HCT Group กิจการเพื่อสังคมแบบไม่แสวงหากำไรขนาดใหญ่ของสหราชอาณาจักร

HCT Group1
รถเมล์ที่ HCT ให้บริการ
กิจการเพื่อสังคม HCT Group

HCT Group เป็นบริษัทด้านการคมนาคมที่ให้บริการรถเมล์สาธารณะและบริการขนส่งอื่น ๆ แม้จะเป็นกิจการเพื่อสังคมแต่ HCT ยังต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการรถเมล์สาธารณะรายอื่น ๆ เพื่อให้ได้สัญญาการเดินรถเมล์สายต่าง ๆ นอกจากนี้ยังให้บริการขนส่งกับกลุ่มคนเปราะบาง (vulnerable) ในสังคม เช่น คนชรา ผู้พิการ ผู้ป่วยที่ไปไหนมาไหนลำบาก รวมทั้งผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตที่ระบบขนส่งมวลชนเข้าไม่ถึง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเดินทางที่สะดวกสบายให้กับกลุ่มคนเหล่านี้

ในด้านเป้าหมายทางสังคม บริษัทต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยการเดินทาง ใช้การเดินทางขจัดอุปสรรคของกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง ให้คนเหล่านั้นได้เข้าถึงอาชีพการงาน การศึกษา บริการสุขภาพและการไปไหนมาไหนอย่างมีอิสระซึ่งกิจการถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งการสร้างโอกาสในการมีงานทำให้แก่คนที่ไม่ได้รับการจ้างงานมาเป็นเวลานาน

HCT Group เริ่มต้นกิจการในปี ค.ศ. 1982 ภายใต้ชื่อ Hackney Community Transport โดยให้บริการรถเมล์มินิบัสต้นทุนต่ำ (low-cost) เพื่อสาธารณะและชุมชนที่มีรายได้หลักมาจากเงินให้เปล่า จนกระทั่งองค์กรประสบปัญหาด้านการระดมทุน จึงพยายามหาวิธีปรับรูปแบบองค์กรให้เป็นกิจการเพื่อสังคมที่มีความยั่งยืนทางการเงินและมีประสิทธิภาพมากขึ้น องค์กรจึงเริ่มแข่งขันประมูลสัญญาสายรถเมล์สาธารณะที่มีอยู่ในตลาดเพื่อสร้างรายได้แก่องค์กรในระยะยาว ด้วยกลยุทธ์นี้องค์กรจึงเติบโตขึ้น ขยายกิจการจนมีพนักงานประมาณ 1,200 คน ให้บริการผู้โดยสารกว่า 23 ล้านเที่ยวต่อปี ด้วยพาหนะจำนวน 625 คัน และสร้างรายได้ในปีงบประมาณ 2016/2017 จำนวน 49.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2,227 ล้านบาท)

รายได้หลักของ HCT Group มาจากสัญญาเดินรถเมล์สาธารณะที่ประมูลมาได้ HCT ไม่มุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น แต่จะนำผลกำไรกลับไปลงทุนซ้ำ (reinvest) ในบริการคมนาคมที่สร้างผลลัพธ์ทางสังคม เช่น การให้บริการคมนาคมแก่ผู้พิการและคนชรา บริษัทระดมทุนจากแหล่งทุนได้ 14 ล้านปอนด์ (ประมาณ 649 ล้านบาท) ในปี 2015 และถือเป็นการระดมทุนครั้งใหญ่ที่สุดของกิจการเพื่อสังคมในสหราชอาณาจักร

บริษัทมีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่หลากหลาย เช่น รถเมล์แดงสาธารณะในกรุงลอนดอน จำนวน 10 สาย รถเมล์สาธารณะในเมือง และรถมินิบัสต้นทุนต่ำเพื่อการเดินทางเป็นหมู่คณะ ศูนย์การเรียนรู้ในกรุงลอนดอนที่ให้ความรู้ด้านการคมนาคมในหลายหลักสูตร เช่น การฝึกอบรมผู้ขับรถมินิบัส มีบริการการเดินทางของโรงเรียนและวิทยาลัยทั้งที่ให้กับนักเรียนนักศึกษาทั่วไป และผู้ที่มีความต้องการพิเศษ เช่น ผู้พิการ ผู้ใช้เก้าอี้รถเข็น และผู้สูงอายุ รวมไปถึงการออกแบบเส้นทางเฉพาะสำหรับชุมชนที่จะช่วยให้คนชราและผู้พิการสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก

 HCT Group2
รถโดยสารสำหรับผู้ใช้รถวีลแชร์ของ HCT
การประเมินผลลัพธ์ทางสังคม

ในด้านการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม HCT Group มีการประเมินผลลัพธ์ฯอย่างสม่ำเสมอ และออกรายงานผลลัพธ์ทางสังคมชื่อ HCT Group Social Impact Report อย่างต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2009/2010 การรายงานจะเป็นในรูปแบบทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ จากรายงานผลลัพธ์ทางสังคมของบริษัทในปี 2016 ระบุว่า ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่สองที่บริษัทได้ใช้กระบวนการวัดผลลัพธ์ทางสังคมใหม่สองรูปแบบ ที่จะทำให้บริษัทเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่บริษัทสร้างขึ้น คือ

1. บริษัทพยายามจะก้าวข้ามการรายงานเพียงจำนวนการเดินทางของผู้โดยสาร ไปสู่การพยายามทำความเข้าใจว่า การเดินทางเหล่านั้นมีความหมายอย่างไรต่อผู้ที่ใช้บริการ คือ มุ่งไปที่ผลลัพธ์ (outcomes) ไม่ใช่แค่ผลผลิต (outputs)

2. เริ่มใช้ชุดตัวชี้วัด Outcomes Matrix ของกองทุน Big Society Capital เข้ามาจับคู่กับการวัดผลลัพธ์เดิม

บริษัทตั้งต้นการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมจากพันธกิจทางสังคม คือ การสร้างการเข้าถึง (access) ด้านการคมนาคม และการขจัดอุปสรรคด้านการเดินทางให้กลุ่มผู้มีความต้องการพิเศษในสังคม เพราะการเดินทางสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตผู้คนได้ ไม่ว่าจะเพื่อการประกอบอาชีพ เรียนหนังสือ ใช้บริการด้านสุขภาพ พบปะครอบครัวเพื่อนฝูงหรืออื่น ๆ จากข้อมูลทุติยภูมิ บริษัทพบว่าผู้ที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง (vulnerable) ยังประสบปัญหาการเดินทางในลักษณะต่าง ๆ โดยสถิติในปี 2014 เทียบกับปี 2010 ผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวจะมีจำนวนเที่ยวการเดินทางที่น้อยกว่าคนทั่วไปร้อยละ 42 ซึ่งเป็นสถิติที่แย่ลง (จากเดิม คือ ร้อยละ 33) ตรงกับการเทียบจำนวนเที่ยวการเดินทางของผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวที่ลดลงจาก 696 เที่ยวต่อปีในค.ศ. 2010 เหลือ 569 เที่ยวต่อปีในค.ศ. 2014

ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงและตัวชี้วัด

บริษัทใช้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change) เป็นกรอบคิดในการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม โดยเริ่มต้นใช้เมื่อปี 2014 และเน้นที่ผลลัพธ์ทางสังคมควบคู่กับตัวชี้วัดใน 11 ประเด็นหลัก และมีผลผลิต (output) และตัวชี้วัด (social impact indicator) ที่บริษัทรายงานต่อผลลัพธ์แต่ละด้าน โดยแสดงผลลัพธ์ของปีงบประมาณปัจจุบันและปีก่อนหน้าเพื่อเปรียบเทียบ

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่บริษัทตั้งเป้าในการวัดผล ได้แก่

HCT Group3
ตัวอย่างตัวชี้วัดทางสังคมที่ HCT Group เลือกใช้
จุดประสงค์ของการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม

บริษัทเชื่อว่า การวัดผลลัพธ์ทางสังคมและการสื่อสารผลลัพธ์ทางสังคมมีความสำคัญในการชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของกิจการที่เป็นกิจการเพื่อสังคมและเน้นสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมกับกิจการคมนาคมทั่วไป และยังนำผลลัพธ์ที่ได้ไปใช้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น เมื่อทราบว่าจำนวนเที่ยวเดินทางของผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวลดลงจากปีก่อนหน้า หรือมีผู้พิการจำนวน 1 ใน 4 ต้องพลาดนัดพบแพทย์เพราะไม่สามารถหารถบริการไปได้ HCT Group ได้นำปัญหาต่างๆ เหล่านี้มาเป็นจุดตั้งต้นในการพัฒนาบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ทางสังคม

นอกจากนี้รายงานของ HCT ยังสำคัญต่อนักลงทุนหรือผู้ให้ทุน ด้วยความที่บริษัทเป็นกิจการเพื่อสังคมขนาดใหญ่ของสหราชอาณาจักรที่ได้รับเงินลงทุนสูงที่สุด การรายงานผลลัพธ์ทางสังคมของ HCT Group จึงถือเป็นต้นแบบในการรายงานให้กับกิจการเพื่อสังคมอื่นๆ ทำตาม รวมไปถึงการเป็นผู้บุกเบิกเริ่มใช้ชุดตัวชี้วัด Outcome Matrix โดย Big Society Capital ที่น่าจะกลายเป็นมาตรฐานตัวชี้วัดของกิจการเพื่อสังคมในสหราชอาณาจักรในอนาคตอันใกล้


ขอบคุณที่มา: Sal Forest – ป่าสาละ