริการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งยังถูกจัดสรรเป็นกองทุนในชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างยั่งยืนอีกด้วย
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีวัตถุประสงค์เริ่มต้นในการช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ดอยตุง จังหวัดเชียงราย ให้ช่วยตัวเองได้ ปัญหาในอดีตของพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ การปลูกฝิ่น การทำเกษตรแบบไร่เลื่อนลอยทำให้เกิดการบุกรุกป่า การค้ามนุษย์ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาพสะท้อนของต้นตอปัญหาที่แท้จริง คือความยากจน และการขาดโอกาสของคนในพื้นที่ เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่ คือการพัฒนาที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง เน้นการส่งเสริมอาชีพทางเลือกทดแทนการปลูกฝิ่น ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ในพื้นที่ แก้ไขปัญหาความยากจนผ่านธุรกิจภายใต้แบรนด์ดอยตุง ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์และบริการ 4 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร (กาแฟและแมคคาเดเมีย) ผลิตภัณฑ์เกษตร งานหัตถกรรม และการท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน และทำให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน