Green Net ธุรกิจเพื่อสังคมที่เป็นผู้นำด้านเกษตรอินทรีย์ และผู้ริเริ่มเรื่องการค้าที่เป็นธรรมในประเทศไทย | SE STORIES ตอนที่ 11

สหกรณ์กรีนเนทเป็นกิจการแรก ๆ ในประเทศไทยที่ทำงานในประเด็นเกษตรอินทรีย์ ในยุคที่ผู้บริโภคในประเทศไทยยังไม่มีความเข้าใจในสินค้าเกษตรอินทรีย์ และยังเป็นกิจการแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) ทั้งสองสิ่งนี้สะท้อนความจริงจังและตั้งใจของ คุณวิฑูรย์ ปัญญากุล และทีมงาน ในการทำให้สหกรณ์กรีนเนทบรรลุวัตถุประสงค์ทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรและกลุ่มผู้ผลิต ในลักษณะของการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนการขายสินค้าผลผลิตเกษตรของเกษตรกรสมาชิก เป็นเครื่องมือสู่การบรรลุเป้าหมายนั้น ในทางสังคม สหกรณ์กรีนเนทส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรมในกลุ่มเกษตรกรที่เป็นคู่ค้า การทำงานอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เสริมด้วยการตรวจรับรอง ทำให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมั่นใจได้ว่าตลอดกระบวนการผลิตสินค้าไม่มีการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรรายย่อยอย่างแน่นอน ส่วนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ นอกจากจะดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคแล้ว ก็ยังเป็นเครื่องการันตีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เส้นทางของสหกรณ์กรีนเนทยาวนานเกือบสามสิบปีที่ผ่านมา จึงเป็นการเดินทางด้วยความกล้าหาญที่ทำในสิ่งที่ดีต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และต่อโลกของเรา    

คุณวิฑูรย์ ปัญญากุล ประธานสหกรณ์กรีนเนท
คุณวิฑูรย์ ปัญญากุล ประธานสหกรณ์กรีนเนท
Q: สหกรณ์กรีนเนท เป็นธุรกิจเกี่ยวกับอะไร

A: ถ้าให้เข้าใจง่ายที่สุด คือ เรามีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรรายย่อย และทำ 2 เรื่องหลัก ได้แก่ เรื่องเกษตรอินทรีย์ และเรื่องการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) 


Q: อะไรคือจุดเริ่มต้นของสหกรณ์กรีนเนท และชื่อ “กรีนเนท (Green Net)” มีที่มาอย่างไร

A: ก่อนหน้าที่จะตั้ง Green Net ผมทำงานกับองค์กรเอกชนมาก่อน เราพบว่าเกษตรกรประสบปัญหาจำหน่ายผลผลิตได้ราคาที่ไม่ยุติธรรม ส่วนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับเกษตรกรต้องขอทุนจากภายนอกมาทำเป็นโครงการ ได้โครงการจบ ก็เลิกทำงาน แบบนี้มันพึ่งพาตนเองไม่ได้ และไม่มีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ 

ด้วยปัญหาที่พบ จึงเห็นว่าน่าจะดีหากจัดตั้งองค์กรที่ดูแลเรื่องการตลาดให้เกษตรกรได้มีช่องทางจำหน่ายผลผลิต และผลผลิตจำหน่ายได้ราคากว่าที่เป็นอยู่ สามารถเลี้ยงดูตนเองได้ นี่จึงเป็นแนวคิดหลักของการมี Green Net และสาเหตุที่เลือกทำเกษตรอินทรีย์ก็ชัดเจนว่า ผู้บริโภคมีความสนใจ และพร้อมที่จะจ่ายเงินในจำนวนที่สูงขึ้น เพื่อให้ได้บริโภคสินค้าที่เป็นเกษตรอินทรีย์ 

ส่วนการจัดตั้งเป็นสหกรณ์ ด้วยความที่เป็นธุรกิจ และจำเป็นต้องอาศัยการส่งออก เพราะตลาดในประเทศไทยยังไม่เกิด ให้เกษตรกรรอผู้บริโภคไม่ไหว การมีสถานะเป็นนิติบุคคลจึงเป็นเรื่องสำคัญ แน่นอนว่ามีทางเลือกทั้งจัดตั้งเป็นบริษัทและเป็นสหกรณ์ แต่ด้วยประเภทผลผลิตข้าวเป็นสินค้าหลัก การส่งออกโดยเป็นบริษัท มีข้อกำหนดทางกฏหมายที่ค่อนข้างมาก รวมไปถึงความต้องการที่อยากให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการเป็นผู้ถือหุ้นด้วย การจัดตั้งในรูปแบบสหกรณ์ จึงมีความเหมาะสมกับเรามากกว่า

ส่วนชื่อ “กรีนเนท (Green Net)” ก็ตรงไปตรงมาครับ ย่อมาจากคำว่า Network ที่แปลว่า เครือข่าย เป็นเครือข่ายของกลุ่มผู้ผลิต เพราะเราทำงานกับกลุ่มผู้ผลิตทั่วประเทศ ไม่ได้ทำเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น การทำงานในลักษณะนี้จะทำให้บรรลุ Economies of Scale ในทางธุรกิจได้ เราเชื่อว่าถ้าผู้ผลิตที่เป็นกลุ่มย่อย ๆ ในรูปของเครือข่าย จากแต่ละพื้นที่มารวมกันจะดีกว่า ผู้ผลิตของเราจึงมีมากกว่า 12 กลุ่มในปัจจุบัน โดยเกษตรกรแต่ละคนก็เป็นสมาชิกในแต่ละกลุ่มผู้ผลิตของเขา ในขณะเดียวกัน เกษตรกรทุกคนก็เป็นสมาชิกสหกรณ์กรีนเนทด้วย เพราะเราเป็นสหกรณ์ระดับประเทศ


Q: ปัญหาสังคมประเด็นใดที่ Green Net มองเห็นและตัดสินใจเข้าไปแก้ไข 

A: ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ภาคเกษตรในสังคมบ้านเรา เป็นภาคส่วนที่ด้อยโอกาสที่สุดแล้ว แม้ปัจจุบันจะมีส่วนที่เป็นคนจนเมือง ซึ่งเริ่มขยายตัวมากขึ้น แต่เมื่อเทียบจำนวนแล้ว คนที่ยากจนหรือด้อยโอกาสทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในภาคชนบทมากกว่า ซึ่งพวกเขายังคงทำการเกษตรอยู่ เพราะฉะนั้น เราจึงมีนโยบายเลือกภาคเกษตรเป็นกลุ่มเป้าหมาย และเลือกทำงานกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตรายย่อย ซึ่งจะเข้าเป็นสมาชิกของ Green Net สมาชิกของเราไม่มีฟาร์มรายใหญ่หรือฟาร์มของบริษัท โดยเกษตรกรรายย่อยในความหมายนี้คือ Family Farm หรือ เกษตรครอบครัว ก็คือเกษตรกรที่ใช้แรงงานของตัวเองเป็นหลักในการผลิต อาจจะมีการจ้างรถไถ ใช้เครื่องจักรบ้าง แต่หลัก ๆ แล้ว ลงแรงทำกันเองในครอบครัว


Q: ใช้ Business Model รูปแบบไหนในการแก้ปัญหา และมีสินค้าหรือบริการอะไรบ้างที่ทำให้องค์กรอยู่รอดได้ 

A: การแก้ปัญหาให้เกษตรกร มีเรื่องที่ต้องบริหารจัดการ 2-3 เรื่อง

เรื่องแรก คือ การรวบรวมผลผลิตของเกษตรกรเพื่อจำหน่าย ในความหมายนี้คือ การจัดการ supply chain (ห่วงโซ่อุปทาน) ของสินค้าแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นข้าว มะพร้าว และอื่น ๆ เพราะแต่ละสินค้ามี supply chainที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราต้องออกแบบการจัดการ supply chain ที่เหมาะกับขนาดธุรกิจของเรา

เกษตรกรร่วมทำแปลงทดลองการปลูกข้าวแบบ SRI (System of Rice Intensification) จังหวัดยโสธร
เกษตรกรร่วมทำแปลงทดลองการปลูกข้าวแบบ SRI (System of Rice Intensification) จังหวัดยโสธร

แน่นอนว่าสิ่งที่เป็นพื้นฐานเบื้องต้นของเกษตรกรในแง่ของ supply chain คือ การประกันราคาขั้นต่ำให้กับเกษตรกร ซึ่ง Green Net ก็ใช้นโยบายนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ว่าวิกฤตในตลาดจะเป็นอย่างไร แต่เรายังยืนราคารับซื้อผลผลิตในราคาขั้นต่ำ หรือ minimum price เสมอ 

ราคาผลผลิตในตลาดแต่ละช่วงอาจจะขึ้นลงไปตามสถานการณ์ ช่วงไหนที่ราคาตลาดสูงกว่าราคาขั้นต่ำ เราจะซื้อในราคาตลาดบวกค่าส่วนต่างที่เป็นพรีเมียม หรือเรียกว่าเป็น “Organic Premium” ก็ได้ โดยราคาส่วนต่างอยู่ที่ประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์จากราคาตลาด และการประกันราคาที่ว่านี้ก็รวมไปถึงการรับซื้อผลผลิตทั้งหมดที่เกษตรกรต้องการจะขาย เพราะมีบางโมเดลธุรกิจที่ให้ประกันราคาไว้สูงมาก แต่ซื้อแค่ 5-10 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตทั้งหมดที่เกษตรมี คือ รับซื้อเฉพาะสินค้าที่ตัวเองมีออร์เดอร์ หรือมีความมั่นใจในการขายเท่านั้น โมเดลแบบนั้นความเสี่ยงก็จะตกอยู่ที่เกษตรกร แต่กรณีของเราไม่ใช่ เราจะรับซื้อทั้งหมด เพราะฉะนั้น ความเสี่ยงทางการตลาดจะกลับมาอยู่ที่ตัวสหกรณ์กรีนเนท แทนที่จะอยู่กับเกษตรกรสมาชิก นี่คือเรื่องที่สองที่เราต้องจัดการ   

เรื่องที่ 3 คือ การพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกร แน่นอนว่าเรื่องแรก ๆ ที่เราทำ เพื่อให้มีผลผลิต เกษตรกรเองบางคนก็สนใจที่จะปรับปรุงคุณภาพ เพิ่มผลผลิต ลดค่าใช้จ่าย เมื่อเราได้ “ตอบโจทย์พื้นฐาน” ของเกษตรกรในเรื่องการผลิตและการตลาดแล้ว เราจึงขยับมาสู่ประเด็นที่ท้าทายขึ้น เช่น ความมั่นคงด้านอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือล่าสุดที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญมาก คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหามานานเกือบ 10 ปีแล้ว โดยเราเน้นไปที่เรื่องการปรับตัวรับมือกับโลกร้อนมากกว่าเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในความเป็นจริงควรทำทั้ง 2 ด้านควบคู่กันไป แต่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเรื่องการลดการปล่อยก๊าซมากกว่า 


Q: เริ่มก่อตั้งธุรกิจตั้งแต่ปี 2536 ความท้าทายในช่วงเวลานั้นมีอะไรบ้าง 

A: ไม่มีใครรู้จักธุรกิจเพื่อสังคม และเกษตรอินทรีย์เลย แง่หนึ่งก็มองว่าง่าย เพราะการที่ไม่มีคนรู้จักเลย แปลว่าคู่แข่งมีน้อย แต่จะว่ายากก็ยาก เพราะไม่มีคนรู้จัก และตัว Business Model ที่เป็นการทำงานกับเกษตรกร โดยมีด้านสังคมมาเกี่ยวข้องด้วย ยังคงเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับยุคนั้น สายธุรกิจก็มองว่าเราเป็นพวกสังคมที่พยายามจะทำธุรกิจ ส่วนสายสังคมก็มองว่าเราเป็นพวกธุรกิจที่มีการโฆษณาด้านสังคม เราจึงไม่ต่างจากตัวประหลาดที่อยู่ตรงกลาง ไม่เข้าพวกเท่าไหร่นัก นี่คือความท้าทายในแง่ของการถูกยอมรับจากคนในสังคม 

ส่วนเรื่องการจัดการ ผมคิดว่าไม่แตกต่าง ตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว supply chain ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ เพราะระบบภาคธุรกิจ รวมไปถึงภาคเกษตร ส่วนใหญ่ไม่ได้มองเรื่องห่วงโซ่ต่าง ๆ ที่เราเรียกว่าต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แนวคิดแบบนี้ยังมีไม่ค่อยมากนัก มีเพียงบริษัทใหญ่ ๆ ที่เริ่มเชื่อมโยงห่วงโซ่เข้าหากัน 

เราเลือกจัดการ supply chain ที่เชื่อมโยงตั้งแต่ปัจจัยการผลิตของเกษตรกรไปจนถึงการขาย โดยมี Green Net เป็นคนบริหารห่วงโซ่ ซึ่งท้าทายพอสมควรสำหรับธุรกิจ เพราะแทบจะไม่มีธุรกิจใดที่ทำแบบนั้น ใครเป็นผู้ส่งออกก็จะไม่รู้เรื่องโรงสี โรงสีก็จะไม่รู้เรื่องเกษตรกร ส่วนเกษตรกรก็จะไม่รู้เรื่องส่งออก เป็นต้น แต่ลักษณะที่ Green Net ทำจะกลับกัน เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เข้าไปบริหาร ประสานงานกับห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นทั้งหมดเลย   


Q: ทำไม Green Net เลือกที่จะทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ และการค้าที่เป็นธรรม ควบคู่กันไป

A: ถ้าเข้าใจลึกขึ้นจะเห็นว่าเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนการค้าที่เป็นธรรม (fair trade) เป็นเรื่องสังคม และทั้ง 2 เรื่องนี้ได้เกิดขึ้นและเติบโตในต่างประเทศมานาน เรียกว่าก่อนที่ Green Net จะตั้งขึ้น สองเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างยุโรป อเมริกา และอื่น ๆ มาเกือบ 40-50 ปีแล้ว เพราะฉะนั้น ค่อนข้างง่ายสำหรับการตัดสินใจว่าเราจะทำทั้งเกษตรอินทรีย์ และแฟร์เทรด เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่กันไป 

ความเป็นเกษตรอินทรีย์ยังมีข้อที่น่าสนใจมากกว่านั้น เพราะไม่ได้ตอบโจทย์เฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่มีโอกาสทางการตลาดแฝงอยู่ด้วย ซึ่งแฟร์เทรดก็เช่นเดียวกัน มีกลุ่มผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า และผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่เลือกซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ หรือสินค้าที่เป็นแฟร์เทรด หรือซื้อทั้งสองอย่าง นี่เป็นการทำตลาดแบบ Market Segmentation (การแบ่งส่วนตลาด)  ในช่วงหลัง ๆ อาจจะคุ้น ๆ ศัพท์ทางธุรกิจที่ว่าต้องหา “Blue Ocean (น่านน้ำสีฟ้า)” ก็คือพื้นที่ทางธุรกิจที่มีความต้องการของลูกค้าอยู่ แต่ไม่มีผู้ตอบสนองความต้องการนั้น ๆ หรือมี แต่น้อยมาก ตอนเพิ่งเริ่มธุรกิจใหม่ ๆ ยังไม่มีคำนี้ แต่อาจจะมีแนวคิดแบบนี้อยู่แล้ว เพราะเป็นแนวคิดพื้นฐานของการทำธุรกิจเพื่อที่จะหาโอกาสทางธุรกิจ  ดังนั้น ถ้าในแง่ของเกษตรอินทรีย์สำหรับ Green Net เราอาจจะเป็นเจ้าที่ 2 ในประเทศไทย แต่เรื่อง Fair Trade เราอาจจะเป็นเจ้าแรก ดังนั้น การเลือกทำทั้งสองเรื่อง จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจในขณะนั้น 

ตัว Business Model ที่เป็นการทำงานกับเกษตรกร โดยมีด้านสังคมมาเกี่ยวข้องด้วย ยังคงเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับยุคนั้น สายธุรกิจก็มองว่าเราเป็นพวกสังคมที่พยายามจะทำธุรกิจ ส่วนสายสังคมก็มองว่าเราเป็นพวกธุรกิจที่มีการโฆษณาด้านสังคม เราจึงไม่ต่างจากตัวประหลาดที่อยู่ตรงกลาง ไม่เข้าพวกเท่าไหร่นัก นี่คือความท้าทายในแง่ของการถูกยอมรับจากคนในสังคม

จนถึงปัจจุบัน เกษตรอินทรีย์และแฟร์เทรดก็ยังคงมีการเติบโตค่อนข้างดี จากรายงานทางการตลาดตั้งแต่ช่วง 7-8 ปีก่อน ที่เศรษฐกิจเริ่มซบเซา หรือแม้แต่ช่วงโควิด ก็ยังพบว่า สินค้าจำพวกเกษตรอินทรีย์ยังคงเติบโตเช่นเดิม เรียกว่าไม่เคยติดลบเลย เพียงแต่เปอร์เซ็นต์การเติบโตอาจจะลดลงตามสภาพเศรษฐกิจหรือสถานการณ์บ้าง ช่วงที่เศรษฐกิจดีอยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้อาจจะลดเหลือ 7-8 เปอร์เซ็นต์ แต่ถือว่ามีอัตราการเติบโตที่ดีเมื่อเทียบกับธุรกิจประเภทอื่น 


Q: เกษตรอินทรีย์คืออะไร เหมือนหรือแตกต่างจากเกษตรปลอดสารเคมีอย่างไร

A: เกษตรปลอดสารเคมีเป็นชื่อเล่น เป็นภาษาที่ไม่เป็นทางการ แต่เป็นชื่อเล่นที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดค่อนข้างมาก ความเข้าใจผิดอาจจะมี 2 ระดับ ระดับแรกอาจจะเข้าใจว่าเกษตรปลอดสารเคมี คือ ถ้าใช้สารเคมีแล้วให้เว้นระยะก่อนการเก็บเกี่ยว หรืออีกระดับ คือ ไม่ได้มีสารเคมีปนเปื้อนเลย ซึ่งไม่มีใครสามารถให้คำจำกัดความได้ชัดเจนว่าเกษตรปลอดสารเคมีคืออะไรกันแน่ ผู้คนมักจะเกิดความเข้าใจที่สับสน เพราะชื่อเป็นชื่อที่สับสน

เราจึงตั้งใจหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “เกษตรปลอดสารเคมี” มา 20 กว่าปีแล้ว ช่วงแรก ๆ เราเคยใช้คำนี้เช่นกัน แต่เมื่อเริ่มพิจารณาไตร่ตรองมากขึ้น ก็เห็นว่ามันเป็นคำที่ค่อนข้างมีปัญหา เพราะการสื่อสารให้ผู้คนเข้าใจเหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้ 

ยกตัวอย่างเช่น ถามว่าถ้าพูดถึงข้าวหอมมะลิจะนึกถึงอะไร เชื่อไหมว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่เข้าใจว่าข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวที่มีกลิ่นหอมเหมือนดอกมะลิ หรือเข้าใจว่า “มะลิ” เป็นชื่อของท้องถิ่นที่ปลูกข้าว ซึ่งไม่ใช่ทั้งสองอย่าง ชื่อที่ถูกต้องจริง ๆ คือ “ข้าวขาวดอกมะลิ 105” เป็นนัยยะการเปรียบความขาวของข้าวว่าขาวราวดอกมะลิ แต่การพูดต่อ ๆ กันมาจนติดปากทำให้ความหมายดูบิดเบือนไป และพูดถึง “ข้าวหอมมะลิ” ในทางที่เป็นความรู้สึกมากกว่าความหมายที่แท้จริง ผมคิดว่าความหอมของมันค่อนไปทางกลิ่นใบเตยมากกว่า แต่ด้วยชื่อเล่นของมัน จึงทำให้คนเกิดความเข้าผิด เช่นเดียวกับที่เราเข้าใจคำว่า “เกษตรปลอดสารเคมี” แบบผิด ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้ก็ควรเลี่ยงที่จะใช้คำนี้  

ย้อนกลับมาที่คำว่าเกษตรอินทรีย์ ผมบอกว่าเป็นเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี แต่จริง ๆ แล้วเกษตรอินทรีย์อนุญาตให้ใช้สารเคมีได้เป็นบางชนิด และเป็นชนิดที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำมาก เช่น ผงฟู ด่างทับทิม คลอรีน เป็นต้น เพราะฉะนั้น ถ้าบอกว่าเกษตรอินทรีย์เป็นเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีเลย ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะยังอนุญาตให้ใช้ได้อยู่ และในขณะเดียวกัน สารจากธรรมชาติ ถ้ามีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรอินทรีย์ก็จะห้ามใช้ด้วย 

ส่วนในความหมายของเกษตรปลอดสารเคมีที่ว่า เป็นเกษตรที่ไม่มีสารตกค้างปนเปื้อน ข้อความนี้ยิ่งไม่เป็นความจริง แม้แต่ในระบบเกษตรอินทรีย์เองก็ตาม ก็ไม่สามารถเลี่ยงได้เลยที่ผลผลิตจะมีสารเคมีตกค้างหรือปนเปื้อน เพราะสภาพแวดล้อมมันถูกปนเปื้อนไปมากพอสมควรแล้ว ทั้งในดินในอากาศก็ดี หรือน้ำฝนที่ตกลงมาก็ดี ซึ่งเราไม่สามารถที่จะควบคุมพื้นที่เหล่านั้นให้ไม่มีสารเคมีเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ได้เลย ดังนั้น การกล่าวอ้างว่าผลผลิตเกษตรอินทรีย์ไม่มีสารปนเปื้อน จึงเป็นการกล่าวอ้างที่เกินจริง เพราะมันเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ระดับการตกค้างจะมีมากหรือน้อยเท่านั้นเอง


Q: คิดว่าความเข้าใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใดมีความเข้าใจเรื่องนี้มากกว่ากัน เพราะอะไร แล้วคนรุ่นใหม่หันมาทำเกษตรอินทรีย์กันมากน้อยแค่ไหน 

A: ผมคิดว่าไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก เพราะคนส่วนใหญ่ก็ยังคงเข้าใจผิดคล้าย ๆ กัน 

ส่วนที่ว่าคนรุ่นใหม่หันมาทำเกษตรอินทรีย์มากกว่าหรือไม่นั้น ข้อนี้ผมไม่แน่ใจ ส่วนใหญ่ครอบครัวเกษตรกรในชนบท ลูกหลานยังไม่ได้มีเป้าหมายกลับไปทำการเกษตร มีบ้างที่กลับไปสืบต่อเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าอาจมีสัดส่วนสูงกว่าเกษตรทั่วไป แต่นับว่ายังมีน้อย

อบรม “เกษตรกรรุ่นใหม่กรีนเนท” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
อบรม “เกษตรกรรุ่นใหม่กรีนเนท” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

อาจจะมีกระแสของคนเมืองที่หันมาสนใจเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น เริ่มต้นจากเรื่องความปลอดภัยของอาหาร จึงเกิดความสนใจในแง่นี้เป็นพิเศษ โซเชียลมีเดียต่าง ๆ อาจจะมีผลต่อการทำให้รู้สึกว่าคนหันมาทำเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น แต่ในความเป็นจริง ยังเป็นส่วนน้อย และในส่วนน้อยนั้น ยิ่งน้อยลงไปอีกหากนับส่วนที่ประสบความสำเร็จเรื่องเกษตรอินทรีย์ ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น ทำได้เพียง 1-2 ปี แล้วขาดทุน อยู่ไม่ได้ ก็ตัดสินใจเลิกทำ ผมคิดว่าฟาร์มอินทรีย์ในปัจจุบัน อยู่ในรูปแบบของสถานที่พักผ่อน สถานที่ท่องเที่ยว มากกว่าเป็นฟาร์มที่ผลิตอาหารจริง ๆ จัง ๆ    

แม้แต่ในระบบเกษตรอินทรีย์เองก็ตาม ก็ไม่สามารถเลี่ยงได้เลยที่ผลผลิตจะมีสารเคมีตกค้างหรือปนเปื้อน เพราะสภาพแวดล้อมมันถูกปนเปื้อนไปมากพอสมควรแล้ว ทั้งในดินในอากาศก็ดี หรือน้ำฝนที่ตกลงมาก็ดี ซึ่งเราไม่สามารถที่จะควบคุมพื้นที่เหล่านั้นให้ไม่มีสารเคมีเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ได้เลย


Q: แล้วปัจจุบัน Green Net ทำงานร่วมกับเกษตรกรรายย่อยในกี่จังหวัด มีเกษตรกรประมาณกี่คน คิดเป็นพื้นที่ประมาณกี่ไร่  

A: ประมาณ 10 กว่าจังหวัด โดยแบ่งการทำงานของ Green Net ได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ สหกรณ์กรีนเนท และมูลนิธิสายใยแผ่นดิน โดยทำงานคู่กัน และเราเรียกทั้ง 2 ส่วนนี้เป็นชื่อเดียว คือ “Green Net”     

เรายังได้ริเริ่มโครงการอยู่จำนวนหนึ่ง และอย่างน้อยมี 2 โครงการที่ริเริ่มกับ Green Net แล้วได้แยกตัวไปตั้งเป็นบริษัทของตัวเอง ดังนั้น ถ้านับพื้นที่ทั้งหมดของกรีนเนท เราทำงานครอบคลุมตั้งแต่เชียงรายจนถึงปัตตานีมากกว่า 20 จังหวัด เช่น กาแฟมีวนา (MiVana) นั่นก็เป็นการริเริ่มของ Green Net แต่พอถึงระยะหนึ่งก็แยกออกไป และการทำงานของเราไม่ได้มีขอบเขตเฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในอาเซียนด้วย   

อย่างปัจจุบัน ผมเองก็รับหน้าที่เป็นประธาน ASEAN Organic Federation (สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์อาเซียน) ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม  

ประชุมตัวแทนสมาคมเกษตรอินทรีย์จากประเทศต่าง ๆ 8 ประเทศในอาเซียน คือ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย เพื่อร่วม
ประชุมตัวแทนสมาคมเกษตรอินทรีย์จากประเทศต่าง ๆ 8 ประเทศในอาเซียน คือ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย เพื่อร่วมกันจัดตั้งสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์อาเซียน (ASEAN Organic Federation)

