เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (SE Thailand) จัดร่วมกับ C asean ได้ร่วมกันจัดงาน Dinner Talk: Scaling Up the Social Impact ณ C asean โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 100 คนจากวงการธุรกิจเพื่อสังคม นักลงทุน และองค์กรตัวกลาง ต่างได้ร่วมเรียนรู้ไปกับการเสวนาบนเวทีจาก Speakers ที่มาจากต่างประเทศ
ความพิเศษของงานคือทางสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (SE Thailand) ได้เชิญสปีกเกอร์ที่เป็น ‘ตัวจริง’ ในวงการธุรกิจเพื่อสังคมมาร่วมแบ่งปันบทเรียนและประสบการณ์ โดยบทความนี้เราจึงคัดประเด็นที่น่าสนใจมาฝากผู้อ่านกัน
สรุปประเด็นที่น่าสนใจจาก Speakers ทั้ง 3 ท่าน
1. เริ่มที่คนแรก คุณ “Helianti Hilman” CEO หญิงแกร่งจากบริษัท Javara ประเทศอินโดนีเซีย
เธอเป็นผู้นำในการส่งเสริมความหลากหลายของอาหารพื้นถิ่น ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นซึ่งปัจจุบันจัดจำหน่ายทั้งในอินโดนีเซียและทั่วโลก
หัวข้อในการพูดของเธอคือ “ความคิดสร้างสรรค์เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของผู้ประกอบการสังคม” เธอได้กลั่นกรองประเด็นที่ได้จากประสบการณ์ตรงในการการประกอบธุรกิจเพื่อสังคมของเธอเอง สรุปเป็นบทเรียนให้กับเพื่อน ๆ นักธุรกิจเพื่อสังคมดังนี้ค่ะ
- ข้อแรก ระวังกับดักชื่อเสียง การได้รับความสนใจในวงการสื่อสารมวลชนเป็นการสร้างตลาดให้กับสินค้าและบริการของคุณไปในตัว แต่ก็ต้องระวังการอยู่ในสปอตไลท์มากเกินไป เพราะอาจทำให้คุณในฐานะผู้ประกอบการตกหลุมกับดักชื่อเสียง และสาละวนอยู่กับงานที่ไม่ได้พัฒนาธุรกิจของคุณได้จริง ๆ พึงระวังว่าแบรนดิ้งของคุณจะแข็งกว่ากระแสเงินสดของคุณ อันตรายอย่างร้ายแรงคือ เมื่อตลาดสนใจคุณมาก ๆ แต่คุณกลับตอบตลาดไม่ได้ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ คุณจะล้มจากชื่อเสียงของคุณในชั่วข้ามคืน
- ข้อสอง หากคุณกำลังต้องการขยายธุรกิจ คุณต้องหันกลับมาทำความเข้าใจตัวคุณเองในฐานะผู้ก่อตั้งกิจการว่า คุณกำลังเป็นคอขวดขององค์กรหรือไม่ คุณทำอะไรได้ดี และทำอะไรได้ไม่ดี จงทำเฉพาะสิ่งที่คุณทำได้ดี และจ้างคนอื่นให้ทำในสิ่งที่คุณทำได้ไม่ดี เมื่อนั้นองค์กรคุณถึงจะขยายตัวได้ อย่าให้ตัวคุณเป็นภาระกับองค์กรของคุณเอง
- ข้อสาม ความกล้าได้กล้าเสียในการลงทุนของคุณมาจากความเชื่อในสินค้าของคุณเอง เมื่อใดที่คุณไม่กล้าลงทุนแปลว่าคุณไม่เชื่อในสินค้า
นอกจากนี้ ยังมีคำถามที่น่าสนใจจากผู้ฟังเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพสินค้าของ Javara ซึ่งกระจายไปทั่วหมู่เกาะอินโดนีเซียว่าสามารถทำได้อย่างไร เธอบอกว่าการควบคุมคุณภาพแบบรวมศูนย์เป็นไปได้ยากมาก เพราะเธอไม่สามารถควบคุมทุกอย่างจากจาการ์ตาได้ แต่เธอไม่มีปัญหาในการควบคุมคุณภาพสินค้าเลย เพราะสิ่งนี้ได้รับการแก้ไขตั้งแต่ในโมเดลธุรกิจของเธอ Javara เป็นธุรกิจที่สร้างธุรกิจเล็ก ๆ ในชนบทที่ห่างไกลอีกทอดหนึ่ง เพราะฉะนั้นหน้าที่หลักของธุรกิจนี้คือการลงทุนในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ การทำให้คนในท้องถิ่นสามารถผลิตและควบคุมคุณภาพได้เอง ในปีแรก ๆ ของการทำธุรกิจ เธอต้องส่งคนจากบริษัทไปประจำในธุรกิจเล็ก ๆ เหล่านั้น บางที่มีผู้จัดการลักษณะนี้อยู่ 3 คนในปีแรก ในปีต่อ ๆ มา เธอค่อย ๆ เรียกตัวผู้จัดการเหล่านี้กลับบริษัท จนกระทั่งไม่เหลือใครนั่งคุมธุรกิจเล็ก ๆ นั้นเลย คนท้องถิ่นที่ได้รับการพัฒนาเข้ามาดูแลกิจการเองได้ สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพระดับส่งออกได้เอง
- “คุณ Rico Gonsalez” ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหาร Xchange บริษัทบ่มเพาะธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศฟิลิปปินส์
คุณ Rico ลงทุนและให้คำปรึกษาธุรกิจเพื่อสังคมในระยะตั้งไข่ ช่วยให้ธุรกิจเพื่อสังคมเหล่านั้นเกิดความยั่งยืนในทางการเงินและบรรลุวัตถุประสงค์ทางสังคม ในขณะเดียวกันก็เป็นประธานกรรมการอโชก้า ฟิลิปปินส์ เขาหวังจะสร้างความเติบโตในระบบนิเวศที่สนับสนุนนวัตกรรมและธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศฟิลิปปินส์
น่าเสียดายมาก ๆ ที่พวกเรามีเวลาจำกัดเพียง 15 นาทีในการฟังเรื่องราวดี ๆ จากคุณ Rico แต่คุณ Rico ก็สามารถสรุปประสบการณ์ที่กลั่นกรองมาจากการทำงานด้านธุรกิจเพื่อสังคมตลอด 8 ปีที่ผ่านมาในฐานะนักลงทุนทางสังคม และผู้บ่มเพาะธุรกิจเพื่อสังคม ภายใต้หัวข้อ “เส้นทางของนักลงทุนทางสังคม : บทเรียนสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุน”มาติดตามกันค่ะว่า ข้อคิดสามประการที่คุณ Rico กลั่นออกมาอย่างเน้น ๆ มีอะไรบ้าง
- ประการแรก สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักลงทุนคือตัวผู้ประกอบการ จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมดูเหมือนนักลงทุนจะตัดสินผู้ประกอบการตลอดเวลา เพราะนักลงทุนต้องตัดสินผู้ประกอบการจริง ๆ ว่าจะทำให้ธุรกิจนั้น ๆ ไปรอดหรือไม่ การตัดสินเช่นนี้ไม่มีความชอบหรือความเกลียดชังส่วนบุคคลเกี่ยวข้องเลย นักลงทุนเพียงแค่ต้องการตัดสินใจว่าจะนำทรัพยากรที่จำกัดไปจัดสรรให้กับใครดี ในฐานะผู้ประกอบการ คุณจึงต้องเริ่มจาก “รู้จักตัวคุณเอง” ก่อน ซึ่งเป็นการรู้จักตัวเองในสองระดับ คือระดับการเป็นผู้ประกอบการ หรือตัวคุณ และระดับองค์กร หรือธุรกิจของคุณ ในระดับการเป็นผู้ประกอบการ คุณต้องรู้จักพื้นที่ของคุณว่าคุณยืนอยู่ที่ไหนในแวดวงการลงทุนนี้ แสดงให้นักลงทุนเห็นว่าคุณมีความแน่วแน่ที่จะทำให้ธุรกิจคุณรอดและเติบโตได้อย่างไร รู้ว่าตัวคุณเองทำอะไรได้/ไม่ได้ รู้ข้อจำกัดของตนเอง และรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ต้องร้องขอความช่วยเหลือ เพราะไม่มีนักลงทุนอยากรู้ตัวอีกทีเมื่อทุกอย่างกำลังดิ่งลงเหว และช่วยอะไรคุณไม่ได้แล้ว ในระดับองค์กร คุณต้องรู้ว่าอะไรคือจุดแข็ง จุดอ่อน ภัย และโอกาสขององค์กรของคุณ การตัดสินใจทางธุรกิจของคุณส่วนใหญ่จะต้องอาศัยความรู้ในตัวคุณและองค์กรของคุณ
- ประการที่สอง “ทำความรู้จักนักลงทุนของคุณ” ตรวจสอบเบื้องลึกเบื้องหลังนักลงทุนของคุณ เช่นเดียวกับที่นักลงทุนทำกับผู้ประกอบการ ทำความเข้าใจว่านักลงทุนที่คุณกำลังเข้าหา เขาลงทุนเพราะอะไรและลงทุนอย่างไร หาข้อมูลว่าเขาตัดสินคุณจากอะไร นักลงทุนเหล่านี้จะเป็นคนต่อสู้แทนคุณในคณะกรรมการลงทุน เพราะฉะนั้นทำให้เขามั่นใจที่จะกระโดดมาร่วมหัวจมท้ายกับคุณ เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด หากคุณเก็บซ่อนอะไรไว้ นักลงทุนก็จะไม่สามารถตอบคำถามคณะกรรมการลงทุนได้อย่างถูกจุด และเมื่อนั้นแหละจะเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของคุณเช่นกัน นอกจากนี้แล้วคุณยังต้องรู้จักประเภทของนักลงทุนและประเภทของเงินที่คุณกำลังมองหาด้วย นักลงทุนไม่มีใครเหมือนกันซักคน ในการตกลงเพื่อลงทุนเพื่อสังคม สิ่งที่นักลงทุนและผู้ประกอบการหารือกันมีแค่ว่า เราจะคาดหวังผลกำไรและผลกระทบระดับไหนกันดี แต่สิ่งที่ถูกซ่อนไว้ใต้พรม ไม่ได้นำมาถกกันคือ ระดับความเสี่ยงแบบไหนที่เราจะยอมรับกันได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับนักลงทุน นักลงทุนที่ลงทุนในธุรกิจที่เพิ่งตั้งไข่ เขายอมรับความเสี่ยงประเภท binary คือรอดหรือตาย เขายอมรับกับการที่ตื่นมาวันหนึ่ง บริษัทที่เขาลงทุนจะล้มหายตายจากไป เพราะเขารู้ว่านั่นคือความเสี่ยงของการลงทุนในบริษัทเกิดใหม่ แต่นักลงทุนที่ลงทุนในธุรกิจที่เริ่มเติบโตแล้ว เขารับความเสี่ยงของการล้มหายตายจากไปของธุรกิจไม่ได้ สิ่งที่เขารับได้คือการที่คุณทำกำไรหรือผลกระทบเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายที่สัญญากันไว้ระดับหนึ่ง การเข้าใจความสี่ยงเหล่านี้จะทำให้คุณได้คนที่ถูกต้องมานั่งอยู่ในห้องประชุมกรรมการหรือผู้ถือหุ้น
- ประการสุดท้าย ในกราฟเส้น ที่มีแกนตั้งบอกกำไร และแกนนอนบอกระยะเวลา ธุรกิจในระยะเริ่มต้นที่ยังขาดทุนจะมีเส้นกราฟที่ลากจากจุดศูนย์และดิ่งลงไปเรื่อย ๆ ก่อนที่จะโงหัวขึ้นไปจนแตะจุดเท่าทุน และพุ่งไปสู่แดนบวกตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ช่วงที่ธุรกิจยังว่ายวนอยู่ในแดนลบนี้ คุณ Rico เรียกมันว่าเป็นพื้นที่ “หุบเขาแห่งความตาย” ความน่ากลัวของหุบเขาแห่งความตายคือการไม่มีกระแสเงินมาดึงเส้นกราฟให้พ้นแดนความตาย ผู้ประกอบการอาจจะมีเงินช่วงแรกสุดจากนักลงทุน