สรุปประเด็นที่น่าสนใจจากงาน “UpImpact by Banpu Champions for Change เติมพลังขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมในยุค Never Normal”

เมื่อวันพฤหัสที่ 10 กันยายน 2563 ทางสมาคมธุรกิจเพื่อสังคมได้มีโอกาสไปเข้าร่วมงาน “UpImpact by Banpu Champions for Change เติมพลังขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมในยุค Never Normal” ซึ่งทางสมาคมฯได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจเอาไว้มากมายพร้อมให้คุณได้อ่านและเรียนรู้ไปด้วยกัน

งานถูกแบ่งออกเป็นสองช่วงหลักๆ กับกลุ่มวิทยากรที่ถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ซึ่งงานนี้ได้ คุณต๊ะ – พิภู พุ่มแก้ว พิธีกรชื่อดังจากช่อง The Standard  มาเป็นผู้ดำเนินรายการ ขับเน้นความสนุกสนานไปพร้อมๆกับเจาะลึกสาระครบถ้วนทุกประเด็น

ช่วงแรก คือช่วง จุดประกายการทำธุรกิจเพื่อทางรอดที่ยั่งยืน ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเพื่อสังคมและการตลาดทั้งสามท่าน ได้แก่

  1. ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล : ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และนายกสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise Thailand Association
  2. คุณธิษณา ธิติศักดิ์สกุล : ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Noburo (โนบุโระ) บริษัท Fintech Startup แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้บริการด้านสวัสดิการทางการเงินและสินเชื่อให้กับพนักงานบริษัท
  3. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล : ผู้เชี่ยวชาญด้านแบรนด์และการตลาด อาจารย์ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

คำถาม : สถานการณ์โควิดเกิดผลกระทบต่อ SE อย่างไรบ้าง ในแง่ความท้าทาย ผลกระทบ และได้แก้ปัญหาอย่างไรบ้างตั้งแต่วันแรกมาจนถึงวันนี้

ม.ล.ดิศปนัดดา : ก่อนอื่นตอบในนามสมาคมธุรกิจเพื่อสังคมก่อน ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทางสมาคมฯได้มีความเป็นห่วงและได้ทำการสำรวจสถานะของสมาชิกสมาคมฯผ่านการส่งแบบสอบถามถึงปัญหาและความท้าทายของแต่ละ SE ซึ่งก็มี SE ตอบกลับมาราวๆ 150 ราย พบว่าปัญหาหลักๆเลยก็คือเกี่ยวกับกระแสเงินสด รองลงมาเป็นเรื่องการเข้าถึงเงินทุน และเรื่องที่ SE อยากให้ผู้บริโภคและประชาชนในวงกว้างรู้จักสินค้า SE มากขึ้น จะได้รู้ว่าจริงๆแล้ว SE คืออะไร

ส่วนในฝั่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯและดอยตุง สิ่งที่กังวลเป็นเรื่องกำลังการผลิต เพราะสองส่วนธุรกิจหลักๆคือ เรื่องท่องเที่ยวและ Cafe and Retail ได้หดตัวลงทั้งคู่ จึงต้องมาพิจารณาเรื่องช่องทางการขายและการทำงานมากขึ้น และมาโฟกัสเรื่องการขายในช่องทางออนไลน์และเรื่อง Delivery ซึ่งก่อนหน้านั้นเราไม่ได้อยู่ในช่องทางนี้มากนัก เราก็ต้องปรับตัวและพัฒนาต่อไปเพื่อเตรียมพร้อมกับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

 