Q: การเปลี่ยนจากเกษตรทั่วไปมาทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้ผลผลิตลดลงไหม 

A: มีความเข้าใจผิดกันอยู่มากพอสมควร งานวิจัยที่ทำโดย องค์กรการเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งสรุปสั้นได้ว่า มีฟาร์ม 2 ลักษณะ คือ ฟาร์มที่มีการใช้สารเคมีค่อนข้างสูง (intensive farming) พูดง่าย ๆ คือ พึ่งพาสารเคมีในการเพาะปลูกเพื่อให้พืชเจริญเติบโตค่อนข้างมาก ฟาร์มลักษณะนี้เปลี่ยนมาเป็นฟาร์มอินทรีย์ ผลผลิตจะลดลงอย่างน้อยในช่วง 2-3 ปีแรก หลังจากนั้น อาจจะกลับขึ้นมาเท่าเดิม หรือมากขึ้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ฟาร์มอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของโลก คือ ฟาร์มที่ใช้ปัจจัยการผลิตภายนอก (extensive farming) ฟาร์มแบบนี้่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรที่พึ่งน้ำฝน เมื่อเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ โดยปกติแล้วผลผลิตจะไม่ลดลง เพราะพึ่งพาปัจจัยการผลิตภายนอกตั้งแต่แรกอยู่แล้ว และมีแนวโน้มที่ผลผลิตในปีถัด ๆ ไปจะดีขึ้นด้วย 

เพียงแต่บ่อยครั้งที่เกษตรกรมักเข้าใจว่า ถ้าเป็นเกษตรอินทรีย์ต้องไม่ใช้ปัจจัยการผลิตอะไรเลย ซึ่งแน่นอนว่าการไม่ใส่ปุ๋ยเลย ผลผลิตจะต้องลดลง หรือบังเอิญว่า ปีที่เราทดลองเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ ดันเจอปัญหาฝนแล้งพอดี เมื่อได้ผลผลิตลดลง เกษตรกรจึงรีบสรุปว่าเป็นเพราะเปลี่ยนมาทำแบบอินทรีย์นี่เอง ผลผลิตจึงลดลง ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงบางครั้งไม่ได้มาจากการเปลี่ยนวิธีทำเกษตร แต่มาจากปัญหาฝนแล้ง หรือการจัดการที่ผิดพลาด เรื่องเข้าใจผิดนี้พบได้อยู่บ่อยครั้ง

แปลงทดลองนาข้าวเกษตรอินทรีย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
แปลงทดลองนาข้าวเกษตรอินทรีย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

Q: ถ้าเกษตรกรต้องการปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรจากเคมีมาเป็นอินทรีย์ ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ผลผลิตจึงจะคงตัวหรือมากขึ้น แล้วในช่วงเวลาที่กำลังปรับเปลี่ยน สามารถทำเกษตรได้หรือเปล่า

A: นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความเข้าใจผิดด้วยเช่นกัน ว่าถ้าเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์แล้วต้องพักดิน พักแปลงปลูกพืช จริง ๆ แล้วไม่มีความจำเป็นต้องทำอย่างนั้นเลย ถ้าต้องการจะเปลี่ยนเป็นอินทรีย์ สามารถลงมือเปลี่ยนได้เลย ตื่นขึ้นมาตอนเช้านึกอยากทำก็ทำได้เลย เพียงแต่ว่าผลผลิตที่ได้มานั้นจะขายเป็นพืชผักอินทรีย์เต็มตัวได้เมื่อไหร่ นั่นเป็นอีกประเด็น  

ประเด็นที่ว่าจะขายเป็นเกษตรอินทรีย์เต็มตัวได้เมื่อไหร่ ก็เป็นที่ถกเถียงกันพอสมควร มีมาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เท่ากัน บางมาตรฐานที่ตั้งไว้สูงหน่อย คือ หลังจากที่ทำเกษตรอินทรีย์ไปแล้ว 36 เดือน จึงจะสามารถจำหน่ายผลผลิตเป็นเกษตรอินทรีย์ได้ หรือบางมาตรฐานบอก 24 เดือน 12 เดือน หรือระบบ PGS (ระบบชุมชนรับรอง) ที่เป็นมาตรฐานของไทยบางแห่งอาจจะระบุไว้ว่าเพียง 6 เดือนก็พอ     


Q: หัวใจของการทำเกษตรอินทรีย์คืออะไร 

A: เป็นการทำเกษตรที่รักษาสิ่งแวดล้อม การไม่ใช้สารเคมีก็เป็นหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่รู้ไหมว่าการรักษาสิ่งแวดล้อมมีมิติที่ลึกกว่านั้น 

เกษตรกรมักจะเข้าใจว่ามีกฎระเบียบหลาย ๆ เรื่องที่เกษตรกร “ไม่ควรทำ” แต่ในทางเดียวกันก็มีอีกหลาย ๆ อย่างที่เกษตรกร “ควรต้องทำ” เช่นกัน เช่น เกษตรกรต้องกันพื้นที่ของฟาร์มไม่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับเป็นพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยต้องไม่เข้าไปทำการผลิตอย่างจริงจัง เพื่อปล่อยให้เป็นที่อยู่ของพืชและสัตว์ท้องถิ่น ได้อยู่อาศัยและเติบโตในนั้นได้ หรือการปรับปรุงดิน โดยการปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลคุณภาพของดิน หรือป้องกันความเสี่ยงจากการชะล้างหน้าดินบนพื้นที่ลาดชัน เป็นต้น 

ดังนั้น ถ้าจะให้พูดถึงหัวใจของเกษตรอินทรีย์ อาจจะพูดได้ว่าเป็นระบบเกษตรที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ มิติ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องสารเคมีเท่านั้น และคนที่จะได้รับประโยชน์ ไม่ใช่แค่ผู้บริโภค หรือเกษตรกร แต่เป็นทุกคนในประเทศ ในโลกนี้ เพราะเรามีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น มีดินและน้ำที่สะอาดขึ้น มีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง มีการเก็บกักก๊าซเรือนกระจกในดินมากขึ้น เป็นต้น 


Q: เกษตรกรรับมือกับแต่ละภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างไร