แต่ต้องไม่ลืมที่จะรีบหาเงินจากผู้บริโภคมาเติมโดยเร็วที่สุดด้วย เงินจากผู้บริโภคจะเป็นตัวตัดสินว่าสินค้าของคุณจะอยู่หรือจะไปมากกว่าเงินของนักลงทุน สิ่งที่คุณต้องการโดยเร็วคือการซื้อซ้ำ ไม่ใช่การลงทุนซ้ำ และสำหรับผู้ประกอบการเพื่อสังคม หุบเขาแห่งความตายนี้ยิ่งกินระยะเวลายาวนานกว่าธุรกิจปกติเพราะคุณอยากจะทำเพื่อสังคมไปพร้อม ๆ กัน แปลว่าคุณมีต้นทุนที่สูงกว่า จากประสบการณ์ในการลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคม เขาพบว่าธุรกิจผ่านพ้นช่วงหุบเขาแห่งความตายและเริ่มทำกำไรได้หลังจากปีที่ 7 โดยเฉลี่ย อย่างไรก็ดี ด้วยความอยากขยายผลกระทบทางสังคม นักธุรกิจเพื่อสังคมจึงมักลงทุนในรอบที่สอง หรือพาตัวเองกลับสู่หุบเขาแห่งความตายอีกรอบ ซึ่งยังต้องมาดูกันต่อไปว่า ในหุบเขาแห่งความตายระลอกที่สองนั้น ธุรกิจเพื่อสังคมเหล่านี้จะเริ่มคืนทุนได้ในปีไหน
3. สุดท้ายคือ “คุณ Alfie Othman” เป็นผู้นำ raiSE หรือศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมสิงคโปร์
raiSE ได้รับจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการประกอบการทางสังคม และจัดหาความสนับสนุนให้กับธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศสิงคโปร์ ด้วยความมุ่งหมายที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจเพื่อสังคม ในฐานะเครื่องมือที่ยั่งยืนในการตอบสนองต่อความต้องการทางสังคม raiSE ดูแลกองทุนมูลค่า 30 ล้านเหรียญดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งจัดหาจากหลายภาคส่วน เพื่อนำไปสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมในรูปเงินทุนให้เปล่า และการลงทุนทางสังคมในระยะ 5 ปีข้างหน้านี้
ภายใต้หัวข้อ “โอกาสสำหรับธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศสิงคโปร์และอาเซียน” คุณ Alfie ได้พูดถึงประเด็นที่เกี่ยวกับการขยายผลกระทบของธุรกิจเพื่อสังคมดังนี้ค่ะ
- ข้อแรก การขยายผลกระทบทางสังคมต้องอาศัยการขยายธุรกิจ หากคุณไม่ได้ต่อรองผลกระทบทางสังคมในระหว่างที่ทำธุรกิจ การขยายธุรกิจของคุณย่อมหมายถึงการขยายผลกระทบทางสังคมไปด้วย นักธุรกิจเพื่อสังคมจะต้องถามตัวเองด้วยว่าจะมีกลยุทธ์การถอนตัวจากธุรกิจอย่างไร ในประเทศสิงคโปร์ การขยายธุรกิจที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการให้บริษัทใหญ่ควบรวมธุรกิจเพื่อสังคมที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน และเห็นคุณค่าร่วมในประเด็นทางสังคมเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ต้องมีการสร้างกลไกเพื่อป้องกันการที่ธุรกิจที่ถูกควบรวมจะผันตัวออกจากการสร้างผลกระทบ ด้วยการระบุวัตถุประสงค์ทางสังคมไว้อย่างชัดเจนในข้อบังคับของบริษัท เพราะการแก้ไขข้อบังคับขององค์กรในประเทศสิงคโปร์เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก นอกจากนี้ธุรกิจเพื่อสังคมยังต้องพิจารณาผู้ที่จะควบรวมกิจการเป็นอย่างดีด้วย