คำถาม : จุดเด่นของ SE คืออะไร คำจำกัดความคืออะไร เหมือนหรือต่างจาก SME อย่างไร

ม.ล.ดิศปนัดดา : คำจำกัดความสามารถไปค้นหาตาม Google ดูก็ได้ (หัวเราะ) แต่สิ่งที่สำคัญอยู่ที่การตีความ มันคือธุรกิจที่ไม่ได้สร้างเฉพาะกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีคุณประโยชน์เกิดขึ้นกับสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันก็เป็นประเด็นที่คนส่วนใหญ่สับสน ดังนั้นเราก็ต้องมีตัวชี้วัดว่าธุรกิจของเราสร้างผลกระทบอะไรให้สังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อม ใช้อะไรเป็นเครื่องมือในการประเมินและประเมินอย่างไร มันต้องมีผลลัพธ์ทางสังคมที่ชัดเจน ซึ่งตัววัดก็มีหลายแบบ ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯก็อ้างอิงกับ SDGs ซึ่งวัดทั้ง Social and Environment Impact

 

คำถาม : ในสถานการณ์แบบนี้ SE จะเป็นทางรอดของการทำธุรกิจได้ไหม

คุณดิว ธิษณา : การจะต้องทำให้ธุรกิจเติบโตและทำให้เกิดประโยชน์กับสังคมเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และต้องรักษาความตั้งใจเอาไว้เสมอ สำหรับคำถามนี้มองว่า SE เป็นทางรอด เพราะ SE ถูกออกแบบมาให้เข้าใจปัญหาและหาวิธีการแก้ปัญหา

ดร. เอกก์ : SE คือการใช้ธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสังคมและ/หรือ สิ่งแวดล้อม แต่บางองค์กรก็ได้นำเรื่องการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอ้างมาเพื่อทำธุรกิจ ตรงนี้อันตรายมาก แค่สลับนิดเดียวเอง ตอนนี้โควิดทำให้เกิดปัญหาสังคม ด้วยตัวนิยามของมันแล้ว SE จึงกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหา แต่อย่างที่บอกไปว่าต้องระมัดระวังว่าไม่ใช่การนำปัญหาสังคมมาทำให้ธุรกิจดูดี เช่น ขายเจลล้างมือได้กำไรมหาศาล แต่นำเงินไปบริจาคนิดเดียวแล้วประชาสัมพันธ์เสียใหญ่โต

ม.ล.ดิศปนัดดา : สิ่งที่อยากฝากถามผู้ประกอบการคือ การหารายได้ในช่วงสถานการณ์แบบนี้ ควรคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การทำธุรกิจที่ตอบโจทย์ในระยะยาวโดยมองเป้าหมายเรื่องการจ้างงาน สวัสดิการพื้นฐาน ลดการใช้ทรัพยากร แม้ว่าต้องสละกำไรบางส่วนไปก็ตาม อย่างดอยตุงต้องการเป็น Business with the heart, Business with purpose เป็นสินค้าที่ทำให้โลกดีขึ้น ชาวบ้านมีส่วนร่วมใน Supply chain และอยากให้ทุกคนทุกภาคส่วนมองว่าตัวเองก็มีส่วนในการทำให้โลกมีปัญหา เมื่อมองแบบนี้แล้ว ก็จะได้คำนึงว่าเราจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ทำให้มีหลักการชัดเจน มีการวัดผลลัพธ์ชัดเจน แบบนี้ปัญหาก็จะค่อยๆถูกแก้ไป ช่วยควบคุมพฤติกรรมของเราในการใช้ทรัพยากร ดังนั้น ณ วันนี้เรารู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับโลก ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันไม่ว่าจะเอกชน หรือธุรกิจเพื่อสังคม

 

คำถาม : SE บริหารการเงินอย่างไรในช่วงสถานการณ์แบบนี้

คุณดิว ธิษณา : จัดการสมดุลระหว่างเงินเข้าและเงินออก รายได้ไหลเข้าพอไหม มีรูรั่วหรือเงินออกมาน้อยขนาดไหน คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีการวางแผน แต่จริงๆไม่ว่าจะสถานการณ์ไหน หรือในสถานการณ์โควิดก็ลองพิจารณาการตัดรายจ่าย เรื่องสินเชื่อหรือหนี้ก็ลองดูความเป็นไปได้ในการยืดชำระหนี้ออกไป ในส่วนของเงินเดือนพนักงานก็ให้มีความโปร่งใส แจ้งพนักงานเลยว่าเราเหลือเงินเท่าไหร่ ขอความร่วมมือพนักงานกันอย่างไร ถ้าไม่ได้รายได้ตามเป้าหมายจะต้องมีใครออกจากงาน ขอความร่วมมือให้พวกเขาทำงานกันอย่างเต็มศักยภาพ

 

คำถาม : งั้นถามต่อเลยว่า แล้วจัดการเรื่องคนอย่างไรในสถานการณ์นี้

ม.ล.ดิศปนัดดา : ก็ต้องโปร่งใสครับ เรื่องความมั่นคงและปลอดภัยในอาชีพเป็นเรื่องสำคัญ ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯเองก็มีการสอบถามพนักงานว่ากังวลเรื่องอะไรบ้าง แล้วยืนยันไปว่าเราไม่มีการจะให้พนักงานของเราออก แล้วขอความร่วมมือพนักงานให้ใช้จ่ายกันภายในเกณฑ์และลดลง ลดต้นทุนในการซื้อใหม่ ย้ำไปเลยว่าช่วงวิกฤตนี้ต้องผ่านไปด้วยกัน ผู้บริหารไม่สามารถทำคนเดียวเพื่อให้ผ่านไปได้ การรักษาขวัญกำลังใจพนักงานเป็นเรื่องที่สำคัญ ในช่วงที่ยากที่สุดถ้าเกิดอะไรขึ้นอย่างแรกคือลดเงินเดือนระดับผู้บริหารก่อน เพื่อรักษาพนักงานทุกระดับไว้ให้ได้มากที่สุด

ดร.เอกก์ : เริ่มจากสิ่งแรกเลยคือการสื่อสารภายในองค์กร ต้องโปร่งใสและให้พนักงานมีส่วนร่วม หลายองค์กรก็มีการลดเงินเดือนหรือลดคน ซึ่งบางองค์กรที่พนักงานได้รับผลกระทบจากการถูกลดเงินเดือนแต่กลับมีการชื่นชมผู้บริหารและให้กำลังใจองค์กรของตน เพราะอะไร เพราะว่าองค์กรเหล่านั้นแจ้งอย่างโปร่งใสเลยว่าเหลือเงินเท่าไหร่ ลดเงินเดือนผู้บริหารเท่าไหร่ เงินจะหมดตอนไหน ต้องไล่คนออกเมื่อถึงจุดไหน กำลังจะหาเงินเพิ่มอย่างไร นั่นแหละคือตัวอย่างของการสื่อสารภายในองค์กร

ต่อมาเป็นการสื่อสารภายนอกองค์กร ซึ่งยากกว่าการสื่อสารภายในมาก ซึ่งหลักๆเลยคือกลุ่มลูกค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับการตลาดมากที่สุด เพราะเมื่อวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์เปลี่ยน การตลาดก็ต้องเปลี่ยนด้วย ขอยกออกมาเป็น 4 ประเด็น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้า ตามฐานวิถีชีวิตใหม่ ได้แก่

  1. No Touch – คนพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งของ สิ่งต่างๆรอบตัว ปรับทักษะและเทคนิคการขายที่เคยฝึกแบบออฟไลน์ในอดีต ก็ต้องปรับใช้เครื่องมือบางเครื่องมือให้ได้มากขึ้น
  2. No Move – อยู่บ้านกันมากขึ้น ใช้สื่อออนไลน์ในการทำงานกันมากขึ้น เช่น การประชุมผ่านระบบ ZOOM สื่อนอกบ้านบางอย่างกลับลดลงเพราะผู้คน No  move กันมากขึ้น
  3. No Share –  พวก Co-working space หรืออะไรที่เป็น Sharing economy ก็จะลดลง
  4. No Add-On – ของบางอย่างที่ไม่จำเป็นก็จะซื้อกันน้อยลง ดังนั้นการตลาดก็ต้องสื่อสารให้ถูกหลัก