A: เวลาที่เราพูดถึงผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อน คนส่วนใหญ่จะนึกถึงภัยพิบัติขนาดใหญ่ แต่สิ่งที่เป็นปัญหากับเกษตรกรมากกว่าคือ Low intensity impact หรือ การเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนว่า มีผลเล็กน้อย เช่น ฝนที่ตกหนักในระยะสั้น ๆ หลังจากนั้นอากาศร้อนจัด ลักษณะแบบนี้จะไม่เกิดภัยพิบัติ แต่สภาพแวดล้อมจะเหมาะสำหรับการเกิดเชื้อรา ซึ่งจะทำให้ผลผลิตถูกทำลาย หรือช่วงกลางวันที่อากาศค่อนข้างร้อนมากกว่าสมัยก่อน ทำให้เกษตรกรต้องหลีกเลี่ยงการทำงานในช่วง 11 โมงถึงบ่าย 3 โมง ไม่สามารถทำงานกลางแจ้งได้เลย เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ว่านี้ บางคนก็จะปรับวิธีการทำงานใหม่ ถึงขั้นลงทุนติดไฟส่องสว่างเพื่อเปลี่ยนมาทำงานในช่วงเย็นถึงกลางคืนแทน เป็นต้น ปัญหาส่วนใหญ่ที่เราเจอ จึงไม่ใช่ปัญหาภัยพิบัติ แต่เป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงขนาดเล็ก ในระดับท้องถิ่น และบางครั้งก็ส่งผลในภาพใหญ่ด้วย คือ ได้ผลผลิตไม่ทันต่อความต้องการของตลาด แต่ก็ไม่ได้บ่อยครั้ง     

การลดความเสี่ยงจากปัญหาเหล่านี้ จะต้องเริ่มจากการประเมินความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในท้องถิ่นนั้น ๆ และปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตของเกษตรกร ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์ในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้ชาวบ้านรู้ว่าควรปรับตัวอย่างไร 


Q: การนำสินค้าออกสู่ตลาด จำเป็นต้องมีตรารับรองว่าเป็นเกษตรอินทรีย์หรือไม่

A: ไม่จำเป็นครับ ขึ้นอยู่กับผู้ซื้อเป็นหลักว่า ผู้ซื้อยอมรับมาตรฐานแบบไหน ซึ่งในการรับรองมาตรฐานหลายคนคิดว่าต้องเป็น third party (หน่วยงานอิสระ) รับรองเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ first party คือ เกษตรกรรับรองตัวเอง และ second party คือ ผู้ซื้อ ก็สามารถรับรองให้ได้เช่นกัน ตราบเท่าที่ผู้ซื้อยอมรับ


Q: Green Net มีการสร้างการรับรู้ไปยังผู้ซื้ออย่างไรบ้าง เพราะปัจจุบันเกษตรอินทรีย์มีหลายแบรนด์มากขึ้น และเป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากขึ้นด้วย 

A: ปกติเราไม่ได้ขายโดยตรงกับผู้ซื้อ แต่จะขายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีการแข่งขันค่อนข้างสูง การสร้างการรับรู้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ ทำผ่านโซเชียลมีเดีย แม้ว่าเราจะเป็นผู้บุกเบิกและเป็นผู้นำทางด้านเกษตรอินทรีย์และแฟร์เทรด เราก็ยังคงต้องสื่อสารกับสังคมและกับผู้บริโภคอยู่ตลอด  นอกจากนี้ เรื่องผลผลิตที่มีคุณภาพดีสม่ำเสมอ ก็เป็นส่วนสำคัญในการรับรู้ถึงการมีอยู่ของ Green Net เช่นกัน ถ้าในข้าวสารมีหินหรือก้อนกรวดแถมมาด้วย ต่อให้เราบอกว่าตัวเองเป็นสินค้าอินทรีย์ ก็ไม่มีคนซื้อ ดังนั้น เรื่องคุณภาพถือเป็นส่วนสำคัญของการสร้างการรับรู้ที่ Green Net ทำ 

ส่วนการสร้างแบรนด์สินค้า ต้องบอกตรง ๆ ว่าที่ผ่านมา Green Net ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก เพราะเราส่งออกเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสินค้าก็จะเป็นแบรนด์ของลูกค้า ไม่ใช่แบรนด์ Green Net 


Q: มีผลิตภัณฑ์อะไรบ้างที่เป็นแบรนด์ของ Green Net ทั้งส่วนที่จำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ
6. สินค้าของ Green Net ทั้งข้าวชนิดต่าง ๆ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ชาใบหม่อน น้ำมันมะพร้าว หนังสือ ฯลฯ
สินค้าของ Green Net ทั้งข้าว มะม่วงหิมพานต์ ชาใบหม่อน น้ำมันมะพร้าว หนังสือ ฯลฯ

A: ผลผลิตหลัก ๆ เป็นข้าว ซึ่งมีข้าวหลากหลายชนิด ได้แก่ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งอาจเป็นข้าวขาวและข้าวกล้อง นอกจากนั้น มีข้าวมะลิแดง ข้าวหอมนิล หรือ ข้าวที่ผสมกันระหว่างมะลิแดงกับหอมนิล เป็นต้น เฉพาะข้าวอย่างเดียวก็มีมากกว่า 10 ชนิดแล้ว 

สินค้าอื่น ๆ ได้แก่ กะทิกระป๋องขนาดต่าง ๆ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อันนี้ลูกค้าอาจจะนำไปทำช็อกโกแลต หรืออาหารอื่น ๆ ที่ใช้ของพวกนี้เป็นวัตถุดิบ มีชาใบหม่อน ซึ่งมีทั้งแบบซองชงและใบแห้ง มีน้ำมันมะพร้าว ผ้าฝ้าย ในส่วนของผ้าฝ้าย เราขายตั้งแต่เส้นด้าย ผ้าผืน จนกระทั่งมาเป็นเสื้อโปโลและเสื้อยืด และขายหนังสืออีกประมาณ 10 กว่าปก เป็นต้น 

สำหรับกะทิ เป็นสินค้าที่ไม่ได้ขายในแบรนด์ Green Net แต่เป็นแบรนด์เมอริโต้ ซึ่งเป็นพันธมิตรของเรา ส่วนสินค้าอื่นที่ขายในประเทศจะเป็นแบรนด์ Green Net ทั้งหมด


Q: จำหน่ายสินค้าที่ช่องทางใดบ้าง 

A: ถ้าเป็นสินค้าอาหาร เช่น ข้าว น้ำมันมะพร้าว กะทิ จะวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นส่วนใหญ่ โดยเลือกที่ที่เป็น local supermarket จริง ๆ เป็นตลาดของคนไทย เช่น Tops Supermarket, Villa Market, The Mall Group แต่ไม่ได้วางขายทุกสาขา จะกระจายออกไปยังสาขาที่มีกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น อย่าง Tops Supermarket และ Villa Market บางที่ ไม่ได้มีกลุ่มเป้าหมายที่จะซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์มากนัก ทางห้างก็อาจไม่วางขายที่สาขานั้น ทางกรีนเนทเราไม่ได้มีสิทธิ์ในการตัดสินใจในเรื่องนี้ 