- ข้อสอง ประเทศสิงคโปร์มีการเปิดโอกาสให้กับการขยายผลกระทบทางสังคมในภูมิภาค คือการจัดตั้งกองทุนเอกชน 2 กองทุน เพื่อส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมในสิงคโปร์ให้ขยายธุรกิจมาในภูมิภาคอาเซียน ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมในไทยสามารถจดทะเบียนธุรกิจในสิงคโปร์ และเชื่อมกับมายังฐานของตนเองในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากกองทุนดังกล่าวได้
- ข้อสาม คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม คือ จงเขียนหนังสือที่เป็นเล่มของตนเองโดยเฉพาะ เพราะแต่ละคนมีแรงบันดาลใจ ความแข็งแกร่ง และจุดอ่อนที่ไม่เหมือนกัน ควรเลิกอ่านหนังสืออัตชีวประวัติของผู้มีชื่อเสียงทั้งหลาย เพราะคนเหล่านั้นเป็นข้อยกเว้น เราไม่มีทางเป็นเช่นนั้นได้ เราต้องเขียนอัตชีวประวัติที่เป็นเล่มเฉพาะตัวเราเอง
นอกจากประเด็นที่คุณ Alfie นำมาฝากแล้ว ยังมีคำถามที่น่าสนใจจากผู้เข้าร่วมงานว่า raiSE มีการวัดผลกระทบทางสังคมอย่างไร คุณ Alfie กล่าวว่ามีเครื่องมือในการวัดผลกระทบทางสังคมจำนวนมาก แต่ต้องพึงระวังว่าต้องไม่ใช้เครื่องมือเหล่านั้นเพื่อเปรียบเทียบว่าธุรกิจเพื่อสังคมใดดีกว่าหรือด้อยกว่าธุรกิจเพื่อสังคมอื่น ๆ เพราะผลกระทบที่แต่ละองค์กรจะสร้างเป็นคนละประเด็นกัน และคนมักสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมที่ทำงานในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของเขา มากกว่าจะสนับสนุนคนที่ทำได้ดีที่สุดในประเด็นที่ผู้สนับสนุนไม่ให้ความสนใจเลย ในกรณีของ raiSE สมาชิกจะต้องแถลงว่าตนต้องการสร้างผลกระทบสังคมในด้านใด เพื่อให้ผู้อื่นได้รู้เห็น ร่วมตรวจสอบว่าเป็นเป้าหมายที่เหมาะสมหรือไม่ และติดตามความคืบหน้าโดยเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ เครื่องมือในการวัดผลกระทบทางสังคมขององค์กรสมาชิกของ raiSE มีหลักคิดง่าย ๆ คือ วัดผลกระทบเป็นมูลค่าสำหรับผลกระทบที่ตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้ และให้ธุรกิจเพื่อสังคมแถลงผลกระทบทางสังคมส่วนที่ไม่สามารถตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้
คุณ Alfie ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงความเห็นของเขาต่อการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมด้วยว่า กรณีของประเทศสิงคโปร์ ไม่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคม เพราะกฎหมายจะฆ่าความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมในสิงคโปร์เป็นโมเดลของการปล่อยให้ภาคธุรกิจเพื่อสังคมพัฒนาด้วยต้วเอง