เรื่องภายในก็ต้องสื่อสารกับคนให้ดี เรื่องคนภายนอกก็ต้องสื่อสารให้ดีเช่นกัน

 

คำถาม : ทำธุรกิจ SE อย่างไรให้ยั่งยืนในสถานการณ์ปัจจุบันนี้

คุณดิว ธิษณา : การทำธุรกิจยังไงก็ต้องตอบ Pain Point ของคนให้ได้ก่อนถึงจะขายได้ และต้องคิดต่อให้มันเกิดผลอย่างยั่งยืน ไม่ให้การทำธุรกิจเราไปสร้างปัญหาอื่นให้เกิดขึ้น  และเชื่อว่ากำไรจะมาพร้อมความยั่งยืนที่เกิดขึ้น

ม.ล.ดิศปนัดดา : สิ่งที่ยังมีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ ความต้องการของคน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือพฤติกรรมและวิธีการบริโภค นั่นแหละคือสิ่งที่เราต้องปรับตัวและสร้างแผนธุรกิจให้ตอบโจทย์ จับหลักและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆให้มากขึ้น

ดร.เอกก์ : เห็นด้วยกับทั้งสองท่าน ขอเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย บางที Growth อาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป อย่าลืมการ Diversification เพื่อลดความเสี่ยง และลดความไม่แน่นอนที่วัดไม่ได้ ฝากไว้ 5 ข้อแบบจำง่ายๆ ‘ABCD’ คือ

  1. Agile ยอมละทิ้งความคิดแบบเดิมๆแล้วไปต่อ
  2. Behavior การเข้าใจพฤติกรรมลูกค้า
  3. Creativity การมีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างสินค้าและการทำธุรกิจ
  4. Digital Society ไม่ใช่แค่ปัญหาสังคม แต่ต้องแก้ปัญหาสังคมทางออนไลน์ด้วย

 


 

ช่วงที่สอง : เปลี่ยนเพื่อสู้ ปรับเพื่อรอด ต่อยอด SE

สำหรับช่วงที่สองนี้ ได้ 3 ผู้ประกอบการทางสังคมที่พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส หลังเผชิญความท้าทายจากโควิด ได้แก่

 

  • คุณสมศักดิ์ บุณคำ (คุณไผ) จาก Local Alike
  • คุณอมรพล หุวะนันทน์ (คุณพล) จาก Moreloop
  • คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ (คุณศา) จาก Locall (Once Again Hostel)

 

คำถาม : ธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างไร ปรับตัวอย่างไร

คุณศา Locall  : ธุรกิจมีสองแบบครับ คือ Inclusive Business Hostel/Cafe/Food กับชุมชน อีกอันคือ การแก้ปัญหาแบบเชิงรุกคือ อาหารตามสั่งที่นักท่องเที่ยวสั่งได้ การทำป้ายรถเมล์ พวกงานเชิงรุกยังพอมีตกค้างจากภาครัฐอยู่บ้าง แต่พวกธุรกิจ Hostel นี่เรียกได้ว่าหายไปเลย เราต้องปรับธุรกิจ เราลองเปลี่ยนมาเป็นการใช้วิธีการโทรสั่งอาหารแทน เลือกเมนูเด็ดในย่านชุมชนมาสัก 20 ร้าน จับมือกับวินมอเตอร์ไซค์สัก 3 คัน อยู่ใน platform ง่ายๆใน LINE Official ชื่อ Locall ขอค่าบริหารจัดการเล็กน้อย 15% คนขับก็ประเมินราคาตามระยะทางไม่เกิน 7 กม. ในช่วงโควิดก็รายได้ดีพอสมควร แต่พอหมดโควิดก็มาปรับตัวมาเป็น Catering แทน การสื่อสารและความโปร่งใสกับทีมสำคัญมาก เพราะเราต้องปรับตัว ปรับโมเดลธุรกิจของเราอยู่ตลอด