ส่วนของใช้จำพวกเสื้อและหนังสือ จะขายผ่าน Facebook เป็นหลัก และได้เริ่มทดลองขายผ่าน Shopee ปีนี้เป็นปีแรกด้วย ยังไม่ทราบว่าการตอบรับจะมากน้อยแค่ไหน นอกจากนั้นก็มีเมล็ดพันธุ์ ที่จะจำหน่ายตามคำสั่งซื้อ


Q: ในมุมมองของคุณวิฑูรย์ สิ่งที่ Green Net พยายามทำมาโดยตลอด มันเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ 

A: ผมคิดว่าถ้าในระดับเกษตรกร ปัญหาท้าทายที่สุด ณ วันนี้ ไม่ใช่เรื่องโควิดหรอกนะ แต่เป็นปัญหาโลกร้อน บวกกับปัญหาสังคมคนสูงวัย โดยเฉพาะอายุเฉลี่ยของคนทำเกษตรที่เพิ่มขึ้น สองปัญหานี้เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด ซึ่งเกษตรกรไม่ได้มีศักยภาพ หรือขีดความสามารถที่จะแก้ปัญหานี้เองได้ มองว่าภาคธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ ควรรับสิ่งนี้เข้าไปเป็นโจทย์ปัญหาด้วย ต้องหาวิธีพัฒนาทางเลือกให้มันตอบโจทย์นี้ในอนาคต ซึ่งเป็นอนาคตระยะใกล้ เกิดขึ้นทุกวัน แต่เราอาจจะดูแคลนว่ามันไม่เร่งด่วน

ข้าวแพ็คในถุงสุญญากาศ หนึ่งในนวัตกรรมที่พัฒนามาจากแนวคิดของคุณวิฑูรย์
ข้าวแพ็คในถุงสุญญากาศ หนึ่งในนวัตกรรมที่พัฒนามาจากแนวคิดของคุณวิฑูรย์

ระยะเวลา 30 กว่าปีที่ทำงาน เราเห็นความแตกต่าง และการเติบโตได้อย่างชัดเจน ตอนเริ่มต้น แทบจะไม่มีใครรู้จักเกษตรอินทรีย์เลย ในประเทศไทยตอนนั้นมีคนทำอยู่ไม่กี่สิบคน จนกระทั่งตอนนี้ มีคนหันมาทำเกษตรอินทรีย์หลายหมื่นคนแล้ว Green Net เองก็เป็นคนเริ่มต้นในการพัฒนาเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ ทั้งเรื่ององค์ความรู้ การตรวจรับรอง การจัดการห่วงโซ่ต่าง ๆ นานา และเรากล้าพูดได้ว่าคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่ได้เรียนรู้มาจากการทำงานกับ Green Net 

ด้านนวัตกรรม คุณเคยเห็นข้าวที่แพ็คในถุงสุญญากาศไหม จะเรียกว่าเป็นแนวคิดที่มาจาก Green Net ก็ได้ ผมเองเป็นคนพัฒนานวัตกรรมนี้ขึ้นมา และคิดว่า Green Net อาจจะเป็นเจ้าแรกของโลกเลยก็ได้ที่ทำ เพราะเรายังไม่เคยเห็นใครทำ สำหรับในยุคนั้นนะครับ จนตอนนี้มันได้กลายเป็นมาตรฐานการบรรจุภัณฑ์อย่างหนึ่งของคนที่ทำเรื่องข้าวไปแล้ว

รวมถึงระบบการตรวจรับรองมาตรฐานที่เราได้รึเริ่มขึ้นในประเทศไทย มีชื่อว่า “สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์” ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกในทวีปเอเชีย ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการตรวจแบบมาตรฐานสากล ถึงแม้ปัจจุบันจะไม่ได้เป็นหน่วยงานเดียวแล้ว แต่ก็ยังเป็นหน่วยงานหลักของคนทำเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน 

รวมทั้ง การพัฒนาเครื่องมือกระบวนการปรับเปลี่ยนเกษตรกรให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์ การตรวจรับรองของระบบควบคุมภายใน หรือการรับรองแบบมีส่วนร่วม (participatory guarantee system – PGS) ซึ่งทั้งหมดก็คือเครื่องมือที่ทำงานกับเกษตรกร แต่ก็น่าแปลกที๋คนส่วนใหญ่ที่ได้เอาเครื่องมือนี้ไม่ใช่อาจจะไม่รู้ว่า กรีเนทเราเป็นคนพัฒนาเครื่องมือพวกนี้ขึ้นมา

ผลกระทบเชิงบวกก็เริ่มเห็นได้ เช่น การที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับในเรื่องเกษตรอินทรีย์ รวมทั้ง การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน ที่เราได้เข้าไปมีส่วนช่วย เช่น ในประเทศลาว คนที่ทำเกษตรอินทรีย์เกือบทั้งหมดที่นั่นจะรู้จัก Green Net เพราะเคยฝึกอบรมกับ Green Net มาก่อน


Q: ในระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง แล้วผ่านมาได้อย่างไร

A: มีปัญหาทุกอย่างหละครับ ไม่มีเรื่องอะไรที่ไม่เป็นปัญหา (หัวเราะ) คือ ปัญหาอุปสรรคมันมีบริบทของมัน ถ้าแยกเป็นช่วง ๆ ในช่วง 5-10 ปีแรกของเรา เป็นช่วงทดสอบโมเดลว่ามันจะเวิร์คไม่เวิร์ค เพราะไม่มีใครเคยทำมาก่อน ความหมายของโมเดลที่ว่านี้ คือ

  1. เป็นภาคสังคมที่ออกมาทำธุรกิจ หรือเป็นธุรกิจเพื่อสังคม แต่ไม่ใช่ธุรกิจที่เป็นธุรกิจทั่วไป  
  2. การทำงานแบบเครือข่าย หรือเรียกว่าเป็นผู้ผลิตที่มีการกระจายทั่วประเทศหลาย ๆ กลุ่ม แม้แต่ปัจจุบันก็แทบจะไม่มีใครใช้โมเดลธุรกิจแบบนี้ในประเทศไทย 

ดังนั้น 5-10 ปีแรก จึงเป็นการทดสอบโมเดลนี้ว่ามันจะเป็นไปได้ไหม

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อเราได้ข้อสรุปจากช่วงแรกแล้วว่า มันมีความเป็นไปได้ เพราะตลาดเกษตรอินทรีย์มีการขยายตัว และเป็นช่วงที่เรามีความมั่นคงพอสมควร จึงหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจ และต้องขยับขยายมาทำเพิ่มเติม เช่น ความมั่นคงทางอาหาร การปรับตัวรับมือโลกร้อน และอื่น ๆ 