คุณพล Moreloop : เริ่มต้นจากไอเดียที่ต้องการรวบรวมผ้าตอนปลายปี 2018 ซึ่งตอนนั้นเป็นไปอย่างช้ามาก ขายได้ห้าร้อยกิโลกรัม ก็เลยปรับมาเป็นรับผลิตเสื้อให้องค์กรตอนปี 2019 คราวนี้ดีเลย ขายได้หมื่นกิโลกรัม แต่พอเจอโควิดทำให้ช่องทาง B2B ของเราหยุดชะงักไปเลย เลยต้องลองทำ B2C ที่เป็นกลยุทธ์ใหม่ มีช่วงหนึ่งก็ทำโครงการ อาสาพามาเย็บ รวมตัวกันนำของเหลือในโรงงานมาทำหน้ากากผ้า แคมเปญหน้ากากผ้าพร้อมเสื้อและการออกงาน Thailand Research Expo 2020 ก็ทำให้ยอดขายเติบโตจาก 50 ตัวเป็น 500 ตัว ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น ตอนนี้ก็มี Moreloop Europe เป็นตัวแทนจำหน่ายหน้ากากผ้าในเนเธอร์แลนด์ อังกฤษและฝรั่งเศส โดยใช้เวลาประมาณสองเดือนครึ่งในการพลิกฟื้นหลังโควิดตอนเดือนมีนาคม ปัญหาที่เจอก็เป็นเรื่อง Operations ที่ยิบย่อยมากขึ้น การฝึกทำ Digital Marketing แต่ก็เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้ลองทำอะไรที่ไม่เคยทำ

คุณไผ Local Alike : 200 ชุมชนถูกล็อคดาวน์ไปเลย ยากกว่าตอนทำธุรกิจใหม่ๆอีก ซึ่งตอนปี 2019 เราก็ลงทุนด้านคนมากขึ้นเพราะคิดว่าปี 2020-2021 เราจะเติบโตขึ้น พอเจอแบบนี้คือเงินหายไปนับสิบล้านจากการยกเลิกทัวร์ คราวนี้เราตัดสินใจระดมสมองกับพนักงานนับ 40 คนเลย เพื่อหาทางออกร่วมกัน เราจะทำอย่างไรกันดีนอกจากการท่องเที่ยว เลยเปิดตัว Local Aroi/ Local Alot ออกมา เป็นการนำอาหารชุมชนมาส่งถึงมือท่าน และการนำของจากชุมชนมาขาย เปลี่ยนจากการทำงานแบบออฟไลน์ มาทำงานออนไลน์มากขึ้น ยอดขายเราก็พอใช้ได้คือ 45 วันแรกก็ทำได้ 3 ล้านกว่าบาท แต่ปัญหาก็คือ Local Aroi มีต้นทุนในการส่งที่สูงมาก เลยใช้ชุมชนคลองเตยส่งให้แทน องค์กรเราใช้ OKR ในการวัดผล คนต้องรอด ชุมชนต้องรอด ต้องไม่มีใครถูกไล่ออกหรือลดเงินเดือน พอถึงเดือนที่สามเริ่มนิ่งขึ้น ค่อยๆกลับมาเป็นปกติแล้ว

 

คำถาม : ข้อคิดในการดำเนินธุรกิจที่ได้จากการเรียนรู้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และอยากฝากอะไรถึงผู้บริโภคในแง่การสนับสนุน SE

คุณศา Locall : สิ่งที่สำคัญในการทำ SE คือปัญหาที่เราต้องการแก้ไขควรเป็นปัญหาที่เราอินไปกับมัน เราอยากแก้ อยากอยู่ในสิ่งที่ดีขึ้น เช่นเราอยากให้ชุมชนเสาชิงช้าไม่เงียบเหงาเราเลยอยากเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชน แล้วค่อยต่อยอดในบริบทที่เปลี่ยนไป ซึ่งมันยากมาก การทำ SE มันยากสองเท่าคือ หนึ่ง เราต้องสร้างสินค้าหรือบริการที่แก้ไขปัญหาทางสังคม สองคือเราต้องเอาชนะตลาดให้ได้ด้วย ต้องใช้ความสามารถในการทำทั้งสองอย่างนี้พร้อมกัน เลยอยากเชิญชวนทุกคนให้เห็นถึงความตั้งใจการแก้ปัญหาสังคม เวลาเลือกใช้สินค้าแบบเดียวกัน เลือกใช้สินค้าจากองค์กรที่แก้ปัญหาสังคมดีกว่า

คุณพล Moreloop : ของต้องดีก่อน แล้วค่อยช่วยสังคม เป็นหลักที่ผมยึดถือมาตลอด ของเราต้องตอบโจทย์ผู้บริโภค ส่วนทางผู้บริโภคผมฝากว่าอยากให้มาเป็นผู้ผลิตบ้าง ทุกคนสามารถเป็นผู้ประกอบการทางสังคมได้ ขอเพียงแค่ลงมือทำ มันมีโอกาสเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

คุณไผ Local ALike : สิ่งที่เรียนรู้คือ หนึ่ง ความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนร่วมทุกคนสำคัญมาก ความสัมพันธ์ที่เรามีกับชุมชนช่วยให้ธุรกิจเราอยู่รอดได้ และนักท่องเที่ยวของเราก็มาช่วยซื้อเพราะอยากให้องค์กรเราอยู่รอด สองคือการลงมือทำที่รวดเร็ว แล้วจะรู้เองว่าทำแล้วดีหรือไม่อย่างไร และสาม การท่องเที่ยวเปราะบางมาก ผู้ประกอบการต้องกระจายการทำธุรกิจไว้บ้าง ไม่ใช่แค่สร้างรายได้จากการขายทัวร์อย่างเดียว

 

คำถาม : ทักษะที่คนอยากทำ SE จะต้องมี

คุณพล Moreloop : นอกจาก Passion และความมุ่งมั่น ทักษณะความฉลาดทางอารมณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก ช่วยทั้งเรื่องการสื่อสารกับคน และการทำงานร่วมกับคน

คุณศา Locall : ทักษะในการพัฒนา มองหา และต่อยอด เพื่อแก้ไขปัญหาทางธุรกิจต่างๆที่เกิดขึ้น

คุณไผ Local ALike : ต้องเดินไปกับทีมได้ ทำความเข้าใจทันคนในทีม เราต้องมีทักษะที่หลากหลายเพิ่มเติม ไม่ต้องเก่งมากทุกเรื่อง แต่ต้อง Walk the Talk with team ของเราได้

 

คำถาม : อยากให้ภาครัฐสนับสนุน SE อย่างไรบ้าง

คุณไผ Local ALike : SE ควรเป็นผู้ผลิตให้ฝั่งภาครัฐให้มากที่สุด ภาครัฐมีเงิน ส่วน SE ก็แก้ไขปัญหาสังคม นี่คือทางรอด

คุณพล Moreloop : ไม่อยากให้ทำงานแค่ในกรอบ อยากให้มาทำความเข้าใจ SE ที่เป็นกลไกในการแก้ปัญหาสังคมให้มากขึ้น และอยากให้ช่วยเรื่องภาษีของ SE ด้วยเช่นกัน

คุณศา Locall : เห็นด้วยกับคุณไผ เพราะ SE คิดและทำมาให้แล้ว ถ้าภาครัฐมาหยิบใช้และมาช่วย ก็จะทำให้อยู่รอด เพราะ SE มี Passion ที่จะทำให้สำเร็จอยู่แล้ว


เป็นอย่างไรกันบ้างกับประเด็นที่เรายกมาให้อ่านกันจากงาน “UpImpact by Banpu Champions for Change เติมพลังขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมในยุค Never Normal” …หวังว่าท่านจะได้อะไรติดมือไม่มากก็น้อย สำหรับท่านใดที่สนใจดู LIVE ฉบับเต็ม ตามดูย้อนหลังได้ที่แฟนเพจ Banpu Champions for Change ได้เลย!