ถามว่าทำไมเราถึงไม่ทำเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายคนไม่เข้าใจ เวลาที่เราไปทำงานกับเกษตรกร เราจะต้องเริ่มด้วยการตอบประเด็นโจทย์ในใจเขาก่อน ซึ่งก็คือ เรื่องรายได้ เรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่เริ่มจากโจทย์ที่เป็นประเด็นของเรา (ความมั่นคงทางอาหาร โลกร้อน ความเท่าเทียมทางเพศ หรืออะไรต่าง ๆ นานา) เมื่อเราสามารถเริ่มตอบโจทย์ของเขาได้แล้ว เราก็ค่อยเริ่มเอาโจทย์ของเราเพิ่มเข้าไป เพราะถ้าเราไม่สนใจโจทย์ของเรา แต่พยายามยัดเยียดโจทย์ของเรา ผมว่ามันไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไหร่ และยากที่จะประสบความสำเร็จที่ยั่งยืน (ย้ำที่ยั่งยืน) และเป็นเหตุผลว่า ทำไมเรื่องพวกนี้ถึงต้องมาทำทีหลัง 


Q: อะไรคือผลลัพธ์ทางสังคมที่ได้จากการทำงานของ Green Net  

A: ในแง่เศรษฐกิจ กลุ่มชาวบ้านที่กรีนเนททำงานด้วยนั้นมีรายได้ที่ดีขึ้น และมีการพัฒนาในหลายด้าน แต่ที่เราภูมิใจมากก็คือ การที่ทำให้คนมีแนวคิดเรื่องเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มที่ใช้โมเดลการทำงานที่เราพัฒนาขึ้น ถือเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการทำงานของเรา และขอบเขตไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในเมืองไทย แต่ขยายไปถึงระดับภูมิภาคอาเซียน น่าจะเป็นความภูมิใจที่สุดแล้วในฐานะคนทำงานคนหนึ่ง  


Q: ชีวิตของเกษตรกรเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เมื่อได้ทำงานในเครือข่ายของ Green Net

A: ผมคงไม่กล้าที่จะเคลมว่า เกษตรกรสมาชิกกรีนเนทมีความสุขขึ้น หรือชีวิตดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพราะมันไม่มีเครื่องมือที่ดีที่จะใช้วัดสถานะของชีวิตและความสุข แต่สิ่งหนึ่งที่เราค่อนข้างมั่นใจ คือ เรามีสมาชิกที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น คนที่ถอนตัวออกจากเราก็มี แต่อยู่ในสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก น่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงเกษตรกรเพื่อนบ้านข้างเคียง เมื่อเห็นว่าเพื่อนบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้นจากการทำเกษตรอินทรีย์ ก็อาจจะอยากลองด้วย ผมคิดว่านี่เป็นข้อบ่งชี้ได้ประการหนึ่ง


Q: ก้าวต่อไปของ Green Net จะเป็นอย่างไร

A: ก้าวต่อไป ก็คงจะต้องก้าวต่อไปครับ (หัวเราะ) อาจจะต้องเตรียมการผลัดยุคจาก 30 ปีที่ผ่านมา เข้าสู่ยุคคนรุ่นใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นที่กำลังเตรียมการ คนที่เริ่มต้นอย่างผมอาจจะต้องเตรียมการเกษียณหรืออะไรบางอย่าง และเปลี่ยนยุคการทำงานของ Green Net เข้าสู่ยุคที่ 2 หรือเวอร์ชัน 2 เราอาจจะมีเวอร์ชัน 1.1, 1.2, 1.3 มาแล้ว ตอนนี้ก็เตรียมเข้าสู่ยุคใหม่


Q: อะไรคือความสุขของคุณวิฑูรย์ที่ได้ทำงานนี้

A: ไม่รู้เหมือนกันว่ามีความสุขมากขึ้นหรือเปล่า ผมคิดว่าความอิ่มใจเป็นเรื่องของแต่คน ว่าจะมีความสุขในเรื่องอะไร การที่เราตื่นมาทำงานทุกวัน คำถามแรก ๆ ในหัว คือ เกษตรกรได้ประโยชน์จริงไหม นี่เป็นคำถามที่สำคัญที่สุด เพราะทั้งหมดที่เราทำ ก็เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย นั่นก็คือ เกษตรกรรายย่อย แต่อย่างน้อยผมก็รู้ว่า ถ้าผมไม่มีบ้าน ผมสามารถจะไปขออาศัยบ้านของเกษตรกรคนไหนอยู่ก็ได้ คิดว่ามีหลายคนยินดีให้ผมไปอยู่ฟรี ๆ นั่นคือความสุข (หัวเราะ) ก็คือเรามีพันธมิตรที่เป็นเสมือนเพื่อน ญาติพี่น้อง ที่พร้อมจะเกื้อกูลเราเสมอในยามที่เราต้องการ เพราะในการทำงาน เราไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบผู้ซื้อผู้ขายอย่างเดียว แต่ยังเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ขอใช้คำว่า “พันธมิตรที่เป็นมากกว่าพันธมิตร” ก็แล้วกัน      


Q: อยากฝากอะไรไปถึงผู้อ่าน 

A: อยากจะย้ำเรื่องความเข้าใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ ว่าไม่ใช่เกษตรปลอดสาร เพราะปัญหาหลาย ๆ อย่างมาจากความเข้าใจผิดในเรื่องนี้เรื่องเดียว ถ้าเข้าใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ใหม่ว่า ไม่ใช่เกษตรปลอดสาร อาจจะทำให้เราเปลี่ยนมุมมองต่อเรื่องเกษตรอินทรีย์ และต่อโลกใบนี้ได้ 

อย่างหนึ่งที่ผมมักจะพูดกับคนเมืองค่อนข้างบ่อยในช่วงหลัง ๆ มานี้ ก็คือคำพูดที่ว่า “คนรุ่นเราเป็นคนรุ่นที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด คนรุ่นปู่ รุ่นพ่อของเรา ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเขาตายไป สิ่งแวดล้อมไม่ได้ถูกทำลายมากนัก เขาจึงได้ส่งมอบโลก สิ่งที่เป็นมรดกที่ดี ๆ ให้กับเรา แต่คนรุ่นเรากลับทำลายมัน และเรากำลังส่งมอบมรดกที่แย่มาก ก็คือ โลกที่แย่มากให้กับลูกหลานของเรา เพราะฉะนั้น จึงเป็นความรับผิดชอบของคนรุ่นเรา ที่จะต้องหยุดการทำลายล้างที่ว่านี้ นี่เป็นเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วนมาก”    


เรียบเรียงโดย พรรณวรัช กูลรัตน์กิติวงศ์ สัมภาษณ์โดย ทลปภร ปัญโยรินทร์